xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยวต้านแก้พรฎ.อภัยโทษทุ่มอีก450ล.เร่งศูนย์ฯเชียงใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ส.โรงแรม เตือนรัฐบาลคิดใหม่ ระบุแก้ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ เอื้อ นช.แม้ว ฉุดประเทศดิ่งเหว   ฉุดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนหนีกระเจิง  แผนดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติปีหน้ามีลุ้นแห้วทั้งหมด  ด้านปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฟันธง ศูนย์ประชุมฯเชียงใหม่  เปิดบริการได้ ก.ย. ปีหน้า ชัวร์  เล็งจีบเอกชนเข้าบริหาร “วัชระ“ แจง ครม. ไฟเขียว งบ อีก 450 ล้านบาท ทำให้ศูนย์ประชุมฯเสร็จไว  

นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย หรือทีเอชเอ เปิดเผยว่า  ขณะนี้ต่างชาติกำลังจับตามองประเทศไทย  หลังมีกระแสข่าวแพร่สะพัดออกไปยังต่างประเทศ กรณี คณะรัฐมนตรี(ครม.)  ผ่านร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554  เพราะหากมีการแก้ไข พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ จะมีเนื้อหาที่เอื้อกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีให้พ้นโทษ   

ซึ่งมีผลด้านจิตวิทยาต่อนักท่องเที่ยว และนักลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่อาจชะลอเข้ามาประเทศไทย แม้จะมีการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวและลงทุนภายหลังน้ำลดลงแล้วก็ตาม  กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและลงทุนทุกอย่างก็จะไม่เกิดผลทั้งสิ้น  เพราะเกรงว่าประเทศไทยจะเกิดความไม่สงบทางการเมือง รวมถึงเกิดการชุมนุมทางการเมืองขึ้นมาอีกครั้ง

ทั้งนี้การรัฐบาลยังขืนเดินหน้า การแก้ไข พ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าวต่อไป   จะมีผลให้ บรรยากาศท่องเที่ยว ในปี 2555 จะซบเซาลง  เพราะนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ มีความเชื่อว่า หากเกิดการชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้จะรุนแรงกว่าที่ผ่านมา  ซึ่งแน่นอนว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และมีความสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้ทันทีภายหลังน้ำลด จะยิ่งซบเซาหนักกว่าช่วงเกิดมหาอุทกภัยในครั้งนี้

“เมื่อมีกระแสข่าวออกมาเช่นนี้  นักลงทุนจะชะลอการลงทุน บ้างก็เปลี่ยนไปลงทุนประเทศอื่นในละแวกเพื่อนบ้านของไทยแทน เพราะไม่อยากเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย โดยจากผลสำรวจพบว่าแค่ปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ ก็ทำให้นักลงทุนที่มีแผนจะมาลงทุนในพื้นที่ กทม.ปีหน้าได้ยกเลิกการลงทุนไปแล้วหลายราย หากมีเรื่องพระราชทานอภัยโทษให้พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาอีก สมาคมฯ มองว่าการลงทุนในปีหน้าอาจเป็นศูนย์ไปเลยก็ได้”

แหล่งข่าวอาวุโสจากวงการท่องเที่ยว กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าว ถึงแนวคิดการย้ายเมืองหลวง จากกรุงเทพฯ ไป จ.นครนายก หรือเพชรบูรณ์  เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว  คงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาโดยละเอียดอย่างน้อย 10 ปี ดูลึกถึงความเป็นไปได้ ความเหมาะสม  ไม่ใช่จะมาเปลี่ยนแบบกระทันหัน  แต่ต้องคำนึงถึงส่วนได้ส่วนเสียให้มาก
กำลังโหลดความคิดเห็น