ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ชาวบ้าน “โป่งอาง-เชียงดาว” ล่ารายชื่อ พร้อมระดมเงินบริจาคเป็นทุนเดินหน้าค้านกรมชลสร้างอ่างกั้นน้ำปิงตอนบน เขตอุทยานฯผาแดง ผืนป่าลุ่มน้ำชั้น 1 เอ
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งถึงความเคลื่อนไหวของชาวบ้านโป่งอาง หมู่ 5 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เกี่ยวกับการคัดค้านโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน ห่างจากชุมชนเพียง 1 กม. ว่า หลังจากก่อนหน้านี้กลุ่มชาวบ้านได้ร่วมกันติดป้ายคัดค้านทั่วหมู่บ้านแล้ว ล่าสุดชาวบ้านโป่งอาง ได้มีการลงชื่อกันเพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว พร้อมกับมีการเรี่ยไรเงินเพื่อระดมทุนในการเคลื่อนไหวและเป็นใช้จ่ายในการไปยื่นหนังสือคัดค้านในกรุงเทพฯ ต่อไป
นางสาวธิวาภรณ์ พะคะ 1 ในชาวบ้านที่รวมตัวกันคัดค้านโครงการนี้ กล่าวว่า ตอนนี้ชาวบ้านได้ลงรายชื่อคัดค้านไม่เอาเขื่อนเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้เรี่ยไรรวบรวมเงินกัน แต่ได้แค่ 3,000 กว่าบาทเท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่ทำงานหาเช้ากินค่ำ มีภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวสูง ซึ่งหากใครต้องการบริจาคเงินช่วยเหลือพี่น้องชาวบ้านโป่งอางในการคัดค้านการสร้างอ่างกั้นน้ำแม่ปิงตอนบน สามารถบริจาคมาได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาเชียงดาว ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี นางหทัยรัตน์ ศรีใจ, นางขวัญดาว ปุกคำ และนางสาวจันทร์เพ็ญ กุ่ยโพ หมายเลขบัญชี 516-0-30577-7
“อยากขอวิงวอนพี่น้องคนไทยร่วมเงินบริจาคเพื่อเป็นทุนในการดำเนินการปกป้องฐานทรัพยากรอันมีค่าของประเทศนี้ไว้ และเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยื่นหนังสือให้องค์กรที่เกี่ยวข้องในที่ต่าง ๆ ทั้งในตัวจังหวัดและกรุงเทพฯ อยากจะบอกว่าสิ่งเล็ก ๆ ที่ท่านให้กับพี่น้องบ้านโป่งอางในครั้งนี้ ท่านจะได้รับกลับคืนยิ่งกว่าที่ท่านให้เป็นร้อยเท่า พันเท่า เพราะนี่คือ ผืนป่าต้นน้ำปิง ถ้าชาวบ้านรวบรวมเงินพอกับค่าใช้จ่ายได้แล้ว เราคงจะเดินทางไปยื่นหนังสือกันต่อไป” นางสาวธิวาภรณ์ กล่าว
นางบัวเขียว ชุมภู ชาวบ้านบ้านโป่งอาง กล่าวว่า หลังจากทราบข่าวก็รู้สึกไม่ค่อยดี ก็มีการพูดกันปากต่อปาก กระจายข่าวให้คนในหมู่บ้านได้รับรู้ว่าจะมีคนข้างนอกเข้ามาสร้างเขื่อนในบ้านเรา พี่น้องชาวบ้านที่ทราบข่าวก็เกิดความตกใจ แต่อย่างไรก็ตามเราก็พยายามบอกให้กับคนอื่นว่าไม่ต้องตกใจ แต่เราต้องใช้สติในการต่อสู้
“ถึงยังไงเราก็ไม่ให้สร้าง เพราะว่าเราอยู่อาศัยกันตั้งแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ แต่คนข้างนอกเข้ามาก็จะมาเอาไปสร้างเป็นเขื่อน ทั้งๆที่บ้านเราเองไม่มีความเดือดร้อนอะไรกันแล้ว ฝายเราก็มี เราไม่เดือดร้อนอะไรซักอย่าง การเก็บผัก เก็บหน่อไม้ ก็เป็นรายได้ของชาวบ้าน ไม่ต้องเข้าเวียง(เมือง) เพื่อไปแย่งอาชีพของคนอื่นในเมือง เราอยู่แบบพอมีพอกิน และเรารู้การสร้างเขื่อนนั้นไม่ดี ทางหมู่บ้านของเราเองก็มีสื่อดูผ่านโทรทัศน์ มันจะทำให้พื้นที่ป่า พื้นที่ทำกินถูกน้ำท่วม และมีการอพยพไปอยู่ที่อื่นด้วย”