xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาประชาธิปไตย : การใช้เสียงมหาชนแบบไหนที่ทำลายประชาธิปไตย?

เผยแพร่:   โดย: ไชยันต์ ไชยพร

โดยปกติ การขับเคลื่อนด้วยเสียงประชาชนหรือประชามติถือเป็นพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งของประชาธิปไตย การทำประชามติจึงเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย เพราะเป็นกลไกที่เปิดให้ประชาชนพลเมืองได้ร่วมกันตัดสินใจในเรื่องราวสาธารณะได้โดยตรง เพื่อที่จะรับหรือไม่รับข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่งที่มีการเสนอขึ้นมา เช่น ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่างกฎหมาย รวมทั้งการถอดถอนนักการเมืองหรือนโยบายรัฐบาล และการเลือกตั้งก็ถือเป็นการทำประชามติอย่างหนึ่งเพื่อให้พลเมืองตัดสินใจว่าจะเลือกนโยบายและแนวทางการบริหารประเทศของพรรคการเมืองใด

แต่ช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ ก็มีการทำประชามติที่กลับขัดแย้งหรือทำลายหลักการประชาธิปไตยเสียเอง และกรณีศึกษาที่นักวิชาการทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์น่าจะได้ผ่านหูผ่านตาไม่มากก็น้อยก็คือ การทำประชามติในสมัยฮิตเลอร์

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์ได้เริ่มใช้การทำประชามติครั้งแรกในระบอบของเขาต่อกรณีที่เขาต้องการจะให้เยอรมนีถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ ภายใต้บรรยากาศอันร้อนระอุของความรู้สึกชาตินิยมของคนเยอรมัน ซึ่งผลการลงคะแนนเสียงท่วมท้นถึงร้อยละ 95 สนับสนุนการถอนตัวดังกล่าว ขณะเดียวกัน ฮิตเลอร์ก็ถือโอกาสใช้เสียงประชามติที่สนับสนุนญัตตินโยบายต่างประเทศดังกล่าวเชื่อมโยงกับนโยบายภายในประเทศของเขาด้วย กล่าวได้ว่า การทำประชามติครั้งแรกนี้ถือเป็นหมากการเมืองที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในกระบวนการขับเคลื่อนสู่การรวบอำนาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จของเขาในเวลาต่อมา (Joachim Fest, Hitler, New York: 1974: pp. 438-9)

ต่อมาในปี ค.ศ. 1934 ก่อนการเสียชีวิตของประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กในวันที่ 2 สิงหาคม เพียงหนึ่งวัน ฮิตเลอร์ได้ให้คณะรัฐมนตรีของเขาเสนอกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐไวมาร์ที่เดิมทีกำหนดไว้ว่า เมื่อประธานาธิบดีเสียชีวิต จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ แต่กฎหมายที่เสนอมานั้นกลับกำหนดให้ควบรวมสองตำแหน่งไว้เข้าด้วยกัน นั่นคือ ทั้งตำแหน่งประธานาธิบดี (president) และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (chancellor) ซึ่งตำแหน่งหลังนี้เป็นตำแหน่งที่ฮิตเลอร์ดำรงอยู่แล้วขณะนั้น

อีกทั้งกฎหมายนี้ได้ยกเลิกตำแหน่งประธานาธิบดีไป และกำหนดให้มีตำแหน่งประมุขของรัฐ (head of state) ที่ดำรงตำแหน่งตั้งขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า “ผู้นำ (Führer)” และนายกรัฐมนตรี (Reichskanzler) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอยู่เดิม และฮิตเลอร์ได้จัดให้มีการลงประชามติรับรองร่างกฎหมายควบรวมอำนาจสองตำแหน่ง และรับรองตัวเขาให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้ ซึ่งผลการลงคะแนนเสียงประชามติครั้งนี้ร้อยละ 84.6 เห็นด้วยกับร่างกฎหมายและรับรองให้ฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ควบรวมอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยในฐานะประมุขของรัฐดังกล่าวนี้ ฮิตเลอร์ก็ได้กลายเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกด้วย

ใน Journal of Historical Review, Fall 1992 แห่ง Institute of Historical Review ลีออง เดอเกร็ล (Leon Degrelle: 1906-1994: ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรชนทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นผู้นำทางการเมืองและเป็นนักประวัติศาสตร์) ได้เขียนบทความเรื่อง “ฮิตเลอร์ควบรวมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในเยอรมนีและทำการปฏิวัติสังคมได้อย่างไร : ช่วงแรกของอาณาจักไรซ์ที่สาม” (How Hitler Consolidated Power in Germany and Launched A Social Revolution : The First Years of the Third Reich)

ตอนหนึ่งในบทความของเขา เขากล่าวว่า “ฮิตเลอร์ได้เคยกล่าวไว้ว่า ‘ข้าพเจ้าไม่ใช่เผด็จการ และไม่มีวันเป็น ด้วยพรรคสังคมชาตินิยมจะเสริมสร้างพลังให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง’” และเดอเกร็ลได้เขียนบรรยายต่อไว้ว่า “อำนาจอันชอบธรรมไม่ได้หมายถึงระบอบทรราช ทรราชคือคนที่ขึ้นสู่อำนาจโดยปราศจากซึ่งเจตจำนงของประชาชน หรือขึ้นสู่อำนาจโดยขัดต่อเจตจำนงประชาชน นักประชาธิปไตยขึ้นสู่อำนาจโดยประชาชน และประชาธิปไตยก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องมีแบบเดียว มันอาจจะเป็นประชาธิปไตยรัฐสภา (parliamentary) หรือประชาธิปไตยของพวกเดียวกันหมด (partisan) หรือมันอาจจะเป็นประชาธิปไตยที่มีผู้มีอำนาจคนเดียวเบ็ดเสร็จ (authoritarian) ก็ได้

