xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเส้นทางค้า “หมา”ข้ามโขง...ปลายทาง คือ เมนูหรูที่เวียดนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุนัขจำนวนกว่า 1,000 ตัว ที่ผู้ว่าฯนครพนมนำทีมตรวจจับมาได้เมื่อวันที่ 11 ส.ค.
นครพนม -"สุนัขบ้านนอกไทย"สินค้าโกอินเตอร์ขนข้ามโขงส่งเป็น"เมนูเด็ด”ขึ้นเหลาที่เวียดนาม ราคาขายต่อจานที่มีแต่คนกระเป๋าหนักเท่านั้นที่ลิ้มรสได้ เปิดเส้นทางค้า “สุนัข”ข้ามชาติที่ทำกันมานานกว่า 10 ปีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50-100 ล้านบาท/ปี “อ.บ้านแพง” จ.นครพนม แหล่งพักขนาดใหญ่ก่อนส่งข้ามโขง ขณะที่แหล่งรับซื้อในภาคอีสานมีอยู่ 2 แห่ง ต.ท่าแร่ จ.สกลนคร และที่บ้านหนองปลาดุก รอยต่อ อ.กันทรวิชัย-อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม

กลางดึกเมื่อคืนวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นำทีมจับยึดรถ 6 ล้อขนสุนัขมีชีวิตอัดทับกันอยู่ในกรงเหล็กเล็กๆกว้าง 80 เซนติเมตร(ซม.)ยาว 1 เมตร สูง 45 เซนติเมตร กรงละ 8-10 ตัว รวมแล้วกว่า 1,000 ตัว บางตัวถูกทับตายคากรง เพราะทนทรมานไม่ไหว

เหตุเกิดบนถนนสาย อ.นาทม-อ.บ้านแพงสุดเขตแดนสยาม ก่อนสุนัขเหล่านี้จะถูกขนข้ามโขงผ่านลาวเข้าเวียดนาม ปลายทางสุนัขเหล่านี้คือ "ตายสถานเดียว" สุนัขมีชีวิตจะถูกแปรรูปเป็นอาหารเมนูเด็ด ที่ชาวเวียดนามชื่นชอบในเหลาภัตตาคารหรู..เฉพาะคนกระเป๋าหนักเท่านั้นจึงจะได้ลิ้มรส “สุนัขบ้านนอก"จากไทย ว่ากันมีราคาถึงตัวละ 2,000-3,000 บาท เช่น สุนัขตุ๋นยาจีน อบสุนัขเครื่องเทศฯลฯ

เปิดเส้นทางขบวนการค้าสุนัขข้ามโขง"ไทย-ลาว-เวียดนาม"

ขบวนการค้าสุนัขข้ามชาติ ไทย-ลาว-เวียดนาม เริ่มมีมากว่า10 ปีมาแล้ว และมีเม็ดเงินมหาศาลสะพัดในธุรกิจนี้เฉลี่ยปีละนับ 50-100 ล้านบาทแบบเงียบๆ โดย “อ.บ้านแพง” จ.นครพนม คือประตูส่งออกสุนัข ข้ามโขงผ่านลาวเข้าเวียดนาม

จุดเริ่มต้นของการค้าสุนัขเริ่มจากชาวบ้านที่มองการค้าสุนัขเป็นเรื่องธุรกิจกิจเลี้ยงปากท้องครอบครัวเป็นหลัก โดยนำรถปิกอัพเก่าๆติดโครงเหล็กทำเป็นคอกหรือลังเหล็กเป็นใบๆ ตระเวนตามหมู่บ้านชนบทรับแลกสุนัขด้วยถังพลาสติกและกะละมัง บ้างก็ซื้อตัวละ 50-100 บาท

จริงๆแล้วชาวบ้านในชนบทเขาก็รักสุนัขมากเช่นกัน แต่เขาจะยอมขายสุนัขนิสัยเสียชอบขโมย กัดเป็ดไก่หรือกัดคนบาดเจ็บ จนเจ้าของปวดหัวกับการจ่ายค่าทำขวัญจนถูกต่อว่าจากเพื่อนบ้าน สุนัขจำพวกนี้จะโดนแลกคุถังก่อนจากรถเร่หาหมาตามหมู่บ้าน

เมื่อรถเร่แลกสุนัขซื้อสุนัขได้จำนวนที่พอใจแล้ว เขาจะมาส่งให้เถ้าแก่สุนัข ที่รับซื้อทั้งหมดในราคาเหมาตัวละ 100-200 บาท บ้างก็ซื้อเหมายกรถ 3,000-4,000 บาท

