xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากคันไซ ตอนที่ 3

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง1

โดย...ชวินทร์ ลีนะบรรจง1

จำคุก 150 ปีคดีฉ้อโกง ท่านว่าผู้พิพากษาและอัยการทำเกินไปหรือไม่ การเพิกเฉยต่อ “การเป่านกหวีด” เมื่อมีการกระทำผิดจะก่อให้เกิดผลเสียเพียงใด

มีใครรู้จักนักโทษหมายเลข 61727-054 บ้าง น่าจะรู้จักหากเอ่ยว่านักโทษผู้นั้นชื่อ เบอร์นาร์ด แมดอฟ (Bernard Madoff) ผู้ถูกตัดสินจำคุก 150 ปีทั้งๆ ที่ขณะถูกตัดสินมีอายุ 71 ปีแล้ว มาทำความรู้จักเขาผู้นี้ให้ดีมากขึ้นดีกว่าหลังจากเพิ่งผ่านวันพระใหญ่ไปไม่นานว่าทำไมแมดอฟจึงต้องโทษขนาดนั้น อัยการผู้ขอให้ลงโทษและผู้พิพากษาบ้าไปแล้วหรือไม่

แมดอฟเป็นคนทำมาหากินในด้านการเป็นนายหน้าค้าหุ้น ธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จจากการทำเสนอราคาซื้อ-ขายหุ้นในระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแข่งกับตลาดหุ้นที่นิวยอร์ก และได้กลายมาเป็นตลาดซื้อขายหุ้นอีกตลาดหนึ่งที่เรียกว่าตลาดของสมาคมนายหน้าค้าหลักทรัพย์ (National Association of Securities Dealer) ที่เป็นเจ้าของดัชนี NASDAQ ซึ่งในภายหลังทำให้เขาเป็นประธานกรรมการของสมาคมนายหน้าค้าหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาเป็น “ขาใหญ่” ในวงการ

ธุรกิจที่ทำรายได้ให้แมดอฟกลับกลายเป็นธุรกิจการจัดการกองทุนที่เป็นเงินของเอกชนมาให้แมดอฟบริหาร เหตุที่มีคนเชื่อถือเอาเงินมาให้เขาจัดการมิใช่เป็นเพราะเขาเป็น “ท่านประธาน” แต่เนื่องจากกองทุนที่เขาบริหารมีกำไรแน่นอน แม้ไม่มากแต่ “ไม่มีขาดทุน” สิ่งนี้จึงเป็นเสมือนใบอนุญาต ใบรับประกัน และเครื่องหมายการค้า ที่ทำให้คนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ว่าจะนำเอาเงินออมที่มีอยู่ไปลงทุนอะไรจึงจะได้ผลตอบแทนดีวิ่งเข้ามาหาอย่างไม่ขาดสาย

แต่โดยเนื้อแท้แล้วแมดอฟมิได้ใช้ความรู้ความสามารถในการลงทุน หากแต่ประพฤติตนเป็น “ชม้อย” นำเอาเงินของคนใหม่ที่มาลงทุนกับเขาไปจ่ายให้กับคนเก่าหรือ Ponzi scheme แต่แมดอฟฉลาดที่จะไม่จ่ายผลตอบแทนให้สูงลิบลิ่วเป็นเครื่องล่อใจเหมือน “ชม้อย” หากแต่ใช้วิธีจ่ายเงินปันผลให้ไม่มาก แต่แน่นอนและรับประกันในทำนองว่าจะ “ไม่ขาดทุนเงินต้น” เป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดลูกค้าใหม่เพื่อนำเงินไปจ่ายลูกค้าคนอื่นๆ ต่อไป

ลูกค้าของแมดอฟจึงเป็นเอกชนที่มีเงิน “เย็น” เช่น เงินของมูลนิธิ หรือผู้เกษียณอายุ ทำให้แมดอฟไม่ตกเป็นเป้าให้ผู้กำกับดูแล เช่น กลต.สหรัฐฯ เข้ามาตรวจสอบการจ่ายเงินปันผล 50 ล้านต่อปีจากเงินลงทุน 1,000 ล้าน ดูไปแล้วไม่หวือหวาและไม่สร้างปัญหาทางการเงินให้กับเขาที่ต้องรีบไปหาลูกค้าใหม่มาเพิ่มอย่างรวดเร็วเพื่อให้มีเงินพอจ่ายเงินปันผลที่หวือหวาเกินจริงเหมือน “ชม้อย” หรือคนอื่นๆ ที่ทำ Ponzi scheme เพราะการเอาเงิน 50 ล้านของเจ้าของเงิน 1,000 ล้านมาจ่ายคืนให้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 ปีเงินต้นจึงจะหมด

