ทหารไทยกับเขมรใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง เจรจาหาข้อยุติทหารเขมรยิง ฮ.ไทยเสียหาย แต่เขมรไม่ขอโทษ ไม่ชดใช้ค่าเสียหาย อ้างบินล้ำแดน เลยไม่มีข้อสรุป ต้องโยนให้ไปเจรจากันระดับสูงในการเจรจา JBC ที่พนมเปญ 21 ธ.ค. ด้านชาวศรีสะเกษลงมติค้านถอนทหารไทยพ้นเขาวิหาร พร้อมจี้ไล่เขมรพ้น 4.6 ตร.กม.
เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (18 ธ.ค. ) ที่ห้องประชุมเชิงผา ศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย บ้านเขาล้าน ต.แหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด น.อ.กิตติคุณ นาคสุก ผบ.หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน (ผบ.ฉก.นย.ตราด) ตราด ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายตราด (ไทย) พร้อม น.อ.จิโรจน์ สุขอร่าม รอง ผบ.ฉก.นย.ตราด พร้อมเสนาธิการ ฉก.นย.ตราด น.อ.อภิรักษ์ กลิ่นหม่น หัวหน้าหน่วยประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชา ได้ร่วมกันเจรจาหาข้อยุติกรณีที่ทหารกัมพูชาจากพัน ปชด.303 จ.เกาะกง ใช้อาวุธปืนประจำกาย (AK-47) ยิงเฮลิคอปเตอร์ กองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรีตราด ที่ลำเลียงเสบียงและอาหารแห้ง ไปส่งให้ทหารพรานนาวิกโยธิน ที่เนิน 326 บ้านเจ็กลัก ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ได้รับความเสียหายที่ใบพัด เมื่อบ่ายวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายกัมพูชา นำโดย พล.ต.ยวน มิน ผู้บัญชาการทหาร จ.เกาะกง เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายกัมพูชา พ.ต.สุขสวัสดิ์ ตุ้น เสนาธิการ และฝ่ายเสนาธิการ
หลังจากเจรจากันนานเกือบ 2 ชั่วโมง ในเวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่ระดับล่าง ทั้ง 2 ฝ่าย ได้ออกจากห้องประชุมเหลือเพียง พล.ต.ยวน มิน และเสนาธิการ ส่วนฝั่งไทยมี น.อ.กิตติคุณ นาคสุก และ น.อ.จิโรจน์ สุขอร่าม ยังประชุมภายในอยู่
สำหรับผลการเจรจาในเบื้องต้น พ.ท.จัน เสรี รองเสนาธิการทหาร จ.เกาะกง ในฐานะล่ามของฝั่งกัมพูชา กล่าวว่า ผลการเจรจาในเบื้องต้น ได้สรุปลงแล้ว โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้เสนอว่า จะไม่มีการกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าใครผิด ใครถูก หรือต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ แต่ทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือในเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีก
โดยเฉพาะการประสานงานในพื้นที่ในแต่ละระดับว่าจะมีการดำเนินการในระดับใด ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือในความร่วมมือทางทหารให้มากขึ้นกว่าเดิมที่ผ่านมา ความร่วมมือทั้งทางทหาร และทางกีฬา สังคม ได้หยุดชะงักไปในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ในรัฐบาลชุดนี้ น่าจะดีกว่าเดิม
