xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รัฐบาล รัฐสภา กองทัพ และพรรคการเมืองต้องไม่หลงประเด็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

บทความนี้เป็นวิชาการเกี่ยวกับหลักธรรมของความถูกต้องของการทำหน้าที่ในความเป็นศาลซึ่งจะต้องใช้หลักธรรมชั้นสูงหรือเรียกว่า อตัมมยตา โดยต้องใช้สติปัญญาวิชาความรู้อย่างอยู่ในโลก สำหรับที่จะอยู่ในโลก มีกำลังจิตกำลังกายที่จะต้องสู้อยู่ในโลก(อยู่อย่างเป็นโลกิยะ ) เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ความเจริญเพื่อคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ศีลธรรม เพราะการทำงานของศาลในขณะนี้เป็นการทำหน้าที่อยู่ท่ามกลางของความขัดแย้งอย่างสูงของสังคม ซึ่งมีความอุบาทว์อย่างรุนแรงในสังคม [อุบาทว์ ภาษาบาลีเรียกว่า อุปทฺทว อุปทฺทโว ซึ่งหมายความ ผลที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง ความขัดแย้งมีที่ไหนมีอุบาทว์ที่นั่น] เมื่อมีความอุบาทว์เกิดขึ้นในสังคม จำเป็นที่ศาลจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้อง ( Rightful ) และต้องเป็นความถูกต้องบนพื้นฐานของความถูกต้อง ( Justness ) ซึ่งก็คือ ความถูกต้องตามกฎหมาย วัฒนธรรม และศีลธรรม และอาจรวมถึงทางศาสนาด้วย

จากข่าวสื่อสาธารณะเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของนายอำพร หรืออากง อายุ 61 ปี ซึ่งส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือไปยังบุคคลที่สาม ซึ่งมีข้อความอันเป็นการจาบจ้วงดูหมิ่นด้วยถ้อยคำหยาบคายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หมิ่นประมาทใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระราชินีฯ โดยศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 5 ปี รวม 4 กระทง ( กระทำความผิด 4 ครั้ง ) เป็นจำคุก 20 ปี ตามคดีหมายเลขแดงที่ 4726 / 2554 กับคดีที่ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกนายเลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ หรือสิน แซ่จิ้ว หรือนายโจ กอร์ดอน ชาวไทยสัญชาติอเมริกัน อายุ 54 ปี ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และกระทำให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน จากคำพิพากษาของศาลทั้งสองคดี ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของศาลอย่างกว้างขวาง มีการกล่าวหาในทำนองว่าศาลลงโทษหนักเกินไป และล่วงเลยไปถึงการเสนอให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ฑูตต่างประเทศและองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็น ได้แสดงความคิดเห็นเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และขอให้รัฐบาลไทยควรสั่งให้ตำรวจและอัยการยุติการตั้งข้อหากับประชาชนโดยอ้างว่าเป็นกฎหมายที่คลุมเครือ ในขณะเดียวกันคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ได้ออกมาเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ให้มีความเป็นเอกภาพและดำเนินการร่วมกันอย่างบูรณาการ มีกลไกที่สามารถกำหนดนโยบายในทางอาญาที่เหมาะสมให้อัยการใช้ดุลพินิจจะดำเนินคดีหรือไม่ก็ได้ และได้เสนอให้รัฐบาลดำเนินการให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้รับการปล่อยชั่วคราว และพิจารณาหาหนทางการดำเนินคดีที่นำเอาประเด็นเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาขยายผลในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ในขณะเดียวกันทางรัฐบาลก็ไม่เคยดำเนินคดีกับเว็บไซด์ที่มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกระทบต่อความมั่นคงซึ่งเกิดขึ้นอยู่เกลื่อนกลาดแต่อย่างใด และรัฐบาลโดยรองนายกรัฐมนตรีเพิ่งจะออกมาแสดงความเห็นด้วยคำพูดที่กล่าวในทำนองจะปราบปรามเว็บไซด์หมิ่นอย่างเด็ดขาด โดยจะขอซื้อเครื่องมือปราบเว็บไซด์ราคา 400 ล้านบาท หากเครื่องมือดังกล่าวปราบเว็บไซด์ได้จริง ก็อาจจะเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการปกป้องผู้กระทำความผิด หรืออาจจะเป็นเครื่องมือไว้ใช้เพื่อการข่มขู่เรียกรับสินบนจากผู้กระทำความผิดก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ผู้ใช้เครื่องมือดังกล่าว จะมีเจตนาในการใช้เครื่องมือไปในทางใด

