ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - น้ำท่วมปีนี้มีเสียงถามไถ่กันให้ขรมว่าพ่อหน้ามนคนข่าว ที่ชื่อ 'สรยุทธ สุทัศนะจินดา' พิธีกรข่าวชื่อดังแห่งวิก 3 พระราม 4 นั้นหายหน้าหายตาไปไหน เหตุใดจึงไม่มาลุยน้ำแจกถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัย ไม่ออกมาขอรับบริจาคข้าวของเงินทองถี่ยิบเหมือนตอนน้ำท่วมในช่วง 'รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ? จนคนตั้งฉายาให้ว่า “นายกฯ สรยุทธ”
ทั้งที่น้ำท่วมครั้งนี้ดูจะหนักหนาสาหัสกว่าปีที่แล้วมาก มีพื้นที่ประสบภัยถึง 44 จังหวัดทั่วประเทศ นอกจากบ้านช่องและไร่นาจะเสียหายแล้ว ยังเกิดเหตุสลดใจจากดินถล่ม บ้านพัง ผู้คนเสียชีวิตนับสิบราย บ้างก็จมหายไปกับสายน้ำอันเชี่ยวกราก บ้างก็ถูกฝังอยู่ภายใต้ดินโคลนที่ถล่มไหลเลื่อนลงมาจากเทือกเขาในช่วงกลางดึก มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องอพยพมาตั้งเพิงพักอยู่ตามริมถนน ไม่มีไฟฟ้า อาหารและน้ำดื่ม อีกทั้งไม่รู้ชะตากรรมว่าหลังจากน้ำลดแล้วชีวิตพวกเขาจะเป็นอย่างไร เพราะทั้งบ้านเรือนและไร่นานั้นถูกน้ำถล่มจมหายไปหมดแล้ว
แต่ครั้งนี้กลับแทบจะไม่ปรากฏแม้เงาของสรยุทธ ซึ่งเคยออกไปให้ความช่วยเหลือและรับฟังความเดือดร้อนของพี่น้องผู้ประสบภัย จะมีก็แต่ภาพที่เขาและ 'น้องไบรท์' พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ พิธีกรคู่ขวัญ ซึ่งออกไปตั้งโต๊ะอ่านข่าวออกรายการ 'เรื่องเล่าเช้านี้' ในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเท่านั้น จนสร้างความงุนงงสงสัยให้กับประชาชีทั่วทั้งแผ่นดินว่าวันนี้ ซูเปอร์แมนสรยุทธในยุครัฐบาลยิ่งลักาณ์เปลี่ยนไปแล้วหรือ
**กางเกงในสีแดง ของ 'ซูเปอร์แมน'
หลายท่านคงจำกันได้กับน้ำจิตน้ำใจเหลือล้นของคนชื่อ 'สรยุทธ' ที่ถลกขากางเกง ลุยน้ำ ออกไปช่วยเหลือลุงๆ ป้าๆ ที่ติดอยู่บนหลังคาบ้านที่ถูกน้ำท่วม การตอกย้ำถึงความล่าช้าของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งนอกจากจะเป็นแรงกระตุ้นให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐต้องเร่งออกมาตรการและลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนแล้ว ยังทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยระหว่างฝ่ายที่เป็นสื่ออย่างสรยุทธ และฝ่ายรัฐบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง 'นายกฯอภิสิทธิ์'
กระทั่งเกิดวาทะเสียดสีที่คนทั่วไปพากันเรียกพิธีกรข่าวผู้นี้ว่า 'นายกฯสรยุทธ' เพราะมองว่าเขาเป็นแค่นักข่าวแท้ๆ ยังสามารถให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้รวดเร็วทันใจและมีประสิทธิภาพมากกว่าบุคคลระดับนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ 'อภิสิทธิ์' !!
