xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูประบบเกษตรกรรมเพื่อความมั่นคงของคุณภาพชีวิตเกษตรกร

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมนับเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของสังคมไทยทั้งในช่วงเวลาปกติและฉุกเฉิน เช่น จลาจล สงคราม และความขัดแย้งทางการเมือง เนื่องมาจากโครงสร้างสังคมถูกกดทับจากสัมพันธภาพทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างกลุ่มต่างๆ ทางสังคม ถึงแม้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะของการต่อรองและกลไกในการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จะพยายามปรับเปลี่ยนความเหลื่อมล้ำนี้ให้เคลื่อนเข้าสู่จุดดุลยภาพมากขึ้น โดยการมุ่งเคลื่อนอำนาจการเจรจาต่อรองของกลุ่มคนต่างๆ ให้ขยับมาใกล้เคียงกันขึ้น โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มทุน รัฐ และประชาชน ที่เมื่อก่อนกลุ่มประชาชนมักถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอจากการผสานผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและรัฐ

การสร้างเสริมศักยภาพขีดความสามารถในการเข้าถึงสิทธิและโอกาส การบริหารจัดการวิกฤตพิบัติภัย การพัฒนาระบบการผลิตที่หลากหลาย และการลดการผูกขาดของระบบเศรษฐกิจ จะเป็นกลไกสำคัญในการสลายรื้อโครงสร้างสังคมไทยที่ทั้งเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมได้ ไม่เว้นแม้แต่ในระบบเกษตรกรรมที่ความไม่เป็นธรรมถั่งโถมจนผู้คนที่ได้ชื่อเป็นกระดูกสันหลังชาติต้องล้มหายตายจากไปไม่น้อย โดยแนวทางหลักในการปฏิรูประบบเกษตรกรรมเพื่อความมั่นคงคุณภาพชีวิตเกษตรกรก็คือการสร้างความไม่เป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางอาหารที่สามารถรองรับกับสถานการณ์วิกฤตได้

ทั้งนี้การจะบรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ก็ไม่ได้ถือว่ายากมากจนเกินไปเพราะไม่ต้องตั้งต้นจาก ‘0’ หรือ ‘-’ หากแต่มีพัฒนการของข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูประบบเกษตรกรรมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอด้านการปฏิรูปการเกษตรเพื่อสังคมที่เป็นธรรมของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่ได้รับการยอมรับทางสังคมวงกว้างจากการที่ไม่ได้ผูกติดกับสีเสื้อทางการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถ้านำมาใช้จะทำให้ระบบเกษตรกรรมกลับมามีความเป็นธรรมมากขึ้นได้ เพราะในข้อเสนอการปฏิรูปการเกษตรเพื่อสังคมที่เป็นธรรมของ คปร. คือการมุ่งสร้างพลังเจรจาต่อรอง (negotiation) เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรเป็นสำคัญ

นอกเหนือจากข้อเสนอสำคัญข้างต้นแล้ว ครป.ยังเสนอให้มุ่งสร้างกระบวนการศึกษาเรียนรู้ และพัฒนาระบบการวิจัยและพัฒนาที่เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง การเข้าถึงและการคุ้มครองสิทธิและโอกาสของเกษตรกร การสร้างโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงและมีอำนาจในการจัดการทรัพยากร ตลอดจนการปรับปรุงโครงสร้างและกลไกการตลาดให้เป็นธรรม การสร้างการจัดการหนี้สินและทุนของเกษตรกรทั้งระบบ การสร้างความมั่นคงปลอดภัยด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม และการปฏิรูประบบการสนับสนุนจากภาครัฐ

