xs
xsm
sm
md
lg

“อากู๋”จี้”กสทช.”คิดใหม่ ยึดคลื่นกรีนเวฟคืนสิ้นปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรรายวัน – “อากู๋” โอดครวญ ยื่นหนังสือ กสทช. ขอให้พิจารณาอีกครั้งกรณีเรียกคืนคลื่น กรีเวฟสิ้นปีนี้ คาดไตรมาสสี่ปีนี้กำไรลดลง กระทบทั้งปีกำไรหาย 200 ล้านบาท จากเป้า 800 ล้านบาท พร้อมวางแผนตลาดเต็มที่หลังน้ำลด

นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่วถึงกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช. ) ที่มีมติก่อนหน้านี้ว่าจะเรียกคืนคลื่นวิทยุที่อยู่ในสถานีวิทยุ 1 ปณ. 9 สถานี กลับมาอยู่ในความดูแล นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 เป็นต้นไป โดยมีคลื่น 106.5 กรีนเวฟ
ซึ่งเป็นหนึ่งในคลื่นวิทยุที่ถูกเรียกคืนและอยู่ภายใต้การรับสัมปทานของกลุ่มจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ว่า ล่าสุดบริษัทฯได้ทำหนังสือยื่นให้กับ กสทช. แล้ว เพื่อขอความเห็นใจและให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจากนี้ไปอีก 1 สัปดาห์ น่าจะมีคำตอบจาก กสทช. เพราะบริษัทฯต้องการให้คลื่นดังกล่าวหมดสัญญาสัมปทานพร้อมกับอีก 3 คลื่น คือ chill
fm 89 ,HOT915 ซ่าส์..โดนทีน และ EFM station ที่บริษัทฯรับสัมปทานมาจากเจ้าของคลื่นเหมือนกัน
สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ คาดว่าจะมีกำไรลดลงจากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ทั้งปี มีกำไรลดลง 200 ล้านบาท จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 800 ล้านบาท เนื่องมาจากธุรกิจอีเวนต์และโชว์บิซ มีการยกเลิกและเลื่อนการจัดงานออกไปจำนวนมาก ซึ่งหากดูเฉพาะไตรมาสที่สามแล้วยังมีการเติบโตที่ดี เพราะมีกำไรประมาณ 600 ล้านบาท
มากกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ที่มีกำไร 182 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 77% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แต่ก็ลดลง 22% เมื่อเทียบกับไตรมาสสองปีนี้ เพราะรายได้จากการดาวน์โหลดเพลงออนไลน์ ธุรกิจอีเวนท์ และโชว์บิสลดลง
ส่วนแผนธุรกิจหลังน้ำลด ได้เตรียมแผนที่จะจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่นการทำโปรโมชั่นกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม 1-SKY ในราคาพิเศษ หรือโปรโมชั่นของเก่ามาแลกของใหม่ เพื่อกระตุ้นยอดขายกลุ่มธุรกิจดังกล่าว เพราะจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ทำให้บริษัทฯชะลอแผนการเปิดตัวกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม 1-SKY อย่างเป็นทางการออกไปจากเดือน พ.ย.54 เป็นต้นปีหน้า
เพราะมีปัจจัยเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังและอารมณ์ของผู้บริโภคโดยตรง

ในส่วนของผลประกอบการไตรมาส 3/2554 นี้ รายได้รวมอยู่ที่ 2,340 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 13.8 จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจเพลง (รวมการจำหน่ายสินค้าเพลง การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ การจำหน่ายสินค้าเพลงในรูปแบบดิจิตอล และการจัดแสดงคอนเสิร์ต) เติบโตถึงร้อยละ 34.1 จากปีก่อน ในขณะที่ธุรกิจสื่อเติบโตร้อยละ 8.8 อย่างไรก็ดี รายได้จากธุรกิจภาพยนตร์ลดลงร้อยละ 51.7
สำหรับงวด 9 เดือน รายได้รวมอยู่ที่ 7,252 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจเพลง สื่อ และภาพยนตร์เติบโตร้อยละ 16.9 15.0 และ 11.5 ตามลำดับ
กำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1,018 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 14.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สำหรับงวด 9 เดือน กำไรขั้นตั้นอยู่ที่ 3,231 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 จากปีก่อน จากรายได้ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุน
กำไรสุทธิในไตรมาสนี้เท่ากับ 182 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สำหรับงวด 9 เดือน กำไรสุทธิอยู่ที่ 602 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 79.9 จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากกำไรขั้นต้นที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อุทกภัยที่เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงกลางไตรมาส 3 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อทั้งภาคเกษตร และอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคกลางของประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อรายได้ของผู้ประสบภัยทั้งภาคธุรกิจ และผู้บริโภค ดังนั้น ในระยะสั้น
ภาคธุรกิจอาจจะมีการปรับลดค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาลง และในส่วนของผู้บริโภคอาจจะมีการลดรายจ่ายด้านความบันเทิงลง เพื่อชดเชยกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากน้ำลดในการซ่อมแซมและบูรณะอาคารบ้านเรือน โรงงาน สถานประกอบการ และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ด้วยเหตุดังกล่าว รายได้ของแกรมมี่อาจจะได้รับผลกระทบบ้างในช่วง 1 – 2 ไตรมาสข้างหน้า
ส่วนของเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (“กสทช.”) แล้ว ซึ่งในขั้นตอนต่อไป ทาง กสทช. จะต้องดำเนินการจัดทำแผนแม่บทสำหรับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมถึงแผนตารางบริหารคลื่นความถี่