นอกจากนั้นยังมีคนตั้งฉายาให้เขาว่า 'ฮีโร่น้ำท่วม' เพื่อยกย่องผลงานในการช่วยเหลือชาวบ้านของเขา
แต่ดูเหมือนฉายาที่ฮือฮาและได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดน่าจะเป็น 'ซูเปอร์แมนสรยุทธ' เนื่องเพราะสอดคล้องกับลักษณะเด่นของสรยุทธ ที่นอกจากจะเป็นนักข่าวเช่นเดียวกับ 'คลาร์ก เค้นต์' พระเอกในเรื่องซูเปอร์แมนที่มักออกมาปรากฏตัวทุกครั้งที่ชาวเมืองได้รับความเดือดร้อนแล้ว ก็ยังใส่แว่นเหมือนกันอีกด้วย
ทั้งนี้ เสียงชื่นชมที่มีต่อตัวสรยุทธนั้นมิใช่มีแต่เฉพาะชาวบ้านร้านตลาด และผู้คนในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่นักการเมืองจากฟากเพื่อไทยเมื่อครั้งที่เป็นฝ่ายค้านก็ยังทำเนียนอาศัยจังหวะนี้ 'ตีวัวกระทบคราด' โดยนอกจากจะกล่าวยกย่องการช่วยเหลือประชาชนของสรยุทธแล้วยังตำหนิติติงการทำงานของนายอภิสิทธิ์ว่าล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ
'บิ๊กจิ๋ว' พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ได้เปรียบเทียบการทำหน้าที่ของสรยุทธและนายอภิสิทธิ์ ซึ่งมีฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ว่า “ เรื่องการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองอย่างเรื่องน้ำท่วม แม้ว่านายอภิสิทธิ์จะได้รับคำชื่นชมจากคนกลุ่มหนึ่ง แต่คนกลุ่มหนึ่งก็ยังมองว่าสู้นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ไม่ได้ เวลาไปหาเสียงก็บอกว่า 99 วันทำได้ทันที ให้เป็น 999 วันก็ทำไม่ได้ ที่ผ่านมาก็ได้แต่ตั้งคณะกรรมการมาเท่านั้น อย่างที่ตั้งมา 4 คณะ ให้ทำงาน 3 ปี ใช้งบปีละ 200 ล้านบาท รวม 3 ปีใช้เงิน 600 ล้านบาท หวังจะแก้ปัญหา ”
อย่างไรก็ดี สื่อบางฉบับกลับมองปรากฏการณ์ซูเปอร์แมนของสรยุทธว่าเป็นผลพวงจากการใช้ช่องทางความเป็นสื่อกระแสหลักของสถานีโทรทัศน์ เพราะแม้นายกฯอภิสิทธิ์จะลงพื้นที่ไปช่วยชาวบ้านด้วยความกระตือรือล้นเพียงใดก็ไม่สามารถสู้กับกระแสสื่อของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่นำภาพข่าวของพิธีกรคนดังจากสถานีตนเองมาออกอากาศอยู่ตลอดเวลาได้
“จากแดนอีสาน สู่ภาคกลาง และภาคใต้ที่หาดใหญ่ สรยุทธในฐานะสื่อมวลชน เป็นทุกข์เป็นร้อนกับความเดือดร้อนของประชาชนที่หมดเนื้อหมดตัว เพราะน้ำท่วม ทุกแห่งที่เกิดวิกฤตเปิดทีวีดูก็เห็น สรยุทธ ลุยน้ำอยู่ตรงนั้น เขาเดินลุยน้ำไปช่วยชาวบ้าน เขาไม่ได้นั่งเรือตัวแห้ง แล้วให้บรรดาข้าราชการจูงเรือ มันไม่เข้าท่าเอาเลย ในห้วงวิกฤต ที่หาดใหญ่ คนไทยทั้งประเทศเห็น สรยุทธ์ ก่อน นายกฯ เพื่อนที่หาดใหญ่บอกว่า นายกฯ หาย(หัว)ไปไหน !!! แต่จริง ๆ ท่านนายกฯ บินด่วนไปหาดใหญ่ แต่คนเห็น สรยุทธ เต็มตากว่า ” ส่วนหนึ่งจากบทความของ 'ขุนสำราญ' ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
นอกจากนั้นยังมีคนตั้งข้อสังเกตว่าการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแบบกระหน่ำซัมเมอร์เซลของสรยุทธและการโหมประโคมข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3นั้น มีนัยที่น่าสงสัยอยู่ไม่น้อย เนื่องเพราะต้องไม่ลืมว่าหนึ่งในหุ้นส่วนซึ่งเป็นเจ้าของสถานีอย่าง 'ประชา มาลีนนท์' นั้นมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ตัวสรยุทธเองก็มีเรื่องเมาท์กันสนั่นวงการสื่อว่าได้รับประโยชน์จากนักการเมืองในระบอบทักษิณมาไม่น้อย โดยเฉพาะช่วงที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 และดึงเอาสรยุทธมาจัดรายการ 'ถึงลูกถึงคน' และ 'คุยคุ้ยข่าว' ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทไร่ส้มของสรยุทธมีรายได้จากการขายโฆษณาแฝงในรายการคุยคุ้ยข่าวกว่า 100 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนให้ทางสถานี โดยที่ผู้บริหารช่อง 9 ก็ไม่ได้ติตตามทวงถามแต่อย่างใด จนกระทั่งทางสหภาพพนักงาน อสมท.ออกมากดดัน สรยุทธจึงยอมจ่ายเงินคืนให้ อสทม. จำนวน 70 ล้านบาท
ดังนั้น จึงมีเสียงวิจารณ์ว่าการออกโรงช่วยเหลือผู้ประสบภัยของสรยุทธเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมานั้นน่าจะเป็นการรับงานมาเพื่อ 'ดิสเครดิต' รัฐบาลอภิสิทธิ์ อีกทั้งหากจับตาการทำหน้าที่สื่อของสรยุทธในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า 'ซูเปอร์แมน' ที่ชื่อสรยุทธคนนี้ไม่เคยปกปิดว่าเขาสวมกางเกงใน 'สีแดง'
และการที่สรยุทธไม่ออกมาช่วยเหลือประชาชนในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ก็หาได้มีเหตุผลอื่น นอกจากเกรงว่าจะเป็นการ 'แย่งซีน' นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหมือนที่เกิดกับนายอภิสิทธิ์นั่นเอง !!
