ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“คนที่แค่เอาสติ๊กเกอร์ชื่อตัวเอง หรือชื่อ ส.ส.พรรคตัวเองมาติดข้างรถ หรือมาติดที่ถุง ควรจะละอายใจ”
เป็นข่าวฮือฮาทีเดียวสำหรับการถอนตัวออกจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)ขององค์กรภาคประชาชนอย่าง ' Thai Flood ' ซึ่งก่อตั้งโดย 'ปรเมศวร์ มินศิริ' นักธุรกิจไซเบอร์ซึ่งมีเครือข่ายกว้างขวางในสังคมออนไลน์ เพราะนอกจากเขาจะเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ชื่อดังอย่างสนุกดอทคอม และกระปุกดอทคอมแล้ว เขายังก่อตั้งเว็บไซต์ www.thaiflood.com ซึ่งรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประสบอุทกภัย และสร้างเครือข่ายอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมาตั้งแต่ปี 2553 กระทั่งปัจจุบันเติบโตเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง สามารถระดมพลเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ซึ่งการถอนตัวของ 'Thai flood' ครั้งนี้เป็นดั่งการจุดประกายให้เหล่าอาสาสมัครออกมากระชากหน้ากากของบรรดา 'เหลือบเสื้อแดง' ที่แฝงตัวอยู่ใน ศปภ. ส่วนเบื้องลึกเบื้องหลังในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร 'ASTV สุดสัปดาห์' อาสาพาไปพูดคุยกับ 'ปรเมศวร์ มินศิริ' ผู้ก่อตั้ง Thai Flood
Thai Flood เข้าไปร่วมงานกับ ศปภ.ได้อย่างไร
เริ่มจากที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสนอไปยังรัฐบาลว่าน่าจะดึงไทยฟลัดเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับ ศปภ. ซึ่งท่านนายกฯก็บอกว่าน่าจะให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยระบุชื่อว่าเป็นไทยฟลัด จากนั้นก็ให้ทางโฆษกรัฐบาลติดต่อเข้ามา วันนั้นผมจำได้ว่าเป็นวันที่ท่านนายกฯไปเยือนพม่า เขาก็บอกจะเรียกประชุม แต่ก็ยังไม่เห็นการเรียกประชุม พอดีมีการตั้ง ศปภ.ขึ้นมา เราก็เข้าไปรายงานตัวว่าเราเป็นภาคประชาชนที่ท่านนายกฯพูดถึง ขอมาทำงานร่วมนะครับ เขาก็จัดพื้นที่ให้อยู่ชั้นเดียวกับ ศปภ.ภาครัฐ แต่อยู่คนละซีกตึกกัน
เราก็ไปเชื่อมกับภาครัฐหลายๆ ภาคส่วน แต่เราก็เรียกร้องว่าการจะทำงานร่วมกันควรจะมีการแต่งตั้งกรรมการในภาคประชาชนเข้าไปร่วมหารือคิดอ่านในการแก้ปัญหาด้วย เหมือนกับที่ คชอ.(ศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย) เคยดำเนินการเมื่อน้ำท่วมในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีการแต่งตั้งตัวแทนภาคประชาชนจากหลายภาคส่วนเข้าไปร่วมทำงาน เช่น สมาคมสถาปนิก สมาคมธนาคารไทย รวมถึงไทยฟลัดด้วย เพื่อที่จะได้นำข้อมูลจากภาคประชาชนเข้าสู่ภาครัฐบาลอย่างเป็นระบบ และก็นำข้อมูลจากภาครัฐไปสู่ภาคประชาชนอย่างเป็นระบบ แต่สิ่งที่เราได้รับจาก ศปภ.คือการเอาแถลงการณ์มาให้เราประกาศในเว็บไซต์ไทยฟลัด คือภาครัฐคิดเองแล้วก็ส่งมาให้เราประกาศ แต่ไม่มีการร่วมกันคิดร่วมกันทำงาน มันไม่มีช่องทางที่จะให้เราเสนอข้อมูลเพราะไม่มีการตั้งคณะกรรมการ
