xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยมรดกโลก ตอนที่ 3

เผยแพร่:   โดย: เทพมนตรี ลิมปพยอม

   ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยประชุมครั้งที่ 34 ณ เมืองบาซิเลียน ประเทศบราซิล คณะกรรมการมรดกโลกพยายามทำการประนีประนอมต่อประเทศไทย ด้วยการเรียกประชุมเป็นการเฉพาะและยังยืนยันที่จะให้ฝ่ายไทยรับมติคณะกรรมการมรดกโลก ถึงกระนั้นก็ตามภาคประชาชนของประเทศได้ทำการประท้วงคัดค้านและปรารถนาให้ลาออกจากภาคีสมาชิก แต่รัฐบาลไทยกลับมีทีท่าวางเฉย ในที่สุดมติของคณะกรรมการมรดกโลกที่ออกมาได้สนับสนุนและช่วยเหลือกัมพูชาเพิ่มเติมจากเดิมไปอีก อาทิ ความช่วยเหลือของประเทศญี่ปุ่นในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ การสนับสนุนแผนบริหารการจัดการฉบับใหม่ที่ไม่สนใจการรุกล้ำอธิปไตยของฝ่ายกัมพูชา และการบีบบังคับให้ไทยต้องเข้าร่วม ICC พระวิหาร ในสมัยประชุมครั้งที่ 35

อีกทั้งยังนำเอาแผนที่แนบท้ายคำแถลงการณ์ร่วมซึ่งองค์การยูเนสโกได้เคยยืนยันแล้วว่าจะไม่นำมาใช้ในการพิจารณาแผนบริหารการจัดการและการขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยในครั้งนี้ฝ่ายกัมพูชามาใช้เป็นต้นแบบในการปรับแก้แผนบริหารจัดการ ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ การที่คณะกรรมการมรดกโลกเปิดโอกาสให้กัมพูชาขยายขอบเขตพื้นที่ออกไปอย่างกว้างขวางโดยการรุกรานดินแดนและอธิปไตยของไทย โดยไม่สนใจข้อเรียกร้องของฝ่ายไทยแต่อย่างใด ลายเซ็นของคุณสุวิทย์ คุณกิตติ นายซกอาน และประธานมรดกโลกบราซิลได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายในประเทศอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นการเสียเปรียบของประเทศไทย

หลังออกมติการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 34 ณ เมืองบาซิเลียน ประเทศบราซิล ประชาชนชาวไทยได้รวมตัวกันมาประท้วงเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอีกครั้ง โดยอาจเรียกว่าเป็นการชุมนุมเพื่อทวงดินแดนคืนจากประเทศกัมพูชา มีผู้ชุมนุมมาพักค้างบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์เป็นจำนวนมากตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคา 2554 เป็นเวลากว่า 144 วัน และได้ทำการยื่นหนังสือประท้วงต่อองค์การยูเนสโกประจำประเทศไทย (UNESCO) หลายครั้ง รวมถึงการมายื่นหนังสือวันที่ 17 มิถุนายน 2554 นี้ด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก และถอนตัวจากคณะกรรมการมรดกโลก

ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ, องค์การยูเนสโก (UNESCO) และเป็นรัฐภาคีสมาชิกมรดกโลกฯ มีอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของตนเองอย่างสมบูรณ์ การกระทำของประเทศกัมพูชาต่อกรณีปราสาทพระวิหารที่ผ่านมา เป็นการรุกล้ำอธิปไตยและดินแดน จนฝ่ายไทยได้มีหนังสือประท้วงหลายต่อหลายครั้ง องค์การยูเนสโกเป็นองค์กรที่มีปณิธานในการส่งเสริมสนับสนุนประเทศภาคีสมาชิกในความร่วมมือให้มีสันติภาพ มีความสงบสุข แต่พฤติการณ์และพฤติกรรมที่ปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารให้เป็นมรดกโลกนั้น มีลักษณะขัดแย้งต่อปณิธานขององค์กรที่ตั้งไว้ เพราะเมื่อมีการสนับสนุนให้ศูนย์กลางมรดกโลก คณะกรรมการมรดกโลกทำการอนุมัติการขึ้นทะเบียน ความขัดแย้งได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย มีการขัดแย้งของคนภายในประเทศ มีการรุกรานดินแดนเพื่อให้แผนบริหารจัดการมีความสมบูรณ์  มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