การนำผลการลงโทษของศาลซึ่งลงโทษผู้กระทำความผิดในกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 มากล่าวอ้างในทำนองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นกฎหมายที่ไม่มีมาตรฐานสากล เรียกร้องให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าวทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นที่คาดหมายได้ว่า จะมีการหยิบยกเอา “ คดีอากง” และ “คดีโจ กอร์ดอน ” มาเป็นเป้าหมายในการยกเลิกมาตรา 112 ตามข้อเรียกร้องขององค์กรระหว่างประเทศและผู้อยู่ในประเทศ ทั้งๆที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติในสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมาเป็นเวลานาน

ผู้เขียนจึงขอยกประเด็นปัญหาที่จะชี้ให้เห็นได้ว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น เป็นกฎหมายที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน มีมาตรฐานสากลตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิกแล้ว

( 1) ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของไทย

ตามประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชาติไทย พระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นผู้ปกครองมานาน พระมหากษัตริย์เป็นผู้นำทัพออกศึกทำสงคราม รวมทั้งดำเนินการใช้กุศโลบายทางการทูตในการปกปักษ์รักษาแผ่นดินและคุ้มภัยให้แก่ราษฎรจากการถูกรุกรานของรัฐต่างประเทศมาแต่โบราณกาล พระมหากษัตริย์เป็นผู้รวบรวมอาณาเขตประเทศมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีความรัก ความผูกพันกับราษฎร ราษฎรมีความรักเคารพ บูชา สักการะ และมีความกตัญญูต่อพระมหากษัตริย์และสถาบัน พระมหากษัตริย์ด้วยคุณูปการในพระเดชพระคุณที่พระมหากษัตริย์มีต่อราษฎรและประเทศชาติมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมของชาติไทย อันเป็น “วัฒนธรรมที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และวัฒนธรรมที่ปวงชนชาวไทยมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย และสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นรากแก่นของความมั่นคงของชาติไทย”

เมื่อประเทศมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดย “คณะราษฎร์ ” ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนปกครองตนเองและได้ทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลตั้งแต่สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน ก็ได้รู้และยอมรับว่า “วัฒนธรรมของไทยนั้น คือ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและมีวิวัฒนาการของความจงรักภักดีความเคารพ สักการะ บูชาของปวงชนชาวไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีวัฒนธรรมที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย และเป็นรากแก่นของความมั่นคงแห่งอาณาจักรไทย” และเพราะเหตุที่ประเทศไทยมีวัฒนธรรมดังกล่าว การปกครองโดยรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจึงได้นำวัฒนธรรมดังกล่าวมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ ซึ่งก็คือการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ได้ดำเนินการมากว่าเจ็ดสิบห้าปี และความมีอยู่ซึ่งวัฒนธรรมดังกล่าวก็ได้ปรากฏเป็นหลักฐานในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เช่น มาตรา 2 บัญญัติว่า “ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ” มาตรา 8 บัญญัติว่า “ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้ ”

วัฒนธรรมดังกล่าวอยู่ในจิตใจ อยู่ในความรู้สึก อยู่ในความผูกพันของคนในชาติ โดยคนในชาติตระหนักว่า วัฒนธรรมดังกล่าวนั้นเป็นความมั่นคงของรัฐ จึงได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงถึงความหวงแหน การรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมดังกล่าวให้อยู่ยงคงวัฒนาถาวรตลอดไป ซึ่งปรากฏหลักฐานในแนวนโยบายความมั่นคงแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ว่า “ รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจำเป็นและเพียงพอ เพื่อรักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อการพัฒนาประเทศ ” กับมีรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆอีกหลายมาตราที่แสดงถึง การมีวัฒนธรรมซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนอันเป็นความมั่นคงของประเทศปรากฏอยู่ และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้ผ่านการลงประชามติของมหาชนมาแล้ว เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับสุดท้ายที่ผ่านความเห็นชอบของมหาชนชาวไทยทั้งประเทศในการที่จะรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันเป็นความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้

ชาติไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นหรืออยู่ในอาณัติการปกครองของประเทศใด ไทยเป็นประเทศเล็กที่รักษาความเป็นเอกราชมาได้อย่างถาวร เพราะวัฒนธรรมที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นศูนย์ร่วมจิตใจของคนทั้งชาตินั่นเอง การกลืนชาติ การกินชาติ การทำลายให้สิ้นชาติเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในการปกครองโดยการเลือกตั้ง [ ที่ไม่บริสุทธิ์และมีการซื้อสิทธิขายเสียงกัน และไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยในความหมายของคำว่า “ ประชาธิปไตย ” ] การผสมพันธุ์ของคนในชาติเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ คนไทยที่มีเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ของประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยหรือของประเทศมหาอำนาจ ก็อาจมาเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยได้โดยการเลือกตั้งและมีเงินที่ใช้ในการเลือกตั้ง คนชาติเผ่าพันธุ์ไทยแท้หรือไทยเทียม ก็สามารถใช้เงินเพื่อชนะการเลือกตั้งได้ เงินที่ใช้ในการเลือกตั้งจะมาจากที่ใดผู้เลือกตั้งจะไม่รู้ที่มาของแหล่งเงินที่ใช้ในการเลือกตั้ง เพราะไม่มีองค์กรที่มีประสิทธิภาพจะทำการตรวจสอบควบคุมแหล่งเงินที่นำเข้ามาใช้ในการทุจริตการเลือกตั้งได้ การชนะการเลือกตั้งของนักการเมืองไทยเท่าที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน จึงเป็นการแข่งขันเพื่อให้เข้าถึงแหล่งขุมทรัพย์ของชาติไทย และเข้าถึงศูนย์อำนาจปกครองประเทศเท่านั้น หากตรงจุดใดที่ใดมีความขัดข้องในการใช้อำนาจที่ไร้คุณธรรมในการปกครอง เพราะมีข้าราชการประจำที่มีคุณธรรมคอยตรวจสอบ ขัดขวาง ก็ต้องหาทางย้าย กำจัดให้ออกไปจากเส้นทางที่จะใช้อำนาจนั้นเสีย หรือมิฉะนั้นก็ใช้ความโลภ ความอยากเป็น อยากได้ของข้าราชการนั้น ด้วยการมีผลประโยชน์เอื้อซึ่งกันและกัน โดยใช้ขุมทรัพย์ของชาติมาเป็นปัจจัยในการแบ่งผลประโยชน์กัน การเลือกตั้งเพื่อให้เข้าถึงแหล่งขุมทรัพย์ของชาติไทย เข้าถึงแหล่งปกครองประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ประเทศไทยจะได้ผู้ปกครองประเทศที่อาจจะเป็นคนที่สามารถขายชาติ ทำลายชาติไทยให้สิ้นชาติได้ [ซึ่งก็ปรากฏหลักฐานในความเป็นจริงของประเทศ ซึ่งมีชาวเปรูเชื้อสายญี่ปุ่นเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ โดยชนะการเลือกตั้งและฟื้นฟูเศรษฐกิจของเปรูจนฟูเฟื่อง แต่ได้ทำลายชาติโดยการทุจริตคอร์ปชั่นและละเมิดสิทธิมนุษยชน จนต้องหนีออกนอกประเทศไปอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น]

การทำลายความมั่นคงของประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงสุดก็คือ การทำลายวัฒนธรรมทางด้านจิตใจในความจงรักภักดี การเคารพ สักการะ บูชาในองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ของคนในชาติให้สูญสิ้นไป การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ประชาชนมีความเกลียดชัง อาฆาต มาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น จึงเป็นการกระทำที่ทำลายวัฒนธรรมและความมั่นคงของประเทศโดยตรง

การกระทำความผิดอาญามาตรา 112 จึงไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดที่มุ่งต่อชื่อเสียง เกียรติคุณของพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่เป็นการกระทำที่มุ่งทำลายวัฒนธรรมและความมั่นคงของประเทศ มาตรา 112 จึงได้นำมาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักเพื่อให้เหมาะสมกับความผิดนั่นเอง

(2 ) . ความผิดอาญามาตรา 112 เป็นความผิดที่มีบทลงโทษตามหลักมนุษยธรรม ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่า ด้วยสิทธิมนุษยชนทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights )


องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งได้ยอมรับและรับรองสิทธิทางวัฒนธรรม ( Cultural ) ตามที่กำหนดไว้ในบริบท ( preamble ) ของสนธิสัญญาดังกล่าว ที่ให้บุคคลทุกคนมีสิทธิเสรีภาพตามหลักสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิในทางการเมืองในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม [ preamble : everyone may enjoy his economic, social , and cultural rights, as well as his civil and political rights ] และข้อบัญญัติที่ 1 และ 15 ( article 1 , 15 ) ประเทศสมาชิกจะต้องให้การยอมรับในสิทธิของพลเมืองทุกคนที่จะตัดสินใจใช้ชีวิตในทางวัฒนธรรมได้ [ The States Parties to present Covenant Recognize the right of everyone : ( a ) to take part in cultural life ] ดังนั้นกฎหมายอาญามาตรา 112 ของไทยจึงเป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทางวัฒนธรรมตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่องค์กรสิทธิมนุษยชนจะต้องให้ความสนับสนุนกฎหมายมาตรา 112 ของไทยดังกล่าว การที่องค์กรสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องโดยนัยถึงความไม่เหมาะสมที่จะมีกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ก็จะเป็นการที่องค์กรสิทธิมนุษยชนไปสนับสนุนบุคคลที่มุ่งทำลายวัฒนธรรมแห่งชาติไทย ทำลายความมั่นคงของประเทศไทย เมื่อประเทศไทยเป็นสมาชิกตามสนธิสัญญาดังกล่าว การเรียกร้องขององค์กรสิทธิมนุษยชนและทูตต่างประเทศดังกล่าว ก็อาจเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความแตกแยกของสังคมของคนในชาติไทยซึ่งขัดต่อสิทธิหลักมนุษยชน เพราะเป็นการทำลายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ( Peaceful coexistence ) ของคนในชาติของประเทศที่เป็นสมาชิกองค์กรแห่งสหประชาชาติ อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อกติการะหว่างระหว่างประเทศ และขัดต่อกฎบัตรสหประชาชาติ

(3 )การกระทำของ “ อากง ” และ “ โจ กอร์ดอน ” เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตามข้อบัญญัติที่ 17 และ 19 (International Covenant on Civil and Political Rights , Article 17 , 19)

องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ให้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก (Everyone shall have the right to freedom of expression) ไม่ว่าด้วยวาจา เขียน หรือพิมพ์ ในรูปแบบทางศิลปะโดยผ่านสื่อตามที่ต้องการได้ แต่การแสดงออกซึ่งสิทธิดังกล่าวจะต้องกระทำด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นพิเศษ (carries with it special duties and responsibilities) โดยสิทธิดังกล่าวอาจจะถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดที่แน่นอนโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายและความจำเป็นคือ ( 1 ) จะต้องเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น ( For respect of the rights or reputations of others ) ( 2 ) เพื่อป้องกันความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยของสาธารณชน หรือสุขภาพ หรือศีลธรรมของสาธารณชน [For the protection of national security or of public order (ordre – public), or of public health or morals ] ซึ่งเป็นไปตามข้อบัญญัติที่ 19 แห่งสนธิสัญญาดังกล่าว

ดังนั้นตามสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิในทางการเมืองจึงไม่ได้ให้เป็นเสรีภาพแก่บุคคลที่จะแสดงออกได้อย่างเสรี แต่เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้เสียหาย และคุ้มครองความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยของสาธารณชน สุขภาพ และศีลธรรมของสาธารณชนของประเทศที่เป็นภาคดีสมาชิกด้วย เพราะสนธิสัญญาดังกล่าวได้เปิดช่องให้ประเทศสมาชิกได้ออกกฎหมายในการป้องกันซึ่งสิทธิและในชื่อเสียงของผู้อื่น กับป้องกันความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ สุขภาพ อนามัย และศีลธรรมของสาธารณชนได้

ประเทศไทยได้มีกฎหมายออกใช้บังคับตามหลักเกณฑ์ การป้องกันสิทธิ ชื่อเสียงของบุคคลอื่นและป้องกันความมั่นคงของราชอาณาจักรไทย ตลอดจนความสงบเรียบร้อย สุขภาพ อนามัยและศีลธรรมของสาธารณชน โดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ซึ่งสอดคล้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าว โดยรัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่า “ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อสารโดยวิธีอื่น การจำกัดสิทธิตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามของจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน”

และรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติกำจัดการใช้สิทธิและเสรีภาพสิทธิของบุคคลตามความจำเป็นเพื่อป้องกันในวัฒนธรรมแห่งความมั่นคงของประเทศไว้ใน มาตรา 68 ว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้มิได้ ” ดังนั้นเมื่อประเทศไทยได้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญห้ามการกระทำเพื่อรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและความปลอดภัยของประเทศไว้โดยสอดคล้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศคือ International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights และ International Covenant on Civil and Political rights แล้ว การที่ศาลไทยพิพากษาลงโทษใน คดี “ อากง” และ คดี “ โจ กอร์ดอน ” จึงเป็นการพิพากษาลงโทษตามโทษานุโทษตามหลักสิทธิมนุษยชน ( Human Right ) ตามหลักมนุษยธรรม ( Humanitarian ) ตามมาตรฐานสากลแล้ว

