xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หุบเหวการเงินกับความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
สมการการเมือง
พาณิชย์ ภูมิพระราม

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การประกาศลดเรตติ้งพันธบัตรรัฐบาลอียิปต์ ลงหนึ่งขั้นของมูดีส์ อินเวสตอร์ เซอร์วิส ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มเป็นจริง

ทั้งนี้ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส์ เซอร์วิส ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลอียิปต์ ลง 1 ขั้น จาก B1 เป็น B2 และให้มีสถานะทบทวน เพื่อปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลในอันดับต่อไป เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และปัญหาทางเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้ 1 เดือน สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ( เอสแอนด์พี ) ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลอียิปต์ระยะยาวลง 1 ขั้น ไปอยู่ที่ B+ เพราะปัญหาการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อ ซึ่งบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมือง และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ

เอสแอนด์พี ยังได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ พันธบัตรรัฐบาลฮังการี สู่ระดับ "ขยะ" เนื่องจากไม่มั่นใจว่าฮังการี จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้หรือไม่

การปรับลดเครดิตเรตติ้งพันธบัตรของรัฐบาลประเทศเหล่านี้ ได้ทำให้ต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น

ก่อนหน้านี้ ฟิทช์ ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวของแบงก์ ออฟ อเมริกา โกลด์แมน แซคส์ ในสหรัฐฯ ธนาคารบาร์เคลย์ ในอังกฤษ ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ ในฝรั่งเศส ธนาคารดอยทช์ แบงก์ ในเยอรมนี และธนาคารเครดิต สวิส ในสวิตเซอร์แลนด์

นั่นหมายความว่า ภาคอุตสาหกรรมธนาคารของสหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมัน และสวิตเซอร์แลนด์ กำลังมีการเปลี่ยนแปลงในด้านลบเกิดขึ้น

เช่นเดียวกับธนาคารของประเทศสเปน 10 แห่ง ที่ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ หลังจากเริ่มมีการดำเนินการต่างๆเพื่อใช้กฏระเบียบการเงินใหม่ โดยยังคงอยู่ในฐานะ"ถูกจับตามองในเชิงลบ" ซึ่งบ่งบอกว่ามีความเสี่ยง ที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือมากกว่านี้

ธนาคารที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนครั้งนี้ ประกอบด้วย ธนาคารไคซาแบงก์ แบงเกีย แบงโก พอพพูลาร์ แบงก์อินเตอร์ แบงโก เดอ ซาบาเดลล์ บริษัทโฮลดิงส์คาจา เดอ อะฮอร์โรซี เพนชัน เดอ บาร์เซโลนา ไอเบอร์คาจา แบงโก ซาน คาจา เดอ อะฮอร์โรซี มอนเต เดอ พิเอแดด เดอ จิพุสโก ซาน เซบาสเตียน บิลบาว บิซเกีย คัตซา และแบงโก ไฟแนนซิเออรอย เดอ อะฮอร์โรซี

ทั้งนี้ สเปนกำลังถูกกดดันให้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการเงินในประเทศ หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกเมื่อปี 2551

ดูเหมือนว่า สถานการณ์ด้านการเงิน เศรษฐกิจของประเทศยุโรป ยังรอเวลาการขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ

“คริสตีน ลาการ์ด” กรรมการผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ บอกกับนักข่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปกำลังรุนแรงขึ้น และจะคุกคามเศรษฐกิจทุกๆประเทศทั่วโลก ไม่ได้ส่งผลกระทบหรือคุกคามเฉพาะในภูมิภาคยุโรป หรือชาติเศรษฐกิจก้าวหน้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่คุกคามเศรษฐกิจของทุกชาติ ทั้งชาติที่มีรายได้ต่ำ ชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ ชาติที่มีรายได้ปานกลาง

" ปัญหาที่เราวิตกกังวลขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องวิกฤติในยุโรปจะส่งผลกระทบต่อประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับยุโรปกำลังคุกคามเศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขนาดเล็ก มี่รายได้ต่ำ และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วยเพราะเราเริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่า วิกฤติในยุโรปจะรุนแรงขึ้น"

