xs
xsm
sm
md
lg

โลกล้อมประเทศ เปรตอาจครองเมือง

เผยแพร่:   โดย: ดร.ประยูร อัครบวร

สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองทุกๆ วัน จะสัมผัสได้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองไทยของเราในปัจจุบันนั้น มีความอ่อนไหว ไม่มีความมั่นคง และความขัดแย้งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงอย่างเดียวก็เกินอัตราศึกหรือภาษาชาวบ้านว่าเกินรับประทานแล้วครับ

ท่ามกลางการเรียกร้องการปรองดองก็เชือดเชือนกันด้วยวาทะแบบไม่เผาผี

ท่ามกลางการหาความปรานีก็เอากันให้ตายไปข้างหนึ่ง

ท่ามกลางเรียกร้องขอให้ยุติปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ แต่ทุกเหตุการณ์ต้องมีการขยายความที่ทำให้เห็นว่าฝ่ายที่ตัวเองไม่เห็นด้วยเป็นต้นตอของความไม่ดีงาม ความขัดแย้งในประเทศไทยจึงถูกนำหรือสร้างกระแสสู่สากลไปแล้ว ทั้งๆ ที่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น ถ้าเรามีการพินิจพิเคราะห์จะเห็นได้ว่าเกิดจากการเมืองในระบอบทักษิณหรือคนของระบอบทักษิณ

เมื่อมีอำนาจในวันที่ 4 มีนาคม 2546 พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์ ว่า “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ” เพื่อตอบโต้กรณีข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จะส่งเจ้าหน้าที่มาสังเกตการณ์การดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณ ที่อาจผิดหลักการสากลและอาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังจากที่ น.พ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทักษิณมากถึง 92 เรื่องเข้าไปหารือ

เมื่อถูกลดอำนาจ บรรดาลูกน้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ประกาศการต่อสู้กับอำมาตย์ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ พอถึงเวลาที่ตัวเองได้ประโยชน์ก็เรียกหา “ยูเอ็น”

อย่างนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อถึงกับประกาศว่า “พร้อมจะเจรจากับรัฐบาล แต่ต้องให้สหประชาชาติเป็นคนกลาง เพราะ นปช.ไม่เชื่อใครในประเทศจะเป็นกลางได้อีกแล้ว...”

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ร้องขอความช่วยเหลือจากนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ โดยมีข้อเรียกร้องถึง 5 ข้อคือ 1) ขอให้แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่หลบหนีอยู่ได้สิทธิผู้ลี้ภัยการเมือง 2) ให้ประชาคมโลกกดดันรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 3) ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน 4) ให้นำฆาตกรแห่งรัฐไทยและผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ประชาชนจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นอาชญากรของโลกมาลงโทษ 5) ให้มีประกันสิทธิเสรีภาพของคนไทย จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปนำมาสู่สันติภาพ สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย

นอกจากนี้ นายสุนัย จุลพงศธร พยายามนำคดีการตาย 91 ศพของประชาชนสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจก็ต่อเมื่อรัฐนั้นเป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ประเทศไทยยังไม่เคยให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม จึงมิได้เป็นภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศ รวมทั้งไม่เคยประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล การพยายามสร้างประเด็นจึงเป็นเรื่องการเมือง

จากการเรียกร้องของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายสุนัย จุลพงศธร จะเห็นได้ว่าเป็นการหยิบฉวยหรือการดึงภาพทางสากลที่เอามาช่วยในการเคลื่อนไหว การสร้างข่าว สร้างแรงกดดันให้กับฝ่ายตรงกันข้ามอย่างมีจังหวะก้าว ทำให้เกิดภาพลวงตาหรือคำขู่ที่คนติดตามสถานการณ์ไม่ทันจะรู้สึกหวาดหวั่น หรือคนที่ตามทันก็กลัวว่าภาพลักษณ์ประเทศชาติจะเสียหาย แต่คนที่รู้ทันและตามทันระบอบทักษิณก็จะบอกว่าแหกตาได้ไม่แยบยล

