xs
xsm
sm
md
lg

ขยะ

เผยแพร่:   โดย: ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต

ผมเคยร่วมกับพี่น้องประชาชนใน อ.หางดง คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะด้วยระบบเตาเผาร่วมกับหินลิกไนต์ในเขต อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ในช่วยรัฐบานนายบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อปี พ.ศ. 2538 ผลที่สุดรัฐบาลมีมติ ครม.ให้ยกเลิกโครงการ

ในครั้งนั้นมีชาวบ้านจาก อ.หางดง 6 ตำบล ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่วมกัน มีการชุมนุมใหญ่ประชาชนนับหมื่นคนเต็มสนามฟุตบอลมีการเคลื่อนไหวในกลายรูปแบบตลอดระยะเวลา 9 เดือน กว่าจะประสบชัยชนะ ผมเป็นคนต่างถิ่นที่หลงเสน่ห์เชียงใหม่ และไปอาศัยทำมาหากินที่นั่นเมื่อเรานำประชาชนด้วยข้อเท็จจริง และความจริงใจที่มีเขาจึงไว้ใจให้เราเป็นคนนำ หลายคนพยายามโจมตีว่าผมไม่ใช่คนท้องถิ่น แต่ผมก็ยืนยันและต่อสู้ด้วยความจริงใจ ใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือเกือบทุกวัน

ในช่วงสุดท้ายหนังสือพิมพ์ผู้จัดการลงข่าวหน้า 1 ติดต่อกันนานถึง 4 เดือน ออกโทรทัศน์กว่า 100 ครั้ง มีบทความในหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ กว่า 100 คอลัมน์ ผมบอกกับพี่น้องประชาชนใน อ.หางดง ว่าผมมาอยู่เชียงใหม่ เพราะรักในความมีน้ำใจของผู้คน และชอบอากาศที่หายใจได้เต็มปอด เมื่อมีคนมาทำร้ายเราจะเอาอากาศที่เป็นพิษมาให้จะต้องสู้ พี่น้องที่ อ.หางดง เกิดที่นี่รกฝังอยู่ที่นี่ พ่อแม่ลูกเมียก็จะต้องอยู่ต่อไป พวกคุณจะสู้หรือจะยอมจำนน ผมถูกพยายามติดสินบนไม่รับก็ถูกขู่ฆ่า เมื่อชาวบ้านเขาเห็นเราจริงก็ออกมาร่วมกันจำนวนมาก นับได้ว่าเป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่ของคนเมื่องที่เคยรักสงบ และสันติ

26 ธันวาคม 2538 ครม.มีมติให้ย้ายโครงการออกไปจาก อ.หางดง ชาว อ.หางดง ได้จัดให้วันที่ 26 ธันวาคม เป็นวันสิทธิชุมชนของคน อ.หางดง ได้มีการปั้นอนุสาวรีย์สิทธิชุมชนไว้ที่หน้า อบต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ พี่น้อง ต.หนองควาย อ.หางดง ได้มองโล่ ให้เขียนขอบคุณผมและให้เป็นวีรบุรุษหางดงที่ช่วยเขาต่อสู้จนได้รับชัยชนะได้รับของขวัญคำชมเชยรับงานเลี้ยงไม่หวาดไหว 10 ปีหลังจากวันนั้นชาวบ้านที่นั่นมีวีรบุรุษคนใหม่ มาพร้อมกับกองทุนหมู่บ้าน โครงการประชาชนนิยมอื่นๆ อีกมากมาย ผมเองเป็นคนหนึ่งที่เคยชื่นชมกับ ทักษิณ ชินวัตร และช่วยกันร่างนโยบายให้กับพรรคไทยรักไทย วันแรกที่เป็นนายกฯ ผมและเพื่อนๆ ได้พาคุณทักษิณ ชินวัตร ลงไปนั่งทานข้าวกับชาวบ้านข้างถนนหน้าทำเนียบฯ หลังจากนั้นอีก 1 ปี ไม่ยอมร่วมสังฆกรรมกับเขาอีก ก็ถูก ปปง.ตรวจสอบทรัพย์สินและที่มาของเงิน

จากปี 2538 ถึงปี 2554 เพียงแค่ 16 ปีที่ผ่านอดีตวีรบุรุษของคนหางดง เหลือคนเคารพนับถือไม่ถึง 10 คน เพียงเพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีการของวีรบุรุษคนใหม่ของเขา นับประสาอะไรกับผมที่เป็นคนธรรมดา รูปพระเจ้าอยู่หัวเขายังเอาลงและติดรูปพ่อทูนหัวของเขาแทน มันเป็นสัจธรรมที่ไม่ต้องรอให้เราตายเสียก่อน อย่ายึดมั่นและหลงใหลในลาภ ยศ สรรเสริญ

หลังการคัดค้านโครงการขยะลิกไนต์ที่ อ.หางดง มีคำถามตามมามากมายว่า แล้วมีวิธีการอะไรดีกว่าที่คนคัดค้านบ้างหรือไม่ จึงทำให้ในปี พ.ศ. 2543 ได้รับเชิญให้ไปดูงานที่เยอรมนีในช่วงงานเอกซ์โปร 2000 เป็นงานที่แสดงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีของทั่วโลกในการจัดการขยะและกำจัดของเสีย เทคโนโลยีเป็นร้อยพันอย่าง แต่เราต้องดูความเหมาะสมของบ้านเมืองเราด้วย