ปรากฏการณ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนของวิกฤตเศรษฐกิจ และภาคอุตสาหกรรมการเงิน โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ก็คือ การปลดพนักงาน 1,600 คน ของมอร์แกน สแตนเลย์

มอร์แกน สแตนเลย์ วาณิชธนกิจชั้นนำสัญชาติสหรัฐฯ ประกาศแผนลดจำนวนพนักงาน 1,600 ตำแหน่ง คิดเป็น 2.6 % ของพนักงานทั้งหมดของบริษัทในนิวยอร์ก ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากบริษัทได้ว่าจ้างพนักงาน 400 คน ในช่วงปลายปี 2552 เพื่อนำมาเสริมทัพธุรกิจเทรดดิง

การปลดพนักงานครั้งนี้ ถือเป็นการลดจำนวนพนักงานครั้งใหญ่ของบริษัท นับตั้งแต่ปลายปี 2551 และต้นปี 2552 ซึ่งบริษัทปลดพนักงานไปจำนวนกว่า 2,500 คน

เหตุการณ์เช่นนี้แตกต่างกับสถานการณ์การเงินในประเทศภูมิภาคเอเชีย โดย เวิร์ลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม ได้ยกย่องให้ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก

ฮ่องกงซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน และมีสถานภาพกึ่งปกครองตนเอง ได้ผงาดขึ้นเป็นนครแห่งแรกของเอเชีย ที่คว้าอันดับหนึ่งของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก แทนที่นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าของแชมป์ และ ลอนดอนของอังกฤษ ที่เป็นตลาดการเงินขนาดใหญ่ของยุโรป

ทั้งนี้ เวิร์ลด์ อิโคโนมิค ฟอรั่ม ได้จัดอันดับระบบการเงินของประเทศต่าง ๆ จำนวน 60 ประเทศ โดยระบุว่า ฮ่องกงกระโดดจากอันดับที่ 4 ขึ้นไปอยู่อันดับที่ 1 เนื่องจากมีตลาดเงินที่พัฒนามากที่สุดของโลก สหรัฐฯร่วงลงมาอยู่อันดับที่ 2 อังกฤษ อันดับ 3 สิงคโปร์ อันดับ 4 ออสเตรเลีย อันดับ 5 แคนาดา อันดับ 6 เนเธอร์แลนด์ อันดับ 7 ญี่ปุ่น อันดับ 8 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 9 และนอร์เวย์ อันดับ 10

ผลการจัดอันดับครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่วอลล์สตรีทของนิวยอร์ค และลอนดอนของอังกฤษ ไม่ได้ครองอันดับแชมป์ เนื่องจากอยู่ในช่วงที่เพิ่งจะฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินโลก

ในการสำรวจและจัดอันดับครั้งนี้ ได้ประเมินปัจจัยต่างๆ เพื่อจัดอันดับเช่น ประสิทธิภาพ และขนาดของระบบสถาบันธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ สภาพแวดล้อมด้านธุรกิจเสถียรภาพด้านการเงิน และอื่นๆ

ด้านสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ หากพิจารณาจากการคาดการณ์ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล”

“ ทิศทางดอกเบี้ย ในปี 2555 จะเป็นขาขึ้น แต่จะเป็นการขึ้นมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและสถานการณ์ของภาวะเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจโลกในปีหน้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรป ยังสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทย”

ผู้ว่าฯ ธปท.อธิบายว่า “เชื่อว่าเงินยูโรคงไม่เข้าสู่ภาวะล่มสลาย เพราะเมื่อถึงจุดนั้นจริง จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นลูกคลื่น รวมถึงส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเซีย ทั้ง จีน ญี่ปุ่น และ อาเซียน โดยเชื่อว่าหลายประเทศในยุโรปจะให้ความช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาหนี้สิน รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)”

