xs
xsm
sm
md
lg

IMF ระบุยุโรปเสี่ยง ศก.ถดถอย อียูหวั่นวิกฤตลุกลามสู่ภาคแบงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ - ไอเอ็มเอฟระบุวันพุธ (5) ยุโรปมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า ขณะที่ 1 วันก่อนหน้านั้น บรรดาขุนคลังของสหภาพยุโรป (อียู) ต่างแสดงความเห็นพ้องกันว่าต้องให้พวกธนาคารเพิ่มทุนอย่างเพียงพอ เพื่อรับมือกับการขาดทุนหนักจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาลกรีซ โดยที่ในวันเดียวกันนั้นเอง ธนาคารลูกครึ่งฝรั่งเศส-เบลเยียม ก็กลายเป็นเหยื่อรายแรกที่ต้องขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน สืบเนื่องจากวิกฤตหนี้สาธารณะของยูโรโซน

ผู้อำนวยการภาคยุโรป ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อันโตนิโอ บอร์เคส กล่าวเตือนระหว่างการแถลงเปิดตัว “รายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจสำหรับยุโรป” ของไอเอ็มเอฟฉบับล่าสุด ที่กรุงบรัสเซลส์ว่า “ไม่สามารถบอกปัด” ได้ว่าปี 2012 อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรป

รายงานฉบับนี้ยังคงทำนายอัตราการเติบโตของเขตยูโรโซนในปีหน้าว่าอยู่ที่ 1.1% ถึงแม้ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ได้ให้ตัวเลขคาดการณ์ของปีนี้ผิดพลาด นอกจากนั้นรายงานนี้ยังเสนอแนะให้ยุโรปปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เศรษฐกิจทรุดตัวลงมาจริงๆ

บอร์เคสกล่าวเพิ่มเติมว่า ไอเอ็มเอฟจะเสนอแนะให้ยูโรโซน “เปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ” โดยยุติการเข้มงวดกวดขันไม่ให้งบประมาณขาดดุล และหันกลับไปใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในสไตล์ที่สหรัฐฯและอังกฤษกระทำ

ก่อนหน้านี้ 1 วัน ในวันอังคาร (4) วูล์ฟกัง ชอเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนี แถลงภายหลังการประชุมรัฐมนตรีคลังสหภาพยุโรป (อียู) ที่ลักเซมเบิร์ก ว่าความกังวลใหญ่หลวงสำหรับทุกฝ่ายขณะนี้คือพัฒนาการที่น่าเป็นห่วงในตลาดการเงินจะบานปลายกลายเป็นวิกฤตการธนาคาร

ทั้งนี้ แนวโน้มที่กรีซจะผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่อียูเลื่อนการพิจารณาปล่อยกู้งวดต่อไป 8,000 ล้านยูโรออกไปจนถึงเดือนหน้า กระตุ้นความกังวลว่าพวกเจ้าหนี้ภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือบรรดาธนาคารในยุโรป ที่ถือครองพันธบัตรกรีซอยู่เป็นจำนวนมาก จะประสบปัญหาหนัก และเลยเกิดเป็นวิกฤตการธนาคารในยุโรปซึ่งจะคุกคามทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

วันเดียวกันนั้น ออลลี เรห์น กรรมาธิการกิจการเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ว่า บรรดารัฐมนตรีในอียูที่คัดค้านการมาตรการร่วมมือกันเพื่อเพิ่มทุนธนาคารทั้งหลายในยุโรปมาตลอด ล่าสุดเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในเรื่องนี้แล้ว พร้อมกันนั้นเขาก็สำทับว่า ธนาคารในยุโรปจำเป็นต้องเสริมฐานะเงินทุนเพื่อเพิ่มส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยและลดความไม่แน่นอน

ปัจจุบัน ตลาดการเงินไม่ไว้วางใจฐานะของพวกแบงก์ในยุโรป ธนาคารหลายแห่งของยุโรปมีปัญหาในการระดมทุนในตลาด และต้องพึ่งธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เป็นแหล่งอัดฉีดสภาพคล่อง

รัฐมนตรีคลังเมืองเบียร์สำทับว่า ตลาดการกู้ยืมระหว่างธนาคารก็อยู่ในภาวะตึงเครียดเช่นเดียวกัน สะท้อนภาพการไร้ความเชื่อมั่นในกันและกัน และเกิดการระงับการปล่อยกู้ให้แก่กันในช่วงหลังการล่มสลายของเลห์แมน บราเธอร์สในปี 2008

ชอเบิลเปิดเผยอีกว่า รัฐมนตรี 27 ชาติของอียูเห็นพ้องให้มีการรายงานสถานการณ์รวมถึงแผนการปกป้องธนาคารของแต่ละประเทศในการประชุมเดือนหน้า

ก่อนหน้าการแถลงของที่ประชุมขุนคลังอียูไม่กี่ชั่วโมง เด็กเซีย (Dexia) ธนาคารสัญชาติฝรั่งเศส-เบลเยียม กลายเป็นแบงก์ยุโรปแห่งแรกที่ต้องรับความช่วยเหลือจากกรณีที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตหนี้ยูโรโซน ทั้งนี้แบงก์แห่งนี้ต้องแก้ปัญหาของตน ด้วยการยอมแตกกิจการและนำธุรกิจที่ยังมีสภาพดีออกขาย ขณะที่สินทรัพย์ที่มีปัญหา ซึ่งรวมถึงพันธบัตรกรีซและพันธบัตรรัฐบาลประเทศอื่นๆ ในยูโรโซนจะถูกโยกเข้าสู่ ‘แบด แบงก์’ หรือธนาคารที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อรับโอนสินทรัพย์ที่มีปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น