xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.พิจิตร นำชาวบ้านทำฝายชะลอน้ำ-หลังแม่ยมเริ่มแห้งขอดแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - อบจ.พิจิตร นำรถแบ็กโฮช่วยชาวนา 2 หมู่บ้านที่พร้อมด้วยนักศึกษากว่า 400 คนช่วยกันระดมกำลังนำไม้ไผ่ และกระสอบทรายกั้นแม่น้ำยมทำเป็นฝาย เก็บกักน้ำในแม่น้ำยมที่ส่งสัญญาณวิกฤตภัยแล้งแล้ว

วันนี้ (19 ธ.ค.) นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายกอบจ.พิจิตร เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาพแม่น้ำยม ที่ไหลผ่านอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ลดระดับลงเหลือแค่หัวเข่า จนบางจุดสามารถเดินข้ามได้แล้ว ส่งผลให้ชาวบ้าน 2 ตำบลที่ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำยมในการทำนาปรังกว่า 2 หมื่นไร่ เกรงว่าจะไม่มีน้ำไว้ใช้ในการทำนาในช่วงฤดูแล้ง

จึงได้รวมตัวโดยมีชาวบ้านรายชะโด และชาวบ้านวังลูกช้าง ตำบลสามง่าม พร้อมด้วยนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร กว่า 400 คน รวมแรงรวมพลังใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านช่วยกันนำกระบอกไม้ไผ่ปักกั้นขวางแม่น้ำยมแล้วใช้กระสอบทรายจำนวน 5,000 กระสอบ ทำฝายกั้นแม่น้ำสูงประมาณ 2 เมตร ที่บริเวณบ้านวังลูกช้าง หมู่ที่ 8 ตำบลสามง่าม ซึ่งได้รับการสนับสนุนรถแบ็กโฮจาก อบจ.1 คัน ในการขุดทรายและทำแนวระนาบฝายดังกล่าว

นายชาติชายกล่าวว่า การสร้างฝายชะลอน้ำยมครั้งนี้ก็เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร ทำการปศุสัตว์ และการอุปโภคในพื้นที่อำเภอสามง่าม แก้ปัญหาภัยแล้งที่จะมาถึง ซึ่งคาดว่าจะแล้งหนักกว่าทุกปี เพราะปีนี้อากาศก็หนาวเย็นรุนแรงและเร็วกว่าปกติ เมื่อกั้นแม่น้ำยมไว้ได้แล้วสถานีสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าตามจุดต่างๆ ก็จะสูบน้ำผ่านคลองซอย คลองใส้ไก่ แจกจ่ายน้ำไปให้ชาวนาตามวงรอบการใช้น้ำที่มีการจัดตั้งกลุ่มและกรรมการบริหารน้ำอย่างเป็นระบบ

โดยมั่นใจว่าการทำฝายชะลอน้ำในครั้งนี้จะช่วยให้ชาวนาทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำยมของ อ.สามง่าม ในพื้นที่เกือบ 2 หมื่นไร่ ได้ทำนาปรังครั้งที่ 1 (ปรัง 1 ทำระหว่างเดือน พ.ย.-ม.ค. เก็บเกี่ยวได้ปลาย ก.พ.ต้น มี.ค. 2555) แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่งก็คือ โรคเพลี้ยกระโดดในนาข้าว ก็เริ่มมีระบาดบ้างแล้ว คงต้องฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความรู้และป้องกันเป็นการเร่งด่วนด้วย

ชาวนาที่มาร่วมกันทำฝายกั้นแม่น้ำยมกล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้ชาวนาทำนาปรังกันทั่วหน้าจึงแย่งกันสูบน้ำในแม่น้ำยม จนน้ำแห้งเร็ว ดังนั้นในทุกตำบลที่อยู่ริมแม่น้ำยม จึงต้องรีบเร่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำนาปรังเพื่อหารายได้ชดเชยจากการที่นาข้าวถูกน้ำท่วมในฤดูกาลที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านระบุว่า การสร้างฝายชะลอน้ำในแม่น้ำยมดังกล่าวเป็นการชะลอน้ำจุดแรกเมื่อทดน้ำได้ตามความสูงของฝายแล้วน้ำจะไหลล้นฝายออกไปให้ชาวบ้านที่อยู่ใต้ฝายอีกทอดหนึ่งและชาวบ้านใต้ฝายอย่างเช่น ตำบลรังนก ตำบลวังจิก ตำบลไผ่ท่าโพของ อ.โพธิ์ประทับช้าง ก็จะสร้างฝายทดน้ำเหมือนกันเป็นลักษณะเหมือนขั้นบันไดตลอดแนวแม่น้ำยมในเขตพิจิตร ทั้งนี้ คาดว่าฝายน้ำชั่วคราวสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2555 นี้เท่านั้น



กำลังโหลดความคิดเห็น