ธุรกิจแบบครอบครัวเล็กๆ ของแมดอฟเริ่มในราวปี ค.ศ. 1960 จนก่อนที่เรื่องการฉ้อโกงนี้จะปรากฏออกมาในปี ค.ศ. 2008 มีการประมาณว่ามีความเสียหายในราว 1.71 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่มีใครบอกได้แน่ชัดถึงตัวเลขที่แน่นอนเพราะมีการคาดว่ามีเงินอีกจำนวนมากที่เจ้าของเงินทำธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น มาเฟียของรัสเซีย หรือพ่อค้ายาเสพติดจากละตินอเมริกา และไม่ได้มาเป็นผู้เสียหายเรียกร้องเงินคืน

การที่แมดอฟทำ “แชร์แม่ชม้อย” หรือ Ponzi scheme ในยุคปัจจุบันได้เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปีโดยไม่ถูกใครจับได้ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลต.สหรัฐฯ ที่เป็นผู้กำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรง เพราะแมดอฟเป็นผู้ออกมายอมรับสารภาพเองมิได้เป็นเพราะถูก กลต.สหรัฐฯ ตรวจสอบจับได้ไล่ทันแต่อย่างใด

หากไม่มีเหตุวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2008 ธุรกิจ “แชร์แม่ชม้อย” ของแมดอฟอาจยังไม่ถึงจุดจบ วิกฤตฯ นี้ทำให้เอกชนทั่วไปต้องการเงินสดจำนวนมาก ส่งผลทำให้กองทุนที่เขาดูแลถูกไถ่ถอนต้องหาเงินมาจ่ายคืนจำนวนมากในเวลาเดียวกันซึ่งไม่มีทางทำได้เพราะไม่ได้นำเงินไปลงทุนแต่อย่างใด

แมดอฟในวาระสุดท้ายได้ออกมายอมรับเองกับลูกชายทั้ง 2 คนที่ตกใจเมื่อทราบว่าพ่อของเขาได้สั่งให้มีการจ่ายโบนัสให้กับพนักงานเป็นจำนวนเงินกว่า 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นการ “ทิ้งทวน อำลา” ทั้งๆที่ในขณะนั้นธุรกิจของเขากำลังต้องการเงินเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับการไถ่ถอนฯว่าเขามิได้บริหารจัดการกองทุนแต่อย่างใด ลูกชายจึงต้องไปแจ้งทางการในเวลาต่อมา

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทำไม กลต.สหรัฐฯ จึงไม่สามารถตรวจพบการกระทำเช่นนี้ได้ ทั้งๆ ที่มี “ผู้เป่านกหวีด” เมื่อเห็นผู้กระทำผิด เช่น นายแฮร์รี่ มาโคโพลอส (Harry Markopolos) ผู้รวบรวมหลักฐานร้องทุกข์กล่าวโทษแมดอฟต่อ กลต.สหรัฐฯหลายครั้งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 เป็นต้นมาแต่ได้รับการละเลยเพิกเฉยมาโดยตลอดกว่า 10 ปี จนทำให้เมื่อมีการฟ้องร้องดำเนินคดีในปี ค.ศ. 2008 โดยที่ กลต.สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นผู้แจ้งกล่าวโทษจึงต้องมีการสอบสวนกรณีนี้แจ้งต่อสาธารณชนในปี ค.ศ. 2009 เพื่อหาสาเหตุอธิบายว่าทำไมจึงไม่มีการดำเนินการอะไร

เมื่อเข้าไปอ่านรายงานการสอบสวนที่ยาวกว่า 400 หน้าอาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า กลต.สหรัฐฯ แม้จะได้รับรายงานจากหลายแหล่งที่น่าเชื่อถือในหลายช่วงเวลา แต่เจ้าหน้าที่ กลต.สหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมของแมดอฟตามที่เหมาะสมและไม่ได้ดำเนินการที่จำเป็นเพื่อพิจารณาว่าธุรกิจที่แมดอฟทำอยู่นั้นเป็น Ponzi schemeหรือไม่ รายงานนี้ยอมรับว่าหากมีการดำเนินการที่เหมาะสมก่อนหน้านี้คงจะตรวจพบความผิดของแมดอฟได้ไม่ยาก

