xs
xsm
sm
md
lg

บ้านของเรา (2)

เผยแพร่:   โดย: ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต

ผมเป็นเด็กเกิดบ้านนอกที่ ต.บึงบา อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ในสมัยนั้นยังใช้ขี้ใต้และตะเกียงน้ำมัน หรูหน่อยก็มีตะเกียงเจ้าพายุ ซึ่งต้องใช้น้ำมันก๊าดมีใส้ผ้าและต้องสูบลม เด็กสมัยนี้ไม่รู้จักแล้ว การคมนาคมต้องใช้เรือแจวและเรือยนต์เป็นหลัก พ่อกับแม่เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกๆ ผมถูกส่งไปเรียนโรงเรียนอนุบาลครูแป้นที่บ้านคุณปู่ (พ.ต.ท.หลวงชำนาญนรานุรักษ์) แถวท่าดินแดง ฝั่งธนบุรี การเดินทางสมัยนั้นใช้เวลานานมากเสียเวลาเป็นวัน ต้องนั่งเรือยนต์ประจำทาง เรียกว่า เรือตาบู้ (ชื่อเจ้าของเรือ) ไปขึ้นที่ท่ารังสิตและต่อรถเมล์ไปลงหัวลำโพง และต่อรถอีกทอดหนึ่งเดินทางนานมาก ออกเช้าก็ถึงค่ำ (ปัจจุบันขับรถไปเองใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น)

แม่เล่าให้ฟังว่า สมัยที่คุณตา (ขุนนรพัฒน์พิศาล) ซึ่งเป็นนายอำเภอคนที่ 2 ของอำเภอหนองเสือเดินทางไปส่งแม่เพื่อเข้าเรียนประจำที่โรงเรียนราชินีบน (บางกระบือ) ต้องใช้เรือเก๋งซึ่งเป็นเรือยนต์ประจำตำแหน่งและยังมีเรือลากจูงเป็นเรือเสบียง ต้องค้างคืนที่ปากคลองรังสิตก่อนเข้ากรุงเทพฯ (บริเวณวัดเทียน) ใช้เวลา 2 วัน 1 คืน คุณตามักจะจอดเรือค้างที่หน้าวัดโสมนัสวรวิหาร ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล (บรรพบุรุษเคยมาค้างข้างทำเนียบฯ อยู่ก่อนนี่เอง ผมจึงต้องมาบ่อยๆ) เพราะมีหลวงลุง (พระปัญญาวิสุทธิคุณ) ซึ่งเราเรียกว่าเจ้าคุณสนิท (สนิท ประภาสะวัต) อยู่คณะ 1 เป็นญาติจาก จ.สิงห์บุรี (ปัจจุบันมรณภาพไปแล้ว) บวชตั้งแต่เป็นเณร

บรรยายให้เห็นภาพบ้านของตัวเองที่เคยอยู่มาในอดีตเป็นอย่างไร ทุกครั้งที่ได้กลับไปบ้านช่วงโรงเรียนปิดเทอมจะดีใจมาก คิดถึงบ้านคิดถึงพ่อกับแม่มาก คิดดูซิเด็กตัวเล็กๆ กำลังน่ารักต้องถูกส่งมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจะน่าสงสารขนาดไหน แถมคุณปู่ที่เกษียณแล้วแต่อดีตเคยเป็นนายตำรวจมือปราบ (โคตรโหด) ขี่ม้าปราบโจรมาหลายศพทั่วสารทิศต้องมารับภาระดูแลลูกลิง 4 ตัว (ผู้ชาย 4 หญิง 1) ความดุจึงยังตกค้างมาที่หลาน (เด็กๆ โดนไม้เรียวก้นลายกันมาทั้งนั้น) เมื่อกลับก็ต้องลงเล่นน้ำในคลอง งมหอย ทอดแห ตกปลา ลงตาข่าย ทำหลุมโจนดักปลา วิดบ่อด้วยปี๊บ ในคลองขณะที่เราเล่นน้ำกัน คลำไปตามเสาท่าน้ำก็สามารถจับกุ้งก้ามกรามตัวใหญ่ๆ ได้ด้วยมือเปล่า

ในนาหลังบ้านน้ำใสดั่งตาตั๊กแตน มองเห็นปลากิมตัวเล็กๆ ปลากัดทุ่งมากมาย ในบึงเต็มไปด้วยบัวเล็กๆ ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าดอกบา จึงชื่อว่า ตำบลบึงบา

ชั้นประถมเดินจากบ้านมาเรียน ร.ร.อำนวยศิลป์ ฝั่งธนบุรี มัธยมเข้าเรียนที่ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย (รุ่น 82) ในช่วงนี้พ่อกับแม่ขายที่นาไป 100 ไร่ เพื่อซื้อรถไถนาที่ทันสมัยยี่ห้อ International ไว้ไถนาเองและรับจ้างทั่วไป อาจเรียกได้ว่าเป็นคันแรกของอำเภอกระมัง เรามีที่เกือบพันไร่คุณตาและคุณปู่ซื้อไว้ประมาณไร่ละ 10 สตางค์ ส่วนใหญ่ให้ลูกนาเช่าเก็บค่าเช่าเป็นข้าว มียุ้งฉางขนาดใหญ่ไว้เก็บข้าวที่ได้จากค่าเช่า ส่วนนาที่ทำเอง 100-200 ไร่ จ้างเขาทำมีรถไถเองในสมัยนั้นยังขาดทุน ได้เห็นความยากลำบากของคนทำนามานานแล้ว รวมทั้งประสบการณ์จากครอบครัวเอง

