xs
xsm
sm
md
lg

จี20 ‘เข้ม’ ขีดเส้นตายยุโรป เสนอแผนกู้วิกฤตอาทิตย์หน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ – จี20 กดดันยุโรปให้จัดการขั้นเด็ดขาดภายใน 8 วันเพื่อแก้วิกฤตหนี้สาธารณะที่กำลังฉุดโลกกลับสู่ภาวะถดถอย
วันเสาร์ที่ผ่านมา (15) บรรดารัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการแบงก์ชาติกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าและเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ (จี20) ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศที่มีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกัน 85% ของเศรษฐกิจโลก แสดงความคาดหวังด้วยถ้อยคำชัดเจนผิดปกติว่า ที่ประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป (อียู) วันที่ 23 ที่จะถึงนี้ “จะมีมาตรการเด็ดขาดเพื่อจัดการความท้าทายปัจจุบันด้วยแผนการที่ครอบคลุม”
ฟรังซัวส์ บาโรแอง ขุนคลังฝรั่งเศสที่รับหน้าที่ประธานการประชุมจี20 ในกรุงปารีสคราวนี้ กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการหารือว่า เบอร์ลินและปารีส สองมหาอำนาจในยูโรโซน ใกล้บรรลุแผนการลดหนี้กรีซ หยุดยั้งการลุกลาม และปกป้องบรรดาแบงก์ยุโรป ซึ่งเกี่ยวข้องกับแผนการเพิ่มทุนแบงก์ ทำให้หนี้ของกรีซเป็นหนี้ระยะยาวมากขึ้น และขยายกองทุนฟื้นฟูยุโรป
ขณะที่ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกยูโรโซน เช่น จุน อาสึมิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น บอกว่ายุโรปจำเป็นต้องร่วมมือกัน ไม่เช่นนั้นวิกฤตคงไม่มีวันสิ้นสุด อีกทั้งยังกำลังจะส่งผลกระทบต่อพวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่มีการเติบโตเข้มแข็งมาตลอด
ด้าน จิม ฟลาเฮอร์ตี้ รัฐมนตรีคลังแคนาดา ขานรับว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะถดถอยจะเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง หากซัมมิตยุโรปวันอาทิตย์หน้าไม่มีมาตรการรูปธรรมออกมา
ส่วน ทิโมธี ไกธ์เนอร์ ขุนคลังสหรัฐฯ กล่าวว่ารู้สึกมีกำลังใจขึ้นจากความเร็วและทิศทางการเคลื่อนไหวล่าสุดของอียูที่มุ่งสู่ยุทธศาสตร์โดยรวมเพื่อจัดการวิกฤติที่ยืดเยื้อมา 2 ปี ซึ่งรวมถึงการเสริมความเข้มแข็งทางการเงินเพื่อให้มั่นใจว่ารัฐบาลในยุโรปสามารถกู้ยืมได้ในอัตราดอกเบี้ยที่แบกรับได้ การเพิ่มทุนแบงก์ การเพิ่มการสนับสนุนโปรแกรมที่ยั่งยืนสำหรับกรีซ และการเดินหน้าสหภาพการคลัง
นอกจากนี้คำแถลงร่วมของที่ประชุมขุนคลังจี20 คราวนี้ ยังเรียกร้องให้ยูโรโซนเพิ่มประสิทธิภาพกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) เพื่อป้องกันวิกฤตลุกลาม โดยที่เจ้าหน้าที่อียูเผยว่า ตัวเลือกที่มีแนวโน้มมากที่สุดคือ การใช้เงิน 440,000 ล้านยูโรในกองทุน รับประกันการขาดทุนบางส่วนแก่ผู้ซื้อพันธบัตรคลังของพวกประเทศที่มีปัญหา การรับประกันดังกล่าวน่าจะช่วยฟื้นเสถียรภาพของตลาดได้
เวลานี้ยูโรโซนกำลังมุ่งกดดันให้พวกธนาคารยุโรปที่ถือครองพันธบัตรคลังของกรีซและของชาติยูโรโซนมีปัญหารายอื่นๆ อยู่ ต้องช่วยแบกรับภาระการช่วยเหลือกอบกู้กรีซเพิ่มมากขึ้น นั่นคือต้องยอมตัดลดยอดผลตอบแทนที่จะได้จากสินทรัพย์มีปัญหาเหล่านี้ลงไปอีก หลังจากที่ได้ตกลงลดให้ 21% ใตเดือนกรกฎาคม โดยในการนี้แบงก์ยุโรปทั้งหลายก็จะต้องดำเนินการเพิ่มทุน เพื่อให้ฐานะของพวกเขายังมีความมั่นคงหลังจากรับภาระนี้
