ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กล่าวได้ว่าในปี 2555 นี้ สิ่งที่ประชาชนทั้งประเทศพากันหวั่นวิตกก็คือจะมีเหตุการณ์ 'น้ำท่วมใหญ่' เกิดขึ้นอีกหรือไม่ เนื่องเพราะบทเรียนจากวิกฤตมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมานั้น ได้สร้างความบอบช้ำและความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยหลายสิบล้านคน อีกทั้งอยากรู้ว่าควรทำอย่างไรหากเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยอีกครั้ง ?
แม้ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดที่ออกมาฟันธงว่าในปีหน้าจะมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เกิดอีกหรือไม่ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งตลอดช่วงวิกฤตอุทกภัยในปี 54 ที่ผ่านมา อย่าง ' รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์' ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า น้ำท่วมจะมาถี่ขึ้นและแรงขึ้นเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะเดียวกันจากสถิติพบว่าปัจจุบันวงรอบของภัยพิบัติในประเทศไทยก็มีความถี่เพิ่มขึ้น กล่าวคือเดิมเจ้าพระยาเกิดน้ำท่วมใหญ่ทุก 20-25 ปี แต่ปัจจุบันเกิดน้ำท่วมทุกๆ 2 -4ปี ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มขึ้น
และในอนาคตรอบการเกิดของภัยธรรมชาติก็จะสั้นลงอีก หากไม่มีมาตรการแก้ไขและรับมืออย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่นั้นมีอยู่ 4 ปัจจัย ด้วยกันคือ
1.ฝนตกหนัก ปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองจึงมากขึ้น
2.ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เนื่องจากเมื่อโลกร้อนขึ้น น้ำก็ถูกทำให้ระเหยกลายเป็นไอมากขึ้น ความชื้นมากขึ้น ฝนก็ตกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มมากขึ้นด้วย
3.แผ่นดินทรุดตัว ซึ่งเมื่อแผ่นดินทรุดตัวลง แม้ปริมาณน้ำที่ไหลบ่ามาจะไม่ได้เพิ่มมากขึ้นแต่ก็สามารถท่วมบ้านเรือนซึ่งอยู่ในบริเวณที่แผ่นดินทรุดตัวได้
4.ผังเมืองแออัด เนื่องการความแออัดของบ้านเรือนเป็นตัวกีดขวางทางไหลของน้ำ จะเห็นว่าเมื่อก่อนกรุงเทพฯ มีพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ถึง 600 ตารางกิโลเมตร จากพื้นที่ทั้งหมด 1,500 ตารางกิโลเมตร แต่ปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำของกรุงเทพฯเหลือเพียง 300 ตารางกิดลเมตร นอกจากนั้นพื้นที่ฟลัดเวย์ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริก็เหลือน้อยลง ทำให้การระบายน้ำไม่คล่องตัว
นอกจากนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาปัญหาสำคัญในการรับมือกับอุทกภัยใหญ่ในปี 54 คือการที่ประชาชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ขาดข้อมูลและขาดระบบสนับสนุนการตัดสินใจ เวลาที่ภาครัฐจะนำมาตรการต่างๆ ออกมาใช้ ประชาชน ภาคเอกชน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆที่ได้รับผลกระทบทั้งในเชิงบวกเชิงลบต่างก็ไม่ได้รับรู้ว่ามาตรการนั้นๆจะนำไปสู่อะไร ประชาชนจึงไม่ทราบว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ควรทำสิ่งใดก่อน-หลัง ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็แก้ปัญหาแบบลองผิดลองถูก ทำให้สถานการณ์ยิ่งบานปลาย
