xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อไหร่จะทำ “คำพ่อ” ให้เป็นจริงเสียที

เผยแพร่:   โดย: ปิยะโชติ อินทรนิวาส


สอดสายพระเนตรส่อง
เฝ้ามองทุกข์ทุกพสก
จากห้วงชั้นสิบหก
เพื่อปกป้องทุกผองไทย
คร่ำเคร่งทุกคืนวัน
เรื่องผันชลธารไกล
หาเหตุแห่งเภทภัย
ได้หยุดเหตุอาเพศทวี

พระบรมฉายาลักษณ์ที่นำมาประกอบบทความนี้ ผมจำได้แต่เพียงว่าขอแชร์มาจากเพื่อนในเฟซบุ๊ก ช่วงมวลน้ำมหาศาลกำลังถล่มกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีคำบรรยายกำกับไว้ด้วยในทำนองว่า ในหลวงทอดพระเนตรพสกนิกรของพระองค์จากชั้นที่ 16 อาคารโรงพยาบาลศิริราช พลันที่ตาสัมผัสก็วาบไปถึงใจ เพียงไม่กี่อึดใจข้อความข้างต้นก็ถูกเขียนขึ้น

เวลานี้ยังอยู่ในห้วงเฉลิมฉลองในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ 7 รอบ หรือ 84 พรรษา ภาพถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ที่เพิ่งผ่านพ้น ตอกย้ำอีกครั้งว่า แม้พระองค์จะประชวร แต่ก็ทรงห่วงใยอย่างเหลือล้นต่อพสกนิกร โดยเฉพาะในยามที่ต้องตกทุกข์ได้ยากจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่ยังไม่จบสิ้นในเวลานี้ โดยตอนหนึ่งพระองค์ตรัสว่า...

“...โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน อย่างเช่นโครงการต่างๆ ที่เคยพูดไปนั้น เป็นการแนะนำ ไม่ได้สั่งการ แต่ถ้าเป็นการปรึกษากันแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ คุ้มค่า และทำได้ก็ทำ...”

พระราชดำรัสของในหลวง สะท้อนภาพสังคมไทย ณ ห้วงเวลานี้ได้ดีทีเดียว

ในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา เริ่มด้วยการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้แจกเอกสารพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2554 ให้แก่ผู้เข้าร่วม จากนั้นได้ยกกระแสพระราชดำรัสที่ทรงห่วงใยประชาชนที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม แล้วสำทับว่าอยากให้รัฐมนตรีทุกคนนำพระราชดำรัสไปบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน

ก่อนหน้านั้นวันที่ 2 ธันวาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์นำคณะเดินทางไปยัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ภารกิจสำคัญอันหนึ่งคือ ติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือและแผนป้องกันเหตุอุทกภัย ทั้งในส่วนของจังหวัดที่บรรยายสรุปโดยนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และในส่วนของเทศบาลนครหาดใหญ่ที่นำเสนอโดยนายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวกับชาวสงขลาว่า รัฐบาลสนับสนุนแนวคิดที่จะทำแผนป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบงบประมาณในการป้องกันแล้วถือว่าคุ้มค่าอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเกิดอุทกภัยได้ทำลายเศรษฐกิจของเมืองหาดใหญ่ให้เสียหายครั้งละหลายหมื่นล้านบาท ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ก่อนจะร่วมโชว์ลีลาการทอดไก่และการทำความสะอาดถนน พร้อมมอบหัวฉีดน้ำให้กับนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ แต่กลับให้งดการเดินทางไปตรวจคลองระบายน้ำ ร. 1 ตามกำหนดการที่วางไว้ ด้วยข้ออ้างยังไม่หายป่วย

นี่เป็นเพียง 2 เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรับมือและเตรียมการป้องกันภัยพิบัติของผู้นำรัฐบาล โดยเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังวันที่ในหลวงมีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมาเพียงไม่นาน ซึ่งหากนำไปจิ๊กซอว์ต่อภาพกับการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ช่วงประมาณ 4 เดือนมานี้ ผลสรุปที่น่าจะชัดเจนก็คือ สักแต่ว่าขอให้ได้สร้างภาพเป็นข่าวไปวันๆ ส่วนการจะแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้จริงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังคงตราตรึงภาพในหลวงของเราทรงให้คำแนะนำกับผู้เกี่ยวข้องเรื่องการรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมในหลายวาระ ซึ่งมีการนำไปเผยแพร่กันอย่างกว้างขวาง โดยเวลานี้หาชมได้ง่ายยิ่งในสื่อสังคมออนไลน์ แนวคิดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน รวมถึงโครงการต่างๆ ที่พระองค์ทรงให้คำแนะนำไว้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติหน้าที่ที่เกิดขึ้นจริงของรัฐบาล ผมมั่นใจว่าเราจะพบว่ามันช่างห่างไกลกันราวท้องฟ้ากับห้วงเหวลึก