สรุปผลการดำเนินงาน
ธุรกิจเพลง ประกอบด้วย การจำหน่ายสินค้าเพลง (physical products) การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ การจำหน่ายสินค้าเพลงในรูปแบบดิจิตอล และการจัดการแสดงทั้งในรูปแบบคอนเสิร์ตและละครเวที
ในไตรมาสนี้ มีจำนวนอัลบั้มเพลงออกใหม่ทั้งหมด 80 อัลบั้ม เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนอัลบั้มออกใหม่ทั้งหมด 67 อัลบั้ม และมียอดจำหน่ายสินค้าเพลงเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1.16 ล้านแผ่นในช่วงไตรมาสที่สามของปีก่อน เป็น 1.64 ล้านแผ่น รายได้รวมในส่วนของการจำหน่ายสินค้าเพลงในไตรมาสนี้เท่ากับ 724 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.7 สำหรับงวด
9 เดือน มีอัลบั้มเพลงออกใหม่ทั้งหมด 206 อัลบั้ม ลดลงเล็กน้อยจาก 211 อัลบั้มในปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายสินค้าเพลงเพิ่มขึ้นเป็น 5.44 ล้านแผ่น จาก 4.73 ล้านแผ่นในปีก่อน ดังนั้น รายได้รวมในส่วนของการขายสินค้าเพลงเท่ากับ 2,213 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ส่วนการจัดคอนเสิร์ตมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาก เนื่องจากในปีที่แล้วมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ทำให้จำนวนคอนเสิร์ตในไตรมาส 3 ปีก่อนมีเพียง 3 คอนเสิร์ต แต่ในปีนี้มีถึง 7 คอนเสิร์ต สำหรับละครเวที ในช่วงปลายไตรมาส 3 ปีที่แล้วเริ่มมีการแสดงละครเวทีเรื่องหงส์เหนือมังกร ซึ่งแสดงทั้งหมด 37 รอบ แต่เป็นรอบที่แสดงในไตรมาส 3 เพียง 9 รอบเท่านั้น
สำหรับปีนี้มีการแสดงละครเวทีเรื่อง ทวิภพ ซึ่งแสดงทั้งหมด 42 รอบ โดยเป็นการแสดงในช่วงไตรมาส 3 ถึง 40 รอบ ด้วยจำนวนคอนเสิร์ต และรอบการแสดงละครเวทีที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อน ส่งผลให้รายได้การจัดการแสดงในไตรมาสนี้เท่ากับ 187 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.8 จากปีก่อน
ธุรกิจภาพยนตร์ ในไตรมาสที่สามปีที่แล้วมีภาพยนตร์เข้าฉาย 1 เรื่อง คือ กวน-มึน-โฮ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง สามารถทำรายได้ box office ได้ถึง 125 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งของปี 2553 ในขณะที่ในไตรมาส 3 ปีนี้ ไม่มีภาพยนตร์ใหม่เข้าฉาย แต่ก็มีรายได้จากการขาย DVD ของภาพยนต์เรื่อง Suck Seed ห่วยขั้นเทพ
และลัดดาแลนด์ที่เข้าฉายในไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ ตามลำดับ ด้วยเหตุดังกล่าว รายได้จากธุรกิจภาพยนตร์ในไตรมาสนี้จึงเท่ากับ 59 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 51.7 จากงวดเดียวกันของปีก่อน
สำหรับงวด 9 เดือน มีภาพยนตร์เข้าฉาย 2 เรื่องเท่ากับปีก่อน แต่ปีก่อนมีหนึ่งเรื่องคือ “บ้านฉัน.. ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้)” เข้าฉายในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง จึงส่งผลให้รายได้ box office ต่ำกว่าที่คาดไว้ ดังนั้น รายได้จากธุรกิจภาพยนตร์ในปีนี้เท่ากับ 250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 11.5
ธุรกิจสื่อ ประกอบด้วย วิทยุ โทรทัศน์ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม สิ่งพิมพ์ และบริการรับจัดและบริหารกิจกรรม ยังคงเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายในการโฆษณาของภาคธุรกิจ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
สื่อวิทยุ มีจำนวนสถานีที่ออกอากาศเท่ากับปีก่อนจำนวน 4 สถานี นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมของแต่ละสถานีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้จากสื่อวิทยุเท่ากับ 210 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่ฟื้นตัวจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองร้อยละ 21.8 สำหรับงวด 9 เดือน รายได้จากธุรกิจสื่อวิทยุเท่ากับ 578 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 23.1
สื่อโทรทัศน์ ยังคงมีจำนวนรายการและเวลาที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เท่าเดิม อย่างไรก็ตาม รายได้จากสื่อโทรทัศน์เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.4 เป็น 548 ล้านบาท สำหรับงวด 9 เดือน รายได้จากธุรกิจสื่อโทรทัศน์เท่ากับ 1,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 23.8
สื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม มีจำนวนช่องที่เปิดเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 5 ช่อง คือ สาระแน JSL JKN PLAY และ MAXXI ทำให้รายได้ในส่วนนี้เติบโตสูงถึงร้อยละ 59.0 จากไตรมาส 3 ปี 2553 มาอยู่ที่ 165 ล้านบาท สำหรับงวด 9 เดือน รายได้รวมอยู่ที่ 414 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.8 จากปีก่อน
สื่อสิ่งพิมพ์ มีนิตยสารเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหนึ่งฉบับ คือ Attitude ส่งผลให้รายได้จากสื่อสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้นเป็น 48 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 8.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับงวด 9 เดือน รายได้ในส่วนนี้เท่ากับ 149 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนร้อยละ 9.4
ธุรกิจบริการรับจัดและบริหารกิจกรรม ในไตรมาสนี้มีรายได้เท่ากับ 267 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27.0 จากปีก่อน เนื่องจากในปีก่อนมีรายได้จากการจัดงาน World Expo สำหรับงวด 9 เดือน รายได้จากธุรกิจนี้เท่ากับ 959 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.5 จากปีก่อน
ธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม 1.Sky ซึ่งได้ทำการเปิดตัวแพลตฟอร์มไปแล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และจะเริ่มทำกิจกรรมส่งเสริมการขายในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในไตรมาส 4 พร้อมทั้งออกอากาศช่อง 1.Sky 1 – 3 ซึ่งเป็นช่องพรีเมียมที่เปิดให้ชมฟรีสำหรับผู้ที่ซื้อกล่องรับสัญญาณดาวเทียม 1.Sky แล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ในไตรมาส 3
ยังไม่มีการบันทึกรายรายได้จากธุรกิจนี้
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2554 ทางแกรมมี่ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับบริษัท ซีเจ โอ ช็อปปิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งในสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อลงทุนในบริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช็อปปิ้ง จำกัด ในการร่วมกันประกอบธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง จำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า และระบบคอลเซ็นเตอร์
โดยทางแกรมมี่ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด 540 ล้านบาท