“ประชาชนจำเป็นต้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำว่าจะมามากน้อยเพียงใด เพราะถ้าน้ำจะมามาก แต่ประชาชนไม่รู้ เขาจะไม่วางแผนชีวิต ไม่ขนย้ายข้าวของ ไม่อพยพ เพราะเขาไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเขา ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับภัยธรรมชาติเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็น ส่วนภาครัฐเองก็ต้องมีฐานข้อมูลอยู่ในลิ้นชักแล้วว่าหากใช้บิ๊กแบ็กจะเกิดอะไรขึ้น หากเปิดประตูน้ำตรงจุดนี้ ในระดับ 1 เมตรจะเกิดอะไรขึ้น เปิดระดับ 2 เมตรจะเกิดอะไรขึ้น แล้วก็แจ้งข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชนรับทราบ แต่ที่ผ่านมามันกลายเป็นว่าแก้ปัญหาแบบลองผิดลองถูกอยู่ตลอดเวลา ลองใช้บิ๊กแบ็กดูซิ ลองเปิดประตูน้ำตรงจุดนี้ดูซิน้ำจะลดลงไหม ถ้าได้ผลก็จะเปิดประตูน้ำเพิ่มขึ้น ถ้าไม่ได้ผลก็จะปิดประตู คำสั่งที่ออกมามันเป็นอย่างนี้ตลอด แต่สถานการณ์มันรอไม่ได้ รอ 3 วันน้ำมันเข้ามากี่ร้อยล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว”
“ปัจจุบันปริมาณน้ำฝนที่ตกทั่วประเทศเพิ่มขึ้นถึง 30% ขณะที่ปริมาณน้ำในปี 2554 ซึ่งเป็นปริมาณน้ำสะสมจากฝนที่ตกลงมาตั้งแต่เดือน ส.ค.จนถึง ต.ค.ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปริมาณน้ำที่ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ มีถึง 34,000ล้านลูกบาศก์เมตร ประเด็นสำคัญคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประเมินว่าปริมาณน้ำเหล่านี้จะไหลไปที่ไหนบ้าง และแจ้งเตือนให้ประชาชนรู้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ลึกลับอะไรมีอยู่ในเว็บไซต์ของกรมชลประทาน พร้อมทั้งบอกให้ประชาชนรู้ด้วยว่าถ้าเอากระสอบทรายมากั้นที่คลองหกวาสายล่างจะเกิดอะไรขึ้น กั้นที่คลองมหาสวัสดิ์จะเกิดอะไรขึ้น เพื่อเป็นการสื่อสารเรื่องความเสี่ยงให้ประชาชนรับรู้ ไม่ใช่ว่าแม้แต่พระคุณเจ้าก็ต้องลงมารื้อกระสอบทรายกลางถนน เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาน้ำท่วมวัดยังไง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคม” รศ.ดร.เสรี กล่าว
นอกจากนั้นที่ผ่านมาแต่ละรัฐบาลก็ไม่ได้ใส่ใจกับข้อมูลและปัจจัยที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงแนวโน้มภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแต่อย่างใด หากย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่าคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้มีรายงานเกี่ยวกับแนวโน้มและสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นกับไทยและภูมิภาคแถบนี้ ออกมาตั้งแต่เมื่อ 16 ปีที่แล้ว อีกทั้งยังมีรายงานต่อเนื่องออกมาทุกๆ 5 ปี กระทั่งรายงานฉบับล่าสุด ซึ่งออกมาเมื่อปี 2007 คือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่ง IPCC ระบุชัดเจนว่าความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติมีมากน้อยเพียงใด อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และที่สำคัญคือรายงานฉบับนี้ได้มีการแจ้งให้รัฐบาลของแต่ละประเทศหันกลับมามองประเทศของตัวเองว่ามีความเสี่ยงในเรื่องอะไรบ้าง พร้อมทั้งแนะให้ใช้มาตรการปรับตัวเพื่อให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้ โดยให้พิจารณาว่าจะใช้มาตรการป้องกันและลดผลกระทบอย่างไร แต่รัฐบาลที่ผ่านมากลับไม่สนใจ ไม่ได้มีการเตรียมการรับมือกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าคูคลองหลายแห่งของไทยขาดศักยภาพในการระบายน้ำ สภาพเมืองไร้ระเบียบ มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างระเกะระกะ ขวางทางน้ำ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุทกภัยในปี 2554 นั้นทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
“ เมื่อปี 2509 เวิลด์แบงก์ ก็มีรายงานสิ่งแวดล้อมฉบับหนึ่งเกี่ยวกับกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะ ซึ่งรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่ากรุงเทพฯเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่คนไทยกลับไม่เคยรู้ว่ามีรายงานฉบับนี้ เพราะไม่มีการแปลเป็นภาษาไทยออกมาเผยแพร่ ขณะที่ภาครัฐก็บอกว่าเวิลด์แบงก์วิตกจริตเกินไปหรือเปล่า แต่สุดท้ายมันก็เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งหากมีการแปลเป็นภาษาไทยออกมาเผยแพร่คนไทยก็รู้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น รู้ว่ามีความเสี่ยง และคิดหาวิธีรับมือ ถ้าได้รับข้อมูลนี้ผมคิดว่าผู้อยู่อาศัยที่จะทำเฟอร์นิเจอร์แบบบิวอินก็คงไม่ทำ อย่างน้อยเขาก็ไม่เสียหาย”
