xs
xsm
sm
md
lg

ผลประโยชน์ทับซ้อน-พลังงานในอ่าวไทย

เผยแพร่:   โดย: พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมย์


จากบทความ MOU 2544 ล็อกสเปก...ทำให้ไทยเสียเปรียบจริงหรือ?? ทำให้ได้คำตอบในระดับหนึ่งว่า ไทยเสียเปรียบให้กับกัมพูชาทั้งในการเจรจาต่อรองเรื่องเขตแดนทางทะเลและเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในทะเล และความเสียเปรียบนั้นย่อมหมายความถึง ประเทศไทยและประชาชนคนไทยสูญเสียผลประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติในทะเลในส่วนทึ่งมีพึงได้....แล้วใครเป็นฝ่ายได้ผลประโยชน์บนความสูญเสียของประเทศและประชาชนคนไทย?

คำถามนี้ต้องพิจารณาหาคำตอบผ่านเรื่องต่างๆ เหล่านี้

กระบวนการแก้ปัญหาเขตไหล่ทวีปทับซ้อนทั้งกรณีไทย-มาเลเซีย และไทย-เวียดนามใช้ตัวแบบนำปัญหาความขัดแย้งไปวางบนโต๊ะเจรจา เมื่อตกลงอันเป็นที่สิ้นสุดแล้วจึงทำ MOU ไว้เป็นหลักฐาน ทำให้คณะกรรมการผู้แทนการเจรจามีอิสระในการเจรจาแก้ปัญหา ที่อาจได้คำตอบได้เส้นเขตไหล่ทวีปหรือได้ JDA หรือได้ทั้งเส้นเขตไหล่ทวีปและJDA

กระบวนการแก้ปัญหาไทย-กัมพูชาก่อนปี พ.ศ. 2544 ทั้ง 2 ฝ่ายนำปัญหาความขัดแย้งไปวางบนโต๊ะเจรจาเช่นเดียวกัน (มีการเจรจากัน 3 ครั้ง คือ ครั้งแรก 2-5ธันวาคม 2535, ครั้งที่ 2 วันที่ 14 มีนาคม 2535 และครั้งที่ 3 วันที่ 27-28 เมษายน 2538)โดยฝ่ายไทยแสดงท่าทีชัดเจนให้กัมพูชาปรับเส้นเขตไหล่ทวีปให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้วจึงมาพิจารณาเรื่องพื้นที่พัฒนาร่วมสอดคล้องกับหลักการที่เจรจากับมาเลเซีย แต่ฝ่ายกัมพูชายืนยันว่าให้แสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อนทั้งหมดและอ้างว่าไม่มีกฎหมายข้อใดระบุว่าการทำ JDA ต้องแก้ไขเส้นเขตแดนก่อน

กระบวนการแก้ปัญหาไทย-กัมพูชาในปัจจุบันนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา การแก้ปัญหายังคงค้างไว้ยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่อมาในปี พ.ศ. 2544 อำนาจรัฐเปลี่ยนมือมีการเปลี่ยนกระบวนการแก้ปัญหาใหม่ โดยนักการเมืองที่ครองอำนาจรัฐเป็นรัฐบาลในปี พ.ศ. 2544 เป็นผู้สร้าง MOU 2544 ไปวางบนโต๊ะเจรจา=ผูกมัดให้การเจรจาแก้ปัญหาเป็นไปตามสเปกที่กำหนดไว้ใน MOU 2544 คำถามที่ตามมาคือผู้มีอำนาจในสมัยนั้นมีเหตุผลอะไร? ถึงเปลี่ยนแปลงกระบวนการแก้ปัญหาและดำเนินการภายใต้กรอบการเจรจาของ MOU 2544 ที่ฝ่ายไทยจะเป็นฝ่ายสูญเสียผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอันพึงมีพึงได้ เพราะการยอมรับให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนของ JDA ใต้เส้นแลตติจูด11องศาเหนือ โดยไม่มีการเจรจา “ตัวเลขจำนวนพื้นที่ทับซ้อนของ JDA”