แม่เป็นครู พ่อเป็น ส.จ.ทำนาและรับจ้างไถนาเป็นงานอดิเรก ตอนปิดเทอมชอบไปกับพ่อรับจ้างไถนาแถวทุ่งรังสิต หนองจอก มีนบุรี ได้มีประสบการณ์ชีวิตมากมายในวัยเด็ก สนุกกับการขับรถแทรกเตอร์ไถนา มีชีวิตผูกพันกับนาและข้าว

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์เสด็จฯ ประพาสยุโรป 2 ครั้ง ทรงสนพระทัยความก้าวหน้าทางวิทยาการเกษตร และได้ทรงทอดพระเนตรการประกวดและแสดงพันธุ์พืชและสัตว์ หลังจากเสด็จนิวัติประเทศไทยในปี พ.ศ. 2450 ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการที่ประเทศไทยมีอาชีพหลัก คือ การผลิตข้าว จึงทรงโปรดให้มีการส่งเสริมและพัฒนาด้านการเกษตร มีการจัดประกวดพันธุ์ข้าวขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เมืองธัญบุรี โดยเป็นพันธุ์ข้าวจากทุ่งหลวงคลองรังสิต และในปี พ.ศ. 2451 จัดการประกวดพันธุ์ข้าวขึ้นอีกครั้งที่วัดสุทัศน์เทพวราราม พันธุ์ข้าวบายศรี ได้รับรางวัลที่ 1 ทั้ง 2 ครั้ง

ปลายปี พ.ศ. 2476 (สมัยรัชกาลที่ 7) ประเทศไทยได้รับเชิญจากคณะกรรมการประกวดข้าวโลก ส่งข้าวประกวดที่เมืองเรไยนา (Regina) ประเทศแคนนาดา ทั่วโลกส่งประกวด 176 รายการ เป็นของไทย 150 รายการ และเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2476 “ข้าวปิ่นแก้ว” ได้รับรางวัลดีเยี่ยมเป็นที่ 1 ของโลก และรางวัลอื่นๆ อีก 8 รางวัล รวมเป็น 11 รางวัล

จะเห็นได้ว่า การปลูกข้าวของไทยเติบโตและได้รับการพัฒนามาจากชาวนาแถบทุ่งหลวงรังสิต ถึงแม้บริเวณนี้จะเป็นที่ลุ่มดินเปรี้ยวก็ตาม แต่จากการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวและดินทำให้ผืนดินแห่งนี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ อีกทั้งระบบชลประทานที่จัดทำไว้อย่างสมบูรณ์

เมื่อความเปลี่ยนแปลงซึ่งเข้ามากับถนนและระบบทุนชนิดมือใครยาวสาวได้สาวเอา ทำให้ทุ่งหลวงรังสิตในอดีตถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา นาข้าวได้ถูกรุกรานจากสวนส้มอพยพจากบางมด ขยายพื้นที่นับแสนไร่โดยขาดการควบคุม การใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชได้ทำลายดินทำลายแหล่งน้ำ พันธุ์ปลา และสุดท้ายได้ทำลายสวนส้มที่เคยเฟื่องฟูลงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐีสวนส้มล้มละลายกันไปหลายราย แม้จะย้ายไปแถวกำแพงเพชรก็ไม่ประสบความสำเร็จ บ้านจัดสรรรุกคืบเข้ามาแทนที่ จากคลอง 1 ถึงคลอง 13 ปากคลองจนเข้าไปข้างใน คลองที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมกลับกลายเป็นที่ระบายน้ำเสีย บางแห่งมีโรงงานอุตสาหกรรมแฝงตัวอยู่ด้วย น้ำที่เคยอาบได้ ปลาเคยอยู่อาศัยกลายเป็นคลองน้ำครำ

ต้นปี 2554 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้มีโครงการส่งเสริมการปลูกปาล์มบริวเณพื้นที่ทุ่งรังสิต ประมาณ 1 แสนไร่ โดยให้เหตุผลว่า พื้นที่ดินเปรี้ยวไม่เหมาะแก่การปลูกข้าวได้ผลตอบแทนไม่คุ้ม การปลูกปาล์มได้ผลผลิตดี ข้าราชการระดับสูงที่ดูแลด้านการเกษตรมองเรื่องผลผลิตและรายได้ (เงิน) มากกว่าที่จะมองถึงความเหมาะสมของพื้นที่ และไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อเป็นบทเรียนมิให้เกิดการผิดพลาดซ้ำซาก ปาล์มอาจทำเงินให้เกษตรกรได้ วันนี้เกษตรกรก็มุ่งแต่จะหาเงินไปใช้หนี้และเพื่อการบริโภคที่ไม่รู้จักพอ กฎหมายคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมควรจะออกมาเพื่อควบคุมการปลูกพืชที่สะเปะสะปะไปทั้งประเทศ ระดับผู้บริหารยังไม่รู้ว่าข้าวกับพืชน้ำมันอะไรสำคัญกว่ากัน

อีกไม่นานเราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศกินกัน บ้านของเรา เรายังไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าดินตรงไหนมีคุณค่าควรจะปลูกพืชอะไร ผมรักบ้าน ผมรักแผ่นดินที่ผมเกิด คนเผาบ้านเผาเมืองเพื่อเงินเราก็เห็นมาแล้ว นี่คิดจะทำลายแผ่นดินเพื่อโครงการหาเงินกันเท่านั้นหรือ หรือแผ่นดินนี้ไม่ใช่ของพวกเราแล้วช่วยตอบที
กำลังโหลดความคิดเห็น