ผลประกอบการด้านการเงิน
รายได้รวมในไตรมาสนี้เท่ากับ 2,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้จากธุรกิจเพลง และธุรกิจสื่อยังคงเป็นรายได้หลักของทางแกรมมี่ คิดเป็นร้อยละ 38.9 และ 52.9 ของรายได้รวมทั้งหมด ตามลำดับ จากร้อยละ 33.0 และ 55.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ รายได้รวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
จากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553 และความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของผู้บริโภคที่ดีขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจมีการใช้จ่ายในส่วนของการโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ รวมถึงมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคเพิ่มการใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ รวมถึงรายจ่ายเพื่อความบันเทิงเพิ่มขึ้น
โดยรายได้จากธุรกิจหลักคือ ธุรกิจเพลง และธุรกิจสื่อ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.0 และ 52.4 จากร้อยละ 38.0 และ 53.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ต้นทุนขายและผลิตในไตรมาสนี้เท่ากับ 1,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.5 ของรายได้รวม ลดลงเล็กน้อยจากสัดส่วนร้อยละ 56.8 ในงวดเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของรายได้และการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับงวด 9 เดือน ต้นทุนขายและผลิตเท่ากับ 4,021 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 จากปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ
55.4 ของรายได้รวม ลดลงจากสัดส่วนร้อยละ 57.2 ในปีก่อน
กำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้เท่ากับ 1,018 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากรายได้ที่เติบโตอย่างมาก และการควบคุมต้นทุนที่ทำได้ดีอย่างต่อเนื่อง สำหรับในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ กำไรขั้นต้นเท่ากับ 3,231 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวมในไตรมาสนี้เท่ากับ 763 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 จากปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.6 ของรายได้รวม ลดลงจากสัดส่วนร้อยละ 34.8 ในปีก่อน สำหรับงวด 9 เดือนของปีนี้ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เท่ากับ 2,299 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 จากปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.7 ของรายได้รวม ลดลงจากสัดส่วนร้อยละ 33.9 ในปีก่อน
แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นในการควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
กำไรสุทธิในไตรมาสนี้เท่ากับ 183 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 76.5 จากปีก่อน จากกำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน สำหรับงวด 9 เดือน กำไรสุทธิเท่ากับ 603 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 80.2
สินทรัพย์รวมในไตรมาสนี้เท่ากับ 8,089 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2553 ร้อยละ 6.9 จากเงินสดในมือ และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนรอตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น
ในขณะที่หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 1,350 ล้านบาท จาก 1,144 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 ส่งผลให้หนี้สินรวมเพิ่มขึ้นเป็น 4,490 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.7 จากสิ้นปีก่อน ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2,951 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.4 จากการจ่ายเงินปันผลของปี 2553 และเงินปันผลระหว่างกาลของปี 2554
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกของปี 2554 เท่ากับ 728 ล้านบาท ในขณะที่กระแสเงินสดใช้ไปสำหรับการลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงินเท่ากับ 170 และ 336 ล้านบาท ตามลำดับ ส่งผลให้กระแสเงินสดสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 เพิ่มขึ้น 201 ล้านบาท ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 3 แกรมมี่มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเท่ากับ 1,200 ล้านบาท

