xs
xsm
sm
md
lg

โพลไม่เชื่อน้ำยายิ่งลักษณ์ ทั้งค่าแรง300-ป.ตรี15,000-แก้ของแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โพลชี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมั่นใจ"ยิ่งลักษณ์" ว่าจะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ทั้งเรื่องขึ้นค่าแรง 300 บาท เพิ่มเงินเดือน ป.ตรี 15,000 บาท แจกแท็บเล็ตเด็ก ป.1 แม้กระทั่งแก้ปัญหาสินค้าแพง ด้านเอแบคโพลชี้หลังอภิปรายนโยบายรัฐบาลความหวังปรองดองลดวูบ ขณะที่คนใต้ไม่เห็นด้วยกับการแก้รธน.

จากการแถลงนโยบายของรัฐบาล และมีการอภิปรายของฝ่ายค้านที่ผ่านมา ประชาชนได้ติดตามและมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศต่อการแถลงนโยบายของรัฐบาลและการอภิปรายของฝ่ายค้าน จำนวนทั้งสิ้น 1,352 คน ระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2554 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.1 การเพิ่มค่าจ้างให้แก่แรงงาน 300 บาทต่อวันทันที อันดับ 1 ไม่ค่อยมั่นใจ 42.14 % เพราะ มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยตรง , อาจส่งผลต่อแรงงานไทย หันไปใช้แรงงานต่างด้าวแทน ฯลฯ อันดับ 2 ค่อนข้างมั่นใจ 22.26 % เพราะ รัฐบาลคงไม่ต้องการที่จะเสียคำพูดหรือสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน , เป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมแล้ว ฯลฯ อันดับ 3 ไม่มั่นใจเลย 19.28 % เพราะมีหลายฝ่ายคัดค้าน ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ฯลฯ อันดับ 4 มั่นใจมาก16.32 % เพราะประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานต่างเฝ้ารอการปรับขึ้นค่าแรง , เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้สัญญาไว้ ฯลฯ

1.2 การเพิ่มเงินเดือนให้กับผู้สำเร็จปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน อันดับ 1 ไม่ค่อยมั่นใจ 44.38 % เพราะ เป็นการเพิ่มภาระให้กับหน่วยงานหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง , เศรษฐกิจในปัจจุบันต้องการลดต้นทุน หรือลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ฯลฯ อันดับ 2 ไม่มั่นใจเลย 21.89 % เพราะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเงินเดือนและทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น ,ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่จบการศึกษาในระดับอื่นๆ และคนที่ทำงานมาก่อน ฯลฯ อันดับ 3 ค่อนข้างมั่นใจ 19.23 % เพราะหากรัฐบาลให้การสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเพียงพอ , เป็นการเรียกคะแนนนิยมให้รัฐบาล ฯลฯ อันดับ 4 มั่นใจมาก 14.50 % เพราะ เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ , มีบางหน่วยงานที่นำร่องไปแล้วฯลฯ

1.3 การแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.1 ทุกคน อันดับ 1 ไม่ค่อยมั่นใจ 38.21 % เพราะ สิ้นเปลืองงบประมาณและค่าใช้จ่าย , อาจเกิดปัญหาเรื่องการดูแลรักษาหรือการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ฯลฯ อันดับ 2 ไม่มั่นใจเลย 34.33 % เพราะควรศึกษาผลดี ผลเสียอย่างละเอียด ,ไม่สามารถดูแลการใช้งานได้ทั่วถึงฯลฯ อันดับ 3 ค่อนข้างมั่นใจ 17.31 % เพราะที่ผ่านมามีสถานศึกษาหลายแห่งแจกคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊คให้กับเด็ก เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ฯลฯ อันดับ 4 มั่นใจมาก10.15 % เพราะ เป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กสนใจการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เป็นนโยบายที่ดีฯลฯ

1.4 การแก้ปัญหาสินค้าแพง อันดับ 1ไม่ค่อยมั่นใจ 37.28 % เพราะราคาสินค้าจะต้องเป็นไปตามกลไกของเศรษฐกิจ , ควบคุมยากเนื่องจากมีสินค้าหลายประเภท ฯลฯ อันดับ 2 ไม่มั่นใจเลย 30.27 % เพราะการประกาศนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท และปริญญาตรี 15,000 บาท ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าให้สูงขึ้นฯลฯ อันดับ 3 ค่อนข้างมั่นใจ
19.69 % เพราะเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ควรแก้ไข ประชาชนต่างฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดนี้ ฯลฯ อันดับ 4 มั่นใจมาก

12.76 % เพราะ เป็นการช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน รัฐบาลสามารถควบคุมราคาสินค้าให้เกิดความเป็นธรรมได้ ฯลฯ