ศปภ.มีการแบ่งการทำงานเป็นฝ่ายไหม
มีครับ แต่ไม่มีตัวแทนจากภาคประชาชน หน่วยงานที่อยู่ใน ศปภ.ก็มาจากภาครัฐเกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่จะมาจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ซึ่งผมเห็นว่าภัยพิบัติใหญ่ขนาดนี้จะใช้แต่ทรัพยากรภาครัฐในการแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วก็สิ้นเปลืองงบประมาณไปเปล่าๆ นอกจากนั้นใน ศปภ.ยังไม่มีคนที่มีความรู้เฉพาะด้าน ซึ่งคนที่มีความรู้เฉพาะด้านส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนในองค์กรภาคประชาชน ซึ่งการนำเสนอข้อมูลตรงนี้ก็ต้องเสนอผ่านตัวแทนภาคประชาชน แต่มันไม่มีตัวเชื่อมต่อตรงนี้ ผมก็เสนอผ่านผู้ใหญ่หลายท่านว่าขอให้เกิดกระบวนการเชื่อมต่อตรงนี้
เหตุผลสำคัญที่ Thai Flood ถอนตัวออกมาจาก ศปภ.คืออะไร
คือผ่านไป 3 สัปดาห์ ไม่เกิดกระบวนการเชื่อมต่ออย่างที่ว่า ทางผมจึงมีความเห็นว่าเราไม่ควรตั้งศูนย์อยู่ที่ดอนเมืองอีกต่อไป โดยมีเหตุผล 2 ประการ คือ 1.เราไม่ได้มีการเชื่อมต่อกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทั้งในด้านข้อมูลและความร่วมมือ 2.เมื่อไม่มีการเชื่อมต่อความร่วมมือในลักษณะช่วยกันคิดช่วยกันทำระหว่างภาครัฐกับประชาชน ถ้าเราอยู่ตรงนั้นมันก็บั่นทอนการทำงาน เพราะเราจะกลายเป็นเหมือนกระบอกเสียงภาครัฐ บางทีเขาก็โยนงานบางงานซึ่งเขาไม่ได้ทำมาให้เราทำ เราก็เสียเวลา อย่างเช่น บางเคสรัฐช่วยเหลือไม่ได้ ก็เขียนใส่กระดาษเดินมาบอกว่าให้เราช่วยหน่อย เราก็ต้องไปตามหาเจ็ทสกีวิ่งช่วยให้ กลายเป็นว่าเราต้องไปหาภาคประชาชนมาช่วยเหลือประชาชนด้วยกัน เสร็จแล้วก็ประชาสัมพันธ์ให้ด้วย ซึ่งถ้าทำแบบนี้เนี่ยมันแก้ปัญหาภาพใหญ่ไม่ได้ การแก้ปัญหาภาพใหญ่จะต้องแก้ปัญหาด้วยการทำงานร่วมกัน เมื่อผ่านไป 3 สัปดาห์ผมเห็นแล้วว่ารัฐบาลไม่มีเจตจำนงที่จะทำงานแบบช่วยกันคิดกับภาคประชาชน เราจึงจำเป็นต้องถอนตัวออกมาจาก ศปภ. เพื่อที่ว่าผมจะได้สามารถรวบรวมกำลังภาคเอกชน ภาคประชาชน ในการทำงานเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้อย่างเต็มที่
ที่ผ่านมา ศปภ.มีปัญหามากในเรื่องข้อมูลที่สับสน
ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติเนี่ยข้อมูลมันสับสนอยู่แล้ว ไม่ต้องใน ศปภ.หรอก ทุกที่เลย แต่ว่าหน้าที่ของภาครัฐคือต้องทำข้อมูลให้เป็นระเบียบมากกว่านี้
จริงๆ แล้วThai Flood มีศักยภาพทั้งในด้านการประชาสัมพันธ์และการระดมความร่วมมือจากภาคประชาชน แต่ในช่วงที่ทำงานร่วมกับ ศปภ.นั้น Thai Flood ไม่ได้ใช้ศักยภาพตรงนี้
