xs
xsm
sm
md
lg

ธีระชัยเผยรถนำเข้าได้เฮ! ปชป.ขู่บ้านหลังแรกแท้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ปชป.เชื่อโครงการบ้านหลังแรกแท้ง ชี้คนรากหญ้าไม่ได้ประโยชน์ แนะให้ยืมนโยบายปลอดดอกเบี้ย 2 ปีช่วยคนจน ห่วงสถาบันการเงินแบกหลังหักใช้ภาษีชดเชยให้กว่าพันล้าน “ธีระชัย” เผยเปิดทางรถนำเข้าร่วมโครงการรถคันแรก เตรียมยื่น ก.พ. ปรับเงินเดือน ขรก. ทั้งระบบ

วานนี้ (25 ก.ย.) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส. กทม. โฆษกคณะรัฐบาลเงา พรรคประชาธิปัตย์ แถลงย้ำถึงนโยบายบ้านหลังแรกของรัฐบาลว่าไม่ได้ช่วยคนจน พร้อมกับแนะนำให้รัฐบาลกลับไปใช้วิธีการที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยช่วยเหลือพี่น้องคนจนด้วยการออกนโยบายให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็น เป็นเวลา 2 ปีกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ( ธอส.) พร้อมฟรีค่าธรรมเนียมในวงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงเพราะมีประชาชนมาใช้โครงการนี้จำนวนมากจนเต็มวงเงิน โดยรัฐบาลในขณะนั้นได้ตั้งวงเงินชดเชยดอกเบี้ยให้ ธอส. จำนวน 500 ล้านบาท และเท่าที่ได้สอบถามจาก ธอส.พบว่า หากรัฐบาลจะใช้โครงการนี้มีความพร้อมที่จะเดินหน้าต่อด้วยการขยายวงเงินอีก 25,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือคนจนอย่างแท้จริงเพราะผู้ที่จะซื้อบ้านมือสอง หรือ ปลูกบ้านใหม่บนที่ดินของตัวเองก็จะได้รับประโยชน์ด้วย ไม่ใช่ว่าต้องมีเงินเดือนสามหมื่นบาทขึ้นไปจึงจะได้รับประโยชน์ ซึ่งโครงการของรัฐบาลนี้คนรากหญ้าไม่มีใครได้ประโยชน์เลย

“ผมหวังว่า ในการประชุม ครม.สัปดาห์นี้ รัฐบาลจะทบทวนเพราะที่ผ่านมารัฐบาลคำนวณสูตรผิดพลาด เดินหน้าต่อไปโครงการนี้ก็แท้ง ดังนั้นเพื่อให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่เกิดประโยชน์ต่อคนจนอย่างแท้จริงก็ควรเปลี่ยนวิธีการให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยกับประชาชนเหมือนที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เคยทำจะดีกว่า หรือถ้าคิดจะเกทับด้วยการกำหนดให้ปลอดดอกเบี้ย 5 ปีเราก็ไม่ขัดข้องเพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ แต่ก็ต้องดูตามความเป็นจริงด้วยเพราะหากทำเช่นนั้นสถาบันการเงินต้องรับภาระหนัก อีกทั้งรัฐบาลก็ต้องเพิ่มเงินชดเชยโดยใช้งบประมาณแผ่นดินไปจ่ายค่าดอกเบี้ยให้ธนาคารประมาณพันกว่าล้านบาท” นายอรรถวิชช์ กล่าว

**มาร์คปลุกสังคมรวมพลังต้านโกง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวถึงการร่วมเดินรณรงค์ต่อการคอร์รัปชั่นคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นได้มากน้อยแค่ไหนว่า สิ่งสำคัญคือ ภาคเอกชนโดยนายดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานหอการค้าไทยเป็นผู้ริเริ่มเรื่องนี้และได้ทำกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วตอนนี้ถ้าหากสามารถรวมพลังกันได้มากขึ้นและภาคอกชนสอดส่องดูแลกันเองเพราะการทุจริตคอร์รัปชั่นหลายกรณีมีเอกชนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ตรงนี้จะเป็นอีกพลังหนึ่งที่เข้าสมาเสริม แต่ในส่วนของรัฐ องค์กรอิสระ นักการเมืองก็ต้องปรับปรุงตัวเองกันมาก