**รู้สึกเฉยๆกับการแบ่งงานรองนายกฯ

2.1 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ คนที่ 1 ดูแลด้านการปกครอง การต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักนายกฯ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพุทธศาสนา สำนักงาน ก.พ. และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต. ) ถูกใจ 30.63 % เพราะมีประสบการณ์ทางการเมืองมานาน มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ที่เหมาะสม มีบุคลิกภาพที่ดี เป็นที่เคารพ นับถือของคนทั่วไป ฯลฯ ไม่ถูกใจ 27.03 % เพราะคิดว่าตำแหน่งที่ได้รับยังไม่เหมาะสม น่าจะมีบุคคลอื่นที่เหมาะสมมากกว่านี้ ฯลฯ เฉยๆ 42.34 % เพราะยังไม่เคยเห็นผลงานมาก่อน ต้องรอดูสักระยะ ,เป็นเรื่องปกติที่มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ฯลฯ

2.2 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ คนที่ 2 ดูแลด้านกระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน สำนักงานกฤษฎีกา กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ถูกใจ 28.83 % เพราะ เป็นคนเอาจริงเอาจัง กล้าลุย กล้าชน ในฐานะที่เป็นตำรวจมาก่อนน่าจะเข้าใจวัฒนธรรมในองค์กรได้ดี ฯลฯ ไม่ถูกใจ
22.52 % เพราะเป็นคนใจร้อน โผงผาง ขาดการควบคุมอารมณ์ ฯลฯ เฉยๆ 48.65 % เพราะ ควรให้โอกาสในการพิสูจน์ผลงาน ไม่ว่าใครจะเข้ามาดูแลก็ขอให้จริงจังและตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ฯลฯ

2.3 พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯ คนที่ 3 ดูแลด้านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ราชบัณฑิตยสถาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  นอกจากนั้นยังมีหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคง อาทิ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ถูกใจ 27.82 % เพราะ มีประวัติการทำงานดี มีผลงานเป็นที่ยอมรับ น่าจะดูแลรับผิดชอบหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การควบคุมได้ฯลฯ ไม่ถูกใจ

26.11 % เพราะ คิดว่าน่าจะมีคนอื่นที่เหมาะสมกว่านี้ ได้รับตำแหน่งเพราะมีความใกล้ชิดกับคนภายในพรรค ฯลฯ เฉยๆ 46.07 % เพราะ ต้องรอดูผลงานสักระยะ หน่วยงานที่ควบคุม ดูแลมีมาก ล้วนเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญฯลฯ

2.4 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ คนที่ 4 ดูแลด้านเศรษฐกิจ อาทิ กระทรวงการคลัง พลังงาน พาณิชย์ อุตสาหกรรม และสนง.คกก.พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ถูกใจ 26.59 % เพราะ ประวัติการศึกษาและประวัติการทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ พาณิชย์มาโดยตลอด ฯลฯ

ไม่ถูกใจ 23.87 % เพราะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ไม่รู้ว่ามีผลงานเด่นอะไรบ้าง ,อยากให้คนอื่นเข้ามาดูแลมากกว่าฯลฯ เฉยๆ 49.54 % เพราะไม่ว่าใครจะเข้ามาทำงานก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ แก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจให้ได้ฯลฯ

2.5 นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกฯ คนที่ 5 ดูแลด้านการท่องเที่ยว และการเกษตร สำนักงานจัดประชุมนิทรรศการ และองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ถูกใจ 28.53 % เพราะ มีผลงานเป็นที่ยอมรับ เคยดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาก่อน ฯลฯ ไม่ถูกใจ 23.72 % เพราะ ผลงานที่ผ่านมามีทั้งคนยอมรับและไม่ยอมรับ ได้รับการสนับสนุนจากพี่ชาย ฯลฯ เฉยๆ 47.75 % เพราะเป็นหน่วยงานที่เคยกำกับ ดูแลมาแล้ว การเข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาลชุดนี้ น่าจะปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ฯลฯ

เอแบคโพลล์ เผย 61.3 % รับแถลงนโยบายเหมือนดูซักฟอกรัฐ 37% ความหวังปรองดองลด 34.5% ชี้สื่อมวลชนเป็นที่พึ่งคนในชาติในสถานการณ์ความขัดแย้ง 72.4% ยันคำหาเสียงถือเป็นสัญญา ให้คะแนนรัฐบาล 6.02 จากเต็ม 10 ขณะ 68.4% เห็นใจ "สมศักดิ์" 74.5 % ให้โอกาสทำงานเกิน 1 ปี

** ความหวังปรองดองลดวูบ

ด้านนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การอภิปรายนโยบายของรัฐบาล กับความนิยมของสาธารณชนต่อพรรคเพื่อไทย จากประชาชนที่ติดตามข่าวสารการอภิปรายนโยบายของรัฐบาลใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,193 ตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 61.3 รู้สึกบรรยากาศเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในขณะที่ร้อยละ 38.7 ไม่รู้สึกเช่นนั้น

นอกจากนี้หลังการอภิปรายนโยบายรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 37.0 มีความหวังลดลงในเรื่องความปรองดองของคนในชาติ ในขณะที่ร้อยละ 33.1 ยังหวังเหมือนเดิม และร้อยละ 29.9 มีความหวังเพิ่มขึ้น