( 4 ) การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลในคดี “อากง” และ “ โจ กอร์ดอน” เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีบนพื้นฐานของความถูกต้อง ( Rightful ) และเป็นความถูกต้องที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ( Justness ) ซึ่งเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้งของจำเลยและผู้เสียหายซึ่งเป็นประมุขของประเทศ เพราะสิทธิมนุษยชนไม่ได้จำกัดให้แต่เฉพาะผู้กระทำผิดและถูกลงโทษ แต่สิทธิมนุษยชนนั้นรวมถึงสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดด้วย


การกระทำความผิดในกรณีนี้เป็นการกระทำต่อประมุขของประเทศ และมีผลเป็นการทำลายล้างวัฒนธรรมของคนในชาติ ซึ่งก็คือการล้มล้างการปกครองประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ประชาชนทุกคนที่ประสงค์ในทางวัฒนธรรมที่จะมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมเป็นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย ( Everyone may enjoy his cultural right ) ทั้งวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ( National security ) ประชาชนที่มีวัฒนธรรมดังกล่าว จึงมีสิทธิที่จะดำเนินการกับบุคคล หรือ พรรคการเมืองที่ได้กระทำการเพื่อล้มล้างวัฒนธรรมอันเป็นผลต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้ โดยประชาชนมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการดังกล่าว และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ด้วยตนเอง [โดยไม่ต้องรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอัยการสูงสุด ----- (ความเห็นของผู้เขียน )] เพราะเป็นการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้เลิกการกระทำอันเป็นการกระทำที่ทำลายวัฒนธรรมและทำลายประเทศชาติซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เพราะการทำลายวัฒนธรรมเป็นการทำให้สิ้นชาติ แต่ในกรณีที่เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองเป็นผู้กระทำ ประชาชนจะร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองเองหรือขอให้ตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองไม่ได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งการเองได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68

( 5 ). การที่ทูตต่างประเทศ หรือองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องเกี่ยวกับคดี “ อากง” และ “ โจ กอร์คอน” อาจเป็นเพราะต่างประเทศไม่ได้ทราบประวัติศาสตร์ความเป็นมาทางวัฒนธรรมของไทยอย่างลึกซึ้ง กระทรวงต่างประเทศมีหน้าที่ต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับต่างประเทศ เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความเป็นชาติและอธิปไตยของประเทศชาติ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการบริหารงาน ทั้งในระบบศาล บริหาร นิติบัญญัติ และกองทัพไทยที่ต้องรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หากกระทรวงต่างประเทศละเว้นไม่ทำหน้าที่ชี้แจงทำความเข้าใจดังกล่าว หรือหากกระทรวงการต่างประเทศไม่สามารถจะชี้แจงกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ สำนักงานศาลยุติธรรมก็ควรจะต้องดำเนินการทำหนังสือชี้แจงโดยผ่านกระทรวงการต่างประเทศ หรือชี้แจงต่อกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ดำเนินการให้ เพราะปัญหาดังกล่าวหากไม่ทำการชี้แจงให้เข้าใจในปัญหาดังกล่าวแล้ว บทบาทของนานาชาติและองค์กรระหว่างประเทศก็อาจจะกลายเป็นปัญหาในความมั่นคงของประเทศไทยอย่างหนักหนาสาหัส สากรรจ์ได้ด้วย เช่นกัน

15 ธันวาคม 54
โฆษกศาลฯ แจง 5 ประเด็น “อากง” ติดคุก ชี้ ยังมีสิทธิ์สู้คดี-วอนคำนึงความรู้สึกประชาชนก่อนแก้ ม.112
โฆษกศาลฯ แจง 5 ประเด็น “อากง” ติดคุก ชี้ ยังมีสิทธิ์สู้คดี-วอนคำนึงความรู้สึกประชาชนก่อนแก้ ม.112
โฆษกศาลยุติธรรมชี้แจงคดีอากง หลังถูกปั่นกระแสเรียกร้องแก้ไข-ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เผยศาลชั้นต้นชั่งน้ำหนักแล้วผิดจริง แต่ใช้สิทธิ์อุทธรณ์-ฎีกาได้ตามกฎหมาย ชี้บทลงโทษไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่ขึ้นอยู่กับข้อหาและพฤติการณ์ โต้เสียงโจมตีศาลไทยไร้มาตรฐานไม่เข้าใจประวัติศาสตร์-ธรรมเนียมประเพณี ก่อนแจงมาตรา 112 ฝ่ายนิติบัญญติปรับแก้ได้ถ้าล้าสมัย ศาลเป็นเพียงผู้ใช้กฎหมาย แต่ต้องมองความรู้สึกประชาชน-วอนอย่าใช้อารมณ์ชักจูงในทางเสียหาย ติชมได้แต่ต้องมีจิตเป็นกลาง ปราศจากอคติ
กำลังโหลดความคิดเห็น