มื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างไรบ้าง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบนโยบายและการทำงานของรัฐบาลอยู่แล้ว เรายืนยันว่าจะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนจึงอยากให้รัฐบาลยอมรับการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการประชุมของสภาฯ ซึ่งจะมีการตั้งกระทู้ถามในหลายๆเรื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไปจนถึงการที่รัฐบาลจะต้องจริงจังในการเอื้ออำนวยให้องค์กรอิสระได้ทำงานอย่างมีอิสระเต็มที่ในการตรวจสอบรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่านโยบายใดของรัฐบาลที่กังวลว่าจะนำไปสู่การคอร์รัปชั่น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ทุกฝ่ายทั้งที่เคยมีประสบการณ์และเคยติดตามศึกษาเรื่องนี้จะกังวลมากเพราะช่องทางการทุจริตมีมากเกือบทุกขั้นตอนและปริมาณเงินที่เกี่ยวข้องมีจำนวนมหาศาล แต่ก็จะมีนโยบายอื่นๆอีกเช่น นโยบายบ้านหลังแรก เพราะการออกแบบนโยบายมาเอื้อประโยชน์ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการช่วยคนยากจน ส่วนที่กังวลกันว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะไม้ให้ความร่วมมือการตรวจสอบก็ไม่เป็นไรเราสามารถติดตามตรวจสอบได้

“ตัวอย่างเช่น ขณะนี้รัฐบาลจะมีการเปิดโครงการรับจำนำข้าวในวันที่ 7 ต.ค.แต่ขณะนี้ข้าวไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกร เพราะเกษตรกรรีบขายไปเยอะแล้วเนื่องจากนำท่วม คำถามคือ ข้าวที่จะเข้าโครงการจับนำ จะเป็นข้าวของเกษตรกรจริงหรือไม่ รัฐบาลเตรียมมาตรการป้องกันไม่ให้มีการสวมสิทธิ์โดยพ่อค้า โรงสีที่ซื้อข้าวไปแล้วหรือไม่ จะป้องกันคนเอาข้าวจากประเทศเพื่อนมานำเข้ามาจำนำได้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกและขั้นตอนที่ 2 ที่เราห่วงเรื่องการทุจริตคือ เมื่อมีการจำนำหรือรับซื้อข้าวมาเยอะ การดูและรักษาข้าวในโกดังซึ่งมีปัญหามาทุกยุคทุกสมัย และขั้นตอนที่ 3 รัฐบาลซื้อในราคาที่สูงกว่าตลาดสุดท้ายก็ต้องขายขาดทุนซึ่งการขายตรงนี้จะขายราคาอย่างไรที่จะหลีกเลี่ยงการทุจริตได้ ขณะเดียวกันก็ถูกแรงกดดันจากการที่มีข้าวอยู่ในสต็อกเยอะ ซึ่งอาจทำให้ข้าวเสื่อมสภาพและต้องเร่งระบาย จึงทำให้รัฐบาลที่แล้วยกเลิกโครงการรับจำนำเพราะ ไม่ต้องการให้มีช่องว่างเหล่านี้

**'ธีระชัย' ให้รถนำเข้าร่วม "คันแรก"

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เปิดเผยผ่านระบบซิสโก้ เทเลพรีเซนซ์ (Cisco TelePresence) จากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงโครงการรถคันแรกของรัฐบาลว่า กำลังรอข้อมูลจากทางกระทรวงพาณิชย์ในการปรับเปลี่ยน เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถเปิดช่องทางให้รถที่นำเข้าเข้าร่วมโครงการได้ แต่ในส่วนการปรับเพิ่มความจุกระบอกสูบเครื่องยนต์ให้เกิน 1,500 ซีซี นั้น คงจะไม่มีการพิจารณา

