xs
xsm
sm
md
lg

"จังโหลน"ตลาดชายแดนที่สงขลา แหล่งค้ามนุษย์ในทำเนียบ"UN"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทำตรวจค้นแหล่งบันเทิง 2 แห่งในบริเวณตลาดไทยจังโหลน บ้านด่านนอก เขตเทศบาลตำบลสำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา หลังจากที่ถูกร้องเรียนจากเอ็นจีโอในลาวว่า มีหญิงสาวลาวถูกขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาตินำตัวมากักขังไว้ที่แหล่งบันเทิงดังกล่าว
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

“ตลาดไทยจังโหลน”บ้านด่านนอก เขตเทศบาลตำบลสำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ตลาดที่ประชิดชายแดนรัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย เป็นแหล่งที่ถูกหน่วยงานความมั่นคงระบุในรายงานบ่อยครั้งว่า “มีการค้ามนุษย์”และ“ค้ายาเสพติด”ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้

อันเป็นการค้ามนุษย์และยาเสพติดที่มีเครือข่ายโยงใยอยู่ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบเอเชีย แต่ไม่เคยมีการปราบปราม ป้องกันหรือจับกุมอย่างจริงจัง ที่มีบ้างก็เป็นการ“จัดฉาก”เพื่อตรวจค้นจับกุมพอเป็นกระสายยา หลังมีการร้องเรียนจากผู้เป็นเหยื่อ หรือจากการขุดค้นของสื่อมวลชน

ล่าสุดชื่อเสียงของตลาดไทยจังโหลนได้โด่งดังไปทั่วประเทศและทั่วโลก เมื่อเจ้าหน้าที่จากชุดปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) กรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำกำลังเข้าทลายแหล่งค้ามนุษย์ 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่กลางใจเมืองชายแดนแห่งนี้ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากหน่วยงานเอ็นจีโอของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)ให้ช่วยเหลือหญิงสาวชาวลาวสองพี่น้องที่ถูกหลอกลวงมาค้าประเวณี

ผลการตรวจค้น ปคม.พบหญิงสาวต่างชาติทั้งหมด 72 คน ประกอบด้วย ชาวพม่า ชาวไทยใหญ่และชาวลาวที่ถูกนำมาค้าประเวณี โดยมีทั้งเต็มใจและถูกหลอกลวงมา และในจำนวนนั้นมีหญิงสาวชาวลาวที่อายุ 16 ปีร่วมอยู่ด้วย

เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ดูแลกิจการ รวมถึงหุ้นส่วนที่เป็นชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ไว้ด้วย 2 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแหล่งค้ามนุษย์ทั้ง 2 แห่งเป็นเครือข่ายธุรกิจค้ามนุษย์ระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ

ทว่า ที่สำคัญที่สุดเจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดบัญชีรายรับ-รายจ่ายของสถานประกอบการทั้ง 2 แห่งไว้เป็นหลักฐาน พบว่า มีการลงบัญชีจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่หลายหน่วย ในจำนวนนั้นมีการระบุว่าจ่ายให้ตำรวจระดับ “พ.ต.ท.” และจ่ายให้แก่“ฝ่ายปกครอง” ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ของที่ว่าการอำเภอสะเดานั่นเอง

มีประเด็นสำคัญที่ควรต้องกล่าวถึงคือ ในตลาดไทยจังโหลนไม่ได้มีแหล่งค้ามนุษย์เพียง 2 แห่งที่ถูกตรวจค้น แต่มีเป็น 100 แห่ง ทั้งหมดอยู่ในรูปแบบของห้องอาหาร สวนอาหาร คาราโอเกะ สปา ร้านเสริมสวย ผับ เล้าจ์ และอื่นๆ แต่ที่ ปคม.เข้าตรวจค้นเพียง 2 แห่ง เพราะมีการร้องเรียน และระบุชื่อไว้ให้ด้วยชัดเจน

ส่วนแห่งอื่นๆ ที่ทำ “กิจกาม” เหมือนกัน ยังไม่มีการตรวจค้น ซึ่งหากมีการตรวจค้นอาจจะเจอหญิงต่างด้าวมากกว่า และอาจจะเจอหญิงที่อายุแค่ 14-15 ปี รวมทั้งอาจจะเจอหญิงสาวที่ถูกล่อลวงมาขายประเวณีอีกมากมายก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น

แม้ว่าหลังเกิดเหตุฝ่ายปกครองได้พยายามป้องกันตัวด้วยการสั่งปิด 2 สถานบันเทิงที่ค้ามนุษย์ไปแล้ว ในขณะที่ตำรวจได้หาแพะมาบูชายัญด้วยการสั่งพักราชการ “ผกก. สภ.สะเดา” เจ้าของพื้นที่ 2 เดือน พร้อมๆ กับให้ตั้งกรรมการสอบสวนหาผู้บกพร่อง

แต่กับแหล่งค้ามนุษย์อื่นๆ ในพื้นที่กลับยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างปกติ ท่ามกลางการ “อารักขา” ของทั้งจาก “ฝ่ายปกครอง” และ “ตำรวจ” ในรูปแบบการตรวจตราอย่างเข้มข้น