“ในอีก 2 เดือนข้างหน้าก็จะมีรายงานการวิเคราะห์เหตุน้ำท่วมใหญ่ ของไทยในปี 54ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร โดยรายงานฉบับนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ ถึง 500 กว่าคนร่วมกันเขียน ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ผมก็อยากให้รัฐบาลกรุณาแปลออกมาให้ประชาชนได้รับทราบด้วย ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าวนั้นไม่ได้มองเฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่เรามองสถานการณ์ของโลกด้วย เพราะอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของโลกย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย ดังนั้นเราต้องดูสถานการณ์โลกก่อน แล้วค่อยมองมายังภูมิภาค แล้วค่อยมองมาประเทศไทย แล้วค่อยมองมาที่กรุงเทพฯ ” รศ.ดร.เสรี ระบุ
ทั้งนี้ สำหรับการเตรียมรับมือกับปัญหาอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นอีกในระยะเวลาอันใกล้นั้น ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม แนะนำว่าประชาชนควรติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับน้ำและพร้อมที่จะใช้ชีวิตในช่วงที่เกิดอุทกภัย คนในชุมชนควรมีการรวมตัวกันซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดการกับปัญหา ขณะที่ภาครัฐก็ต้องศึกษาและวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ดี เพื่อลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด และที่สำคัญต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็วแก่ประชาชน เพื่อให้ชาวบ้านรู้เท่าทันสถานการณ์และวางแผนรับมือได้อย่างถูกต้อง
“ ทางออกของประเทศไทยในการรับมือกับอุทกภัยก็คือ หาที่ให้น้ำอยู่ หาทางให้น้ำไป ต้องพิจารณาให้ดีว่าน้ำปริมาณหลายหมื่นล้านลูกบาศก์ที่ไหลลงมานั้นจะนำไปไว้ที่ไหน ทางระบายน้ำมีเพียงพอหรือยัง แล้วก็ต้องพูดความจริงกับประชาชน ขณะที่ประชาชนก็ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย ผมไม่แนะนำให้ถมดินบริเวณบ้านตัวเองให้สูงขึ้นนะ เพราะถ้าน้ำท่วมอีกบ้านที่ไม่ได้ถมดินจะได้รับความเดือดร้อน วิธีที่ดีที่สุดคือหาทางเสริมหรือต่อเติมบ้านให้สูงขึ้น ถ้าเดิมเป็น 2 ชั้น ก็เสริมเป็น 3 ชั้น ส่วนชั้น 1 ซึ่งเคยถูกน้ำท่วมก็เปิดเป็นที่โล่ง ให้น้ำผ่าน เพราะจากข้อมูลพบว่าเหตุการณ์น้ำท่วมจะมาถี่ขึ้นและแรงขึ้นเนื่องจากปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น ประชาชนต้องตระหนักในความเสี่ยง ติดตามข่าวสารข้อมูลอย่างใกล้ชิด ต้องพิจารณาถึงเรื่องการทำประกันภัยครัวเรือน”
“ขณะที่ภาครัฐต้องหาเส้นทางให้น้ำไหลผ่าน เช่น ทำฟลัดเวย์ ขุดลอกคลองสาธารณะ จัดทำระบบการเตือนภัย ระบบสนับสนุนการตัดสินใจในระดับชุมชน ทำผังเมืองชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นไป ถ้าระดับหมู่บ้านทำไม่ไหวก็ต้องส่งต่อไปทางจังหวัด ถ้าจังหวัดทำไม่ได้ก็ส่งต่อไประดับประเทศ ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในวิกฤตการณ์น้ำท่วมปี 54 ก็คือ ถ้าชุมชนเข้มแข็งและมีส่วนร่วม ปัญหาต่างๆ ก็จะคลี่คลายไปได้ เราได้รู้จักคลองไทยประดิษฐ์ที่สำเร็จได้เพราะความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชน ชาวบ้าน และส่วนราชการในจังหวัดสมุทรสาคร ได้เห็นความร่วมมือของชุมชนสวนส้มโอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งปรากฏกาาณ์เหล่านี้อาจหาไม่ได้ในประเทศอื่นๆ” รศ.ดร.เสรี กล่าวตบท้ายถึงการเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตไว้อย่างน่าสนใจ