แหล่งรับซื้อสุนัข ใหญ่ในภาคอีสานมีอยู่ 2 แห่ง คือ ที่ ต.ท่าแร่ จ.สกลนคร และที่บ้านหนองปลาดุก รอยต่อระหว่าง อ.กันทรวิชัย กับอ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม

หลังจากคัดขนาดและน้ำหนักแล้ว สุนัข ทุกตัวก็จะถูกบรรจุเข้าไปในกรงเหล็กขนาดกว้างประมาณ 80 เซนติเมตรยาว 1เมตร และสูง 45 เซนติเมตร กรงละ 8 ถึง 10 ตัว แล้วล็อกกรงอย่างแน่นหนา หลังจากนั้นก็จะลำเลียงขึ้นรถบรรทุกหกล้อขนาดใหญ่ซึ่งสามารถบรรทุกกรงเหล็กเหล่านี้ได้กว่าร้อยกรง

เมื่อพร้อมแล้วรอให้พลบค่ำรถก็จะเริ่มออกจากคอกประมาณ 1 หรือ 2 ทุ่ม เพื่ออาศัยความมืดช่วยอำพรางกรงขังสุนัข ที่บรรทุกอยู่หลังรถ โดยมีสะแลนกันแดดสีดำปกคลุมทั่วตัวรถ เหตุที่ไม่ใช้ผ้าใบทึบเนื่องจากสุนัขจะหายใจไม่ออกและอาจตายได้เพราะถูกขังอยู่กันอย่างแออัดมาก ทุกตัวจะต้องนอนราบกับพื้นไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้ เนื่องจากความสูงของกรงมีเพียง 40-45 เซนติเมตรเท่านั้น

รถบรรทุกสุนัข จะวิ่งตามถนนสาย 213 ผ่านอ.ยางตลาด และตัวเมืองกาฬสินธุ์ เข้าสู่อ.สมเด็จ แล้วข้ามเทือกเขาภูพานมุ่งเข้า จ.สกลนคร หลังจากนั้นก็จะใช้เส้นทางย่อยระหว่าง ต.ท่าแร่ของจ.สกลนครไปยังอ.ศรีสงครามจ.นครพนม หรือหากมีด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ ก็จะใช้เส้นทางแยกที่บ้านดอนเชียงบานมุ่งหน้าสู่ อ.นาหว้า จ.นครพนม แล้วค่อยลัดเลาะเข้าอ.ศรีสงคราม อีกทีหนึ่ง จาก อ.ศรีสงครามจะใช้เส้นทางบ้านปฏิรูป ไปบ้านนาพระชัยเพื่อเข้าเขต อ.บ้านแพงจ.นครพนม
สภาพที่ถูกบรรทุกแบบแออัดคับแคบทำให้สุนัขที่อยู่ใต้สุด ทนทรมานไม่ไหวขาดใจตายไปจำนวนมาก
หรือหากมีด่านตรวจก็จะหันไปใช้เส้นทางจาก อ.นาหว้า ดอนสะฝาง มุ่งสู่อ.บ้านแพง ก่อนที่จะส่งข้ามแม่น้ำโขงไปยังสปป.ลาว โดยใช้เรือหางยาวหลาย ๆ ลำมาคอยรับหมา

หลังจากสุนัข ถูกส่งข้ามแม่น้ำโขงขึ้นฝั่งลาวแล้ว ก็จะมีรถบรรทุกขนาดใหญ่สัญชาติเวียดนามมารับแล้วมุ่งหน้าสู่เมืองหลักซาว แขวงบอลิคำไซ ของลาวทันที โดยขบวนการทั้งหมดจากการที่ล้อเริ่มหมุนจากต้นทางประมาณ 1 ทุ่ม สุนัข ทั้งหมดจะต้องมาถึงริมฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ เที่ยงคืนหรือ ตี 1เป็นอย่างช้า และขบวนการขนส่งข้ามโขงก็แล้วเสร็จภายในเวลา ตี 4 หรือตี 5

รถบรรทุกสุนัข ก็จะเริ่มเคลื่อนที่ออกจากริมฝั่งโขงมุ่งสู่ด่านกาวแจวของเวียดนาม ตามถนนหมายเลข 8 ผ่านภูเขาหลายลูกระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ก็จะถึงเมืองหลักซาว แขวงบอลิคำไซ อันเป็นเมืองหน้าด่านของลาว ขบวนขนรถหมาจะหยุดพักกินอาหารเช้าที่เมืองหลักซาว เพื่อรอเวลาด่านผ่านแดนเปิดทำการในเวลา 07.00 น.