จึงเกิดคำถามขึ้นว่า

“มีการซุกตัวเลขผลประโยชน์การเจรจาเรื่องจำนวนพื้นทับซ้อนที่ถูกต้องชอบธรรมไว้ในลิ้นชักของโต๊ะเจรจาระหว่างการเจรจาสร้าง MOU 2544 จริงหรือไม่?” และมีคำถามที่ตามมาคือทำไม? ถึงกล้าซุกตัวเลขนี้? ทั้งๆ ที่ใน MOU 2544 ข้อ 2 (ข) ได้ให้ความหมายไว้ชัดเจนว่ายังมีความขัดแย้งเรื่องแนวเขตไหล่ทวีป-เขตเศรษฐกิจจำเพาะ-ทะเลอาณาเขต (ตามข้อเท็จจริงแล้ว:พื้นที่ทับซ้อนทั้งหมด 26,558 ตร.กม.ยังเป็นความขัดแย้งที่มีผลสืบเนื่องมาจากเส้นเขตไหล่ทวีปเส้นที่ลากมาจากหลักเขตที่ 73 ไปยังเกาะกูดของฝ่ายกัมพูชาที่ไม่อยู่บนพื้นฐานการรองรับของกฎหมายใดๆไม่ใช่มีความขัดแย้งเฉพาะในพื้นที่ด้านเหนือเส้นแลตติจูด11องศาเหนือเท่านั้น)

การหาคำตอบว่าทำไม? ถึงกล้าซุก “ตัวเลขจำนวนพื้นที่ทับซ้อน JDA ที่ถูกต้องชอบธรรม” โดยไม่มีการเจรจาและไม่พูดถึงเรื่องนี้ใน MOU 2544 แต่กลับไปกำหนดล็อกสเปกเลยว่าต้องเจรจาด้วย “ตัวเลขแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ JDA” เท่านั้น

ประเด็นดังกล่าวข้างต้นต้องหาคำตอบจากพฤติกรรมของผู้มีอำนาจโดยทบทวนเหตุการณ์การแก้ปัญหาเขตไหล่ทวีปทับซ้อนระหว่างไทย-มาเลเซียเป็นตัวอย่างนำไปเปรียบเทียบกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับการเจรจาการแก้ปัญหาไทย-กัมพูชาที่ผ่านมา น่าจะเป็นคำตอบเรื่องนี้ได้

ก. การเจรจาของผู้แทนการเจรจาไทย-มาเลเซีย หยุดชะงักไม่สามารถตกลงกันได้เนื่องจากต่างอ้างอิงบนพื้นฐานของกฎหมายโดยฝ่ายไทยอ้างว่าเส้นเขตไหล่ทวีปเป็นไปตามแนว A-G-F-E-D และฝ่ายมาเลเซียอ้างตามแนว A-B-C-D ซึ่งระดับเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจะเจรจาตกลงกันได้

ดาโต๊ะ ฮุสเซน ออนน์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ปรารถนาที่จะปรึกษาหารือกับพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีไทยในสมัยนั้นในประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้ในระดับผู้แทนการเจรจาโดยส่ง ตันศรี กาซาลี ซาฟี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาพบนายกรัฐมนตรีไทยที่กรุงเทพฯ เมื่อ 9 ธ.ค. 2521

ในการเตรียมการประชุมครั้งนั้น กรมสนธิสัญญาและกฎหมายที่มีนายสมปอง สุจริตกุล เป็นอธิบดีได้มีหนังสือลงวันที่ 27 ธันวาคม 2521 เสนอผ่านไปยังคณะรัฐมนตรีว่า หลักการการแก้ปัญหาการแบ่งเขตไหล่ทวีปไทย-มาเลเซียควรจะพยายามหาทาง “ลากเส้นแบ่งไหล่ทวีป” หากไม่สามารถตกลงกันได้ จึงจะตกลงให้มี “การแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน” ในบริเวณที่ไม่อาจตกลงกันได้ แต่ทั้งนี้จะต้อง “ปรับบริเวณที่ตกลงกันไม่ได้ให้เหลือบริเวณน้อยที่สุด” เท่าที่จะทำได้

เรื่องนี้ปรากฏว่าพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มีหนังสือไปขอบคุณในความหวังดีของดาโต๊ะ ฮุสเซน ออนน์และนัดหมายพบปะประชุมกันที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2522 และในการเจรจาครั้งนั้นฝ่ายไทยได้ดำเนินการไปตามหลักการที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมายเสนอแนะ จึงเป็นที่มาของบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-มาเลเซียลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2522 (MOU 21 ก.พ. 2522) ที่ตกลงให้แสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันในจำนวนพื้นที่ JDA ที่ผ่านการยอมรับร่วมกันโดยไม่มีเงื่อนไขความขัดแย้งใดๆ หลงเหลือ และจัดตั้งองค์กรร่วมบริหารจัดการแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติกันคนละครึ่ง

กรณีของพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สังคมไม่ติดใจสงสัยพฤติกรรมความไม่โปร่งใสของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เพราะท่านยึดมั่นในหลักการเจรจาและท่านไม่เคยพัวพันโยงใยกับธุรกิจการค้าน้ำมันและพลังงานอื่นใด อีกทั้งในยุคนั้นพฤติกรรมที่เรียกว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ยังไม่เกิดขึ้นในการบริหารราชการบ้านเมืองของเรา ดังนั้นการเจรจาแบบไม่เป็นทางการระหว่างพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีไทย กับ ดาโต๊ะ ฮุสเซน ออนน์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จึงไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยทิ้งค้างให้สังคมติฉินนินทา..!!!!!

ข้อเท็จจริงจากตัวอย่างการแก้ปัญหาเขตไหล่ทวีปทับซ้อนไทย-มาเลเซียที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้เพื่อตอกย้ำความจริงว่าการเจรจาเรื่องผลประโยชน์สำคัญๆ อย่างนี้จะมีผู้มีอำนาจสูงสุดเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอและมีการเจรจาทั้งแบบเป็นทางการ (บนโต๊ะเจรจา) และแบบไม่เป็นทางการ (ใต้โต๊ะเจรจา) และหากผู้มีอำนาจยึดมั่นในหลักการที่ชัดเจนแล้วผลประโยชน์จะตกเป็นของของชาติและของประชาชน

ข. กรณีการเจรจาการแก้ปัญหาไทย-กัมพูชาที่ผ่านมา

1. การเปลี่ยนกระบวนการแก้ปัญหาโดยนักการเมืองที่ครองอำนาจเป็นรัฐบาลในปี พ.ศ. 2544 ด้วยการสร้าง MOU 2544 ไปวางบนโต๊ะเจรจา=ผูกมัดให้การเจรจาแก้ปัญหาเป็นไปตามสเปกที่กำหนดไว้ใน MOU 2544 ทำให้คณะกรรมการผู้แทนการเจรจาไม่มีอิสระในการเจรจาแก้ปัญหา

.......การเปลี่ยนกระบวนการแก้ปัญหาเช่นนี้เป็นพฤติกรรมหนึ่งที่เป็นประเด็นสงสัยว่า ทำไม? ถึงทำเช่นนี้?........

2.สาระสำคัญของ MOU 2544

1) การยอมรับให้เส้นที่ลากจากหลักเขตที่ 73 ไปยังเกาะกูดซึ่งไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายใดๆ รองรับให้ขึ้นไปอยู่บนโต๊ะเจรจา=เปิดโอกาสให้กัมพูชานำเงื่อนไขที่เป็นลายลักษณ์อักษรนี้ไปสร้างเป็นอำนาจต่อรองเรื่องเขตแดนทางทะเลในพื้นที่เหนือเส้นแลตติจูด 11 องศาเหนือและการต่อรองการแบ่งปันผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในทะเลในพื้นที่ JDA

2) จำนวนพื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นแลตติจูด 11 องศาเหนือที่เกินจริงแต่ MOU 2544กำหนดว่า ไม่ต้องเจรจาแก้ไขและให้ทำ JDA แบ่งปันผลประโยชน์กันเลย=ยอมรับให้กัมพูชาได้รับส่วนแบ่งไปเกินความจริงตั้งแต่ก่อนการเจรจาตัวเลขแบ่งปันผลประโยชน์

3) การยอมรับพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนเกินจริงนี้อาจจะก่อให้เกิดปัญหาพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะทับซ้อนเกินจริงในอนาคตและจะเป็นปัญหากับการทำประมงของไทยที่ฝ่ายกัมพูชาสามารถเรียกร้องขอส่วนแบ่งจากกิจการประมงของไทยได้

...........ทำไม? ท่านถึงยอมให้มีสาระสำคัญใน MOU 2544 ที่เสียเปรียบมากมายขนาดนี้?......

