xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำการเมืองไทย : เปรียบได้กับอสูร 4 ประเภท

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“อสูร 4 ประเภท คือ

1. อสูรที่มีอสูรเป็นบริวาร ได้แก่บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม มีบริษัทเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม

2. อสูรที่มีเทพเป็นบริวาร ได้แก่บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม แต่มีบริษัทเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม

3. เทพที่มีอสูรเป็นบริวาร ได้แก่บุคคลผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่มีบริษัทเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม

4. เทพที่มีเทพเป็นบริวาร ได้แก่บุคคลผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ทั้งมีบริษัทเป็นเช่นนั้นด้วย”

ทั้ง 4 ประเภทดังกล่าวข้างต้น เป็นพุทธพจน์ซึ่งปรากฏที่มาในพระไตรปิฎก เล่มที่ 2 ทุติยปัณณาสก์

โดยนัยแห่งคำสอนข้อนี้ เป็นการสอนในเชิงเปรียบเทียบบุคคลที่ทุศีล คือ ไม่มีศีล และไม่มีธรรม ฝ่ายดี มีแต่บาปอกุศล และมีสถานภาพเป็นผู้นำ ในขณะเดียวกันได้แบ่งประเภทผู้ตามที่มีลักษณะเดียวกับผู้นำและตรงกันข้าม

โดยนัยแห่งคำสอนข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่าผู้นำมีทั้งดี และไม่ดี ในทำนองเดียวกับผู้ตามก็มีลักษณะเดียวกัน และที่สำคัญยิ่งกว่านี้ ผู้นำไม่ดี แต่มีลูกน้องดี และในทางกลับกันลูกน้องดี แต่ผู้นำไม่ดี อันได้แก่ประเภทที่ 2 และ 3 สองประเภทนี้ถือได้ว่ามีการถ่วงดุลกัน ช่วยประคับประคองกันไปได้ถ้าทั้งสองฝ่ายฟังกัน และเคารพในเหตุผลของกันและกัน ในทำนองคนดีถ่วงดุลคนเลวในด้านคุณธรรม

ส่วนประเภทที่ 1 และ 4 ถือได้ว่าเลว 100 เปอร์เซ็นต์ และดี 100 เปอร์เซ็นต์ ประเภทที่ 1 มีให้พบเห็นในสังคมของปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสที่ทั้งผู้นำ และผู้ตาม หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ ทั้งเจ้านายและลูกน้องเลวพอกัน ในทางกลับกัน ประเภทที่ 4 ทั้งผู้นำและผู้ตามดีพอกัน พูดได้ง่ายๆ ว่าดี 100 เปอร์เซ็นต์ ประเภทนี้ไม่น่าจะพบเห็นได้ในโลกของปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส แต่จะพบเห็นได้ในหมู่อริยบุคคล ผู้มีศีลสมบูรณ์ และมีความเป็นอยู่ด้วยธรรมฝ่ายกุศล

ดังนั้นจากคำสอนข้อนี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนโดยไม่มีการแยกปุถุชนออกจากอริยชน แต่มุ่งความสมบูรณ์แห่งเนื้อหา เพื่อให้ครอบคลุมทุกชนชั้นในสังคมที่มีอยู่เป็นอยู่ ในยุคของการดำรงอยู่ แต่เมื่อมุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมโดยรวมแล้ว ผู้นำเลว ลูกน้องดี ไม่น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวมมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้นำเป็นคนเลว และไม่เปิดโอกาสให้ลูกน้องได้แสดงความคิดเห็นเพื่อการมีส่วนร่วมในการปกครอง ในทางตรงกันข้าม ผู้นำที่มีความเป็นอสูรร้าย จะมุ่งเน้นการแสวงหาประโยชน์เข้าตัวเอง โดยการครอบงำและชี้นำลูกน้องให้เดินตามไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ได้เห็นผู้นำนักการเมืองที่มีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกับอสูร ครอบงำ และชี้นำลูกน้องที่แม้เป็นคนดีให้เป็นเครื่องในการแสวงของตน โดยที่บริวารที่มีลักษณะเป็นเทพไม่มีทางโต้แย้งด้วยเหตุผลใดได้เลย ในทำนองเดียวกัน แม้ผู้นำที่มีลักษณะของความเป็นเทพ แต่ถ้าขาดความเข้มแข็ง เด็ดขาด ก็อาจถูกบริวารที่มีความเป็นอสูรอยู่เต็มตัวครอบงำ และชี้นำให้ทำตามเพื่อผลประโยชน์ของบรรดาลูกน้องประเภทอสูรได้เช่นกัน

จากเหตุผลและการอธิบายขยายความดังกล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่าในโลกที่ถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยมเฉกเช่นทุกวันนี้ โอกาสที่เราจะได้เห็นอสูรประเภทที่ 1 และ 4 คงไม่ง่ายนัก แต่มีโอกาสได้เห็นประเภทที่ 2 หรือ 3 ได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรทางการเมืองของประเทศไทยดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. ในปัจจุบันนี้การศึกษาเจริญขึ้น และคนในสังคมเข้าถึงความรู้ในแต่ละด้านได้ง่ายขึ้น และสะดวกรวดเร็วขึ้น โอกาสที่คนเลวทั้งองค์กร คือทั้งผู้นำ และลูกน้องคงได้รับการยอมรับจากผู้คนในสังคมโดยรวมได้ยาก

2. ในขณะเดียวกับที่โลกเจริญขึ้น ทรัพยากรที่เคยมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ก็ลดลง การแย่งกันอยู่ แย่งกันกินมีมากขึ้น ทำให้มนุษย์เห็นแก่ตัวมากขึ้น จึงทำให้ความดีที่มนุษย์ควรจะมีลดลง และนี่เองเป็นเหตุให้องค์กรทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรทางการเมืองมีความเป็นเทพน้อยลง และยากที่จะมีทั้งในระดับผู้นำ และผู้ตามในประเภทที่ 4

3. แต่จากความเป็นจริงที่สังคมพอยอมรับและอยู่กันได้ก็คือ เมื่อหาคนดีทั้งองค์กรไม่ได้ ก็ขอเพียงให้ได้ผู้นำดีและมีความเข้มแข็ง มีความอดทน และมีศักยภาพในการควบคุมระดับลูกน้องหรือผู้ตามให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และศีลธรรมในระดับที่ปุถุชนยอมรับได้ก็พอ

ดังนั้น อสูรประเภทที่ 3 น่าจะเหมาะแก่สังคมปัจจุบัน และมีความเป็นไปได้ ส่วนประเภทผู้นำเลว แต่ลูกน้องดี ถึงแม้จะเกิดขึ้นได้ก็ดำรงอยู่ได้โดยที่สามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมโดยรวมได้ยาก

ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้ว อุทาหรณ์ที่ดีสำหรับประเภทที่ 3 ที่เกิดขึ้นแล้ว และพบความล้มเหลวไปแล้วเพราะความอ่อนแอของผู้นำ ก็คือรัฐบาลที่กำลังรักษาการอยู่ในขณะนี้

ส่วนรัฐบาลที่กำลังจะมาแทนที่จะเป็นอสูรประเภทไหนให้อดใจรอ ไม่นานเกินรอคงจะมีพฤติกรรมปรากฏและจัดประเภทได้
กำลังโหลดความคิดเห็น