ผมเลือกสนใจเทคโนโลยีที่ง่ายและสามารถนำมาดัดแปลงใช้ในประเทศไทย ห่างจากเมืองมิวนิกไปประมาณ 80 กิโลเมตร มีเมืองเล็กๆ ชื่อ Roottaler เกษตรกรที่นี่ทำการเกษตรและปศุสัตว์ เขาคิดค้นการนำเอาขยะประเภทเศษอาหารและสารอินทรีย์ เช่น ใบไม้หญ้า มาหมักรวมกับขี้หมู ขี้วัวในฟาร์ม โดยใช้วิธีการหมักในถังคอนกรีตขนาดใหญ่ในระบบที่เรียกว่า “ระบบการหมักแบบไร้อากาศ” ใช้มอเตอร์เป็นตัวกวนในถัง ได้แก๊สผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายให้กับรัฐบาล กากที่เหลือเป็นปุ๋ยไว้ใช้เอง ขยะ 1 ตัน ได้ก๊าซมีเทน 300 คิวบิกเมตร ก๊าซ 1 คิวบิกเมตรผลิตไฟฟ้าได้ 2 Kw. เทคโนโลยีนี้ได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมดีเด่นในปี ค.ศ. 2000

ผมกลับไปอีกครั้งหนึ่งด้วยความสนใจและฝึกงานอยู่ในโรงขยะแห่งนี้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เรียนรู้กับเขาช่วยเขาแยกขยะที่คัดแล้วแต่อาจมีเศษวัสดุอื่นหลงเหลืออยู่ เมื่อเสร็จงานโรงงานถูกทำความสะอาดอย่างดีไม่มีกลิ่นเหม็นใดๆ ตกค้าง คนงานแยกขยะที่นี่ขี่รถ BMW มาทำงาน 3-4 ชม. เมื่อเสร็จงานเขาก็กลับไป เขาไม่ดูถูกคนทำงานไม่ว่าอยู่ในตำแหน่งและงานประเภทไหน

ผมได้ร่วมกับอาจารย์คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทดลองทำวิจัยขนาดเล็กในการนำขยะประเภทอาหารมาหมักปนกับขี้หมู และนำผลงานวิจัยขยายเป็นโครงการขนาดใหญ่ โดยเสนอต่อกองทุนอนุรักษ์พลังงาน สำนักนโยบายและแผนพลังงาน ก่อสร้างโรงงานต้นแบบขนาดความสามารถในการรับเศษอาหารได้วันละ 5 ตัน โดยใช้พื้นที่ของ อบต.ดอนเปา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เป็นโรงงานตั้นแบบ เมื่อทำเสร็จส่งมอบให้ อบต.บริหารต่อ ในช่วงที่ได้รับทุนไปทำวิจัยเรื่องน้ำที่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นเวลา 1 ปี กลับมาโรงงานไม่ได้ดำเนินงานต่อด้วยสาเหตุขาดการดูแลและบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง

ขยะในประเทศไทยมีอยู่มากมายมหาศาลวันละนับหมื่นตัน ถ้าแยกออกเป็น 2 ส่วน คือขยะแห้ง และขยะเปียก (เศษอาหาร) เราจะนำมาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้มหาศาล สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้เองในท้องถิ่นและได้แก๊สผลิตไฟฟ้าหรือใช้ในการหุงตุ้มอาหาร สามารถประหยัดพลังงานได้ปีละนับพันล้านบาท ไม่จำเป็นต้องนำขยะไปเผาหรือฝัง ส่วนที่เหลือสามารถนำไปแยกขายหรือทำประโยชน์โดยให้ขยะหายไปได้ทั้งหมดแต่ที่เขาไม่ยอมทำทุกวันนี้ เพราะขยะคือผลประโยชน์ของนักการเมือง ทั้งของระดับชาติและระดับท้องถิ่น

คุณรู้หรือไม่ว่าเราต้องเอาภาษีของทุกคนไปช่วยคนที่เกาะสมุยเผาขยะ ผมเคยเสนอรูปแบบใหม่ให้ไป โดยไม่ต้องเผาแต่เทศบาลที่นั่นกับไม่สนใจเพราะมีผลประโยชน์ในเตาเผาขยะมากกว่าที่จะคิดทำเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม งานที่ผมทำเรื่องขยะจึงขยายผลไม่ได้เพราะราคาถูกชาวบ้านได้ประโยชน์แต่นักการเมืองไม่ได้กิน

น้ำท่วมขยะที่ตกค้างเต็มบ้านเต็มเมือง น้ำเน่าเหม็น ผู้คนจะฆ่ากันตายเพราะอดทนน้ำท่วมไม่ไหว หลายคนด่านักการเมืองทั้งท้องถิ่นและระดับประเทศว่า เวลาทุกข์ยากหายหัวกันไปหมด กระทั่งของบริจาคยังไปงาบงบประมาณ ขยะที่ตกค้างเน่าเหม็นยังไม่ฉาวโฉ่เท่ากับข้าราชการขี้โกงและนักการเมืองขี้ฉ้อ มันจะเป็นอยู่อย่างนี้ถ้าเราไม่กำจัดนักการเมืองขยะให้พ้นแผ่นดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น