xs
xsm
sm
md
lg

ไอเอ็มเอฟลดอัตราโตศก.เอเชีย ชี้วิกฤตยูโรโซนความเสี่ยงสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – ไอเอ็มเอฟปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชีย เตือนเผชิญความเสี่ยงจากผลพวงวิกฤตหนี้ยูโรโซนและการชะลอตัวในอเมริกา
ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่จัดทำขึ้นปีละ 2 ครั้ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่าความเสี่ยงของภูมิภาคนี้อยู่ในช่วงขาลงโดยสิ้นเชิง
ไอเอ็มเอฟคาดว่า เอเชียโดยเฉลี่ยมีอัตราเติบโต 6.3% ในปีนี้ และ 6.7% ในปี 2012 ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ในรายงานเดือนเมษายนที่อยู่ที่ 6.8% และ 6.9% ตามลำดับ
รายงานเตือนว่า การลุกลามของวิกฤตยูโรโซนอาจมีผลอย่างชัดเจนต่อเศรษฐกิจมหภาคและการเงินของเอเชีย ซึ่งไม่ได้ตัดขาดจากเศรษฐกิจของพวกชาติก้าวหน้า และเอเชียควรพัฒนา “หัวรถจักร” ที่จะส่งเสริมการเติบโตภายในประเทศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
“การแตกตื่นเทขายในตลาดการเงินทั่วเอเชีย และการหลั่งไหลเข้าซื้อเงินเยนญี่ปุ่นเกิดขึ้นเมื่อปัญหาของยุโรปลุกลามในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2011 สะท้อนว่าเมื่อตลาดก้าวหน้าตกอยู่ภายใต้กดดัน ที่อื่นๆ ก็ไม่มีแหล่งหลบซ่อน”
รายงานเสริมว่า นับจากปี 2009 นักลงทุนจากประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าได้เข้ามายึดหัวหาดในตลาดเอเชีย ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซียและตลาดพันธบัตรคลังอื่นๆ ในภูมิภาค และการถอนตัวออกไปอย่างปุบปับอาจนำมาซึ่งการขาดความเชื่อมั่น และปัญหาอาจลามจากตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไปสู่ตลาดเงินและตลาดอื่นๆ
ทั้งนี้ในขณะที่รายงานฉบับนี้เผยแพร่ออกมาในวันพฤหัสฯ (13) นั้น จีนได้แถลงในวันเดียวกันว่ายอดเกินดุลการค้าเดือนกันยายนหดแคบลง เนื่องจากการส่งออกทรุดดิ่ง และเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และยุโรป
รายงานของไอเอ็มเอฟได้ลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจจีนลงเล็กน้อยจากตัวเลขเดิม 9.6% อยู่ที่ 9.5% สำหรับปีนี้ และจาก 9.5% เหลือ 9% ในปีหน้า
อนูป ซิงห์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย-แปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ เตือนว่าจีนอาจเผชิญความเสี่ยงจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ร้อนแรงเกินไป หากปักกิ่งล้มเหลวในการขยายตัวเลือกสำหรับการออมของภาคครัวเรือน
“การปฏิรูปภาคการเงินสำคัญมาก เช่นเดียวกับนโยบายอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าความเสี่ยงเหล่านี้จะไม่กลายเป็นความจริง"
อย่างไรก็ตาม ซิงห์สำทับว่าระดับความรุนแรงที่จะเกิดกับตลาดเอเชียจะน้อยกว่าในปี 2008 มาก เมื่อเทียบในแง่เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นเม็ดเงินทุนที่ไหลออกไปในที่สุดแล้วยังจะย้อนกลับมา
รายงานไอเอ็มเอฟเสริมว่า ผู้วางนโยบายในเอเชียมาถึงทางแพร่งที่ต้องเลือกระหว่าง การป้องกันความเสี่ยงที่มีต่อการเติบโต กับการจำกัดผลจากนโยบายผ่อนคลายการเงินที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อ
ไอเอ็มเอฟตั้งข้อสังเกตว่า ความกดดันด้านเงินเฟ้อสูงขึ้นในหลายชาติเอเชีย เนื่องจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย แต่ความกดดันดังกล่าวอาจบรรเทาลงเพราะราคาอาหารและพลังงานกำลังค่อยๆ ลดลง
แม้การเติบโตในเอเชียชะลอลงนับจากไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งสะท้อนความต้องการภายนอกที่อ่อนแอลงเป็นหลัก แต่ไอเอ็มเอฟคาดว่า ดีมานด์ภายในจะยังคงยืดหยุ่นและประคองกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาคได้
ไอเอ็มเอฟแจงว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ทำให้เกิดต้นทุนทางสังคมและมนุษยธรรมมากมายมหาศาล และยังขัดขวางการฟื้นตัวของญี่ปุ่น
กระนั้น อุปสงค์เริ่มกระเตื้องขึ้นจากความพยายามในการฟื้นฟูประเทศ ซึ่งอาจทำให้ญี่ปุ่นบรรลุเป้าหมายการเติบโตในปีหน้าที่ไอเอ็มเอฟมองไว้ที่ 2.3% แม้ในช่วงที่ผ่านมามีความกังวลกันเกี่ยวกับผลจากการแข็งค่าของเงินเยนที่มีต่อการฟื้นตัวก็ตาม
ไอเอ็มเอฟยังเรียกร้องให้ญี่ปุ่นพยายามมากขึ้นในการลดหนี้สาธารณะที่สูงกว่า 200% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ผ่านการจำกัดการเพิ่มการใช้จ่ายและมาตรการภาษีที่ครอบคลุม
ในส่วนอินเดียนั้น คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 7.8% ในปีนี้ ต่ำกว่าตัวเลขเดิมที่ 8.2% และ 7.5% สำหรับปีหน้า จากที่เคยคาดไว้ 7.8%
กำลังโหลดความคิดเห็น