และล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์กองทัพกัมพูชาได้ระดมยิงจรวดและปืนใหญ่ถล่มบ้านเรือนของประชาชนคนไทยตรงบริเวณใกล้ปราสาทพระวิหารและบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร ประชาชนชาวไทยต้องอพยพหลบภัยจากอาวุธของกองทัพกัมพูชาถึง 2 ครั้งกว่า 1 แสนคน อนึ่งฝ่ายกัมพูชาได้ใช้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นที่กำบังเป็นที่สะสมอาวุธและกองกำลัง (ดังปรากฏตามภาพถ่ายที่ได้แนบมา) ซึ่งได้ละเมิดอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ข้อ 180 ที่ว่าด้วยเรื่อง Potential Danger แต่องค์การยูเนสโก ศูนย์กลางมรดกโลก  และคณะกรรมการมรดกโลกกลับนิ่งเฉย และยังคงเข้าข้างฝ่ายกัมพูชาในการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการที่รุกล้ำดินแดนประเทศไทย อีกทั้งยังมีความพยายามบีบบังคับให้ประเทศไทยต้องรับมติคณะกรรมการมรดกโลกทุกครั้ง

อย่างไรก็ดี การลาออกของคุณสุวิทย์ คุณกิตติ คือ การลาออกจากการเป็นรัฐภาคีตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ฉบับ ค.ศ. 1972 โดยมาตรา 35 ระบุไว้ว่า

1. รัฐภาคีแห่งอนุสัญญามีสิทธิในการบอกเลิกการเป็นสมาชิกในอนุสัญญา  

2. การบอกเลิกต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อผู้อำนวยการใหญ่องค์การ การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ

3. การบอกเลิกจะมีผลเมื่อครบระยะเวลา 12 เดือน นับจากวันที่มีหนังสือแจ้งตอบรับการบอกเลิกของรัฐภาคี ทั้งนี้จะไม่มีผลต่อพันธะผูกพันทางการเงินของรัฐภาคีที่บอกเลิกจนกว่าจะถึงวันที่หนังสือบอกเลิกมีผลบังคับใช้

การบอกเลิกการเป็นสมาชิกตามอนุสัญญาฯ มรดกโลกของประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2554 จึงถูกต้องตามข้อบังคับในมาตราที่ 35 แห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ เพียงแต่รอการบอกเลิกความเป็นสมาชิกเท่านั้นซึ่งต้องใช้เวลาภายใน 12 เดือน

ความหมายตามมาตรา 35 ที่ระบุว่า “รัฐภาคีแห่งอนุสัญญามีสิทธิในการบอกเลิก” นั้น รัฐไทยในฐานะเป็นภาคีตามอนุสัญญาย่อมมีสิทธิเต็มที่ในการที่จะเป็นสมาชิกหรือบอกเลิกการเป็นสมาชิก (และไม่จำเป็นต้องไปผูกพันใดๆ) แม้ว่าการลาออกของรัฐภาคีไทยจะมีผลก็ต่อเมื่อมีหนังสือตอบรับการบอกเลิกสมาชิกอย่างเป็นทางการและมีระยะเวลา 12 เดือนตามแต่ในทางปฏิบัติแล้ว รัฐภาคีไทยก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามพันธะในอนุสัญญา ยิ่งเป็นเรื่องเขตอำนาจอธิปไตยแล้ว รัฐภาคีประเทศไทยมีสิทธิที่จะต้องปกป้องอธิปไตยและดินแดนตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรแห่งสหประชาติที่ดูเหมือนจะมีความสำคัญมากกว่าอนุสัญญามรดกโลก และโดยสภาพการบังคับแห่งอนุสัญญาฯ มรดกโลกก็ไม่มีมาตราใดที่ระบุเอาไว้เลย   

อนึ่งเรื่องเขตแดนและดินแดนของรัฐภาคีนั้น องค์การยูเนสโกก็ดี ศูนย์กลางมรดกโลกก็ดี หรือแม้แต่คณะกรรมการมรดกโลกก็ดี ไม่สามารถจะทำการตัดสินหรือยกดินแดนหรืออำนาจอธิปไตยของรัฐภาคีแห่งหนึ่งไปให้กับรัฐภาคีอีกแห่งหนึ่งได้ หากแต่จำเป็นต้องแสดงความตระหนักถึงปัญหานี้อย่างยิ่งยวด (อ่านต่อวันพุธหน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น