" ส่วนเรื่องความผิดพลาดที่เกิดขึ้น หรือความเสียหายของฝ่ายไทยผมไม่สามารถที่จะระบุถึงรายละเอียดได้ เพราะต้องให้ พล.ต.ยวน มิน และ นอ.กิตติคุณ เป็นผู้แถลง ซึ่งผมมั่นใจว่า หลังจากการเจรจาในครั้งนี้ ทุกอย่างจะกลับมามีความสัมพันธ์เหมือนเดิมอีกครั้ง" พ.ท.จัน เสรี รองเสนาธิการทหาร จ.เกาะกง กล่าว
กระทั่งในเวลา 16.45 น. การพูดคุยระหว่างหัวหน้าคณะทั้งสองฝ่ายได้ยุติลง โดย พล.ต.ยวน มิน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า สาระในการประชุมครั้งนี้ ไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องความผิดพลาด หรือความเสียหายที่ฝ่ายกัมพูชาต้องชดใช้ แต่พูดถึงการป้องกันและการแก้ปัญหาไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก และทั้ง 2 ฝ่ายจะให้ความร่วมมือกันในด้านทหารในโอกาสต่อไป
สำหรับเรื่องที่เกิดความขัดแย้งกัน พล.ต.ยวน มิน ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ ส่วนพื้นที่เนิน 326 ที่เป็นข้อขัดแย้งนั้น พล.ต.ยวน มิน บอกว่า เป็นเรื่องที่ต้องเจรจากันในระดับสูงต่อไปโดยเฉพาะในการเจรจา JBC ที่พนมเปญในวันที่ 21 ธ.ค.นี้
ทางด้าน น.อ.กิตติคุณ กล่าวว่า ไม่สามารถให้รายละเอียดใดๆ กับสื่อมวลชนได้ในขณะนี้ โดยเฉพาะเรื่องการให้กัมพูชาขอโทษ และชดใช้ค่าเสียหายในระดับพื้นที่เจรจากันได้แค่นี้ ส่วนที่เหลือต้องให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ดูแล หรือดำเนินการต่อไปเอง
สำหรับเฮลิคอปเตอร์ เบล 212 ที่จอดอยู่ที่ลานจอดชุดควบคุมทหารพรานนาวิกโยธินที่ 3 (บ้านเขาล้าน) ทางหน่วยทหารช่างจากกองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด (ค่ายตากสิน ) ได้นำอะไหล่มาเปลี่ยนและนำกลับไปที่ค่ายตากสินเมื่อเวลา 12.00 น. ที่ผ่านมา แล้ว
อนึ่ง สำหรับเนิน 326 เป็นพื้นที่ราบบนยอดเขาบรรทัด ด้าน อ.คลองใหญ่ เป็นจุดสันปันน้ำที่ทั้ง 2 ประเทศต้องการเข้าไปยึดเป็นที่ตั้งทางทหาร เพราะสามารถนำเฮลิคอปเตอร์ลงจอดในพื้นที่ได และเนิน 326 หากมอง ไปทางทิศตะวันออกจะเห็นภูมิทัศน์ของ จ.เกาะกง และ จ.โพธิสัตได้อย่างชัดเจน ขณะที่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก จะเห็นภูมิทัศน์ของ อ.คลองใหญ่ทั้งหมด รวมทั้ง อ.เกาะกูด และบริเวณน่านน้ำทะเลฝั่ง อ.คลองใหญ่ จ.ตราดทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เมื่อราว 6-7 เดือนก่อนทหารทั้ง 2 ฝ่ายได้เกิดความขัดแย้งกันจนเกือบมีการปะทะ เนื่องจากทหารนาวิกโยธินของ จ.ตราด ได้ขึ้นไปตั้งฐานที่มั่น ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา ที่ยึดเนิน 329 ไว้ไม่ยอม จนต้องมีการเจรจาร่วม 2 ฝ่าย และได้ข้อยุติให้ทาหารทั้ง 2 ฝ่าย ปล่อยทิ้งพื้นที่เป็นเขตปลอดอาวุธ หากจะมีการขึ้นไปหรือส่งเสบียงจะต้องประสานงานก่อน กระทั่งวันเกิดเหตุ เฮลิคอปเตอร์ของ กปช.จต.ได้ประสานไปยัง พัน ปชด.303 เพื่อนำ ฮ.ลงจอด เพื่อส่งเสบียงอาหารตามข่าว แต่ถูกทางฝ่ายกัมพูชาใช้อาวุธประจำกายยิงจนได้รับความเสียหายดังกล่าว
