xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯพิจิตรให้เวลาชลประทาน 7 วันซ่อมฝายยางกั้นน้ำยมก่อนแจ้งอธิบดีฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิจิตร -ผู้ว่าฯเมืองชาละวัน สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขฝายเขื่อนยางมูลค่า 287 ล้านให้ใช้งานได้ภายใน 7 วัน หลังชาวนาลุ่มน้ำยมเริ่มผจญภัยแล้ง แม่ยมเริ่มแห้งขอด ต้องขนกระสอบทรายกั้นน้ำกันเอง ส่วนฝายยางสร้างเสร็จไม่กี่เดือนกลับใช้งานไม่ได้ ขู่ฟ้องถึงอธิบดีกรมชลฯ

นายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ยอมรับว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมของพิจิตร เริ่มส่อเค้าวิกฤตแล้ว เบื้องต้นชาวบ้านได้ช่วยกันนำกระสอบทรายมาทำเป็นฝายขวางลำแม่น้ำยม เพื่อเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ทำนา

ส่วนฝายเขื่อนยางพิจิตร ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านจระเข้ผอม ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร ที่มีมูลค่า 287 ล้านที่สร้างโดยสำนักงานชลประทานที่ 3 นครสวรรค์ ซึ่งมีการทดสอบและได้ส่งมอบงานโดยอ้างว่า สร้างเสร็จแล้วนั้น ปรากฏว่า วันนี้พอจะใช้งานจริงไม่สามารถใช้การได้เนื่องจากเครื่องปั๊มลมที่ใช้ในการสูบพองฝายเขื่อนยางเสีย จึงทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ ส่งผลให้ชาวนาพิจิตรต้องเดือดร้อน หันมาใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการกักเก็บน้ำ

ขณะนี้ได้สั่งการให้ผู้รับผิดชอบต้องแก้ไขให้ใช้ได้ภายใน 7 วัน เพื่อพองฝายยางกักเก็บน้ำในแม่น้ำยมไว้ใช้ให้ได้ก่อนที่จะวิกฤตไปมากกว่านี้ และได้กำชับว่าถ้า 7 วันทำไม่เสร็จจะรายงานไปยังอธิบดีกรมชลประทานเพื่อเอาผิดกับผู้รับผิดชอบต่อไป

ในส่วนของตัวแทนชาวนาในเขต 3 อำเภอ ได้แก่ อ.สามง่าม อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.บึงนาราง ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ทำนากว่า 2 แสนไร่ที่ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำยมที่ไหลผ่านจังหวัดพิจิตรก็ได้ร้องทุกข์ว่า ขณะนี้น้ำในแม่น้ำยมเริ่มแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามแม่น้ำได้ ซึ่งชาวนาเกรงว่าหากไม่รีบกักเก็บน้ำในแม่น้ำยมไว้ใช้เพื่อการทำนาปรังก็จะส่งผลให้เดือดร้อนกันอย่างทั่วหน้า

จึงอยากให้สำนักงานชลประทานที่ 3 นครสวรรค์ ซึ่งขึ้นตรงกับกรมชลประทาน ที่เป็นเจ้าของโครงการและเคยใช้งบประมาณ 287 ล้านบาท สร้างฝายยางไว้ที่บ้านจระเข้ผอม ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ 2 ก.ค.52 แล้วเสร็จ 21 มิ.ย.54 โดยบริษัททิพากร จำกัด มีนายสนิท คันธี เป็นหัวหน้าผู้ควบคุมงาน และมี นายพงษ์เทพ อ่องประเสริฐ , นายโชคชัย เจียมจตุรงค์ เป็นนายช่างผู้ควบคุมงาน กลับใช้งานได้เพียงแค่วันทดลองส่งมอบงานและเบิกค่างวดไปแล้วเท่านั้น แต่พอเข้าสู่หน้าแล้งปีนี้เป็นปีแรกแท้ๆ ฝายยางดังกล่าวกลับใช้งานไม่ได้ อีกทั้งการก่อสร้างตัวอาคารและห้องควบคุมในบางส่วนกลับไม่แล้วเสร็จ และดูแล้วส่อเค้าว่าสร้างไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจมีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริต

ดังนั้น ชาวนาพิจิตร จึงอยากเรียกร้องให้กรมชลประทานรับผิดชอบกับการกระทำที่เกิดขึ้น เพราะถ้าไม่มีฝายยางก็จะไม่มีน้ำทำนาปรังบนพื้นที่เกือบ 2 แสนไร่ ดังนั้นพฤติกรรมในครั้งนี้ชาวนาพิจิตรจึงอยากให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) รวมถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ( สตง.) ช่วยลงพื้นที่พิสูจน์ความจริงว่าต้นสายปลายเหตุเกิดจากสิ่งใดกันแน่
กำลังโหลดความคิดเห็น