นอกจากข้อเสนอ คปร.แล้ว ข้อเสนอคณะกรรมการเครือข่ายปฎิรูปเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกรที่ผลิตผลจากกระบวนการมีส่วนร่วมยังน่าจับตายิ่ง เพราะไม่เพียงมุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนโดยใช้แหล่งเรียนรู้นอกระบบและภูมิปัญญาจากปราชญ์ชาวบ้าน การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดการเรียนรู้และจัดการเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและพันธุกรรม และปกป้องสิทธิด้านพันธุกรรมท้องถิ่น อันเป็นแนวทางการบริการจัดการความเปลี่ยนแปลงด้านเกษตรกรรมโดยตัวเกษตรกรเองแล้ว การออกกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับในทุกระดับเพื่อควบคุมการซื้อขาย

การโฆษณาสารเคมีทางการเกษตรโดยการให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้บริโภค การประกาศเขตและระบบการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างยั่งยืน การศึกษาและพัฒนาข้อเสนอเพื่อให้เกษตรกรสามารถรวมกลุ่ม และมีอิสรภาพในการตัดสินใจด้วยตนเองมากขึ้น การศึกษาและพัฒนาข้อเสนอเพื่อปรับปรุงระบบเกษตรพันธสัญญา ที่นอกจากจะเป็นกระบวนการที่เรียกร้องการปรับเปลี่ยนจากภาครัฐแล้ว ยังต้องการคำมั่นสัญญาทางการเมือง (political commitment) และเจตนารมณ์ทางการเมือง (political will) ที่ต้องมีอิสรภาพจากทุนอยู่พอสมควรด้วย

ทว่าคำมั่นสัญญาทางการเมืองและเจตนารมณ์ทางการเมืองเรื่องระบบเกษตรก็ใช่ว่าจะมั่นคงเสถียรภาพ หากแต่ผันผวนตามการขึ้นมาของรัฐบาลเป็นสำคัญ อีกทั้งยังอยู่ใต้อาณัติอิทธิพลของกลุ่มทุนระดับชาติและข้ามชาติที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ (exploited) จากการลงทุนด้านการเกษตรระยะสั้นผ่านรูปแบบของเกษตรพันธสัญญา (contract farming) ที่มองเกษตรกรเป็นลูกไล่ทางธุรกิจมากกว่าหุ้นส่วนทางธุรกิจที่ต้องรับความเสี่ยงร่วมกันยามเกิดภัยพิบัติทั้งจากธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ รวมถึงรูปแบบอื่นๆ

เช่นนี้นี่เองทำให้ข้อเสนอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบเกษตรกรรมจากดำเป็นขาว จึงตกม้าตายไม่ได้รับการขานรับจากกลุ่มกุมอำนาจทางการเมืองและทุน ทั้งๆ ที่ข้อเสนอของ คปร.และเครือข่ายปฏิรูปเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกรจะส่องสว่างปลายอุโมงค์มืดมิดของระบบเกษตรกรรมที่ไม่เป็นธรรมได้

ดังนั้นข้อเสนอ คปร.และเครือข่ายปฏิรูปฯ ที่จะถูกขยายผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมกำหนดและเสนอแนะเชิงนโยบายที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจจนสามารถสร้างจุดดุลยภาพขึ้นใหม่ในเวทีของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปจึงก่อคุณูปการได้ในแง่ของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างความไม่เป็นธรรมในกระบวนการผลิตและระบบตลาด และการผลิตทางการเกษตรที่ยั่งยืน ส่งเสริมอาหารปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่ดี ที่จะมาแทนการผลิตเพื่อมุ่งสนองการบริโภคซึ่งใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเต็มที่ (fully exploited) หรือใช้ประโยชน์มากเกินควร (overexploited)

การปฏิรูประบบเกษตรที่มีความสลับซับซ้อนสูงมากจากการมีกลุ่มผลประโยชน์ (interest group) หลากหลายจึงเป็นความท้าทายของสังคมไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศกสิกรรมและส่งออกอาหารลำดับต้นๆ ของโลก ว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มเกษตรรายย่อยที่เป็นหนึ่งในกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจเจรจาน้อยนิดใน ‘สมการอำนาจทางการเกษตร’ จนถูกจัดเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางสังคม (vulnerable groups) ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นจนกระทั่งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น