แต่นักวิเคราะห์มองว่า การบีบภาคธนาคาร ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางสำคัญในการสนับสนุนการลงทุนทางธุรกิจในยุโรป อาจจะกระทบกระเทือนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรปที่กำลังติดขัดอึดอัดอยู่แล้ว นอกจากนั้นหลายฝ่ายยังมองว่า การลดหนี้ให้แก่กรีซยังคงน้อยเกินกว่าที่จะทำให้เอเธนส์สามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้อยู่ดี
ขณะเดียวกัน ก็มีสัญญาณชัดเจนมากขึ้นว่า พวกแบงก์เจ้าหนี้ของกรีซจะขัดขืนความพยายามในการบีบให้พวกเขาต้องแบกรับภาระลดหนี้ลงไปอีก โดยตัวแทนคณะเจรจาของผู้ถือพันธบัตรจากภาคเอกชนกล่าวว่า ไม่มีเหตุผลที่จะบังคับให้ยอมรับการขาดทุน ‘โดยสมัครใจ’ เกิน 21% ที่ตกลงกันไว้ และการทำเช่นนั้นรังแต่จะทำให้นักลงทุนเทขายพันธบัตรยูโรโซน สร้างความปั่นป่วนให้แก่ระบบการเงินและการธนาคารทั่วภูมิภาค
นอกเหนือจากประเด็นวิกฤตยูโรโซนแล้ว จี20 ยังรับปากว่าจะทำให้แบงก์มีระดับเงินทุนเหมาะสมและมีช่องทางเข้าถึงเงินทุนอย่างเพียงพอ รวมทั้งระบุว่าธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จะยังคงส่งเสริมสภาพคล่องของแบงก์ตามที่จำเป็น
ทว่า ในส่วนความพยายามของบางประเทศที่เสนอให้เพิ่มเงินทุนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อต่อสู้กับวิกฤตนั้น ปรากฏกลับถูกขัดขวางจากสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆโดยที่ขุนคลังไกธ์เนอร์ของสหรัฐฯอ้างว่า ไอเอ็มเอฟมีเงินทุนถึงเกือบ 400,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่ามากเกินพอแล้ว
ในประเด็นเงินหยวนนั้น ยังคงมีความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับจีนเช่นเดิม โดยไกธ์เนอร์บอกว่า ปักกิ่งควรปล่อยให้หยวนแข็งค่าเร็วขึ้นเพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
แต่แหล่งข่าววงในระบุว่า ทางฝ่ายจีนพยายามกดดันไม่ให้คำแถลงร่วมของจี20 ใช้ถ้อยคำที่เกินเลยไปกว่าการประชุมหนก่อนที่วอชิงตัน ซึ่งระบุเพียงแค่มีความจำเป็นที่อัตราแลกเปลี่ยนของพวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ควรยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ซึ่งที่สุดแล้วได้ข้อสรุปออกมาเป็นคำแถลงคราวนี้ว่า เหล่ารัฐมนตรีห็นพ้องว่าประเทศก้าวหน้าควรลดยอดขาดดุล ขณะที่เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ควรสานต่อการผลักดันให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการบริโภคภายใน
ประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โกซีจากฝรั่งเศสนั้น ต้องการเห็นความคืบหน้าในเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น เช่น การกำหนดมาตรวัดความไม่สมดุลของโลก และการควบคุมการไหลของเงินทุน ในการประชุมระดับสุดยอดวันที่ 3-4 เดือนหน้าที่เมืองคานส์ ก่อนที่ฝรั่งเศสจะส่งต่อตำแหน่งประธานจี20 ให้แก่เม็กซิโก ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น