xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนนท์ลุกฮือ “คุณชาย”ปัดหวั่นน้ำทะลักฝั่งธนฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ชาวนนท์ ขู่! 22 พ.ย.ไม่คืบบุกศาลากลางอีกรอบ ยื่น 4 ข้อเสนอ ผู้ว่าฯ หลังรวมตัวปิด ถ.รัตนาธิเบศร์ จี้เปิดประตูมหาสวัสดิ์ 1 ม. หวั่นน้ำไม่ลดใน 1 ธ.ค. ด้าน “สุขุมพันธุ์” หวั่นน้ำทะลัก กทม.วันละ 7.5 ล้านลบ.ม. ปัดลดความสูงตลอดแนวคันกั้นน้ำ “กทม.-นนท์” ด้าน “ศปภ”.เร่งเจรจาก่อนชาวบ้านฮืออีกรอบ

เมื่อเวลา 13.00 น. วานนี้ (20 พ.ย.) ที่ห้องประชุมใหญ่ศาลากลาง จ.นนทบุรี ชาวนนทบุรีกว่า 200 คนจาก อ.บางบัวทอง อ.บางกรวย อ.บางใหญ่ และ อ.ไทรน้อย ได้เข้าฟังคำชี้แจงถึงปัญหาและการแก้ไขปัญหาการป้องกันน้ำท่วม จากนายประดิษฐ์ สุคนธสวัสดิ์ รองผวจ.นนทบุรี หลังจากที่มีการรับปากว่าจะมีการเปิดประตูระบายน้ำในคลองมหาสวัสดิ์เพื่อระบายน้ำ โดยทางด้านนายประดิษฐ์ กล่าวว่าทาง จ.นนทบุรีมิได้นิ่งนอนใจได้ประสานกับทาง กรุงเทพมหานคร(กทม.) เพื่อเปิดประตูระบายน้ำไปแล้วตามข้อเรียกร้อง อีกทั้งยังขอเครื่องสูบน้ำจากทาง ศปภ.มาเพิ่ม คาดว่าระดับน้ำจะลดลง

**ชาวนนท์หวั่นน้ำไม่ลดใน 1ธ.ค.

ระหว่างนั้นได้มีตัวแทนชาวบ้านเข้ามาร้องเรียนและโวยวายเสียงดังในห้องประชุม ว่าหลังจากที่ กทม.เปิดประตูระบายน้ำให้แล้วนั้น เมื่อชาวบ้านเดินทางกลับปรากฏว่าทาง กทม.ได้ปิดประตูระบายน้ำทันที สร้างความไม่พอใจให้กลับผู้ที่เข้าร่วมประชุม จนนายฉลอง เรี่ยวแรง และนายอุดม รัตนเสถียร สส.นนทบุรี ต้องขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบ ก่อนที่จะเจรจาต่อรองให้กับนายประดิษฐ์ เพื่อต่อสายโทรศัพท์คุยกับนายสัญญา ชีนิมิตร ผอ.สำนักการระบายน้ำ(สนน.) กทม.โดยขอยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติมด้วยการเปิดประตูระบายน้ำทุกคลองใน จ.นนทบุรีเป็น 1 เมตรจาก 50 ซ.ม. แต่ทาง ผอ.สนน.ไม่สามารถตัดสินใจได้จึงขอหารือกับทางผู้ว่าฯกทม.ก่อน ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ร่วมประชุมและต่างส่งเสียงโวยวายเพราะเชื่อว่าน้ำจะไม่ลดลงอย่างแน่นอนในวันที่ 1 ธ.ค. นี้

**เจรจาเหลว ฮือปิด ถ.รัตนาธิเบศร์

ต่อมาเวลา 14.30 น. ชาวบ้านหลายร้อยคนได้รวมตัวหน้าศาลากลางเพื่อจะไปรื้อคันกระสอบทรายที่ปตร.คลองมหาสวัสดิ์ แต่เนื่องจากหารถไปไม่ได้จึงพากันปิดถนนหน้าศาลากลาง จ.นนทบุรีประท้วงแทน