**คลังเตรียมยื่น ก.พ. ขึ้นเงินเดือนขรก.

นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง จะเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ โดยจะมีการพิจารณาเพิ่มเติมให้กับผู้ที่มีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปด้วย และการปรับขั้นสูงแต่ไม่เกินร้อยละ 6 ตามกฎหมาย ด้านกลุ่มผู้ที่จบปริญญาตรีที่มีการปรับขึ้นจนถึง 15,000 บาท แล้วนั้น อาจจะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราเงินเดือนขั้นต่ำร้อยละ 1 - 3

อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้จะทำติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 ปี ตามการทยอยปรับฐานเงินเดือนปริญญาตรีบุคลากรภาครัฐทั้งระบบ

**แรงงานช่วยSMEกระทบ300บาท

น.พ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงมาตรการการช่วยเหลือลูกจ้างในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยแบ่งเป็น การยกระดับผลิตภาพด้านเครื่องจักรโดยยกเว้นภาษีเงินจากการขายเครื่องจักรเก่า รวมทั้งตั้งกองทุน Machine Fund มีวงเงิน 10,000 ล้านบาท ยกระดับผลิตภาพด้านแรงงาน โดยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมาจดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อประเมินตนเอง และจัดฝึกอบรมแรงงานตามความต้องการของธุรกิจอย่างเป็นระบบ โดยนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมมาหักภาษีได้ 2 เท่า สนับสนุนทางด้านแหล่งเงินทุน โดยให้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และจะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเงินกู้ให้เอสเอ็มอี วงเงิน 60,000 ล้านบาท และลดภาระต้นทุน โดยลดภาษีนิติบุคคล จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 ในปีหน้า และนำส่วนต่างค่าแรงมาหักภาษีได้ 2 เท่า โดยคาดว่า จะเสนอคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 กันยายน นี้

อย่างไรก็ตามพบว่า ปัจจุบันมีลูกจ้างในสถานประกอบการ ในระบบประกันสังคมที่มีรายได้ไม่ถึงวันละ 300 บาท ทั้งหมด 5.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างของธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 50 คน เป็นจำนวน 1.7 ล้านคน จากธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 300,000 แห่ง ทั่วประเทศ

**รบ.เพื่อไทยเล็งรื้อประชาภิวัฒน์

นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ใหม่ เนื่องจากผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างร้องเรียนว่า การขึ้นทะเบียนมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ทำให้มีนักการเมืองท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) และสมาชิกสภาเขต (สข.) และเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งวินมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาแข่งกับวินเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งทำให้เกิดความซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาข่มขู่ทำร้ายร่างกายผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างด้วย ซึ่งกำลังเร่งเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น การจดทะเบียนว่ามีการซ้ำซ้อนกันหรือไม่ มีการเก็บค่าคุ้มครองเท่าไหร่ ที่ไหนบ้าง ตัวเลขจะรวมถึงราคาเสื้อวินที่แพงมาก โดยข้อมูลทั้งหมดที่ได้จะนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อหาแนวทางแก้ไข

ขณะเดียวกันจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เป็นเจ้าของพื้นที่อนุญาตให้มีวินมอเตอร์ไซค์ได้มากที่สุดมาหารือ และเมื่อได้แนวทางแล้วจะเสนอเรื่องดังกล่าวให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไปดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพลต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาการเรียกเก็บค่าคุ้มครอง ค่าเช่าเสื้อวิน ที่มีราคาแพงเกินจริง

ด้านนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะให้วินมอเตอร์ไซค์เข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านบัตรเครดิตเติมน้ำมันนั้น ขณะนี้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกำลังดำเนินการ และคิดว่าในเร็วๆ นี้คงจะมีความชัดเจน

