xs
xsm
sm
md
lg

6ธ.กลางยักษ์ใหญ่ร่วมอัดฉีดแบงก์ยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ – แบงก์ชาติชั้นนำ 6 แห่งของโลกร่วมจัดหาดอลลาร์ต้นทุนต่ำให้พวกแบงก์ยุโรปที่กำลังเผชิญภาวะสภาพคล่อง ขณะที่วิกฤตหนี้ยุโรปผลักดันให้รัฐมนตรีอียูต้องเร่งเร้าขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากไอเอ็มเอฟเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะทางการเงิน โดยล่าสุดเบอร์ลินยอมเปิดกว้างประเด็นนี้มากขึ้น
ความเคลื่อนไหวเร่งด่วนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางของญี่ปุ่น อังกฤษ แคนาดา และสวิตเซอร์แลนด์ เตือนให้นึกถึงการดำเนินการร่วมกันเพื่อฟื้นเสถียรภาพตลาดโลกในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ภายหลังเลห์แมน บราเธอร์ส ล้ม
ทั้งนี้ ก่อนที่ตลาดวอลล์สตรีทจะเปิดทำการในวันพุธ (30 พ.ย.) ธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ทั้ง 6 แห่งได้ประกาศแผนการเพื่อผ่อนคลายความกังวลว่าระบบการเงินของยุโรปจะล่ม เนื่องจากพวกผู้ปล่อยกู้เกรงกลัวความสูญเสียและคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อให้แบงก์ในยุโรป
ธนาคารกลางชั้นนำเหล่านี้แถลงว่า จะจัดหาดอลลาร์ต้นทุนต่ำให้แก่แบงก์พาณิชย์ที่เผชิญปัญหาขาดแคลนสภาพคล่อง รวมทั้งดำเนินการปล่อยกู้ระหว่างกันในรูปสกุลเงินต่างๆ หากจำเป็น
ปรากฏว่าความเคลื่อนไหวคราวนี้ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกพุ่งพรวด เช่นเดียวกับค่าเงินยูโรที่แข็งขึ้นทันตา
ไมเคิล เจมส์ จากเวดบุช ซีเคียวริตี้ส์ แสดงความเห็นว่า นี่เป็นการส่งสารที่ชัดเจนว่า ธนาคารกลางใหญ่ๆ เหล่านี้พรักพร้อมและกำลังทำในสิ่งที่จำเป็น เพื่อรับมือวิกฤตหนี้สาธารณะยูโรโซนที่ทำท่าแผ่ลามไม่ยอมหยุด
มาตรการร่วมของแบงก์ชาติชั้นนำครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ขุนคลังยูโรโซนตกลงกันในการประชุมวันอังคาร(29พ.ย.) เกี่ยวกับมาตรการในการขยายสมรรถนะของกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) โดยที่ยอมรับด้วยว่า อาจต้องขอให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจในอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ เยอรมนี ผู้เป็นนายทุนใหญ่ของยุโรป แสดงท่าทียอมกลับลำนโยบายแล้ว โดย วูล์ฟกัง ชะออยเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนี กล่าวเมื่อวันพุธว่า เบอร์ลินยอมรับมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้ไอเอ็มเอฟ ในรูปของการทำข้อตกลงเงินกู้ทวิภาคีหรือสิทธิพิเศษในการถอนเงิน
การเปิดกว้างนี้มาพร้อมเงื่อนไขว่า เหล่าพันธมิตรในสหภาพยุโรป (อียู) ต้องตกลงแก้ไขสนธิสัญญาภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้อียูมีอำนาจในการบังคับให้ประเทศในยูโรโซนแก้ไขงบประมาณที่ละเมิดกฎการขาดดุลและสัดส่วนหนี้
นักวิเคราะห์ต่างมองว่า การประชุมสุดยอดอียูที่บรัสเซลส์ในวันที่ 9 ที่จะถึงเป็นเวทีที่จะชี้เป็นชี้ตายระบบสกุลหนึ่งเดียวแห่งยุโรป
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรแดนมักกะโรนี ประเทศที่กำลังกลายมาเป็นศูนย์กลางวิกฤตหนี้ยูโรโซนแทนกรีซ ได้ทะยานขึ้นสู่ระดับอันตรายอีกครั้งในวันพุธ เนื่องจากตลาดประเมินว่า แผนการขยายสมรรถนะกองทุนอีเอฟเอสเอฟยังไม่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ที่สุดแล้ว ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลอิตาลีสามารถปรับลดลงได้จากข่าวมาตรการร่วมแทรกแซงของพวกแบงก์ชาติมหาอำนาจของโลกที่กล่าวมาข้างต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น