สอดคล้องกับการประเมินทิศทางเศรษฐกิจโลกของฝ่ายวิจัย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ซึ่งระบุว่า ในปี 2012 เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวในครึ่งแรกของปีเนื่องจากวิกฤตการเงินในโลกตะวันตก ฉุดให้เศรษฐกิจโลก ทั้งปีเติบโตที่ระดับ 2.2 %

ภาวะเศรษฐกิจของโลกตะวันตก และโลกตะวันออกมีความแตกต่างกันพอสมควร

ในซีกโลกตะวันออก อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะชะลอตัว โดยขยายตัว 6.5 % (7.3 % ในปี 2011) ประเทศจีนจะขยายตัว 8.1 % เทียบกับ 9.2 % ในปี 2011

ส่วนประเทศในโลกตะวันตกนั้น กลุ่มยูโรโซน ขยายตัว -1.5% และอังกฤษขยายตัว -1.3 % สหรัฐอเมริกาขยายตัว 1.7 %

“ในช่วงครึ่งแรกของปี 2012 ปัญหาในยุโรปและโลกตะวันตก จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อเข้าช่วงครึ่งหลังของปี การเติบโตที่แข็งแกร่งในจีนและประเทศในตลาดเกิดใหม่อื่นๆ น่าจะช่วยดึงให้เศรษฐกิจโลกกระเตื้องขึ้นมาได้ จะเป็นการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นในซีกโลกตะวันออกที่ส่งผลไปถึงโลกตะวันตก”บทวิจัยของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดวิเคราะห์ไว้

ส่วนสถานการณ์เศรษฐของไทยในปีหน้า สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดมองว่า “ด้วยนโยบายในการฟื้นฟูหลังน้ำลด รวมทั้งภาคเอกชนจะมีการใช้จ่ายเพื่อการก่อสร้าง และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นลักษณะรูปตัว ‘V’ กล่าวคือ เป็นภาวะถดถอยระยะสั้นที่มีการปรับตัวกระเตื้องขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยจากภายนอก ได้แก่ การหดตัวทางเศรษฐกิจในยุโรป และการขยายตัวอย่างอ่อนแรงของสหรัฐฯ จะส่งผลต่อการส่งออกของไทย จึงคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2012 จะอยู่ที่ 3.5 %”

คล้ายกับการวิเคราะห์จากมุมของธนาคารกรุงเทพฯ “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน, นโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐ, ยุโรป, จีนและอินเดีย

“คาดว่าเศรษฐกิจภาพรวมในไตรมาสที่ 1 ของปี 55 น่าจะติดลบเล็กน้อย หรือจีดีพีขยายตัวในระดับ 0 %  และไตรมาสที่ 2 จะทรงตัว ไตรมาส 3-4 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นหลังจากที่โรงงานต่างๆ สามารถฟื้นตัวได้ โดยคาดว่าในปี 55 จีดีพีจะขยายตัวในระดับ 4-5 %”

ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพสรุปไว้ว่า “แต่ทั้งหมดรัฐบาลสามารถที่จะดูแลสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองได้ รวมถึงการปัองกันไม่ให้เกิดการทุจริตเงินที่จะนำมาฟื้นฟูประเทศ เป็นต้น”

เช่นเดียวกับหอการค้าไทย และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยในปีหน้าจะขยายตัวประมาณ 4-5 %

“ประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตามจากนี้ไป คือ รัฐบาลจะสามารถจัดการปัญหาและดึงความเชื่อมั่นจากนักลงทุนกลับมาได้หรือไม่ เพราะหากยังไม่มีวิธีที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาได้ ก็อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในระยะยาวได้เช่นกัน ”ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ความเชื่อมั่นดังกล่าว คงต้องใช้เวลาล้างคราบไคล “เอาอยู่” ให้พ้นเมืองไทยอีกนาน !!
โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัฎ์


กำลังโหลดความคิดเห็น