ฝั่งลาวจะเป็นด่านหน้ารถขนสุนัข ใช้เวลาที่ด่านลาวไม่มากนักก็สามารถผ่านไปได้เนื่องจากมีเอกสารครบถ้วน หลังจากนั้นก็จะเข้าด่านเวียดนาม คือ ด่านกาวแจว (CAU TREO) ที่นี่จะต้องใช้เวลามากหน่อยเนื่องจากจะต้องมีการต่อรองการค้ามากมายจนทุกอย่างลงตัวจึงจะสามารถนำหมาทั้งหมดไปส่งลูกค้าในเวียดนามได้ ซึ่งบุคคลทั่วไปมักจะพบเห็นรถบรรทุกสุนัขเต็มคันรถจอดรอที่ด่านนี้แทบทุกวัน

สำหรับราคาสุนัขเมื่อขนย้ายข้ามโขงเข้าลาวเสร็จพ่อค้าสุนัขไทยจะรับเงินเฉลี่ยตัวละ 500-600บาท เป็นอันว่าหมดหน้าที่และเตรียมหาสุนัขล็อตใหม่มาส่งข้ามโขงอีก นี่คือระบบการค้าสุนัขข้ามชาติไทย-ลาว-เวียดนาม ที่มีมากว่า 10 ปี

สุนัขที่ถูกยึด..สุดท้ายตรอมใจตายเรียบ

ย้อนกลับมาที่ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศนครพนม สุนัขทั้งหมดที่ถูกตรวจยึดเจ้าหน้าที่ช่วยกันนำสุนัขออกจากกรงเหล็กแยกขังเป็น 3 ล็อก เพื่อไม่ให้สุนัขอยู่แบบแออัดยัดเยียดเกินไปพร้อมฟื้นฟูให้อาหารตรวจโรคทำให้สุนัขมีกำลังสดชื่นอารมณ์ดีขึ้น และจะหยอกล้อกับคนเข้าไปในคอก

นายชูศักดิ์ พงษ์พานิชย์ หัวหน้าด่านกักกันสัตว์นครพนมกล่าวว่าสุนัขที่ตรวจ ยึดทั้งหมดจะมีจำนวน 1,260 ตัว เสียชีวิตบนรถลำเลียง 249 ตัว เหลือสุนัขในคอก 1,011 ตัว ในเบื้องต้น กรมปศุสัตว์จังหวัดได้จัดหาอาหารสัตว์มาให้สุนัขบริโภคในแต่ละวันโดยจะใช้หัวอาหารวันละ 2 กระสอบ และบางส่วนมีชาวบ้านนำอาหารมาให้ บ้างก็มาตามหาสุนัขที่สูญหาย

รายงานเพิ่มเติมว่าย้อนหลังไปเมื่อปี 2546 ได้มีการสกัดยึดสุนัขบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตเทศบาลตำบลบ้านแพงขณะจะลำเลียงข้ามโขงไปเวียดนาม ได้ยึดสุนัขประมาณ 800 ตัวเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วประเทศลักษณะเดียวกันนี้และสุนัขทั้งหมดก็จะถูกลำเลียงมาขังเลี้ยงดูที่ด่านกักกันแห่งนี้

สูตรเดียวกันเมื่อเป็นข่าวครึกโครมก็จะมีองค์กรเกี่ยวกับสัตว์ให้ความสนใจมาบริจาคอาหารฉีดวัคซีนตลอดจนประชาชนทั่วไป ปัญหาจะเกิดขึ้นช่วงประมาณ 5-6 เดือน หลังข่าวซาลงไปการบริจาคอาหารก็ลดลง สุดท้ายเจ้าหน้าที่ต้องไปหาซื้อปลายข้าวมาต้มให้สุนัขกิน บางวันก็ไปขอข้าวแห้งจากวัดมาต้มเป็นอาหารสุนัข

ขณะที่สุนัขจำนวนไม่น้อยก็จะล้มป่วยตรอมใจตายเพราะถูกขัง เพราะสุนัขพวกนี้จะเป็นสุนัขบ้านนอกอยู่ในชนบทหาอาหารกินได้ทุกประเภท ชอบวิ่งเล่น แต่เมื่อถูกกักขังในคอกคับแคบ สุดท้ายสุนัขเหล่านี้ก็ทยอยตายทั้งหมดในที่สุด

โดยสุนัขพวกนี้....มีโอกาสรอดเพียงทางเดียว คือมีผู้ใจบุญมาขอไปเลี้ยงที่บ้านเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น