เวลา15.10 น. ชาวบ้านได้ตัดสินใจนั่งปิดถนนรัตนาธิเบศร์ ทั้ง2ฝั่ง ทำให้การจราจรติดขัด ซึ่งกลุ่มชาวบ้านเรียกร้องต้องการพบนายวิเชียร เพื่อขอคำตอบที่น่าพอใจ ทำให้การจราจรหน้าศาลากลางเป็นอัมพาตรถไม่สามารถวิ่งผ่านไปได้ ทำให้ผู้ขับรถจำนวนมากต่างพากันลงมาจากรถและประจันหน้ากันกับกลุ่มผู้ประท้วงจนเกือบจะวางมวยกันกลางถนน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเจรจาอยู่นานกลุ่มผู้ประท้วงจึงยอมเปิดถนนให้ 1 ช่องทาง โดย พ.ต.อ.สมศักดิ์ชัย อมรส่งเจริญ ผกก. สภ.เมืองนนทบุรี นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนับร้อยนายมารักษาความสงบ

เวลา 17.00 น. ชาวนนทบุรี กว่า 200 คน ที่มาชุมนุมปิดถนนรัตนาธิเบศธิ์ ได้สลายตัวและถนนสามารถเปิดให้สัญจรได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ชาวบ้าน ได้ยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 4 ข้อ ให้นายประดิษฐ์ สุคนธสวัสดิ์ รองผู้ว่าฯ โดยข้อ 1 เสนอให้ฝั่งกรุงเทพฯเปิดประตูระบายน้ำให้สูง 1 เมตร ที่คลองมหาสวัสดิ์ ทวีวัฒนา ภาษีเจริญ บางพลัด บางอ้อ และบางบำหรุ ภายในเย็นวันนี้ 2. ให้ซ่อมแนวคันของจังหวัดนนท์บุรี ตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา

3. ให้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำทุกพื้นที่ เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมให้ออกจากจังหวัดนนท์บุรี ให้อยู่ในระดับที่ประชาชนสัญจรใช้รถได้ตามปกติ และ4. ให้มีการชดเชยความเสียหายตามจริง เป็นกรณีพิเศษ เพราะพื้นที่จังหวัดนนท์บุรี เป็นพื้นที่ประกาศภัยพิบัติ นอกจากนี้ชาวบ้านได้นัดมาฟังคำตอบอีกครั้ง ในวันอังคารที่ 22 พ.ย. เวลา 11.00 น. ที่ศาลากลางจ.นนท์ โดยประสานพล.ต.อ.พงศ์พัฒน์ พงษ์เจริญ โฆษกศปภ. มาร่วมรับฟังด้วย ทั้งนี้หากตำตอบไม่เป็นที่พอใจ ก็จะมีการปิดถนนอีกครั้ง

เวลาเดียวกันนายประดิษฐ์เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงพร้อมทั้งชี้แจงว่าทางจ.นนทบุรีได้ประสานไปทาง กทม. และได้รับคำตอบกลับมาว่ายินดีเปิดประตูระบายน้ำตามคลองต่างๆที่ชาวบ้านต้องการให้แล้วในเบื้องต้น 50 ซ.ม.พร้อมขอเครื่องสูบน้ำมาเพิ่มอีกหลายร้อยเครื่องโดยคาดว่าจะทำให้ระดับน้ำในพื้นที่ต่างๆลดลง ทำให้ชาวบ้านต่างพอใจและนัดมาฟังผลกากรดำเนินการต่างๆที่ทางจังหวัดพูดไว้ว่ามีความคืบหน้าแค่ไหน

**ปัดลดความสูงตลอดแนวกทม.-นนท์

ด้านม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า เบื้องต้น กทม.จะเปิดปตร.คลองทวีวัฒนาให้สูงขึ้น และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ลงคลองทวีวัฒนา คลองภาษีเจริญ และคลองต่างๆ เพื่อให้น้ำไหลลงโคลงการแก้มลิงคลองสนามชัย มหาชัย และลงแม่น้ำท่าจีนโดยเร็ว ส่วนที่ผวจ.นนทุบรี ขอให้ลดระดับคันกั้นน้ำ ตลอดแนวเขต กทม.และนนทบุรี ระยะทาง 6 กม.นั้น คงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าในพื้นที่ กทม.ถึงวันละ 7.5 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งเกินกำลังการระบายน้ำของ กทม.