อย่างน้อยถ้ารัฐบาลนี้รับคำพ่อใส่เกล้าไว้บ้าง ความเสียหายจากภัยน้ำท่วมเที่ยวนี้ก็ไม่น่าจะมากมายมหาศาล และยืดเยื้อยาวนานอย่างที่เป็นอยู่ จนแม้กระทั่ง ณ วันนี้ความเสียหายก็ยังไม่จบสิ้น

หันไปมองเมืองหาดใหญ่ ซึ่งเมืองทั้งเมืองเคยผจญกับเหตุการณ์น้ำท่วมแบบจมบาดาลมาแล้วหลายระลอก รอบล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นในปลายปี 2553 ซึ่งก็ครบ 1 ปีไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนมานี้เอง จากการติดตามข่าวเรายังไม่พบว่า ทั้งรัฐบาลและท้องถิ่นมีแผนหรือทำโครงการอะไรเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนไว้เป็นที่เด่นชัด นอกจากเตรียมการรับมือแบบเฉพาะหน้า ถนนหนทางหรือสิ่งก่อสร้างที่เคยขวางทางไหลของน้ำอย่างไร ในวันนี้ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น

ที่น่าคิดอย่างมากก็คือ นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่กลับบอกว่า แนวทางการป้องกันน้ำท่วมที่ทำขึ้นปี 2544 ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้อีกต่อไปแล้ว ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมืองหาดใหญ่ในปลายปี 2543 รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณนับหมื่นล้านดำเนินโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ โดยเฉพาะมีทั้งโครงการแก้มลิงและขุดคลองระบายน้ำ 6 สาย เป็นต้น แต่มาถึงปลายปีนี้ไม่มีการบอกว่า แล้วมีแผนที่จะทำอะไรที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นบ้าง

สิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยแก่สังคมไทยก็คือ เราไม่สามารถควบคุมธรรมชาติได้ แต่เราสามารถอยู่กับธรรมชาติได้ น้ำฝนเราไม่สามารถกำหนดให้มีปริมาณมากหรือน้อยได้ แต่เราสามารถบริหารจัดการปริมาณน้ำที่มีอยู่ให้เกิดผลดีที่สุดได้ เมื่อเกิดมีมวลน้ำมหาศาลไหลบ่าก็หาหนทางให้ไหลลงทะเลเร็วที่สุด ถนนหนทางหรือสิ่งก่อสร้างใดขวางกั้นก็ให้มีการเจาะช่องลอดหรือต้องปรับปรุงแก้ไข ใครที่เดือดร้อนก็ให้เยียวยาตามเหมาะสม

เอาแค่ถนนหนทางที่ล้อมกรอบเมืองหาดใหญ่ ซึ่งว่ากันว่าคราน้ำหลากจะเป็นเหมือนเขื่อนกักเก็บน้ำไม่ให้ไหลลงทะเลโดยเร็วนั้น ก่อนเกิดเหตุน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ครั้งใหญ่ในปีที่แล้วเป็นอย่างไร เวลานี้ก็ยังดำรงคงอยู่เช่นนั้น

งบประมาณหลายหมื่นหลายแสนล้านบาทที่รัฐบาลเตรียมไว้ใช้ในการฟื้นฟู และจัดทำโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวต่างๆ นับจากนี้ไป เวลานี้สังคมไทยเราได้เห็นภาพแผนงานอะไรบ้างไหมที่มีความชัดเจน โดยเฉพาะได้เห็นแล้วไหมว่ารัฐบาลได้นำคำชี้แนะที่ในหลวงพระราชทานมาปฏิบัติหรือสอดใส่เป็นแผ่นงานไว้ ซึ่งไม่ใช่ยกไปกล่าวอ้างแบบลอยเพื่อให้ดูดีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผมยังหวังจะได้เห็นสังคมไทยเกิดการปฏิรูปและจัดระเบียบใหม่อย่างจริงจังครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในทางการเมือง ซึ่งในวันนี้ถือเป็นกลไกสำคัญที่สุดที่ฉุดรั้งความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ แต่เมื่อมองไปที่เหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นชุกและเข้มข้นแบบสุดๆ จนหลายคนเชื่อว่าสถานการณ์ใกล้งวดเข้าไปทุกทีแล้วนั้น

ผมก็ได้แต่เป็นห่วงว่า หลังงานเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบของพ่อหลวงเรา ความหนาวเย็นที่ตามมาจากมหาอุทกภัย จะไม่ทำให้สังคมไทยถึงขั้นหนาวเหน็บแบบเย็นยะเยือกสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ

เสียงก้องกัมปนาทพื้น    พสุธา
ว่าทรงพระเจริญราชา     เชิดแคว้น
เป็นมิ่งชาติขวัญประชา    ชโลมชื่น
กว่าหกทศวรรษดับแค้น   ขุ่นข้องผองไทยฯ

ขอพระองค์ทรงพระเจริญเป็นขวัญชาติและประชาชนยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
กำลังโหลดความคิดเห็น