คือเราไม่ได้ทำงานแค่ผิวเผิน ถ้าจะให้เรามาทำแค่ประชาสัมพันธ์ ทำแค่ระดมอาสาสมัครให้ อย่าใช้เรา ใช้ใครก็ได้ แต่ถ้าให้เราเข้าไปช่วยคิด ช่วยวางแผน แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เราถึงจะมีความจำเป็นต้องอยู่ตรงนั้น และการทำงานของเราก็ไม่ใช่แค่ยื่นข้อมูลไปให้ เราถ้าแค่ยื่นข้อมูลให้เราอยู่ที่ไหนก็ได้ หรือถ้าจะส่งข่าวประชาสัมพันธ์ ผมอยู่ที่ไหนก็ได้ แค่หาอาสาสมัครไปช่วย ผมอยู่ที่ไหนก็ได้ ผมไปศูนย์ดอนเมืองเพราะผมต้องการเข้าไปร่วมวางแผนในการทำงาน ไม่อย่างนั้นผมก็ไม่ต้องอยู่ตรงนั้น
จากที่ได้ร่วมงานกัน เห็นปัญหาการทำงานใน ศปภ.อย่างไรบ้าง
ทำงานทุกที่มีปัญหาครับ ข้าราชการ ทหาร เจ้าหน้าที่ทุกคน เหนื่อย แต่ความเหนื่อยนี้มันจะลดลงถ้าฝ่ายบริหารทำงานเป็นระบบ มีการจัดระดับความสำคัญ แล้วก็รับฟังผู้รู้ รับฟังข้อมูล เพราะขณะที่ภาครัฐมีข้อมูลเยอะ แต่ภาคประชาชนมีข้อมูลในมุมกว้างและมีข้อมูลรอบด้าน แต่ตรงนี้มันไม่เกิดขึ้น ถ้าตรงนี้เกิดขึ้นคนทำงานจะเหนื่อยน้อยลง สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้เร็วขึ้น
ที่ผ่านมา Thai Flood เคยเสนอข้อมูลกรณีพนังกั้นน้ำพัง ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์วิกฤต แต่ ศปภ.กลับไม่เร่งเสนอข้อมูลนี้กับประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้างเพราะประชาชนไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ผมคิดว่าต้องแก้ปัญหาภาพรวมให้ได้ ถ้าแก้ปัญหาเป็นจุดๆ ใครแก้ก็ได้ ให้หน่วยกู้ภัยเข้าไปแก้ก็ได้ คนข้างบ้านเข้าไปช่วยก็ได้ มีคนติดอยู่ในบ้าน สุนัขติดอยู่ในบ้าน อาสามสมัครเข้าไปช่วย แต่ถ้าคุณอยากจะแก้ปัญหาในภาพรวม ทำยังไงกรุงเทพฯจะเสียหายน้อยที่สุด ตรงนี้แหล่ะที่ผมอยากช่วย คือตอนนี้มันไม่มีคนดูภาพรวม มีแต่คนดูว่าเขตนี้เดือดร้อน หรือฐานเสียงฉันตรงนี้เดือดร้อน แต่ใครล่ะครับที่เป็นคนดูภาพรวมแล้วเคาะว่าเราควรจะทำอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย
ทราบว่า ศปภ.มีการสั่งเบรกข้อมูลที่ Thai Flood เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ด้วย
คือบางครั้งที่เราใส่ข้อมูลในทวิตเตอร์ไป ก็มีการมาเซ็นเซอร์ มาบอกว่าไม่ควรทำแบบนี้ เดี๋ยวคนนั้นคนนี้จะไม่พอใจ มีการอ้างชื่อนายทหารใหญ่ ซึ่งจริงๆแล้วนายทหารท่านนั้นอาจจะไม่รู้เรื่องก็ได้ แต่ถูกนำชื่อมาอ้างเพื่อข่มขู่ เพราะผมยังไม่เคยเจอนายทหารท่านไหนใน ศปภ.ที่มีปัญหา นอกจากนั้นเขายังอ้างด้วยว่าการเผยแพร่ข้อมูลของเราผิดกฎหมาย เป็นความผิดตาม มาตรา 14 (1) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะทำให้ประชาชนแตกตื่น ผมก็ถามกลับไปว่าผิดกฎหมายยังไง ในเมื่อ มาตรา 14 (1) เป็นเรื่องของการให้ข้อมูลเท็จ แต่สิ่งที่เรานำเสนอเป็นจริง และที่สำคัญข้อมูลที่เรานำเสนอไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้ประชาชนแตกตื่นอย่างแน่นอนเพราะเป็นการให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลของศูนย์อพยพต่างๆ และที่ผ่านมาก็มีการตกลงกันว่า ศปภ.จะให้ไทยฟลัดเป็นตัวหลักในการดูแลและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์อพยพ ส่วน ศปภ.จะมาช่วยในการอัพเดทข้อมูล
