เอเอฟพี - ผู้นำชาติยุโรปออกมากล่าวหาบริษัทจัดเรตติ้ง เช่น สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส, มูดีส์ และ ฟิทช์ เรตติงส์ ว่าผูกขาดการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้งยังออกคำทำนายหายนะทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีที่มาที่ไป จนทำให้วิกฤตหนี้ในยูโรโซนทวีความรุนแรงขึ้น
คณะกรรมาธิการตลาดร่วมแห่งยุโรปเสนอให้ลิดรอนสิทธิในการรายงานความน่าเชื่อถือบางส่วน เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาจัดเรตติ้งของบางประเทศที่กำลังรับเงินช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังมีเสียงวิจารณ์ว่า สถาบันเหล่านี้เป็นของชาวอเมริกัน
“สิ่งสำคัญประการแรก คือ ต้องตั้งเงื่อนไขในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้รัดกุมขึ้น” มิเชล บาร์นิเยร์ กรรมาธิการตลาดร่วมแห่งยุโรป กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว(11)
ด้าน โวล์ฟกัง ชอยเบลอ รัฐมนตรีคลังเยอรมนี ก็เสนอว่า ควรตรวจสอบว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเหล่านี้มีพฤติกรรมล่วงละเมิดหรือไม่
“เราต้องพิจารณาความเป็นไปได้ว่า จะยุติการผูกขาดการจัดอันดับความน่าเชื่อได้อย่างไร” ชอยเบลอ เสริม
ปิแอร์ คาร์โล พาโดแอน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากองค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) กล่าวว่า สถาบันจัดอันดับเหล่านี้ไม่เพียงรายงานข้อมูล แต่ยัง “ออกคำตัดสิน และเร่งให้แนวโน้มทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ไม่ต่างจากการผลักคนที่ยืนอยู่ริมหน้าผาให้ตกลงไปในเหว”
กรีซ, ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ต่างออกมาคัดค้านทั้งข้อมูล และช่วงเวลาที่มีการลดอันดับความน่าเชื่อถือของตนลง ขณะที่ ฌอง-โคลด ตริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า การที่บริษัทเพียง 2-3 แห่งเข้ามามีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ มากมายเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องเหมาะสม
นอกจากนี้ ยังมีเสียงเรียกร้องจากเจ้าหน้าที่บางคนให้ตั้งบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่เป็นของยุโรปเองขึ้น
บาร์นิเยร์ กล่าวโทษสถาบันจัดเรตติ้งว่าเป็นตัวการทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมสูงขึ้น และทำให้เศรษฐกิจยุโรปอ่อนแอลง ทว่า นักวิเคราะห์บางคนกลับไม่เห็นด้วย และมองว่าการสรุปเช่นนี้เหมือน “ฆ่าคนส่งสาร” ที่นำข่าวร้ายมาให้มากกว่า
แครอล ซิโรว์ ผู้บริหาร สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ในภูมิภาคยุโรป กล่าวว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่เคยประกาศข้อมูลอย่างหุนหันพลันแล่น และไม่มีเจตนาสร้างความตื่นตระหนกโดยใช่เหตุ
“นี่ไม่ใช่การเอาน้ำมันไปราดกองไฟ แต่เรากำลังให้ข้อมูลตามความเป็นจริง” ซิโรว์ ระบุ
มาร์ก เดอ ลา เชริแยร์ ประธานบริษัท ฟิทช์ เรตติ้งส์ ก็เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร ปารีส แมตช์ ไว้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ว่า “เมื่อเผชิญวิกฤต คนเรามักหาแพะรับบาปเสมอ” ซึ่งหมายถึงการหันมาโจมตีบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
“พวกเราชอบที่จะกล่าวหาคนส่งสาร มากกว่าทบทวนความผิดพลาดของตัวเอง”
นักลงทุนจะพิจารณาตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่ๆ โดยดูระดับความน่าเชื่อถือของประเทศนั้นๆเป็นหลัก ซึ่งมีตั้งแต่ระดับ เอเอเอ ซึ่งหมายถึงน่าเชื่อถือมากที่สุด ลงไปจนถึงระดับดี (D) ซึ่งหมายถึงพักชำระหนี้