xs
xsm
sm
md
lg

ราชวงศ์คอมมิวนิสต์แห่งเกาหลีเหนือ

เผยแพร่:   โดย: ดร.ประยูร อัครบวร

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งเป็นเขตปกครองเป็นสองส่วนที่เส้นขนานที่ 38 โดยส่วนหนึ่งสหรัฐฯ เข้าจัดการดูแลในเกาหลีใต้ ส่วนรัสเซียเข้าจัดการดูแลเกาหลีเหนือ ซึ่งการเข้าไปมีอิทธิพลของสองมหาอำนาจนี้ก็เกิดจากการต่อสู้ในช่วงสงครามเย็นระหว่างค่ายโลกเสรีกับค่ายคอมมิวนิสต์นั่นเอง

และในสองปีต่อมา สหประชาชาติได้เข้าไปจัดการเลือกตั้ง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลแต่เกาหลีเหนือไม่เข้าร่วมและในที่สุดในวันที่ 15 สิงหาคม 2491 ได้มีการสถาปนาสาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea) หรือเกาหลีใต้ที่มีประธานาธิบดี ซิง มันลี เป็นประธานาธิบดีคนแรก และในวันที่ 9 กันยายน 2491 ได้สถาปนาเป็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (Democratic People's Republic of Korea) หรือเกาหลีเหนือโดยมีนายกรัฐมนตรีคนแรกคือ ฯพณฯ คิม อิล ซุง

ประธานาธิบดี คิม อิล ซุง นี้เริ่มเข้าร่วมทางการเมืองโดยการต่อต้านญี่ปุ่นตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมและเป็นนักรบกองโจรโดยการร่วมกับขบวนการคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตและจีน โดยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ พ.ศ. 2492 ถึง พ.ศ. 2515 และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ พ.ศ. 2515 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2537 ด้วยวัย 82 ปี (15 เม.ย. 2455 - 8 ก.ค. 2537)

การมีชีวิตอยู่จนถึงแก่อสัญกรรมของประธานาธิบดี คิม อิล ซุง จะไม่แปลกเลย ถ้าขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ของเกาหลีเหนือ มีการสร้างพรรค สร้างทายาทพรรคอย่างพรรคของสหภาพโซเวียต ของจีนหรือของเวียดนาม แต่ประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ได้วางทายาทในการกุมบังเหียนพรรค กองทัพและรัฐบาลโดยให้บุตรชายตนเองเป็นผู้สืบทอดอำนาจ ซึ่งพฤติกรรมอันนี้แหละที่ไม่แตกต่างจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบบกษัตริย์ที่ส่งมอบอำนาจโดยส่วนใหญ่ให้ราชโอรสองค์โต

นอกจากนี้ในยุคประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ได้สร้าง “ลัทธิบูชาบุคคล” ตั้งแต่พิธีกรรมจนถึงการเรียกขานผู้นำ ซึ่งผู้เขียนเคยแลกเปลี่ยนความคิดกับ รศ.ธีรศักดิ์ อัครบวร เมื่อครั้งเดินทางไปกับคณะผู้แทนราษฎรโดยมีอาจารย์มารุต บุนนาค เป็นหัวหน้าคณะไปประชุมที่เกาหลีเหนือว่ามีการสร้างภาพลักษณ์ แม้แต่การเรียกชื่อ ซึ่ง รศ.ธีรศักดิ์ อัครบวร พูดถึงประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ว่า “ผู้นำ ( leader)” แต่ถูกทางเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือ ขอร้องให้เรียกว่า “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ (great leader)” และข้อสรุปที่ได้รับทราบขณะนั้นว่า “ประธานาธิบดี คิม อิล ซุง คือ องค์จักรพรรดิดีๆ นี่เอง”

เมื่อมีการวางทายาทสืบราชวงศ์คอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2523 ซึ่งเป็นการประชุมพรรคครั้งที่หก นายคิม จองอิล บุตรชายได้รับเลือกเป็นโพลิตบูโรอาวุโส เป็นคณะกรรมาธิการทหารและเลขาธิการพรรค

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 นายคิม จองอิล ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาประชาชนสูงสุด ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2534 นายคิม จองอิล ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเกาหลีเหนือ แม้ว่า นายคิม จองอิล ไม่ได้รับราชการทหารมาก่อนก็ตาม แต่กองทัพเป็นรากฐานอำนาจที่แท้จริงในเกาหลีเหนือจึงจำเป็นต้องเข้าไปสอดแทรกครอบงำในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2536 นายคิม จองอิล ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการป้องกันประเทศ

การวางทายาทของประธานาธิบดี คิม อิล ซุง จึงมีจังหวะก้าวที่เดินความมั่นคง เมื่อประธานาธิบดี คิม จองอิล เข้ารับตำแหน่งยังต้องการรวบอำนาจ จึงเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคแรงงานเกาหลีหรือพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2540 และจากการประชุมสภาประชาชนสูงสุดครั้งที่ 10 เมื่อ 5 กันยายน 2541 ให้เรียกยกย่องประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ว่า “ประธานาธิบดีตลอดการ (Eternal President)” และให้ยกเลิกระบบประธานาธิบดีเป็นประมุข ให้ประธานคณะกรรมการป้องกันประเทศ (Chairman of the National Defense Commission) เป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ โดยมีอำนาจปกครองด้านการเมือง เศรษฐกิจ และที่สำคัญคือด้านการทหาร