แต่สิ่งสำคัญคือ มันจะต้องมาจากความต้องการปรารถนาของประชาชน---เป็นสิ่งที่ประชาชนเลือกและสถาปนามันขึ้นมา และนี่ก็คือกรณีของฮิตเลอร์ เขาขึ้นสู่อำนาจด้วยวิถีทางแบบประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ แต่นี่เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และหลังจากมีอำนาจแล้ว ประชาชนก็ยังให้ความนิยมสนับสนุนเขาเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี....แม้แต่นักประวัติศาสตร์ที่ประกาศตัวเองว่าต่อต้านนาซีอย่างศาสตราจารย์เฟสต์ ยังยอมรับว่า “ฮิตเลอร์ไม่เคยสนใจที่จะสร้างระบอบทรราช ความกระหายอำนาจอย่างรุนแรงไม่เพียงพอที่จะอธิบายบุคลิกภาพตัวตนและพลังในตัวเขา

ฮิตเลอร์ไม่ได้เกิดมาเพื่อจะเป็นเพียงทรราช (เน้นโดยผู้เขียน) เขายึดแน่นกับปณิธานที่จะปกป้องยุโรปและเชื้อชาติอารยัน....เขาไม่เคยมีความรู้สึกว่าตัวเขาต้องขึ้นอยู่กับปวงประชามหาชนเหมือนอย่างที่เขารู้สึกครั้งนั้น เขาเฝ้ารอดูปฏิกิริยาของปวงประชามหาชนด้วยความกระวนกระวาย (J. Fest, Hitler, p. 417.)”

ถ้าการเลือกตั้งเพื่อแสดงประชามติครั้งนั้นเป็นประชาธิปไตย แต่มันก็ได้นำพาให้การเมืองเยอรมนีเข้าสู่ระบบการเมืองที่มีผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่ผู้เดียว และด้วยตำแหน่งดังกล่าวนี้เองทำให้หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ในขณะนั้น ได้กล่าวว่า ผลการลงประชามติครั้งนั้นทำให้ฮิตเลอร์มีอำนาจมากกว่าผู้นำคนใดๆ ในโลกสมัยใหม่ในขณะนั้น เพราะฮิตเลอร์มีอำนาจมากกว่าสตาลินของรัสเซียและมากกว่ามุสโสลินีในอิตาลีด้วย หรือถ้าเปรียบเทียบย้อนไปในอดีต ถือว่าไม่เคยมีใครสามารถมีอำนาจมากเท่าฮิตเลอร์นับตั้งแต่สมัยเจงกีส ข่าน! (http://www.nytimes.com/learning/general/onthisday/big/0819.html)

และแน่นอนว่า นับตั้งแต่ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจสมบูรณ์ครั้งนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีใครและกลไกใดที่จะสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการของเขาได้เลย ยกเว้นการพยายามลอบสังหารหรือการพ่ายแพ้สงครามและการฆ่าตัวตายของฮิตเลอร์เท่านั้น

จริงอยู่ที่ “การเลือกตั้งเป็นพื้นฐานขั้นต่ำของประชาธิปไตย” แต่การใช้พลังประชามติและเจตจำนงประชาชนของฮิตเลอร์ครั้งนั้น ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในบางครั้ง ประชามติเสียงข้างมากอาจจะนำมาซึ่งผลที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงได้ และมันได้กลายเป็นบทเรียนที่นำมาซึ่งการวางหลักการในทางวิชาการและในทางปฏิบัติที่จะกำหนดตัวบทรัฐธรรมนูญไม่ให้มีการใช้ประชามติหรือการเลือกตั้งในการรับรองตัวบุคคล และการออกกฎหมายซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่จะต้องคงไว้ซึ่งหลักสิทธิเสรีภาพ การแบ่งแยกอำนาจและหลักนิติรัฐ และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ. 2540 ม. 214 ได้บัญญัติไว้ว่า “การออกเสียงประชามติที่เกี่ยวกับตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ จะกระทำมิได้”

แน่นอนว่า ในรายละเอียด การยุบสภาโดยจัดให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบข้อกล่าวหาซื้อขายหุ้นครอบครัวของคุณทักษิณ ชินวัตรในปี พ.ศ. 2549 ย่อมไม่เหมือนการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงเพื่อควบรวมอำนาจ และสถาปนาตัวเองของฮิตเลอร์ในปี ค.ศ. 1934 เพราะฮิตเลอร์ทำประชามติขอเสียงประชาชนเพื่อต้องการขึ้นสู่การมีอำนาจสมบูรณ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่ผู้เดียว ส่วนคุณทักษิณยุบสภาจัดการเลือกตั้งขอเสียงประชาชนเพื่อต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป โดยหวังใช้เสียงประชาชนเป็นตัวตัดสินว่า เขาผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าวนั้นหรือไม่? และสมควรจะกลับมามีอำนาจต่อไปหรือไม่?

แน่นอนว่า เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์การเมืองตะวันตกสมัยใหม่ว่า กรณีการทำประชามติในแบบของฮิตเลอร์ไม่สมควรจะเกิดขึ้นอีกแล้ว แต่สำหรับกรณีคุณทักษิณ คำถามคือ เมื่อมีข้อกล่าวหาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเกิดขึ้น เขาผู้นั้นควรจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบตามกลไกที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย (2540)? หรือกลับแทรกแซงกลไกต่างๆ และยุบกลไกสุดท้าย (สภาผู้แทนราษฎร) จะสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบได้ในขณะนั้นมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย (2540) และโยนข้อกล่าวหาของตนให้ตัดสินโดยประชามติของปวงประชามหาชน?
กำลังโหลดความคิดเห็น