3. ความเร่งรีบในการจัดทำ MOU 2544 และความเร่งรีบที่จะขุดทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ ปรากฏจากหลักฐานดังนี้

1) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ารับหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 และจัดประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการที่เสียมราฐ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2544 และตกลงทำ MOU 2544 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 นับเวลาแล้ว MOU 2544 ฉบับนี้ใช้เวลาพิจารณาเพียง 2 เดือน (21 เม.ย. 2544-18 มิ.ย. 2544) เท่านั้น

เรื่องผลประโยชน์ของชาติสำคัญๆ อย่างนี้ทำไม? ท่านใช้เวลาที่รวบรัดเร่งด่วนสร้างข้อผูกมัดการแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติในทะเลที่มีมูลค่าจำนวนมหาศาลแบบง่ายๆ เกินไปอย่างนี้??

2) ข้อความหนึ่งใน MOU 2544 ....พิจารณาว่าเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศทั้งสองที่จะตกลงกันบนพื้นฐานที่ยอมรับได้ร่วมกันโดยเร็ว สำหรับการแสวงหาทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ ตอกย้ำขอให้โดยเร็วมากเหลือเกิน..ครับท่าน.......

3) การทำ “คำแถลงการณ์ร่วม” (Joint Communique) ลงนามโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย กับ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 (ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับการลงนาม MOU 2544 ของนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศใน) คำแถลงการณ์ร่วมนี้มีการตอกย้ำรับรองการทำ MOU 2544 ว่าชอบแล้ว

.......พฤติกรรม 1. ความเร่งรีบในการจัดทำ MOU 2544 และในสาระสำคัญว่าต้อง 2. เร่งรีบให้ปฏิบัติตาม MOU2544 และการตอกย้ำ 3. เร่งรีบลงนามแถลงการณ์ร่วม 2544 (Joint Communique) ด้วยตนเองของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีไทย กับฮุนเซนในวันเดียวกับการลงนาม MOU 2544 เพื่อสำทับให้ 4. เร่งรีบที่จะขุดทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้

........พฤติกรรมเหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องสงสัยว่า ทำไม? ท่านถึงต้องเร่งรีบมากมายขนาดนี้?...เป็นพฤติกรรมที่ผิดสังเกต.....

ท่านลืมข้อเท็จจริงที่ว่า “ทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่อย่างจำกัดและมีวันที่หมดสิ้นไป” ท่านไม่คิดที่จะสงวนมันไว้ให้ถึงที่สุดบ้างเลยหรือ?.................

4. อำนาจของรัฐบาลไทยรักไทยในการบริหารขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทยหยุดชะงักลง เพราะเกิดการปฏิรูปในเดือนกันยายน 2549 และปัจจุบันกลุ่มอำนาจนี้กลับมามีอำนาจรัฐอย่างเต็มตัวอีกครั้งในนาม พรรคเพื่อไทยที่มีคุณยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้กรอบความคิด “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” สถานการณ์ความเร่งรีบในการนำน้ำมันและแก๊สในพื้นทับซ้อนไทย-กัมพูชาได้เริ่มต้นขึ้นทันที ด้วยความเร่งรีบในการแสดงท่าทีของรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์และคุณสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.กระทรวงการต่างประเทศที่เตรียมชงเรื่องนี้เข้า ครม.ในวันที่ 18 ตุลาคม 2554โดยยึดกลไก MOU 2544 เพื่อยกร่างความตกลงเกี่ยวกับการสำรวจขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ..........ความเร่งรีบในการจัดทำ MOU 2544 และการตอกย้ำรับรองว่าต้องเร่งรีบให้ปฏิบัติตาม MOU 2544 โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่ค้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เพราะหมดอำนาจเสียก่อนและกลับมาเริ่มต้นใหม่ทันทีที่เป็นรัฐบาล...อย่างนี้จะให้สังคมคนไทยไม่คิดคลางแคลงใจได้อย่างไร?..........

จากเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น เราสามารถนำมาหาคำตอบได้แล้วว่าการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในทะเลตามกรอบของ MOU 2544 ที่จะเดินหน้าต่อไปมีเกณฑ์ความเสี่ยงที่สูงมากที่ประเทศชาติและประชาชนจะถูกเอารัดเอาเปรียบ ในรูปแบบผลประโยชน์ทับซ้อน จากผู้มีอำนาจ..ที่ค่อนข้างชัดเจนแต่จะจับให้มั่นคั้นให้ตายนั้น!!! สังคมต้องช่วยกันเฝ้าติดตามต่อไป!!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น