xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เหมือน “ใครจัดให้” สีสันการทูต เพื่อ“ยิ่งลักษณ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตลอดสัปดาห์ ก่อนที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศรับรอง “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย เปิดทางสู่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย นอกจากงานประชุมรายวันเพื่อจัดทำแผนนโยบายรัฐบาลกำหนดให้เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพื้นฐานแห่งรัฐ ก่อนนำไปแถลงนโยบาย

สีสันหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในพรรคเพื่อไทย ถือเป็นสีสันด้านต่างประเทศ ที่มีเอกอัครราชทูต-นักการทูตประจำประเทศไทย จากหลายประเทศ เข้าแสดงความยินดี

ตั้งแต่ “นายปีเตอร์ ชาน เจอร์ฮิน” เอกอัครราชทูตสิงคโปร์ ประจำประเทศไทย “นายเซอิจิ โอจิมะ” เอกอัครราชทูตประเทศญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย “นายรอน ฮอฟแมนน์” เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย

นอกจากนั้น ยังมี ตัวแทนประเทศต่างๆ เช่น กลุ่มประเทศแอฟริกา อาทิ ไนจีเรีย เคนยา อียิปต์ แอฟริกาใต้ และโมร็อกโก เข้าพบ ล่าสุด “นายรูดี้ เวสตาเติน” เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย ก็เข้าพบเช่นกัน

แต่ประเด็นหลัก นอกจากแสดงความยินดีแล้ว กลับมีการเสนอข่าวโดยเฉพาะสื่อบางแห่งอ้างว่า ทูตผู้นี้ไปสนใจเรื่องผู้ได้รับผลการกระทบจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม รวมถึงแผนปรองดองและทำงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ ( คอป. ) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน

ที่น่าสนใจ อีกคนก็มีข่าวจากสื่อในเครือเดียวกันนี้ออกมาทำนองว่า “นายปินาก รัญชัน จักรวรรติ” เอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย มีการพูดคุยเรื่องการเมือง เกี่ยวกับบทบาทของกกต. เขาโยนหินไปยังกกต.ไทย ว่า เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว บทบาทของ กกต. ก็ควรจะหมดวาระตามการเลือกตั้ง กกต.ไม่ควรมีบทบาทการทำงานยืดเยื้อยาวนานเกินไป หรือมีอำนาจในการชี้ขาดผลการเลือกตั้ง

กลายเป็นว่า “นักการทูตต่างประเทศ ไปเห็นด้วยกับกับพรรคเพื่อไทย กดดัน กกต.ในการรับรองส.ส.ของพรรคที่ถูกแขวน”

แทนที่หัวข่าวจะออกมาทำนองเดียวกันว่า ส่วนใหญ่จะเข้าแสดงความยินดีกับ “น.ส. ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย” ที่ชนะการเลือกตั้ง รวมถึงการประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในภูมิภาค

ทั้งนี้ ก่อนการเลือกตั้งสื่อกลุ่มเดียวกัน ก็ยังชิงเสนอข่าว “น.ส.ยิ่งลักษณ์” มีโอกาสเข้าพบกับ“นางคริสตี้ เคนนีย์” เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่ได้เชิญไปหารือที่บ้านพัก ถนนวิทยุ เมื่อ 27 มิ.ย.54 แม้ต่อมา “น.ส.ยิ่งลักษณ์” จะออกมาปฏิเสธว่า ไม่ได้เข้าพบเป็นทางการ แต่เป็นไปโดยส่วนตัวเท่านั้น

อย่างข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะเข้าพบ ตามคำเชิญของสถานทูตสหรัฐฯ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การเมืองของไทยช่วงสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง พร้อมกับวันต่อมา ก็มีข่าวหน้า 1 บางสื่อระบุว่า “สหรัฐไม่สนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหาร หรือวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” โดยล่าสุดทั้งคู่ก็พบกันอีกครั้ง ระหว่างร่วมงานวันชาติอเมริกา วันอังคาร ที่ 5 กรกฎาคม 2554 ที่ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล

หากดูกันให้ลึกๆ เหมือนกับเป็นความพยายาม เหมือนใครจัดให้ ที่จะสร้างความคึกคักในด้านการทูต-ด้านต่างประเทศให้กับ “น.ส.ยิ่งลักษณ์” ให้ภาพดูเหมือนกับว่า ต่างชาติกำลังก้าวข้าม “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จากฝั่งประชาธิปัตย์ไปแล้ว

โดยเฉพาะภาพข่าวจาก จ.เชียงราย ที่ “น.ส.ยิ่งลักษณ์” เปิดโอกาสให้ ทูตยุโรป 3 ประเทศ คือ “สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์” เข้าพบช่วงก่อนเลือกตั้ง ก็หวังเพียงกลบกระแสพรรคประชาธิปัตย์ จากความสนใจจากต่างประทศ ก็เพียงเท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น