เพราะในกฎบัตรสหประชาชาติหมวดที่ 1 ข้อ 2 โดยข้อย่อยที่ 7 ระบุให้เข้าใจอย่างชัดเจนว่า “ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันจะให้อำนาจแก่สหประชาชาติเข้าแทรกแซง ในเรื่องซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วตกอยู่ในเขตอำนาจภายในของรัฐใดๆ หรือจะเรียกให้สมาชิกเสนอเรื่อง เช่นว่าเพื่อการระงับตามกฎบัตรฉบับปัจจุบัน แต่หลักการนี้จะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อการใช้มาตรการบังคับตามหมวดที่ 7” ซึ่งหมวดที่ 7 ว่าด้วยเรื่อง “การดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพ และการกระทำการรุกราน”

จากกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 2 นี้จะเห็นได้ว่า สหประชาชาติไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะกฎหมายหรือการตัดสินคดีความในประเทศนั้นๆ อย่างหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้ ที่เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติออกมาสัมภาษณ์ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการแก้กฎหมายประมวลอาญามาตรา 112 ต่างเป็นการทำงานนอกหน้าที่ทั้งนั้น

ทำไมเจ้าหน้าที่สหประชาชาติเหล่านั้นออกมาสัมภาษณ์ คนที่ติดตามทางการเมืองเคยถามไหมครับว่า “ใครตั้งเรื่อง ใครอยู่เบื้องหลัง” และที่สำคัญบทสรุป “ใครได้ประโยชน์”

การวิจารณ์การเมืองไทยในวันนี้ จึงไม่สามารถมองผ่านแค่มิติในประเทศ เพราะผลประโยชน์ของการพัฒนาหรือการหาผลประโยชน์ระหว่างประเทศจะเป็นตัวแปรที่สำคัญ ซึ่งถ้าดูแบบใกล้ตัวก็ดูได้จากความสัมพันธ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ กับฮุนเซน ที่มีความแนบแน่นถึงขนาดบอกความลับที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขอพบเรื่องน้ำมันในอ่าวไทยเป็นการส่วนตัว ซึ่งการให้สัมภาษณ์ของฮุนเซนนี้ไม่เพียง บรรดาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องจำจนวันตาย แต่คนไทยต้องมองการเคลื่อนไหวที่ตอบสนองและรองรับระบอบทักษิณครองเมือง เพราะการแย่งชิงพื้นที่ข่าว ไม่ว่าในการสร้างข่าวเชิงรุกที่ชี้ให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน แต่หลายครั้งยังช่วยเปลี่ยนประเด็นทางการเมืองร้อนได้ด้วย

นอกจากนี้พฤติกรรมที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พยายามแสดงตัวที่ประเทศนั้นประเทศนี้ต่างเป็นการสร้างข่าวหรือคลื่นข่าวที่เรียกว่า “โลกล้อมประเทศ” ซึ่งการไม่หยุดนิ่งต้องยอมรับว่าสร้างข่าวกระแทกสู่สังคมไทยได้ทุกครั้ง วันนี้คนไทยเราจึงเหมือนกับเชลยอยู่ในวังวนการเมือง ที่ถูกกำหนดโดย พ.ต.ท.ทักษิณ

แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้วงล้อมที่ไม่ได้เกิดจากเอกภาพของความดีงาม ต่างมีช่องว่างที่ให้เห็นถึงความโลภ โกรธ หลง ที่เหมือนบูมเมอแรงที่ย้อนกลับไปทำร้ายตัวระบอบทักษิณเองอย่างการคิดหรือยื่นแก้กฎหมายต่างๆ ไม่ว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ การคิดออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณหรือแก้กฎหมายสภากลาโหม ซึ่งเอื้อให้เกิดการแทรกแซงกองทัพและเอื้อให้เกิดการผูกขาดอำนาจอย่างในอดีตที่องค์กรอิสระไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกทำนองคลองธรรม ต่างเป็นกระแสคลื่นต่อต้านที่นับวันรุนแรงมากขึ้นทุกที ซึ่งกระแสครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งก่อนแน่นอน

นอกจากนี้การก้าวผ่านระบอบทักษิณหรือ “โลกล้อมประเทศ” ให้ได้นั้น จึงต้องก้าวผ่านด้วยความระมัดระวัง ด้วยพวกร่วมทางที่มากับระบอบทักษิณต่างไม่ธรรมดา และที่สำคัญถ้าพลาดแบบไม่รู้จักจัดการหรือ ไม่กล้าจัดการ วันข้างหน้าบอกได้ว่า “เปรตอาจครองเมือง”
กำลังโหลดความคิดเห็น