คือเดิมเนี่ยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับมอบหมายจาก ศปภ.ในการดูแลข้อมูลเรื่องศูนย์อพยพ และจากที่เราได้ไปนั่งประชุมกับ พม.ก็พบว่า พม.จะดูแลการจัดศูนย์อพส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นศูนย์อพยพของรัฐ แต่การช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้ศูนย์อพยพที่ให้การช่วยเหลือประชาชนมากที่สุดคือศูนย์ของเอกชนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าไทยฟลัดเรามีข้อมูลในส่วนนี้เยอะกว่า และข้อมูลเราสมบูรณ์กว่าเพราะเราเช็คมาเรียบร้อยแล้ว และด้วยความหวังดีของ พม. เขาก็เสนอว่าถ้าอย่างนั้นให้ไทยฟลัดเป็นหลักในการดูแลข้อมูลเรื่องศูนย์อพยพ ส่วน พม.จะเป็นตัวเสริมให้ แต่พอเราประกาศข้อมูลเรื่องศูนย์อพยพออกไปปุ๊บ ประชาชนได้รับประโยชน์ ศปภ.เดินมาบอกว่าคุณประกาศแบบนี้ไม่ได้ ผมก็เลยถามว่าผมประกาศอย่างนี้ไม่ได้เพราะอะไรในเมื่อประชาชนได้ประโยชน์ ?
ที่ผ่าน ศปภ.เองก็มีปัญหาเรื่องความสับสนของข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์อพยพ ประกาศออกไปแล้ว พอผู้อพยพเดินทางไปถึง ทางเจ้าหน้าที่กลับบอกว่ายังไม่มีการเปิดศูนย์
คือวิธีการของ ศปภ.คือถามไปยังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแต่ละจังหวัดว่ามีศูนย์อพยพกี่ศูนย์ ที่ไหนบ้าง แล้ว ศปภ.ก็ออกมาแถลงออกทีวีเลยว่ามีศูนย์อพยพตรงนั้นตรงนี้ ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่เขายังเตรียมการไม่เสร็จเลย เตรียมตัวไม่ทัน เตรียมเครื่องนอนไม่ทัน บางศูนย์ไม่พร้อม บางศูนย์มีความเสี่ยง พอตรงไหนเปิดไม่ได้จริง ศปภ.ก็ให้เปลี่ยน ไม่เอาละ ย้ายไปที่อื่น แต่ประกาศออกทีวีไปแล้ว ผู้อพยพไปถึงเข้าพักไม่ได้ บางคนต้องไปนอนบนพื้นซีเมนต์ เพราะเขายังไม่ได้เตรียมความพร้อมอะไรเลย คนทำงานเขาก็เหนื่อยมาก ผมก็ประกาศเตือนไปในอินเตอร์เน็ตว่าเมื่อไร ศปภ.จะหยุดทำงานแบบนี้เสียที คุณต้องให้เจ้าหน้าที่ศูนย์อพยพพร้อมก่อนที่จะออกมาประกาศ เพราะคนที่เดือดร้อนเขาเดินทางไปไกล ไปถึงเขาไม่มีที่พักจะทำยังไง
หลายหน่วยงานก็ออกมาวิจารณ์การทำงานของ ศปภ.ว่านอกจากข้อมูลจะมั่วแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องการประสานงาน
คือทุกคนตั้งใจทำงาน ผมเข้าใจ แต่เมื่อยิ่งทำงานมากมันก็ยิ่งมีปัญหา ผมจึงมองที่กรณีเดียวคือปัญหามันจะเบาลงหากมีการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ทั้งภาคราชการ ประชาชน ภาคเอกชน ซึ่งยังมีกำลังที่จะช่วยเหลือ แล้วจัดให้มันเป็นระบบ