แต่โดยข้อเท็จจริงการตรวจตราแบบนั้นก็คือ “การคุ้มครอง” เพื่อมิให้มี “หน่วยนอก” เข้ามาก่อกวนหรือจับกุมแหล่งค้ามนุษย์ที่เป็นเหมือน “บ่อน้ำซับ” ที่มีไว้ให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยดื่มกินชนิดไม่เคยแห้งเหือดนั่นเอง

จากการตรวจสอบ “บัญชีลับ” ของผู้ประกอบการค้ามนุษย์และการค้าผิดกฎหมายอย่างอื่นๆ ในพื้นที่แห่งนี้ พบว่ามี หน่วยงานต่างๆ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และนอกพื้นที่ จ.สงขลา ต่างเดินสายเข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธุรกิจนอกกฎหมายรวม “19 หน่วยงาน” จนไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ เพราะมีทั้งแบบการ “เก็บเป็นรายหัว” “รายบ้าน” รวมถึง “รายสะดวก”

อีกทั้ง นอกเหนือจาก 19 หน่วยงานหลักๆ เหล่านี้แล้ว ในแต่ละเดือนก็ยังมี “นักบิน” โฉบเฉี่ยวเข้ามา “ตบทรัพย์” อีกจำนวนหนึ่ง อันแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ อ.สะเดา ถือเป็นแหล่งขุดทองของภาคใต้ตอนล่างอย่างแท้จริง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ตลาดบ้านไทยจังโหลน รัฐจึงควรต้องทำการแก้ปัญหาให้ตรงประเด็น โดยประเด็นแรกคือ ต้องมีการตรวจสอบและตรวจค้นแหล่งค้ามนุษย์ที่อยู่ในรูปแบบต่างๆ แม้จะยังไม่มีการร้องเรียนก็ตาม เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ไม่ว่าจะเป็นด้วยความเต็มใจหรือถูกบังคับ เพราะการค้ามนุษย์เป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการนำหญิงต่างด้าวที่ส่วนใหญ่หลบหนีเข้าเมืองมาค้าประเวณี รวมถึงการให้ชาวมาเลเซียและสิงคโปร์มาดำเนินการเป็นเจ้าของกิจการ ย่อมผิดกฎหมายทั้งสิ้น

และประเด็นที่สองคือ บัญชีของกลางที่เจ้าของแหล่งค้ามนุษย์ทั้ง 2 แห่งระบุว่าจ่ายให้กับ “ตำรวจ” และ “ฝ่ายปกครอง” ต้องหาให้ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินจากเจ้าของกิจการเหล่านั้น จ่ายกันเดือนละเท่าไร่ และเงินถูกส่งไปเข้ากระเป๋าของใครบ้าง ซึ่งต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อเอาผิดกับทุกคน และทุกหน่วย ที่รับ “ส่วยน้ำกาม” จากธุรกิจการค้ามนุษย์

ต้องไม่ใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบงุบงิบทำกัน และสุดท้ายก็ช่วยเหลือกันไป โดยมีเพียงข้าราชการระดับล่าง รับเคราะห์แทน อีกทั้งต้องสอบให้ถึง “นายใหญ่” ที่สามารถสาวไปจากผู้ประกอบการธุรกิจค้ามนุษย์ได้ว่าเป็นผู้บงการตัวจริง ไม่ว่าจะเป็น “นักการเมือง” หรือ “คนในเครื่องแบบ” ก็ตาม

วันนี้สถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยโด่งดังจนถึงขั้น “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” ประกาศจะส่งตัวแทนเดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 6 จังหวัดของประเทศไทย ซึ่ง จ.สงขลาก็อยู่ 1 ใน 6 จังหวัดเป้าหมายนั้นด้วย

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ควรจะสำเหนียกและตื่นตัวต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง อีกทั้งต้องหาทางป้องกันไม่ให้ขบวนการค้ามนุษย์เติบโตขึ้นมาอีก ไม่ใช่แต่ละหน่วยงานต่างเอาชื่อเสียงหน้าของประเทศชาติมาเป็นเครื่องมือในการ “รับส่วย” กันอย่างครึกโครมอย่างที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ถ้าจะเอาเรื่องกับหน่วยงานที่ทำผิด บกพร่อง หรือมีส่วนในการเรียกรับผลประโยชน์ 2 หน่วยงานแรกๆ ที่ต้องรับโทษโดยไม่ต้องสอบสวนคือ “ตำรวจ” และ “ฝ่ายปกครอง” ในพื้นที่ที่ปล่อยปละละเลยให้มีการค้ามนุษย์อย่างเสรี

อีกทั้งความผิดก็ไม่ใช่แค่ตั้งกรรมการสอบสวนแล้วลงโทษทางวินัย หรือแค่สั่งพักราชการ 2 เดือน แต่ต้อง “ไล่ออก” และต้องลงโทษทางอาญาด้วย นั่นคือใครเกี่ยวข้องสมควรต้อง “ติดคุก” จึงจะสาสมกับการใช้ เครื่องแบบและหน้าที่ในการแสวงหาประโยชน์ อันสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง
กำลังโหลดความคิดเห็น