มูลเหตุแห่งความสงสัยของมาโคโพลอสก็คือ เมื่อมีการขอให้เขาตรวจสอบวิธีการลงทุนของแมดอฟเพื่อที่จะทำเลียนแบบบ้างก็พบว่ามีอยู่ 2 วิธีเท่านั้นที่จะสามารถทำกำไรตามที่แมดอฟได้ก็คือ Ponzi scheme และการซื้อดักหน้า หรือ front running ที่ผู้จัดการกองทุนของรัฐในอดีตรายหนึ่งของไทยได้เคยทำมาแล้วโดยการซื้อล่วงหน้าในหุ้นที่กองทุนจะซื้อ หรือขายล่วงหน้าเมื่อกองทุนจะขาย ไม่มีกลยุทธ์การลงทุนใดยกเว้น 2 วิธีข้างต้นที่ทำให้ได้ผลตอบแทนเอาชนะตลาดได้เกือบตลอดเวลาในขณะที่ตลาดมีความผันผวนเป็นอย่างมาก เปรียบได้กับการยิงลูกโทษที่ผู้รักษาประตูสามารถเดาใจพุ่งไปในทิศทางเดียวกับผู้ยิงประตูยิงและป้องกันได้เป็นส่วนใหญ่

มาโคโพลอสเชื่อว่าแมดอฟทำ Ponzi scheme เพราะมีหลักฐานจำนวนมากบ่งชี้ว่า หากแมดอฟมีการนำเงินไปลงทุนจริง จะต้องปรากฏหลักฐานการทำธุรกรรมเพราะขนาดของเงินลงทุนที่ดูแลนั้นใหญ่มาก แต่ กลต.สหรัฐฯ ก็มิได้ดำเนินการขอข้อมูลเพื่อยืนยันธุรกรรมที่แมดอฟอ้างว่าได้ดำเนินการไปจากบุคคลที่สาม กลต.สหรัฐฯ เอาแต่เชื่อข้อมูลจากแมดอฟแต่เพียงด้านเดียวโดยไม่ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องเพราะหากตรวจสอบก็จะทราบทันทีว่าแมดอฟโกหก ไม่มีการนำเอาเงินไปลงทุนตามที่อ้างไว้แต่อย่างใด แมดอฟยอมรับในภายหลังว่าเขาน่าจะถูกจับหลายครั้งหากผู้สอบสวนตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานอื่นๆ เพื่อยืนยันคำให้การ

ในขณะที่ผู้ที่มีหน้าที่ไต่สวนของ กลต.สหรัฐฯ ก็กลับระแวงสงสัยมูลเหตุจูงใจมาโคโพลอสที่มิได้เป็นผู้ลงทุนหรือเกี่ยวข้องโดยตรงจนเป็นที่มาของอคติและเพิกเฉยข้อมูลสำคัญที่ได้รับ นอกจากอคติแล้ว การใช้คนไม่มีประสบการณ์ก็เป็นสาเหตุสำคัญ รายงานฯ ระบุหลายครั้งว่าเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบหรือไต่สวนแมดอฟขาดประสบการณ์ เช่น เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยและมาทำงานกับ กลต.สหรัฐฯ ได้เพียง 19 เดือน ไม่มีความรู้ทางด้านการเงินเพียงพอและไม่สนใจที่จะค้นหาข้อเท็จจริงมากกว่าความเชื่อที่ตนเองมีอยู่ มองปัญหาเพียงแต่ว่าแมดอฟไม่มีใบอนุญาตจัดการกองทุนโดยไม่มองภาพรวมว่าแมดอฟกำลังฉ้อโกงประชาชนด้วย Ponzi scheme

ภายหลังจากที่แมดอฟสารภาพกับลูกชายว่าไม่ได้นำเงินไปลงทุนแต่อย่างใด เขาถูก FBI จับกุมในวันที่ 11 ธ.ค. 2008 1 วันให้หลัง เขาถูกตั้งข้อหาทั้งหมดรวม 11 กระทง และยอมรับว่าผิดทุกข้อกล่าวหาในวันที่ 12 มี.ค. 2009 แมดอฟรับว่าธุรกิจของเขาก็แค่นำเงินจากผู้ลงทุนไปฝากธนาคารและคอยถอนเงินไปจ่ายเป็นเงินปันผลในราวร้อยละ 5 ของเงินลงทุนก็เท่านั้นเอง

ในวันที่ 29 มิ.ย. 2011 ผู้พิพากษาชิน (Denny Chin) พิพากษาลงโทษจำคุกแมดอฟ 150 ปีตามคำขอของอัยการ ขณะที่ทนายจำเลยขอให้ลงโทษ 12 ปีโดยอ้างการเปิดโปง รับสารภาพและเข้ามอบตัวด้วยตนเอง ส่วนกรมราชทัณฑ์ขอให้ลงโทษ 50 ปี