โดยก่อนหน้านี้ น.อ.ปริญญาธรรม พูลพิทักษ์ธรรม อดีต ผบ.ฉก.นย.ตราด ได้เคยออกคำสั่งให้ทาหารพรานนาวิกโยธินและทหารนาวิกโยธินได้ลงจากพื้นที่ เนิน 326 เนื่องจากเห็นว่ามีการส่งเสบียงและกำลังบำรุงที่ยากลำบาก ต้องเฮลิคอปเตอร์หรือการเดินเท้าที่ใช้เวลานาน และลำบากจึงตัดสินใจถอนทหารออกมา กระทั่ง น.อ.กิตติคุณ นาคสุข เข้ามาเป็น ผบ.ฉก.นย.ตราด จึงได้ออกคำสั่งให้ทหารพรานนาวิกโยธิน ได้เข้าประจำพื้นที่อีกครั้ง
**เขมรไม่ขอโทษอ้าง ฮ.ไทยล้ำแดน
แหล่งข่าวจากฝ่ายทหารการข่าว เปิดเผยถึงผลสรุปของการประชุมเจรจาทั้งสองฝ่าย ระบุว่า
1. การตัดสินใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทหารทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการอย่างไรต่อไปให้ทางผู้บังคับบัญชาตัดสินว่าจะทำอย่างไร
2. ทางฝ่ายกัมพูชายืนยันว่าเฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายไทยได้บินรุกล้ำไปยังฝั่งของกัมพูชาทำให้ทางผ่ายกัมพูชาจำเป็นต้องยิงปืนขับไล่ออกจากพื้นที่ของกัมพูชา
3. ความเสียหายที่เกิดขึ้น ที่ใบพัดเฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายไทยที่ทางฝ่ายไทยเรียกร้องค่าเสียหาย 10-20 ล้านบาทนั้น เกินขีดความสามารถของทหารในจังหวัดเกาะกงจะรับผิดชอบหรือชดใช้ให้ได้ จะต้องประสานไปยังกองทัพบก ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร
** ระดับสูงต้องรีบเจรจาก่อนบานปลาย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การทำความเข้าใจระหว่างสองประเทศ ยังจำเป็นที่จะต้องทำ แต่ขณะเดียวกันก็ควรต้องแสดงออกให้ชัดเจน และไม่ควรยอมรับการใช้วิธีการเช่นนี้ ซึ่งตนจำได้ว่า สมัยที่ตนเป็นรัฐบาลแล้วกัมพูชาก่อสร้างถนนรุกเข้ามาในพื้นที่ฝั่งไทย ได้มีการประท้วงในระดับพื้นที่ไปแล้ว จนกระทั่งถึงระดับกระทรวงการต่างประเทศ และคนในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งขณะนั้นเป็นฝ่ายค้าน ก็อ้างว่าการประท้วงจากส่วนกลาง ควรต้องทำตลอดเวลา
ดังนั้น แนวคิดที่เคยทำตรงนี้ ก็ควรจะยังต้องปฏิบัติ อย่างไรก็ตามตนยังเป็นห่วงที่ขณะนี้ดูเหมือนรัฐบาลยังหลงภาพว่า ทางการเมืองมีความสัมพันธ์กันดี แต่ในทางผลประโยชน์ของชาตินั้น เห็นว่าตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา ยังไม่มีเรื่องใดเลยที่ดีขึ้น
เมื่อถามว่ามีนัยยะอะไรหรือไม่ ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ หรือ จีบีซี ของทั้งสองฝ่ายเพียงไม่กี่วัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าเกิดขึ้นอย่างไร แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิด และน่าจะประสานทำความเข้าใจกันได้ ซึ่งขณะนี้ตนคิดว่าควรต้องแสดงออกให้ชัดเจน ถึงกติกาการอยู่ร่วมกัน และบางครั้งอาจจะมีความเข้าใจผิดกันหรือไม่ ก็ต้อง ต้องดูว่า จะปฏิบัติกันอย่างไร และควรเร่งนำเรื่องนี้เข้าสู่เวทีการเจรจาทั้งสองฝ่าย
***ชาวศรีสะเกษลงมติค้านถอนทหาร
เมื่อเวลา 16.30 น. วานนี้ (18 ธ.ค.) ที่บริเวณสี่แยกบ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายกิติศักดิ์ พ้นภัย หัวหน้ากลุ่มกำลังแผ่นดินและเครือข่ายประชาชนชาวกันทรลักษ์พิทักษ์เขาพระวิหาร พร้อมด้วย สมาชิกของกลุ่มกว่า 30 คน ได้นำเอกสารใบประชาพิจารณ์การถอนกำลังทหารไทยออกจากบริเวณเขาพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ มาแจกจ่ายให้ประชาชนชาวบ้านภูมิซรอลได้กรอกแบบฟอร์มแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยจัดแยกเอกสารออกเป็น 2 กล่อง คือ กล่องที่ 1 เป็นกล่องคัดค้านถอนทหารโดยเด็ดขาด กล่องที่ 2 เป็นกล่องให้ถอนทหาร พร้อมให้กรอกความเห็นให้ถอนทหารเพราะอะไร และไม่ให้ถอนทหารเพราะอะไร