แนวโน้มของปี 2554

ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องกับต้นไตรมาส 4 ได้เกิดอุทกภัยซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในเขตพื้นที่ภาคกลางของประเทศ ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรม พื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย
ทางแกรมมี่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ในส่วนของการกระจายสินค้าเพลงในรูปแบบ physical product ไปยังร้านค้าที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้มีการเลื่อนการแสดงคอนเสิร์ต รวมถึงการจัดกิจกรรมอื่น ๆ อีกหลายงานออกไปในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2555
เหตุอุทกภัยในครั้งนี้ ยังส่งผลให้โรงฉายภาพยนตร์หลายโรงได้หยุดดำเนินงานชั่วคราว เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตที่มีน้ำท่วมสูง ทำให้การเดินทางไปยังโรงภาพยนตร์เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้จำนวนโรงภาพยนตร์ที่ฉายภาพยนตร์เรื่อง “Top Secret วัยรุ่นพันล้าน” ที่เปิดฉายไปแล้วในช่วงปลายเดือนตุลาคมลดลงจากภาวะปกติ
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจหลายแห่งได้เลื่อนหรืองดการเปิดตัวสินค้า และการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขาย ซึ่งโดยปกติแล้วในไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่มีการใช้จ่ายในด้านนี้มากที่สุดของปีในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ดังกล่าว รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาตามสื่อต่าง ๆ ลง เนื่องจากไม่มั่นใจในกำลังซื้อของผู้บริโภคในภาวะเช่นนี้
จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจสื่อของทางแกรมมี่ได้
อย่างไรก็ตาม แกรมมี่คาดว่าเหตุอุทกภัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น
สำหรับธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม 1.Sky นั้น ยังคงเริ่มดำเนินการจำหน่ายตามกำหนดการเดิม คือ วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ได้ทำการปรับลดเป้าการจำหน่ายลงเป็นประมาณ 144,000 กล่อง สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เรายังคงเป้าการจำหน่ายของปี 2555 ที่เคยให้ไว้ที่ประมาณ 1.5 ล้านกล่อง และจะเริ่มดำเนินการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (Pay TV)
และแบบรับชมเป็นรายครั้ง (Pay-per-view) ตามกำหนดการเดิมคือประมาณไตรมาส 1 ปี 2555
กล่าวโดยสรุป ในปี 2554 แกรมมี่คาดว่ารายได้รวมน่าจะยังคงเติบโตได้จากปีก่อนเล็กน้อย ถึงแม้จะประสบกับความท้าทายอย่างมากในไตรมาส 4 เนื่องจากในช่วง 9 เดือนแรกของปีรายได้เติบโตค่อนข้างสูงจากปีก่อน ในส่วนของอัตราส่วนของกำไรก่อนต้นทุนทางการเงินและภาษี น่าจะทรงตัวในระดับเดียวกันกับปีก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น