เมื่อผู้นำสูงสุดที่มีอำนาจอย่าง คิม จองอิล มีพฤติกรรมทางการเมืองที่แตกต่างจากโลกตะวันตก ตลอดเวลาที่มีอำนาจ ได้พัฒนาสร้างกองทัพด้วยงบประมาณมหาศาล ใช้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ทำให้กองทัพเกาหลีเหนือถูกจัดให้เป็นหนึ่งในกองทัพที่มีขนาดใหญ่ในโลก โดยกองทัพเกาหลีเหนือมีทหารที่เป็นกำลังรบถึง 1,200,000 คนในขณะที่เกาหลีใต้มีเพียง 680,000 คน (www.state.gov)

นอกจากนี้ยังได้พัฒนา ทดลองปรมาณูโดยไม่สนใจการคัดค้านจากนานาชาติ อีกทั้งนำมาต่อลองแลกเปลี่ยนเพื่อการช่วยเหลือด้านอาหาร แต่ก็มีพฤติกรรมที่ชักเข้าชักออกในการเจรจาเรื่องปรมาณูที่เกาหลีเหนือมีแล้ว ยังทำตัวเป็นพ่อค้าส่งออกที่ทำให้โลกตะวันตกและเหล่าพันธมิตรต่างหวาดหวั่น

ภายใต้โลกกลมใบเดียวกันนี้ เมื่อผู้นำสูงสุดประเทศคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ คิม จอง อิล ถึงแก่อสัญกรรม จึงไม่แปลกที่มีผลให้ดัชนีหุ้นในตลาดหุ้นในตลาดประเทศเสรีปิดตลาดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทิ่มหัวลงหรือราคาตกลงหลายจุด ไม่ว่าเกาหลีใต้หุ้นดิ่งลง 3.43 เปอร์เซ็นต์หรือ 63.03 จุด ญี่ปุ่นหุ้นดิ่งลง 1.26 เปอร์เซ็นต์หรือ 105.60 จุด ฮ่องกงหุ้นดิ่งลง 1.18 เปอร์เซ็นต์หรือ 215.18 จุด และไต้หวันหุ้นดิ่งลง 2.24 เปอร์เซ็นต์หรือ 151.76 จุด และยังเพิ่มความหวั่นไหวทางด้านการเมืองที่ผู้นำเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีลี เมียงบักถึงกับยกเลิกหมายกำหนดการเดิม พร้อมเรียกประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติทันที และโทรศัพท์สนทนากับประธานาธิบดีบารัก โอบามาแห่งสหรัฐฯ ร่วมสองชั่วโมง

ส่วนนายกรัฐมนตรีโยชิอิโกะ โนดะแห่งญี่ปุ่น ได้ยกเลิกการกล่าวสุนทรพจน์และรีบกลับทำเนียบเพื่อเป็นประธานการประชุมฉุกเฉินด้านความมั่นคง พร้อมทั้งสั่งการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ จีนและเกาหลีใต้ เพื่อเตรียมตัวสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน (กรุงเทพธุรกิจ-20 ธ.ค.54)

การเปลี่ยนแปลงในเกาหลีเหนือที่มาสู่ผู้นำสูงสุดคนใหม่ “คิม จอง อุน” ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่สามของคิม จองอิลและเป็นทายาทรุ่นที่สามนับแต่ประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ผู้เป็นปู่ที่เป็นคอมมิวนิสต์รุ่นแรก จึงเป็นที่จับตา ว่าสามารถจะรักษาอำนาจ ตลอดระยะเปลี่ยนผ่านอย่างไร้ปัญหาได้หรือไม่ รวมทั้งนายแจง ซองเต็ก สามีของน้าสาวนางคิม ยองฮุย ที่เป็นผู้นำที่สำคัญถูกวางไว้ให้เป็นพี่เลี้ยง “คิม จอง อุน” สามารถประคับประคององค์ชายแห่งราชวงศ์คอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือให้ครองอำนาจ สืบสันติวงศ์โดยไม่มีการต่อต้านได้หรือไม่ ด้วยสถานทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ประชาชนขาดอาหารและที่สำคัญการจัดอันดับความโปร่งใสหรือดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ปี พ.ศ. 2554 ประเทศเกาหลีเหนืออยู่อันดับสุดท้ายจาก 183 ประเทศร่วมกับประเทศโซมาเลีย

การทำให้เข้าใจประเทศคอมมิวนิสต์อย่างประเทศเกาหลีเหนือแล้วทำให้เกิดความสงสารบรรดาเจ้าของทฤษฎีอย่าง “คาร์ล มาร์กซ์” ถ้ากลับมาเกิดใน พ.ศ.นี้คงต้องร้องไห้ และอาจต้องตะโกนถามว่า “เรื่องชนชั้นที่ท่องๆ กันมา พอได้อำนาจรัฐ เกิดชนชั้นใหม่ มันชั่วกว่าเก่าแบบหาที่ติไม่ได้เลย” หรือ “พวกวัวลืมตีน” นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น