xs
xsm
sm
md
lg

ละครมหาดไทย : งานของผู้ว่าฯ ที่ไม่ต้องรอรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: รมย์ ธรรมวัฒนารมณ์

คำขวัญของคนมหาดไทยถูกท่องจำและภาคภูมิใจเสมอมาว่าเราจะต้องเป็นผู้ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”

วิกฤตอุทกภัยครั้งนี้เป็นความทุกข์แสนสาหัสของประชาชน จึงหนีไม่พ้นที่คนมหาดไทยต้องทุ่มเททั้งกายและใจทำงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้จงได้ ชนิดที่ว่าเอากระทรวงมหาดไทยเป็นเดิมพัน

ยอดตัวเลขความเสียหายอุทกภัยขณะนี้ 28 จังหวัด (คลี่คลาย 34 จังหวัด) ครอบคลุมพื้นที่175 อำเภอ 1,384 ตำบล 10,468 หมู่บ้าน ราษฎรไม่น้อยกว่า 2,469,639 คน 819,861 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่อยู่อาศัย ทรัพย์สินเสียหาย ความเจ็บป่วย ไม่รวมถึงความสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพและความมั่นคงของครอบครัวที่ไม่อาจประเมินค่าได้

เมื่อรัฐบาลขณะนี้ ยังคร่ำเคร่งกับการแก้โจทย์ปัญหาน้ำท่วมอยู่ที่การป้องกันน้ำท่วม กทม. การหาทางเอาน้ำลงทะเล กับการอพยพประชากรในเขต กทม. วิกฤตน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ จึงถูกลบเลือนให้ความสำคัญลดน้อยลง

เหมือนกับบทบาทของ มท.1 ในฐานะผู้บัญชาการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 หรือในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม (ศอส.) ที่ดูเหมือนว่าจะถูกลืมตามไปเช่นเดียวกัน

จึงเป็นเรื่องที่คนมหาดไทยอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะเจ้าเมือง ผู้มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ต้องพึ่งพาอาศัยความรู้ความสามารถที่ตนมีอยู่ แสดงฝีมือกอบกู้ภาวะน้ำท่วมในจังหวัดของตนเองให้ได้ อย่าหวังรอคอยการสั่งการจากรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียวหรือมองว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลที่มาจากระบบการเมืองที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หรือนั่งรอว่าเราจะถูกโยกย้ายไปที่ใด ขอเพียงให้หันกลับมาเอาใจใส่ทำงานบำบัดทุกข์ให้แก่ประชาชนคราวนี้ให้สำเร็จเป็นที่ตั้ง

มีงานหลายอย่างที่ผู้ว่าฯ สามารถเตรียมการ สั่งการและดำเนินการได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาลสั่งการ

หนึ่ง การสำรวจพื้นที่ในจังหวัดว่าพื้นที่ใดถูกน้ำท่วมมาก น้ำท่วมน้อย หรือไม่ถูกน้ำท่วมเลย ต้องทำการบ้านวางแผนจัดการพื้นที่เหล่านั้นให้มาเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดอย่างไรบ้างที่เป็นรูปธรรม

สอง การแบ่งพื้นที่ทั้งหมดให้ส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานในจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับผิดชอบ เขตใด พื้นที่ใด ใครกำกับดูแลเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็วครอบคลุมพื้นที่

สาม การสำรวจแยกแยะข้อมูลความเสียหายทั้งจำนวนครัวเรือน ทรัพย์สิน แหล่งทำมาหากินของราษฎร ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร อุตสาหกรรม การค้าฯ มากน้อยเพียงใด งานนี้เห็นทีต้องพึงเสาหลักของหมู่บ้าน คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในการตรวจสอบข้อมูล และต้องพร้อมสามารถกางเป็นข้อมูลใช้ได้ทันที

สี่ การร่างเตรียมแผนช่วยเหลือราษฎร 3 ขั้นตอนได้แล้ว

แผนแรก คือ ราษฎรถูกน้ำท่วมอยู่เดี๋ยวนี้จะช่วยเหลือยามจำเป็นในพื้นที่ได้อย่างไร

แผนที่สอง ระหว่างน้ำเริ่มลดลงจะต้องดำเนินการกอบกู้แก้ไขช่วยเหลือราษฎรอย่างไร แผนที่สาม เมื่อสภาวะอุทกภัยคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติมีแผนการฟื้นฟูไว้อย่างไร ที่สามารถปฏิบัติการได้ทันที

