xs
xsm
sm
md
lg

เบรก"สีหนาถ"นั่งเลขาฯปปง. วุฒิฯมีมติตั้งกมธ.สอบประวัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมวุฒิสภา เมื่อวานนี้ (26 ธ.ค.) เป็นการประชุมครั้งแรกในสมัยสามัญนิติบัญญัติ โดยพล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ตามที่มีผู้ร้องขอให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำนวน 8 คน ว่ากระทำผิดพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 62 ได้แก่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม นายการุณ โหสกุล นายสุรชาติ เทียนทอง นายวิชาญ มีนชัยนันท์ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ส.ส.อุตรดิตถ์ และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องในคำร้อง และผู้ยื่นถอดถอนได้เสร็จแล้ว พบว่าถูกต้อง จึงได้ส่งคำร้องให้ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนต่อไปแล้ว
จากนั้นได้เข้าสู่วาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบ พ.ต.อ.สีหนาถ ประยูรรัตน์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นเลขาธิการ ปปง. ตามที่ครม.มีมติเมื่อ 13 ก.ย.54 อนุมัติแต่งตั้ง พ.ต.อ.สีหนาถ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 23 พ.ย.54 ที่ผ่านมา โดยนายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร ส.ว.เชียงใหม่ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวว่า ตำแหน่งดังกล่าวเป็นข้าราชการประจำ ซึ่งไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่ผ่านมาการให้ความเห็นชอบตำแหน่งต่างๆ ทั้ง เลขาธิการ ปปง. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) หรือ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมาธิการฯขึ้นมาตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ
ดังนั้นหากไม่มีกรณีที่ไม่มีขั้นตอนใดทำไม่ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย หรือไม่ชัดแจ้งว่าไม่เหมาะสม ก็ไม่สมควรที่วุฒิสภา จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบประวัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในประเด็นนี้ ที่ประชุม ส.ว.มีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย โดย ส.ว.สรรหา ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบประวัติก่อน อาทิ นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เนื่องจากมีกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดร้ายแรง พ.ต.อ.สีหนาถ เอาไว้ การอ้างว่ามี พ.ร.บ.ล้างมลทินออกมาแล้ว ก็ไม่ทราบว่าเป็นการล้างมลทินในกรณีใดบ้าง
ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่าได้รับข้อมูลร้องเรียนมาที่คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ พ.ต.อ.สีหนาถ ขณะนี้กำลังตรวจสอบอยู่
"ในฐานะ ส.ว. มีหน้าที่ต้องทำการตรวจสอบข้อร้องเรียนดังกล่าว หากไม่ทำ ไม่เพียงไม่สมควรจะเป็นสังคโลก ตามที่สื่อมวลชนให้ฉายาเท่านั้น แม้แต่ กระโลหก กะลา ก็ไม่สมควรจะได้เป็น และไม่ควรอยู่ในตำแหน่งด้วย" นายคำนูณ ระบุ
ด้านนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา กล่าวเสริมว่า สภาฯเราได้รับฉายาสภาสังคโลก คือ มีคุณค่าแต่ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นกรณีนี้ถ้าไม่ตรวจสอบอะไรเลย ก็จะไม่ต่างจากสังคโลกจริงๆ แม้จะไม่มีกฎหมายเขียนไว้ ก็ควรต้องตรวจสอบ เช่นเดียวกับ นายสัก กอแสงเรือง ส.ว.สรรหา ที่กล่าวว่า เคยมีกรณีผู้พิพากษาคนหนึ่ง ถูกคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ถอดถอน แล้วมาอ้าง พ.ร.บ.ล้างมลทิน เพื่อให้สภาทนายความขึ้นทะเบียนเป็นทนายความ แต่สภาทนายความไม่ยอมขึ้นให้ จึงไปร้องต่อศาลปกครอง ที่สุดศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ล้างมลทิน ไม่ได้ล้างพฤติกรรมที่กระทำ เพียงแต่ล้างความผิด
ดังนั้น การนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องกลั่นกรองข้อเท็จจริง ไม่ให้มีคำถามค้างคาใจใดๆ ตำแหน่งนี้ต้องตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของบุคคลอย่างกว้างขวาง ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ควรมีการตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบ
ขณะที่ พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ ส.ว.อ่างทอง และ นายชนินท์ หาญสืบสาย ส.ว.ตาก แสดงความเห็น ว่า พ.ต.อ.สีหนาถ เป็นคนดี มีฝีมือ เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยเฉพาะการประสานติดต่อกับทางต่างประเทศ อย่างหน่วยตำรวจสากล
ในที่สุด ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ ตรวจสอบประวัติ ด้วยคะแนน 82 ต่อ 26 เสียง งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 3
กำลังโหลดความคิดเห็น