การประสานงานเรื่องการผันน้ำในพื้นที่ประสบภัยก็มีปัญหา
คือผมตั้งคำถามว่าการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ คุณต้องผันน้ำออกไปทางตะวันออกและตะวันตกให้เยอะที่สุดถูกไหมครับ แต่ขณะนี้ทางตะวันออกคือแถบสมุทรปราการ ผันน้ำไม่ออก ทางตะวันตก คือทางสมุทรสาครกลับหนักมาก ทั้งที่บริเวณคลองด่าน จ.สมุทรปราการ มีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมีกำลังสูบสูง แต่ขณะนี้ไม่มีน้ำให้สูบ เพราะไม่มีการผันน้ำออกไป
ผมเพิ่งมาเข้าใจตอนดูโทรทัศน์ว่า ศปภ.ให้ ส.ส.สมุทรปราการเป็นประธานคณะทำงานการผันน้ำออกทางตะวันออก แล้วจึงมาพูดออกโทรทัศน์ว่าพี่น้องไม่ต้องกลัวน้ำไม่ท่วมหรอก ถึงท่วมก็ท่วมเล็กน้อย 30 เซนติเมตร หรือ 1 ฟุต คือการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯแต่กลับไปให้ ส.ส.สมุทรปราการมาเป็นหัวหน้า เขาก็ต้องป้องกันฐานเสียงเขาเต็มที่ และเมื่อระบายน้ำออกทางตะวันออกแทบไม่ได้เลยจะมีผลกระทบกับน้ำที่ตีกลับมาหากรุงเทพฯในเร็ววันนี้ ซึ่งอันตรายมาก ที่สมุทรปราการมีเครื่องสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพเยอะมาก ถ้าไม่เร่งสูบน้ำออกตอนนี้ คนที่รับเคราะห์จะมี 2 ส่วน คือคนที่อยู่รอบๆ จนถึงกรุงเทพชั้นใน และส่วนที่ 2 คือคนที่อยู่ฝั่งธนฯ และ จ.สมุทรสาคร ก็จะรับน้ำที่ตีกลับ แต่คนที่โชคดีคือคนสมุทรปราการ ทั้งที่จริงต้องมีการผันน้ำบางส่วนออกทางพื้นที่นี้เพื่อเฉลี่ยปริมาณออกไป คือไม่ได้แปลว่าสูบออกไปจนกรุงเทพฯแห้งนะครับ กรุงเทพฯ ก็ต้องช่วยแบ่งเบาน้ำบางส่วนด้วย
เห็นว่าการกระจายความช่วยเหลือของ ศปภ.มีปัญหาเยอะ บางหน่วยงานเข้ามารับของบริจาค ทาง ศปภ.ก็บอกว่าของบริจาคหมด ทั้งที่อยู่ในสต็อกอีกจำนวนมาก
ตรงนี้มันเป็นปัญหาเรื่องความขัดแย้งของระบบพวกพ้อง เช่น คนดูแลของบริจาคที่ดอนเมือง ให้ ส.ส.บางคนคุม เลยมีการเอื้อประโยชน์กันในกลุ่ม ส.ส.พรรคเดียวกัน เพราะฉะนั้นในสัปดาห์แรกเนี่ยของบริจาคที่ส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจึงส่งไปตามหมายที่ ส.ส.แจ้งมา ขณะที่การแจ้งขอของบริจาคโดยภาคประชาชน ซึ่งแจ้งไปทางหมายหมาย 1111 กลับถูกละเลย กว่าเราจะเข้าไปช่วยจัดระบบได้เสียเวลาไปเยอะมาก ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือ เพราะทาง ส.ส. ทางนักการเมืองตัดของไปเยอะ
ตอนนี้ ศปภ.ก็มีปัญหาว่ามีของบริจาคกองอยู่เยอะมาก แต่ไม่ถูกนำมาแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย เพราะรอติดชื่อ ส.ส. อยู่
ก็มีการแจ้งข้อมูลในลักษณะนี้จากกลุ่มอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยงานที่ศูนย์ดอนเมือง อย่างที่เราเห็นในเฟซบุ๊ก อย่างที่ประจักษ์ด้วยรูปก็คือมีการนำของบริจาคของประชาชนขึ้นรถซึ่งติดป้ายชื่อของนักการเมือง