ห้า การฟื้นฟูช่วยเหลือราษฎรทุกขั้นตอนจำเป็นต้องใช้งบประมาณ ผู้ว่าฯ ควรเตรียมการทำความเข้าใจ ทำความตกลงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้เรียบร้อยว่า งบประมาณทั้งหมดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ยกเว้นเงินเดือนประจำ ) ควรจะต้องเทรวมมาเป็นงบช่วยเหลือราษฎรทั้งหมดได้อย่างไร โครงการและแผนงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมที่ไม่จำเป็น ควรชะลอไว้ก่อนได้หรือไม่

ข้อนี้อยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาล พิจารณาใช้อำนาจสั่งการให้เด็ดขาด จะช่วยให้งบประมาณแก้ปัญหาน้ำท่วมในภาพรวมของประเทศลดน้อยลง

หก เมื่อพื้นที่ของจังหวัดบางส่วนไม่ถูกน้ำท่วมหรือเสียหายน้อย ควรพิจารณาใช้กำลังพล หรืออาสาสมัครเครื่องจักรกล ฯลฯ ในพื้นที่ดังกล่าว ถ่ายเทเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมได้มากน้อยเพียงใด

เจ็ด สิ่งสำคัญที่ผู้ว่าฯ ไม่ควรลืมจะต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้าด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามในจังหวัดของตนเอง หรือพื้นที่ใกล้เคียงที่ไม่ถูกน้ำท่วม คือ

- การให้ราษฎรปลูกพืช ผัก ผลไม้ระยะสั้น 30 วัน 45 วัน

- การจัดเตรียมกล้าพันธุ์ พืชเพาะปลูก พืชผักสวนครัว หรือไม้ผลที่กินได้ทั้งระยะสั้น และระยะยาวไว้ช่วยเหลือราษฎรหลังน้ำลด

-2-

- การจัดเตรียมจัดหาพันธุ์สัตว์เลี้ยง เพื่อแจกจ่ายราษฎรหลังนำลด เช่น พันธุ์ปลา เป็ด ไก่ ฯลฯ เป็นต้น

- การจัดหาแหล่งน้ำดื่มแจกจ่ายให้แก่ราษฎรในพื้นที่ให้ทั่วถึงอย่าให้ขาด

- การจัดวางแผนป้องกันโรคระบาดที่จะต้องดำเนินการในระยะที่น้ำท่วม และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายรวมทั้งมาตรการกำจัดขยะ ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

- การเตรียมเรื่องยาและเวชภัณฑ์ไว้ล่วงหน้า เพื่อดำเนินการภายหลังน้ำลดรวมตลอดถึงการผนึกกำลังหน่วยแพทย์เข้าดูแลราษฎรอย่างเป็นวงรอบและต่อเนื่องในพื้นที่ที่ราษฎรประสบภัย

- การระดมเครื่องจักรกลที่มีอยู่เข้าซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ เช่น ถนน สะพาน ที่สามารถทำได้อย่างไม่ซับซ้อนไปพลางก่อน รวมทั้งการกอบกู้ระบบประปาที่มีอยู่ทุกตำบลหมู่บ้านที่มีอยู่ให้ใช้ได้

-การจัดทำแผนการใช้แรงงานผู้ประสบภัยหรือการจัดหาอาชีพระยะสั้นๆเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประสบภัยสามารถมีรายได้ทันทีหลังน้ำลด

- การจัดทำแผนช่วยเหลือราษฎรในเรื่องการชะลอหรือยกเว้นหนี้สินให้แก่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่ประสบภัยในครั้งนี้ไว้เป็นการล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยลดความทุกข์ของราษฎรที่ประสบภัยได้ส่วนหนึ่ง

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับผู้ว่าฯ นักปกครองมืออาชีพ สามารถวางแผน กำหนดขอบข่ายรายละเอียดได้อยู่แล้ว เพียงแต่จะมากหรือน้อยและขับเคลื่อนได้เพียงใด ไม่จำเป็นต้องรอการสั่งการจากรัฐบาลแต่อย่างใด เว้นแต่ผู้ว่าฯ บางท่านที่ใจไม่นิ่ง ไปผูกติดกับการแบ่งแยกว่าเป็นคนของพรรคการเมืองใด

หรือผลักภาระให้เป็นเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเป็นเรื่องของรัฐบาล ซ้ำร้ายอาจคิดว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวเรา “ก็ถูกเขาย้าย จากผู้ว่าฯ จังหวัดนี้แล้ว”

คำตอบอยู่ที่ รัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด (บางท่าน) คิดอะไรอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น