ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ได้เฮ!! เมื่อศาลแขวงสงขลาได้อ่านคำพิพากษาระบุชัด ให้ “บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด” ที่ประกอบการระเบิดหินในพื้นที่ และสร้างผลกระทบต่อชุมชนมานานต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลแขวงสงขลาได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 588/2553 ระหว่างฝ่ายโจทก์ ประกอบด้วย นางเรณู แสงสุวรรณ ที่ 1, นางวรรณี พรหมคง ที่ 2, นางเอื้ออารีย์ มีบุญ ที่ 3 และนางราตรี มณีรัตน์ ที่ 4 ส่วนฝ่ายจำเลย ได้แก่ บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ที่ระเบิดหินที่ เขาคูหาโดยศาลอ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า
การประกอบกิจการของบริษัทจำเลย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ แม้จำเลยจะอ้างว่าตนเองได้ประกอบกิจการภายใต้การอนุญาตและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ก็ไม่ได้นำสืบว่ามีการประกอบกิจการระเบิดหินในลักษณะใดที่ว่าเป็นไปตามมาตรฐาน อีกทั้งจำเลยเองได้เคยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสี่มาก่อนแล้วที่จะมีการฟ้องคดี ย่อมแสดงว่าการประกอบกิจการของจำเลยส่งผลกระทบต่อโจทก์ทั้งสี่ ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่า ตนได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ประมาทเลินเล่อ แต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบ ส่วนโจทก์นำสืบให้เห็นว่า จำเลยได้เคยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มาก่อน จึงต้องฟังว่า จำเลยกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า คดีขาดอายุความ ปรากฏจากการนำสืบของพยานโจทก์พบว่า จำเลยได้ทำการเบิกวัตถุระเบิดวันสุดท้ายวันที่ 31 ธ.ค.2553 และต้องใช้ให้หมด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คืนวัตถุระเบิดแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 28 ธ.ค.2553 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องว่า การระเบิดหินของจำเลยทำให้บ้านเรือนของโจทก์แตกร้าว ศาลเห็นว่า ราคาที่โจทก์อ้างฟ้องเป็นราคาที่กำหนดโดยช่าง และได้มีการตรวจสอบจากส่วนราชการ จึงกำหนดให้เต็มตามที่ฟ้อง แต่ค่าวัสดุที่ต้องมีราคาสูงขึ้นภายหลังจากการประเมิน 5% ไม่กำหนดให้
ค่าเสียหายเกี่ยวกับฝุ่น ศาลเห็นว่าไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับสุขภาพ จึงกำหนดให้เพียงค่าฝุ่นที่ทำให้บ้านเรือนสกปรก โดยกำหนดให้เป็นเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี ตามที่จำเลยได้เคยจ่ายให้กับโจทก์บางราย
ค่าหินหล่นใส่ ศาลเห็นว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากหินหล่นใส่ตัวหรือบ้าน เป็นเพียงความหวาดกลัว ซึ่งเห็นว่าเป็นการคิดค่าเสียหายทางจิตใจ ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดให้คิดค่าเสียหายทางจิตใจ จึงไม่กำหนดค่าเสียหายให้ในส่วนนี้
สำหรับค่าเสียงดังจากการระเบิดหิน ศาลไม่ได้กล่าวถึง แต่เข้าใจได้ว่าน่าจะเป็นเช่นเดียวกับค่าหินหล่นใส่ คือมองว่าเป็นค่าเสียหายทางจิตใจ
ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ดังนี้ ให้ชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 102,409.20 บาท ให้ชดใช้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 68,048 บาท ให้ชดใช้แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 200,109 บาท ให้ชดใช้แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 90,760 บาท
พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (28 ธ.ค.2553) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ และให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท
ในวันฟังคำพิพากษา โจทก์ทั้งสี่ไปพร้อมกันทั้งหมด โดยมีประชาชนจากเครือข่ายอนุรักษ์เขาคูหามาร่วมรับฟังคำพิพากษาด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เป็นโจทก์ที่ฟ้องคดีในแบบเดียวกันต่อบริษัทที่ระเบิดหิน แต่อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลจังหวัด และอีกส่วนหนึ่งเป็นแกนนำที่ถูกบริษัทจำเลยในคดีนี้ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่รณรงค์จนกระทั่งส่วนราชการยังไม่ต่อสัมปทานให้ทำเหมือง โดยกลุ่มนี้ถูกบริษัทดังกล่าวเรียกร้องถึง 64 ล้านบาทเศษ นอกจากนี้ยังมีผู้สื่อข่าวเข้าร่วมรับฟังคดีนี้ด้วย
หลังจากฟังคำพิพากษาแล้ว กลุ่มโจทก์ทั้งสี่และชาวบ้านต่างยินดีกับคำพิพากษาที่เป็นแนวทางการเยียวยาความเสียหายที่เกิดแก่ชุมชนของตน แต่ก็ยังพิจารณากันเรื่องที่ศาลไม่ได้กำหนดค่าเสียหายเกี่ยวกับเสียงและหินหล่นใส่
จากการพิจารณาคำพิพากษา พบว่า ศาลได้พิจารณาคดีนี้ตามแนวทางคดีสิ่งแวดล้อม ในหลักเรื่องผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เนื่องจากศาลเห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่า เป็นเหตุสุดวิสัย หรือเป็นไปตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ หรือเป็นเพราะเหตุของผู้ได้รับผลกระทบเอง ซึ่งปรากฏว่าจำเลยไม่ได้นำสืบในส่วนนี้โต้แย้ง
อีกทั้ง คำพิพากษาได้ยืนยันในลักษณะที่ว่า แม้จะมีการตรวจสอบว่า ผลจากการประกอบกิจการไม่มีสิ่งใดเกินค่ามาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นหรือเสียง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้อ้างว่าได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ เมื่อพิสูจน์ได้ว่ามีผลกระทบเกิดขึ้นจริง แม้จะเป็นไปโดยไม่เกินค่ามาตรฐาน จำเลยก็ยังต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายในฐานะผู้ก่อมลพิษ
แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น เนื่องจากศาลมองว่า ค่าหวาดกลัวหินหล่นใส่ หรือค่าที่เสียงดังทำให้ตกใจกลัว เป็น “ค่าเสียหายทางจิตใจ” ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดให้ชดใช้ ทำให้ศาลไม่ได้พิพากษาให้จำเลยชดเชยค่าเสียหายในส่วนนี้ ทำให้เห็นว่า กฎหมายไทยยังคงล้าหลัง ไม่สนใจว่า แท้จริงแล้ว ความเสียหายทางจิตใจ เป็นความเสียหายประเภทหนึ่งที่ต้องได้รับการเยียวยา กรณีไม่ได้รวมถึงค่าเสียหายทางสุขภาพจิต แต่หมายถึงความเสียหายทางจิตใจ ในเชิงความรู้สึก ซึ่งในกฎหมายต่างประเทศ เช่น อเมริกา หรือยุโรป มีการกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบไว้ด้วย
คำพิพากษาคดีนี้ จึงเป็นทั้งคดีตัวอย่างสำหรับ “ค่ามาตรฐานมลพิษ ไม่มีค่าเท่ากับ ค่าของความเป็นมนุษย์” แม้มลพิษไม่เกินมาตรฐาน แต่คนในชุมชนได้รับผลกระทบ ผู้ก่อมลพิษก็ต้องรับผิดชดใช้ แต่อย่างไรก็ตาม เราคงยังต้องต่อสู้กันต่อไป เพื่อให้เกิดบรรทัดฐาน การเยียวยา “ความเสียหายทางจิตใจ”