ปรากฏว่า มีประชาชนชาวบ้านภูมิซรอล พากันมากรอกเอกสารลงความเห็นกันอย่างคึกคัก ซึ่งการประชาพิจารณ์ครั้งนี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16 - 18 ธ.ค. โดยมีการทำประชาพิจารณ์ทั้งในเขตเทศบาลเมืองกันทรลักษ์ และทุกหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ของ อ.กันทรลักษ์ ซึ่งในวันที่ 18 ธ.ค. เป็นวันสุดท้ายของการลงความเห็น และสรุปผลการประชาพิจารณ์ทั้งหมด
นายกิติศักดิ์ กล่าวว่า ตนและคณะเริ่มออกทำการประชาพิจารณ์ตั้งแต่ เย็นวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงวันที่ 18 ธ.ค. ปรากฏว่า มีผู้มาลงประชาพิจารณ์รวมทั้งสิ้นประมาณ 5,000 คน ซึ่งสรุปผลจากการประชาพิจารณ์แล้วพบว่า 99 % ประชาชนชาว อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ คัดค้านการถอนกำลังทหารไทย ออกจากบริเวณเขาพระวิหารอย่างเด็ดขาด
ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านทุกคนต้องการให้คงกำลังทหารไว้ที่บริเวณเขาพระวิหาร หากไม่มีทหารไทยอยู่บริเวณนี้ หมู่บ้านภูมิซรอล คงจะต้องแตกแน่นอน
ทั้งนี้ มีเหตุผล 3 ข้อหลัก ในการให้คงกำลังทหารไทยไว้ที่บริเวณเขาพระวิหาร คือ
1. เพื่อให้ปกป้องอธิปไตยของชาติไทย หากมีทหารไทยอยู่ ชาวบ้านอบอุ่นใจ
2. พื้นที่ตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ทั่วไปด้าน จ.ศรีสะเกษ ยังไม่มีความชัดเจนในด้านเขตแดน
3. ชาวบ้านต้องการให้ทหารไทยหรือรัฐบาลไทยผลักดันทหารกัมพูชาและชาวกัมพูชาออกไปจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม. บริเวณเขาพระวิหาร รวมทั้งที่ช่องตาเฒ่า และฐานซำแต ใกล้กับทางไปเขื่อนห้วยขนุน ต.ภูผาหมอก อ.กันทรลักษ์ ซึ่งมีทหารของกัมพูชาเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ และนำเอาลูกเมียมาทำไร่ ทำนาในเขตแดนไทย
นายกิติศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ผลสรุปการประชาพิจารณ์ทั้ง 2 กล่อง ตนจะทำเป็นหนังสือยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) โดยผ่าน พ.อ.ธนศักดิ์ มิตรภานนท์ ผบ.หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 23 อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ในวันนี้ ( 19 ธ.ค.) เวลา 10.00 น. เพื่อเป็นการแจ้งให้ ผบ.ทบ.ได้นำเสนอรัฐบาลให้ทราบว่า ชาวศรีสะเกษที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ด้านเขาพระวิหาร ไม่ต้องการให้ถอนกำลังทหารไทยออกจากบริเวณเขาพระวิหารอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ชาวศรีสะเกษมีความเข้าใจที่ชัดเจนแล้วว่า พื้นที่ 4.6 ตร.กม. บริเวณเขาพระวิหาร เป็นเขตแดนของประเทศไทย ไม่ใช่ของกัมพูชา.