xs
xsm
sm
md
lg

รางวัลที่เขาและเธอได้รับ

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


นขณะที่ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร กำลังเป็นความทุกข์แสนสาหัสของผู้คน จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ไร้ที่พักพิง ขาดแคลนอาหาร น้ำดื่มน้ำใช้ ฯลฯ ในขณะที่พื้นที่ทางการเกษตรเรือกสวนไร่นาก็เสียหาย ปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต ไม่ว่าคำถามที่ว่าในอนาคตเราจะมีวิธีการรับมือกับภัยพิบัติเช่นนี้อย่างไร แหล่งอาหารที่สำคัญๆ เช่น ผืนนา แหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ แหล่งอาหารโปรตีนทางธรรมชาติ เช่น ทะเล แม่น้ำลำคลอง เราจะต้องหาทางฟื้นฟูเก็บรักษาไว้ให้ได้อย่างไร เพื่อที่จะหาทางออกให้กับประเทศนี้ให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน...

วิกฤตครั้งนี้ทำให้มีการพูดถึงการดูแลอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม..... พูดถึงการรวมกลุ่มในการช่วยเหลือหรือพึ่งพาดูแลซึ่งกันและกัน พูดถึงกลไกในการเฝ้าระวัง การเตือนภัยหรือการกู้ภัยกันมากขึ้นในหมู่ของภาคประชาชน ในกลุ่มเดียวกัน ในตรอกซอกซอยหรือหมู่บ้านจัดสรรเดียวกัน เพราะไม่สามารถอาศัยอำนาจรัฐ กลไกรัฐที่จะเข้ามาช่วยเหลืออะไรได้มากนัก และบทเรียนในครั้งนี้อาจจะรวมไปถึงการสรุปให้ได้ว่าการจัดโครงสร้างทางการเมืองการปกครองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่รวมศูนย์ทั้งอำนาจ บุคลากรและทรัพยากร จะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงๆ จังๆ เสียที ภาพของความโกลาหลในการอพยพผู้คน ระบบข้อมูลข่าวสารที่สับสน สิ่งของที่มีการบริจาคช่วยเหลือกระจัดกระจายซ้ำซ้อนแต่ไม่ทั่วถึง ล่าช้า ...เราคงไม่อยากให้เกิดภาพและเรื่องราวเช่นนี้อีกในวิกฤตอื่นๆ ที่จะมาถึงในอนาคต

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นฐานการผลิตของผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ทำให้ผู้คนในสังคมนี้มีข้าวกิน มีข้าวเป็นสินค้าสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ มีหมูเห็ดเป็ดไก่ มีกุ้งหอยปูปลาเลี้ยงผู้คนทั้งจนรวยในประเทศนี้ได้บริโภคโดยไม่ขาดแคลน ความเชื่อมั่นและหวังการพึ่งพิงศูนย์การค้าของคนในเมืองใหญ่ๆ ก็พังทลายลง เมื่อสินค้าต่างๆหายวับไปกับตา มีแต่ชั้นวางของเปล่าๆ โล่งๆ การรักษาฐานการผลิตอาหารของประเทศไว้ คือ การรักษาความเชื่อมั่นของผู้คนในสังคม ว่าหลังวิกฤตต่างๆ ผ่านไป เราจะมีสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตคืออาหาร ขวัญและกำลังใจของผู้คนก็จะไม่กระเจิดกระเจิงเหมือนที่เรากำลังประสบกันอยู่ในปัจจุบัน

3-4 วันของอาทิตย์นี้ผมมีโอกาสแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนพี่น้องในพื้นที่ประจวบฯ พื้นที่ที่มีชุมชน มีกลุ่มคนที่ได้พยายามลุกขึ้นมาสู้เพื่อปกป้องแหล่งอาหาร แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่หลายกลุ่ม หลังจากข่าวคราวการต่อสู้ของพวกเขาติดต่อยืดเยื้อกันมานานหลายสิบปี ผู้คนในสังคมอาจจะเริ่มสนใจต่อปัญหาในพื้นที่นี้ก็ตอนที่ เจริญ วัดอักษร ได้เสียชีวิตลงเมื่อปี 2547 ซึ่งจริงๆ แล้วขบวนการต่อสู้ของชุมชนบ่อนอกได้พยายามลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องบ้านเกิด แหล่งทำมาหากินและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพวกเขามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดยลุกกันขึ้นมาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกมูลค่า 12,000 ล้านบาทของบริษัท กัลฟ์พาวเวอร์เจเนอเรชั่น จำกัด