**ดักคอรัฐรีดภาษีอุ้มค่าแรง 300 บาท

นายเฉลิมชัย ในฐานะอดีตรมว.แรงงาน ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต้นปี 2555 และจะทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดต่างๆ ว่า ที่ผ่านมาคนที่ออกมาพูดเรื่องค่าแรง 300 บาทเป็นการพูดเพื่อเอาใจรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นบริษัท หรือห้างร้านต่างๆ เพราะข้อเท็จจริงในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศไว้ต้องมีการหารือและพิจารณาโดยคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และตัวแทนเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ โดยแต่ละจังหวัดจะมีคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าแรง เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานและค่าครองชีพ ตลอดจนค่าจ้างของแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน

คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาในเบื้องต้นก่อนว่า จังหวัดนั้นๆ มีความจำเป็นต้องขึ้นค่าแรงหรือไม่ จึงเกิดคำถามว่าหากรัฐบาลประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำทันที ประกาศแล้วทำได้หรือไม่ ซึ่งชัดเจนว่าทำไม่ได้แน่นอน เพราะทุกจังหวัดจะปรับให้ค่าแรงเท่ากันนั้น เป็นไปไม่ได้ ยกเว้นแต่รัฐบาลจะมีคำสั่งบี้ลงไปให้เร่งดำเนินการ และต้องอุดหนุนวงเงินงบประมาณลงไปด้วย

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า การออกมาพูดเรื่องนี้ของคนในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ จึงเท่ากับเป็นการประจานตัวเอง ในความล้มเหลวของสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับผู้ใช้แรงงาน ว่า 300 บาท เขายังทำไม่ได้

สำหรับมาตรการทางภาษีที่รัฐบาลออกมาเพื่อจะช่วยเหลือเจ้าของธุรกิจผู้ประกอบการ ในกรณีที่ร่วมมือปรับใช้นโยบายดังกล่าว แม้จะลดภาษีให้เจ้าของธุรกิจผู้ประกอบการก็ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือที่เท่าเทียมอย่างแท้จริง เพราะจะเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่เมื่อเทียบกับเจ้าของธุรกิจขนาดกลางหรือเอสเอ็มอีจะไม่ได้รับอานิสงค์ในเรื่องนี้เลย

“ขอเตือนข้าราชการในกระทรวงแรงงานว่า อย่าเอาใจนักการเมืองอย่างเดียว แล้วมาโยนภาระให้คนไทย 60 ล้านคน ด้วยการรีดภาษีจากคนทั้งประเทศ เพื่อให้รัฐบาลนำเม็ดเงินก้อนนี้ไปอุดหนุน หรือเอื้อประโยชน์ให้บริษัทใหญ่ หากเป็นเช่นนั้นก็แสดงถึงความล้มเหลวในการกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ว่า ไม่มีการศึกษาอย่างรัดกุมรอบคอบ และตอกย้ำในคำพูดที่ว่า ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ สุดท้ายแล้วก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย จะกลายเป็นการแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก” นายเฉลิมชัย กล่าว

ส่วนกรณีที่น.พ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือธุรกิจอิสระ เช่น ร้านขายข้าวแกง หรือร้านขายของข้างทาง ส่วนใหญ่จะให้คนในครอบครัวช่วยกันทำงาน ไม่จำเป็นต้องจ้างลูกจ้างนั้น อดีต รมว.แรงงาน กล่าวว่า อยากถามกลับว่า ท่านเคยลงไปกินข้าวแกงข้างทางหรือไม่ พูดออกมาได้อย่างไร หากสัมผัสกับของจริงก็ต้องรู้ว่าร้านขายข้าวแกงจำเป็นต้องมีคนช่วยอย่างน้อย 1 คน

"ถ้าคนระดับผู้บริหารมีความคิดเช่นนี้ ประเทศก็ไม่รู้จะฝากความหวังไว้กับใคร ไม่ใช่ทำอะไรเอาใจนายเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นการสะท้อนที่คนพูดกันว่า คนจนกินข้าวแกงข้างทาง คนรวยกินข้าวมื้อละ 2 แสนบาท ทั้งนี้ ผมเห็นใจรมว.แรงงานคนปัจจุบัน ที่ถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ทำไม่ได้" นายเฉลิมชัย ระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น