**จากนักข่าว สู่เจ้าของธุรกิจร้อยล้าน ก่อน ป.ป.ช.สั่งฟันฐานเบี้ยวค่าโฆษณา
ทั้งนี้หากย้อนไปดูการเติบโตในแวดวงธุรกิจสื่อของ "สรยุทธ" ก็จะเห็นว่าที่ผ่านมาเขาเติบโตแบบก้าวกระโดด เกินกว่าที่ใครจะคาดเดาถึงที่มาที่ไป จากนักข่าวโนเนม เขาผันตัวเองมาเป็นเจ้าของ บริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด เมื่อปี 2546 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีลูกจ้างเพียงไม่กี่คน ต่อในปี 2547 จึงตั้ง บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท เช่นกัน ทว่า เพียงไม่กี่ปีสรยุทธสามารถบริหารงานให้ทั้งสองบริษัทนี้มีรายหลายร้อยล้านบาท โดย บริษัทชัดถ้อยชัดคำ มีรายได้รวมในช่วงปี 2548-2550 จำนวน 149 ล้านบาท ขณะที่บริษัทไร่ส้ม มีรายได้รวมในช่วงปี 2548-2550 ถึง 579 ล้านบาท และช่วงที่ผ่านมาบริษัทของเขาก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีลูกค้ารายใหญ่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ เดิมลูกค้าหลักในธุรกิจของ"สรยุทธ"มี 2 หน่วยงาน คือ ธนาคารออมสิน สังกัดกระทรวงการคลัง และ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการส่งออก ทำสัญญาโฆษณาโครงการ Thailand ExportHighlights เมื่อเดือน ก.ย. -ต.ค.2548 รวม 7 ล้านบาท แต่เมื่อปี 2553 มีลูกค้ารายใหม่เพิ่มอีก 1 แห่ง คือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ซึ่งสัญญาทำขึ้นเมื่อ 3 มี.ค. 2553 จ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์ ปตท.ทางโทรทัศน์ วงเงิน 11.7 ล้านบาท
แต่การหยิบชิ้นปลามันก็อาจจะมีก้างขวางคอ เพราะล่าสุดเว็บไซต์ประสงค์ด็อทคอม ของนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนและประชาชาติธุรกิจ ได้เปิดเผยรายงานในหัวข้อ “สอบนาน 4 ปี อนุ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาคดี “ไร่ส้ม-สรยุทธ์” เงินโฆษณา อสมท. 138 ล้าน” ระบุว่า หลังจากที่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ สน.ห้วยขวางเมื่อปลายปี 2550 ให้ดำเนินคดีพนักงาน อสมท 2 คนในข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และบริษัท ไร่ส้ม จำกัดและกรรมการบริษัทไร่ส้ม รวมทั้ง นายสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดังในฐานะผู้สนับสนุน ทำให้ อสมท ได้รับความเสียหายจากค่าโฆษณาเป็นเงิน 138,790,000 บาท และ สน.ห้วยขวางได้ส่งสำนวนทั้งหมดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อเดือนธันวาคม 2550 ปรากฏว่า แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 4 ปี แต่คดีมีความคืบหน้าช้ามาก ทั้งๆ ที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ที พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตสมาชิกวุฒิสภาเป็นประธานได้รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไว้เป็นจำนวนมาก ล่าสุดนายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกและกรรมการ ป.ป.ช.ให้สัมภาษณ์ว่า นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการไต่สวนคดีดังกล่าวได้รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า อนุกรรมการไต่สวนฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้กับผู้ถูกกล่าวหลายคนแล้วทั้งในส่วนที่เป็นอดีตพนักงาน อสมท และไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนขั้นตอนต่อไปนั้น ผู้ที่ได้รับแจ้งข้อกล่าวหาต้องเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรืออาจทำเป็นหนังสือชี้แจง จากนั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนจะรวบรวมพยานหลักฐานและสรุปความเห็นเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่วินิจฉัยต่อไป
นอกจานี้ จากการตรวจสอบงบการเงินในปี 2550 ผ่านทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีรายได้รวม 207,885,412 บาท กำไรสุทธิ 99,353,033 บาท , ปี 2551 มีรายได้รวม 242,734,870 บาท กำไรสุทธิ 118,064,507 บาท และปี 2552 มีรายได้รวม 253,100,843 บาท กำไรสุทธิ 123,119,081 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึง 5,054,574 บาท และปี 2550 ถึง 23,766,048 บาท ปัจจุบันบริษัทไร่ส้มเป็นผู้ผลิตรายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้แก่ รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ซึ่งร่วมผลิตกับบริษัท บีอีซี เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) รายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ซึ่งร่วมผลิตกับบริษัท เสิร์ช เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด และรายการเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ รวมทั้งยังเป็นผู้ขายเวลา วางสื่อโฆษณาและจ้างประชาสัมพันธ์ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
จากพฤติกรรมที่ไล่เรียงมาทำให้เห็นชัดเจนว่าความเปลี่ยนแปลงของพิธีกรข่าวชื่อดังรายนี้นั้น นั้นไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิด ! หากแต่นี่คือตัวตนที่แท้จริงของคนชื่อ 'สรยุทธ สุทัศนะจินดา'