ปัจจุบัน ศปภ.จึงกลายเป็นหน่วยงานที่นักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานเอาหน้าหาเสียง
ผมอยากบอกว่าน่านับถือสปิริตจิตใจของพี่น้องประชาชนที่ควักเงินของตัวเองออกมาซื้อของบริจาคและนำมามอบให้ถึงศูนย์ดอนเมือง หลายคนออกแรงมานั่งแพ็กของกันตั้งแต่เช้าจนถึงดึกดื่น ช่วยขนของหนักๆ บางคนเอารถมาช่วยขนของ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครเสื้อแดงหรือเสื้อสีอื่นผมคิดว่าทุกคนมีน้ำใจทั้งสิ้น แต่คนที่แค่เอาสติ๊กเกอร์ชื่อตัวเอง หรือชื่อ ส.ส.พรรคตัวเองมาติดข้างรถ หรือมาติดที่ถุงเนี่ยควรจะละอายใจคนเหล่านี้
ตอนนี้จึงเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต นอกจากประชาชนจะเจอวิกฤตน้ำท่วมแล้ว ยังเกิดวิกฤตศรัทธาต่อการทำงานของภาครัฐด้วย
ปัญหาเหล่านี้รัฐบาลก็รู้ก็เห็น ควรจะห้ามปรามเพราะเป็นพรรคที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศ ไม่ควรทำลายน้ำใจประชาชนด้วยวิธีการแบบนี้
ตอนนี้บรรดาอาสาสมัครต่างๆ ถอนตัวออกมาจาก ศปภ.เยอะมาก
ใช่ครับ
คิดว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดในการทำงานของ ศปภ.คืออะไร
ไม่แต่งตั้งผู้ที่มีความรู้ความชำนาญอย่างแท้จริงเข้าไปทำงาน ถ้าเป็นพรรคพวกที่มีความสัมพันธ์กันก็จะได้รับการแต่งตั้งเข้าไป แม้ว่าจะขาดซึ่งความสามารถในการบริหารจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างให้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เข้าไปดูแลเรื่องสื่อ เป็นโปรดิวเซอร์และพีอาร์ของกรมประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่นำข้อมูลข่าวสารต่างๆไปประชาสัมพันธ์บอกกล่าวประชาชน ทั้งที่เขาไม่ได้มีประสบการณ์ในเรื่องสื่อสารมวลชน ผมคิดว่าคุณณัฐวุฒิอาจจะดูแลได้ดีในเรื่องการสะกดชื่อ ส.ส.ให้ถูก แต่ถ้าเราเอาคนอย่างอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคเสถียร หรือเอาคนอย่าง รศ.ดร เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ซึ่งทั้งสองท่านมีความรู้เรื่องน้ำ เรื่องอุทกภัย และสามารถสื่อให้ประชาชนเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ดี มาทำงานนี้น่าจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า
ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำอย่าง คุณปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพิ่งได้รับคำเชิญจากรัฐบาล ขณะที่ ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง เมื่อไม่กี่วันมานี้ นี่คือปัญหาใหญ่ว่า ศปภ. เพิ่งเชิญผู้รู้มาทำงาน
ศปภ. ควรปรับปรุงอย่างไร
ต้องมีการปรับโครงสร้างคณะทำงานใหม่ให้มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานมากกว่านี้ โดยที่ไม่ใช่แค่พวกพ้องของตัวเอง
ถ้า ศปภ.ยังเป็นอย่างนี้ ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น
ประชาชนก็สวดมนต์เยอะๆครับ