xs
xsm
sm
md
lg

คนโขนใส่หัวโขน ตอน 1

เผยแพร่:   โดย: เทพมนตรี ลิมปพยอม

ในระหว่างที่กำลังเขียนบทความนี้ตั้งใจจะไปดูหนังคนโขนของพี่ตั้ว เป็นรอบที่ 3 เพราะเป็นหนังไทยเรื่องหนึ่งที่คนไทยทุกคนควรไปดู ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบดูหนังเรื่องเดียวกันซ้ำกันหลายหนและเป็นประเภทชอบจับผิดหนัง จนบางครั้งมามองตัวเองว่าไปจับผิดเขาทำไม ในเมื่อมันเป็นหนัง เป็นจินตนาการของผู้สร้าง หาใช่เรื่องจริงสักหน่อย การไปดู “คนโขน” ซึ่งเป็นหนังที่ทำให้ผมคิดกลับไปถึงการแสดงโขนอันเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของคนไทยขึ้นมาทันที หลักฐานอันเก่าแก่ซึ่งเป็นที่มาที่ไปของ “โขน” นั้นทำให้สันนิษฐานได้ว่า “โขน” มีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา

โดยเฉพาะหลักฐานจดหมายเหตุการเดินทางของมองซิเออร์ เดอลาลูแบร์ “Du Royaume de Siam” (แปลตามตัวคือ “ว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม”) เป็นจดหมายเหตุที่กล่าวถึงราชอาณาจักรสยามในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2230 โดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ มีฐานะเป็นอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาทูลพระราชสาส์น ณ กรุงศรีอยุธยา. ได้พรรณนาถึงกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างกว้างขวาง ลาลูแบร์อยู่ที่อยุธยาเพียง 3 เดือน 6 วัน เขาได้เล่าเกี่ยวกับการแสดงโขนไว้ว่า “โขน เป็นการเต้นออกท่าทางประกอบกับเสียงซอและเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ ผู้แสดงจะสวมหน้ากากปิดบังใบหน้าตนเองและถืออาวุธ”.

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานของนายนิโคลาส์ แชร์แวส ที่เดินทางเข้ามายังประเทศสยามในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ที่กล่าวถึงการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงในราชสำนัก และรวมถึงหลักฐานของตุรแปงในตอนปลายอยุธยาที่เล่าว่า เจ้าฟ้าปรเมศวร์และเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ มีความเชี่ยวชาญในการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายโขนละคร. 

           จากหลักฐานของฝรั่งแสดงให้เห็นว่า “การแสดงโขน” เริ่มต้นขึ้นมาก่อนนี้แล้วแต่จะก่อนขนาดไหนเราก็อาจจะหาหลักฐานเทียบเคียงกันได้อย่างเช่น ริ้วขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคที่มีขบวนเรือรูปหัวโขนหัวสัตว์ต่างๆ และชื่อของหัวโขนเรือนั้นก็นำมาจากรามเกียรติ์อันเป็นเรื่องหลักที่ใช้ในการแสดงโขน เช่น พาลีรั้งทวีป สุครีพครองเมือง เป็นต้น อนึ่งในงานตู้ลายรดน้ำอันเป็นงานช่างของสยามก็มีการเขียนเรื่องรามเกียรติ์ไว้อย่างเห็นได้ชัด แม้ในงานสถาปัตยกรรมหรือจิตรกรรมฝาผนังในสมัยอยุธยา อย่างเช่นวัดเกาะและวัดสุวรรณารามที่จังหวัดเพชรบุรี ก็พบว่ามีการใส่เครื่องทรงอย่างกษัตริย์ของเหล่าบรรดาเทวดา คนธรรพ์และครุฑเข้าไปด้วย จึงอาจเป็นพัฒนาการของชุดโขนละครต่อมาภายหลังหรือมีมาแล้วก่อนหน้านี้จนเป็นแรงบันดาลใจในงานช่าง

นอกจากนี้ที่หน้าบันของพระอุโบสถและพระวิหารในสมัยอยุธยาก็ยังปรากฏรูปหน้าบันพระนารายณ์ทรงครุฑ และเครื่องทรงที่ใส่ก็ดูละม้ายคล้ายคลึงกับชุดโขนละคร ในหลักฐานจากคำให้การชาวกรุงเก่า ยังมีสถานที่เรียกว่า คลองขุนละครไชย และย่านตลาดการค้าเครื่องโขนละคร

เราถือว่าโขนเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงประเภทหนึ่งแต่เดิมคงอยู่ในสังคมของชนชั้นสูงเป็นของสงวนเฉพาะในพระบรมมหาราชวังนับตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์โขนได้กลายเป็นนาฏศิลป์ที่สามัญชนสามารถฝึกและเล่นได้โดยทั่วไป

แม้ในเวลานี้จะไม่รู้แน่ชัดว่า “โขน” เกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ลักษณะการแสดงของโขน ทำให้สันนิษฐานได้ว่ามีองค์ประกอบของการละเล่นชั้นสูงในโบราณราชประเพณี อันมีที่มาของการละเล่น 3 ประเภท คือ หนังใหญ่ ชักนาคดึกดำบรรพ์ และกระบี่กระบองรวมเข้าด้วยกันจนกลายเป็นลักษณะเฉพาะ การเล่นหนังใหญ่เกิดขึ้นมานานแล้วและมีวิวัฒนาการมาอีกสายหนึ่ง แต่ความเป็นหนังใหญ่ได้ทำให้เราเห็นว่า โขน ได้ใช้ลวดลายของการฉลุหนังเป็นตัวละครในท้องเรื่องรามเกียรติ์มาแก้ไขปรับปรุงให้เป็นเครื่องทรงของตัวแสดงต่างๆ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากโขนเป็นของที่เล่นกันภายในราชสำนัก เครื่องแต่งกายของโขนจึงเป็นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ และบุคคลชั้นสูง รวมไปถึงเรื่องที่ใช้ในการแสดงเป็นเรื่องของพระวิษณุอวตารมากกว่าเรื่องพื้นบ้าน โขนนำเรื่องอวตารปางที่ 7 ของพระวิษณุที่อวตารเป็นพระรามมาใช้เป็นเรื่องหลัก

        หลักฐานสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของโขน คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องรามเกียรติ์ที่ระเบียงคต พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และภาพลายเส้นบนหินที่กำแพงแก้ววัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญในการดำรงอยู่ของ “โขน” นาฏกรรมชั้นสูงของคนไทย (อ่านต่อสัปดาห์หน้า)     
กำลังโหลดความคิดเห็น