"ทุกวันนี้ พื้นที่ ฝั่งธนบุรี มีปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 5 ล้านลบ.ม.เมื่อรวมกับน้ำที่ท่วมพื้นที่แล้ว ยังอยู่ในภาวะที่รับมือ และระบายลงสู่ช่องทางระบายน้ำได้ แต่หากน้ำมาเพิ่ม อย่างมหาศาล หรือ อีกกว่า 7.5 ล้าน ลบ.ม.อาจทำให้พื้นที่ฝั่งธนบุรี เจอกับปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำอีก” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวและว่า ปริมาณน้ำฝั่งธนบุรีมีมาก หากสามารถติดตั้งเครื่องสูบน้ำได้มากอย่างที่ต้องการ เชื่อว่า จะสามารถระบายไปได้เร็ว แต่ปัญหาคือว่า ขณะนี้ไม่สามารถผันน้ำไปได้เร็วตามที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ตนอยากขอความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วนช่วยประคับประคองสถานการณ์ เชื่อว่า จะไม่นาน ทุกอย่างจะเรียบร้อย

**Big Cleaning Day ที่บางพลัด

อย่างไรก็ตามในช่วงเช้าม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้นำทีมชาวฝั่งธนฯทำความสะอาดครั้งใหญ่ Big Cleaning Day ที่เขตบางพลัดภายหลังน้ำลดตั้งแต่บริเวณหน้าโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถนนบรมราชชนนี ถนนอรุณอมรินทร์ และถนนจรัญสนิทวงศ์ ขณะที่สถานการณ์น้ำล่าสุดคลองหลักส่วนใหญ่น้ำลดลง 3-4 เซนติเมตร

**เชื่อนิคมบางชันไม่ได้รับผลกระทบ

เวลา 13.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวภายหลังเดินทางมายังถนนสุขาภิบาล 5 ว่า จากการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 3 แห่ง ที่ปรับระดับสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบอะไรมากนัก เพียงแค่ทำให้ระดับน้ำในคลองลาดพร้าว คลองบางบัวสูงขึ้นเล็กน้อย จะส่งผลให้การระบายน้ำจากท้องถนนไปยังคลองต่างๆ อาจล่าช้าประมาณ 1 สัปดาห์และขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบกับนิคมอุตสาหกรรมบางชัน อย่างไรก็ตามทางกทม.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป แต่เชื่อว่าคนกรุงเทพฯสามารถรับได้ เพราะเป็นการช่วยบรรเทาทุกข์ชาวปทุมธานี ทั้งนี้ประตูระบายน้ำต่างๆ กทม.สามารถปรับขึ้นลงได้ตลอดเวลาแล้วแต่สถานการณ์ ซึ่งในอนาคตอาจมีการปรับให้กว้างขึ้นเพื่อลดกระทบของชาวปทุมธานี

**ตั้งเป้า 31 ธ.ค.น้ำแห้งทั้งกรุง

สำหรับสถานการณ์น้ำในขณะนี้ หากน้ำใหม่ไม่เข้ามาเพิ่ม การระบายน้ำในเส้นทางหลักจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนเส้นทางในตรอกซอยอาจใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ตนตั้งเป้าว่าภายในวันที่ 31 ธันวาคม ทุกพื้นที่กรุงเทพฯ จะแห้ง ส่วนกรณีการยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทนั้น ตนยืนยันว่าไม่มีกำหนดเวลา พร้อมกันนั้นตนได้สั่งให้มีการทำคู่มือเป็นกระดาษแผ่นเดียว ส่วนข่าวลือที่จะต้องแจ้งความหรือต้องใช้ภาพถ่าย ยืนยันว่าไม่ต้องใช้ ยกเว้นกรณีที่มีปัญหาสำหรับบุคคลที่เช่าบ้าน อาจต้องใช้หลักฐานเพิ่มเติม

**คนดอนเมืองขอกทม.เร่งระบายน้ำ

วันเดียวกันช่วงสายชาวบ้านเขตดอนเมือง จากวัดนาวง และ ถ.สรงประภา ได้มารวมตัวที่แยกทางด่วนศรีสมาน หน้าร้านอาหารเพาะรัก โดยยื่นข้อเรียกร้องต่อ กทม. โดยมีนายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขตดอนเมืองพรรคประชาธิปัตย์ รับฟังข้อเรียกร้องคือ