เมื่อถามถึงคณะบุคคลหรือหน่วยงานที่จะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ในสถานการณ์ความขัดแย้งของคนในชาติ พบว่า ร้อยละ 34.5 ระบุเป็นสื่อมวลชน รองลงมาคือร้อยละ 33.3 ระบุเป็นทหาร ร้อยละ 31.9 ระบุเป็นนักการเมือง ร้อยละ 29.6 ระบุเป็นคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ร้อยละ 18.4 ระบุเป็นตำรวจ และร้อยละ 17.2 ระบุเป็นศาลต่างๆ

** นโยบายที่หาเสียงถือเป็นสัญญา

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับสิ่งที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง พบว่าร้อยละ 72.4 ถือว่าสิ่งที่เคยหาเสียงเป็นการให้สัญญากับประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 27.6 ไม่ถือว่าเป็นการให้สัญญา โดยประเด็นสำคัญของนโยบายเรื่องอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ผลสำรวจพบว่า เกินครึ่งหรือ ร้อยละ 54.8 ระบุยังไม่ชัดเจนในนโยบายของรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 56.7 ระบุยังไม่ชัดเจนเช่นกันในเรื่องการให้เงินเดือน 15,000 บาทสำหรับผู้จบปริญญาตรี

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.1 คิดว่าคำว่า “รายได้” กับ “เงินเดือน” แตกต่างกัน แต่ร้อยละ 30.9 คิดว่าเหมือนกัน

อย่างไรก็ตามประชาชนที่นิยมศรัทธาต่อพรรคเพื่อไทย ส่วนใหญ่ยังคงจะเลือกพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม โดยไม่ถือเอาเรื่องนโยบายเป็นเรื่องกระทบต่อความนิยมของประชาชนต่อรัฐบาล

โดยคะแนนเฉลี่ยของการประเมินความพึงพอใจต่อการอภิปรายนโยบายของรัฐบาล พบว่า เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน รัฐบาลได้ 6.02 คะแนน รองลงมาคือ ผู้ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ 5.87 คะแนน สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ได้ 5.59 คะแนน และฝ่ายค้านได้ 5.56 คะแนน และส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 68.4 ยังรู้สึกเห็นใจนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา ในขณะที่ร้อยละ 31.6 ไม่เห็นใจ

เมื่อถามถึงระยะเวลาที่อยากให้โอกาสรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในการทำงาน พบว่า ร้อยละ 74.5 ให้โอกาสเกินกว่า 1 ปีขึ้นไป โดยร้อยละ 41.8 ให้โอกาสอยู่จนครบวาระ ร้อยละ 12.2 ให้อยู่ 2 - 3 ปี ร้อยละ 20.5 ให้อยู่ 1 - 2 ปี ร้อยละ 16.6 ให้อยู่ 6 เดือน - 1 ปี และร้อยละ 8.9 ให้อยู่ไม่เกิน 6 เดือน

**โพลคนใต้ไม่เห็นด้วยแก้รธน.

ด้านรศ.ทัศนีย์ ประธาน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล เรื่อง "รัฐบาลยิ่งลักษณ์กับความมั่นคงแห่งรัฐ" พบว่า ประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ ส่วนใหญ่ติดตามการแถลงนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นบางครั้ง มากที่สุด (ร้อยละ 45.2 ) และมีผู้สนใจที่ติดตามบ่อยครั้งและติดตามทุกวัน คิดเป็นร้อยละ 29.7 และ 3.2 ตามลำดับ นอกจากนี้ ร้อยละ 21.9 ไม่ได้ติดตามชมการแถลงนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เลย ทั้งนี้เมื่อประเมินความพึงพอใจต่อการแถลงนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบว่า ฝ่ายค้านได้รับคะแนนความพึงพอใจมากที่สุด ด้วยคะแนนเฉลี่ย 5.82 คะแนน ( จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน )

ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 66.8 เชื่อว่าแนวโน้มของสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเหมือนเดิม และร้อยละ 20.0 คาดว่าแนวโน้มเหตุการณ์ จะเพิ่มขึ้น มีเพียงร้อยละ 13.2 ที่เห็นว่าแนวโน้มของเหตุการณ์ความสงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะลดลง

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 90.5 ไม่มั่นใจว่า นโยบายแก้ปัญหายาเสพติดจะแก้ไขให้แล้วเสร็จได้ภายใน 1 ปี มีเพียงร้อยละ 9.5 เท่านั้น ที่เห็นว่าสามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้ภายใน 1 ปี

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงของประเทศ พบว่า ประชาชนร้อยละ 34.0 เห็นว่าปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศมากที่สุด

รองลงมา ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาการให้ร้ายของ ทักษิณ ชินวัตร ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเขาพระวิหาร และปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรม และประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 60.2 ไม่เห็นด้วยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการแต่งตั้ง ส.ส.ร. มาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น