xs
xsm
sm
md
lg

REICชี้ดัชนีก่อสร้างขยับขึ้น4.6% ผวาปรับค่าแรงดันที่อยู่อาศัยปีหน้าพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ แจงดัชนีกลางค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานปรับตัวขึ้น4.6% ในรอบ1ปี หลังราคาวัสดุก่อสร้างรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เชื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำปี2555ดันดัชนีค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานพุ่ง เหตุค่าแรงงานมีน้ำหนักต่อค่าดัชนีกว่า 30% ด้านผู้ประกอบการเชื่อทิศทางตลาดยังดี หลังดัชนี้ขยับสูงขึ้นเป็น56.2 สูงกว่าเพิ่มจากไตรมมาส2ซึ่งค่าดัชนี้อยู่ที่54.3ระบุอสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์ยังมองตลาดดี แจงความคาดหวังตลาดใน6เดือนข้างหน้ายังปรับตัวเพิ่มขึ้น

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC กล่าวว่า ได้ร่วมกับสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านจัดทำรายงาน “ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน” ในเขตกรุงเทพฯ ประจำไตรมาส 3 ปี 2554 โดยจัดทำดัชนีจากข้อมูลย้อนหลังถึงปี 2543 และใช้ข้อมูลปี 2548 เป็นปีฐานดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานสำหรับไตรมาส 3 ปี 2554 มีค่าเท่ากับ 117.0 ปรับขึ้น1.4% เมื่อเทียบกับค่าดัชนี 115.4% ในไตรมาส 2 ปี 2554 และปรับขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับค่าดัชนี 111.8% ไตรมาส 3 ปี 2553

โดยดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานในรอบหนึ่งปีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.6% เนื่องจากราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดวัสดุฉาบผิว หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และหมวดสุขภัณฑ์ ปรับเพิ่มขึ้นมาก ในอัตรา13%, 9.5% และ 8.8% ตามลำดับในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ส่วนหมวดเหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็กปรับขึ้นเพียง 2.4% ในรอบ 1 ปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาวัสดุฉาบผิว ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาส3 แต่ราคาอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาเริ่มปรับลดลง ทำให้ภาพรวมดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานปรับสูงมากนัก

สำหรับค่าจ้างแรงงานซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 30% ของการคำนวณดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานนั้น ในช่วงที่ผ่านมาไม่มีการปรับขึ้น แต่หากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในต้นปีหน้า 2555 จะส่งผลกระทบ ทำให้ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานในอนาคตปรับเพิ่มขึ้นได้

นายสัมมา กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ประจำไตรมาส 3 ปี 2554ว่า จากการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการอสังหาฯจำนวน 166 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 30 บริษัท และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ 136 บริษัท เพื่อในการคำนวณดัชนีรวมจะให้น้ำหนักบริษัทจดทะเบียนและบริษัทไม่จดทะเบียน 50:50 เท่ากัน

ทั้งนี้ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ประจำไตรมาส 3 ปี 2554 พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันมีค่าเท่ากับ 56.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่2 ซึ่งดัชนีมีค่าเท่ากับ 54.3 และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 2/2553) ซึ่งดัชนีมีค่าเท่ากับ 52.8 สะท้อนให้เห็นว่าในไตรมาสที่3ของปีนี้ผู้ประกอบการยังมองว่าทิศทางปรับตัวดีขึ้น

โดยเมื่อแยกพิจารณาตามประเภทผู้ประกอบการ จะพบว่า ผู้ประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีค่าความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันเท่ากับ 61.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งมีค่าดัชนี 57.8 ขณะที่ผู้ประกอบการนอกตลาดหลักทรัพย์ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันเท่ากับ 50.8 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว ที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 50.9

สำหรับดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้าประจำไตรมาส 3/2554 มีค่าเท่ากับ 68.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งมีค่าเท่ากับ 68.1 ขณะที่ไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ดัชนีมีค่าเท่ากับ 65.6 โดยในส่วนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีค่าดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้า เท่ากับ 71.2 ปรับลดลงจากไตรมาสที่แล้วซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 73.3ส่วนบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีค่าดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้า เท่ากับ 66.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 63.0

สะท้อนให้เห็นว่า ค่าดัชนีความคาดหวังใน 6 เดือนข้างหน้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยผู้ประกอบการคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มรายได้ข้าราชการในช่วงต้นปีหน้า และราคาวัสดุก่อสร้างน่าจะทรงตัวอยู่ได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่คาดหวังว่าจะมีผลประกอบการและยอดขายที่ดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยมีความคาดหวังน้อยกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น