1.เปิดปตร.บริเวณหน้าวัดเทวสุนทร เขตบางเขน เพื่อระบายน้ำจากเขตดอนเมือง
2.ขอเครื่องสูบน้อยอย่างน้อย 30 เครื่อง และสูบจากดอนเมืองไปที่หลักหก และให้ช่วยหาทางระบายน้ำ ไปทางคลองบ้านใหม่ที่มีระยะทาง 3 กม. เพื่อระบายน้ำออกไปแม่น้ำเจ้าพระยา
3. ให้ศึกษาการเปิดบิ๊กแบ็กที่รังสิต ซึ่งจะเติมน้ำให้เกับชาวดอนเมืองเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเรียกร้องแนวทางเยียวยาพิเศษ

**ศปภ.เร่งเจรจาก่อนชาวบ้านฮือชุมนุม

อีกด้านพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ในฐานะ โฆษกศปภ. ได้กล่าวขอบคุณ ผู้ว่าฯกทม.และ กทม.ที่ช่วยเปิดประตูระบายน้ำ ทั้ง 3 บานทำให้ระดับน้ำชุมชนต่างๆ บริเวณลำลูกกามีแนวโน้มลดลง หลังจากนี้สิ่งที่ ศปภ.จะสานต่อ คือ เรื่องการเยียวยาซึ่งตนจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็วที่สุด ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาแลการบริหารจัดการน้ำ เราพยายามจะเอาน้ำที่ท่วมขังออกมาโดยเร็วที่สุด และ ศปภ. พยายามอย่างยิ่งที่จะทำงานในเชิงรุกคงไม่ต้องปล่อยให้ประชาชนออกมาชุมนุม เรียกร้องอะไร แต่การที่จะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องช่วยกัน เป็นกำลังซึ่งกันและกัน

เมื่อถามถึงการเยียวยาว่า จะต้องมีอะไรพิเศษหรือไม่สำหรับผู้ที่เหนือคันกั้นน้ำ พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวว่า ตนเองเห็นด้วยกับชาวบ้านอย่างที่สุดว่ากระบวนการในการเยียวยานั้นอาจต้องแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ความเดือดร้อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า เหตุใดการเยียวยาประชาชนนอกคันกั้นน้ำถึงล่าช้า โฆษก ศปภ.กล่าวว่า รัฐบาลคงพิจารณาอยู่แล้ว แต่ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ตัวเลขที่เหมาะสมสร้างความพึงพอใจให้ประชาชนได้มากที่สุด

**17 จังหวัด ยังอ่วม ตาย602

ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม กทม. สรุปรายงานสถานการณ์สาธารณภัย ปัจจุปันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 17 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา นครนายก รวม 125 อำเภอ 916 ตำบล ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 1,899,329 ครัวเรือน จำนวนผู้เสียชีวิต 602 ราย สูญหาย 2 ราย กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประสบภัยจำนวน 36 เขต จาก 50 เขต

**โพลเผยปชช.บ่นเดินทางลำบากช่วงน้ำท่วม

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจในหัวข้อผลกระทบจาก "น้ำท่วม" กับการใช้ชีวิตของประชาชน โดยสำรวจประชาชนในกทม. และปริมณฑล พบว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาใหญ่ที่สุด คือเรื่องการเดินทาง ร้อยละ 48.38 รองลงมาคือ ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค ร้อยละ 30.53

ยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ความเป็นอยู่ลำบากมากขึ้นร้อยละ 52.66 ซึ่งเมื่อน้ำลด ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 58.13 เห็นว่า จะใช้ชีวิตตามปกติเหมือนเดิม แต่มีความระมัดระวังรอบคอบมากขึ้น ทั้งนี้ การเตรียมตัวเพื่อป้องกันน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นอีก ประชาชนร้อยละ 39.17 จะเตรียมเงินสำรอง ตุนอาหาร น้ำดื่ม ยา ของใช้ที่จำเป็น และซื้อเรือ

** ทุจริตถุงยังชีพสะเทือนรัฐบาล “ปู”

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ทัศนคติอันตรายว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นกับความกังวลของสาธารณชนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 77.4 เห็นว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลไม่มั่นคง คือเรื่องความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติ ร้อยละ 69.2 ระบุ เรื่องการเลือกปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ร้อยละ 66.6 ระบุ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 64.6 ยังคงยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นแต่ทำให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย ความเห็นประชาชนกรณีจัดซื้อถุงยังชีพ ที่รัฐบาล มอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)สอบสวน และคณะกรรมการป.ป.ช.เตรียมเรื่องสอบสวนเช่นกันนั้น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่า จะกระทบกระเทือนสถานภาพของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น