การต่อสู้ยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี เจริญ วัดอักษร ทำหน้าที่ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จนกระทั่งวันที่ 21 มิถุนายน 2547 เจริญ วัดอักษร ต้องยุติบทบาทดังกล่าวลงพร้อมกับลมหายใจ ที่ไม่มีวันหวนกลับ เนื่องจากถูกกลุ่มคนร้ายลอบสังหาร หลังจากเดินทางกลับจากการให้ปากคำเรื่องการบุกรุกที่ดิน 931 ไร่ในเขต ต.บ่อนอก กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่กรุงเทพฯ นี่คือรางวัลที่เขาได้รับจากการต่อสู้เพื่อสังคมในวันนั้น

อีกกรณีหนึ่งที่เชื่อมโยงกันก็คือโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านกรูดซึ่งพื้นที่โครงการตั้งอยู่ที่อำเภอบางสะพาน โดยมีจินตนา แก้วขาว เป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญที่ทุ่มเทพลังกายใจต่อสู้คัดค้านโครงการดังกล่าวควบคู่กันมากับพี่น้องบ่อนอก ที่มี เจริญ วัดอักษร เป็นแกนนำการต่อสู้ 11 ต.ค. 2554 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดประจวบฯ ได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.3283/2546 ที่พนักงานอัยการจังหวัดประจวบฯ ฟ้อง จินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ในข้อหาบุกรุก รบกวนการครอบครองที่ดินของ บริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านกรูด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 362, 365 คำพิพากษาตัดสินให้เธอมีความผิดตามฟ้อง แต่เธอมอบตัวมีเหตุให้บรรเทาโทษ 1 ใน 3 จากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2548 ลงโทษเธอให้จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ไม่รอลงอาญา เหลือโทษจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา

คดีนี้สืบเนื่องจากกรณีชาวบ้านซึ่งคัดค้านโครงการไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,400 เมกะวัตต์ของบริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้บุกรุกเข้าไปในบริษัทซึ่งขณะนั้นกำลังจัดงานเลี้ยงครบรอบ 3 ปี ของโครงการและร่วมกันใช้ของเน่าเสียสกปรกขว้างปาและเทลงบนโต๊ะอาหาร เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2544 หลังจากนั้นจึงมีการแจ้งความดำเนินคดีกับนางจินตนา และต่อมาทางอัยการก็ได้ฟ้องร้องเป็นคดีในชั้นศาล ผลที่ออกมาวันนี้เธอต้องผันตัวเองเข้าไปอยู่ในคุก หลังมีข่าวนี้แพร่สะพัดออกไปมีเพื่อนพ้องในพื้นที่ต่างๆ ก็แวะเวียนกันมาเยี่ยมเยียนเธอและครอบครัวมิได้ขาดสาย

รางวัลที่เขาได้รับอย่าง เจริญ วัดอักษร ที่ต้องสังเวยด้วยชีวิต และเธอ จินตนา แก้วขาว ที่ต้องสูญเสียอิสรภาพเข้าไปอยู่ในคุก จากสาเหตุของความพยายามลุกขึ้นมาต่อสู้กับทุนอุตสาหกรรมที่จะเข้ามารุกรานพื้นที่ทำมาหากิน เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่อุดมสมบูรณ์ของชุมชนและของสังคมโดยรวมเอาไว้ กลับต้องได้รับผลตอบแทนที่แสนเจ็บปวด ก็ได้แต่หวังเอาไว้ว่าหลังวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่หนนี้ จะทำให้สังคมไทยได้ตระหนักในปัญหาเหล่านี้บ้าง และก็หวังว่าการเร่งฟื้นฟูหลังน้ำลดรัฐบาลคงจะไม่พุ่งเป้าแต่เพียงนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น เพราะวันนี้พิสูจน์แล้วว่าแหล่งผลิตอาหารสำคัญกว่าแหล่งผลิตรถยนต์.
กำลังโหลดความคิดเห็น