ผู้พิพากษาชินให้เหตุผลในการลงโทษจำคุกที่มากที่สุดนี้ว่า พฤติกรรมของแมดอฟน่าเชื่อว่าได้กระทำมานานแล้วมิใช้เพิ่งกระทำดังที่อ้าง การลงโทษ 12 ปีตามที่ทนายจำเลยขอหมายความว่าแมดอฟยังมีโอกาสที่จะได้เห็นแสงตะวันนอกคุกซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผู้พิพากษาชินอยากส่งสัญญาณ เพราะการกระทำของแมดอฟนั้นก่อให้เกิดผลเสียกับความเชื่อมั่นและสร้างความกังวลในด้านการเงินจนสังคมต้องสูญเสียอิสรภาพทางการเงินไป การกระทำของแมดอฟจึงเป็นสิ่งชั่วร้ายเกินกว่าที่สังคมจะยอมรับได้ ไม่เกี่ยวกับว่า รวยจน แก่หนุ่ม หรือชนชั้นทางสังคม โทษจำคุก 150 ปีจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้พิพากษาท่านนี้ตั้งใจส่งสัญญาณออกไป

ผลกรรมจากการกระทำของแมดอฟก็คือ ลูกชายคนหนึ่งฆ่าตัวตายเช่นเดียวกับผู้ลงทุนรายอื่นๆ อีกหลายราย ขณะที่ภรรยาก็ไม่ได้มาศาลเพื่อให้กำลังใจสามีในวันตัดสินคดี เครือญาติและครอบครัวได้รับการประณามและถูกฟ้องร้องโดยทั่วหน้า

ประสบการณ์ในเรื่องนี้ได้สอนให้รู้ว่า หน่วยงานที่อ้างตนว่ามีอิสระในการตัดสินใจไม่ว่าจะเป็น กลต.ของประเทศใด อัยการ ตำรวจ มักจะใช้ “อิสระ” ดังกล่าวไปในทางที่ “ไม่อิสระ” และขาดเหตุผลรองรับการตัดสินใจอยู่เสมอ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ กลต.ไทยไม่สนใจเรื่องการโกหกให้ข้อมูลที่เป็นเท็จกับผู้ลงทุนของ “ปู” ในกรณีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นฯ หรือ กกต.ไม่สนใจใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในการกลั่นกรองผู้ที่จะเข้ามาใช้อำนาจประชาชน

ในขณะที่ “ผู้เป่านกหวีด” มักจะถูกสงสัยในความเป็น “อิสระ” หรือแรงจูงใจอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของมาโคโพลอส หมอตุลย์และแก้วสรร หรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในกรณีการเปิดโปงการคอร์รัปชันของระบอบทักษิณและกรณีปราสาทพระวิหาร หน่วยงานของรัฐมักไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวนการกระทำผิดแม้จะมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือโดยมักอ้างว่า “ผู้เป่านกหวีด” ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แต่ “ผู้เสียหายโดยตรง” ที่หน่วยงานเหล่านี้เป็นตามที่กฎหมายกำหนดก็ละเลยที่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่มีอยู่ อันเป็นการบั่นทอนการทำความดีและสนับสนุนการไม่เอาเรื่องส่วนรวมมาเป็นธุระ

ท่านทั้งหลายที่สนับสนุนเรื่องการยกเลิกการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตาม ม. 112 ควรตระหนักว่า หากยกเลิกไปก็จะไม่มี “ผู้เป่านกหวีด” แล้วจะให้ “ใคร” มาเป็นผู้กล่าวโทษ

ที่สำคัญความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม คดีแมดอฟใช้เวลาเพียง 2 ปีครึ่งเท่านั้นเมื่อเทียบกับที่มาโคโพลอสไปร้องทุกข์กล่าวโทษกว่า 10 ปีก่อนที่จะมีการดำเนินคดี และศาลก็กล้าหาญพอที่จะลงโทษเพื่อ “เป็นเยี่ยงอย่าง” ให้สมน้ำสมเนื้อและให้สังคมได้รับทราบ

จำคุก 150 ปีสำหรับคดีฉ้อโกงอาจจะเป็นโทษที่อยู่นอกเหนือจินตนาการ แต่ก็เป็นไปเพื่อเป็นสัญลักษณ์และส่งข้อความให้สังคมได้รับรู้ แล้วคดีเผาบ้านเผาเมืองผู้อ่านคิดว่าอัยการและศาลจะกล้าหาญเป็นอิสระเหมือนกรณีผู้พิพากษาชินผู้นี้และอัยการผู้เสนอโทษ 150 ปีหรือไม่ หรือจะ “ปล่อยคนชั่วให้ลอยนวล”

**1 The Japan Foundation Fellowship, บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน Japan Foundation ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วยแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น