xs
xsm
sm
md
lg

๓ ก.ค. ๒๕๕๔ ..วันเลือกล้ม..ควงสว่านม้วนไหลลงก้นท่อ

เผยแพร่:   โดย: ทวิช จิตรสมบูรณ์

รู้ผลกันไปแล้ว สำหรับการ เลือกล้ม เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่เพิ่งผ่านไปหยกๆ ที่ใครๆ ก็ออกมาบอกว่าต้องเคารพเสียงข้างมาก

สำหรับผู้เขียนไม่ขอเคารพจนเกินการณ์ เพราะเราท่านก็รู้กันอยู่เต็มอกว่ามันมีการซื้อเสียงมากเหลือเกิน จะให้เคารพเสียงข้างมากที่ถูกซื้อมาอย่างนั้นหรือ ไม่เลย เราควรช่วยกันประณาม หรือกระทั่งกระทืบด้วยซ้ำไป

นั่นว่าเฉพาะซื้อทางตรง แต่ยังมีการซื้อเสียงทางอ้อมอีกมากมาย เช่น สัญญาว่าจะให้ประชานิยมในรูปแบบต่างๆ

เราท่านมักติดปากด่า ส.ส.ที่ซื้อเสียง แต่ที่จริงแล้วต้องโทษคนเลือกด้วย เพราะคนเลือกเป็นอย่างไรก็ได้ ส.ส.อย่างนั้น คนเลือกเป็นกาจะให้ ส.ส.เป็นหงส์ได้หรือ

ถ้าคนเลือกเข้มข้นและเข้มแข็งด้วย คนเลวๆ มันก็คงไม่กล้ามาลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะสมัครไปก็เสียเงินเปล่าและเหนื่อยเปล่า ตรงกันข้ามถ้าคนเลือกมันเหลวเป๋วคนดีๆ ที่ไหนเขาจะกล้ามาลงสมัคร เพราะสมัครไปก็เหนื่อยเปล่า พวกเหลวเป๋วมันไม่เลือกให้ฉลาดหรอก

ถ้าคุณภาพคนเลือกยังเป็นแบบนี้ ยิ่งเลือกก็ยิ่งล้ม (ประเทศล้ม) เพราะยิ่งเลือกก็ยิ่งได้คนเลวเข้าสภาไปบริหารประเทศ

กรณีผู้นำพรรคใหญ่ไม่ยอมโต้วาทีกับผู้นำพรรคอื่นนั้น ถ้าเป็นในประเทศที่ประชาชนเขาเข้มข้นทางการเมือง พรรคการเมืองนั้นจะล่มทันที แต่ของเรากลับได้ดี ไม่มีใครว่า เพราะประชาของเราไม่เข้มข้นและเข้มแข็งนั่นเอง

ส.ว.ท่านหนึ่งสารภาพกับผู้เขียนว่าเมื่อก่อนก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดผู้เขียน ที่เสนอให้มีการคัดเลือกผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยการสอบความรู้ทางการเมือง แต่วันนี้ท่านเห็นด้วยแล้วว่าถ้าขืนปล่อยไปแบบนี้ประเทศไทยเราแย่แน่

ถ้ากลัว (หรือขี้ขลาด) ว่าการสอบความรู้ดังกล่าวนั้น มันจะขัดต่ออุดมคติปชต. (วันแมนวันโหวต ตามที่ลอกขี้ปากฝรั่งมา) ก็อาจใช้ระบบที่ให้ทุกคนมีสิทธิพื้นฐานได้ 1 คะแนนออกเสียง แต่ถ้าใครสมัครใจไปสอบความรู้การเมืองเพิ่มเติมอาจได้คะแนนเลือกตั้งมากขึ้นเป็น 10 ก็ได้ ถ้าทำคะแนนสอบ 30 ข้อได้ถูกหมด

คน กทม.มีประมาณ 10% แต่เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล 80% ของคนทั้งประเทศ นี่ถ้านับคนชั้นกลางตามหัวเมืองในเขตหนึ่งของทุกจังหวัดด้วย ตัวเลขน่าจะถึง 95% นี่มันหมายความว่าอะไร?

น่าจะจัดกลุ่มได้ว่าคนชั้นล่างคือคนที่มีรายได้น้อย จนไม่ถึงระดับที่ต้องเสียภาษี ส่วนใหญ่คนพวกนี้จะอยู่ในอีสาน รองลงไปคือภาคเหนือ กลุ่มนี้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนชั้นกลางน่าหมายถึงคนที่เสียภาษีเงินได้จนถึงระดับ 20% (น่าจะมีประมาณ 20% ของคนทั้งประเทศ) ที่เสียภาษีเกิน 20% ถือเป็นคนชั้นบน (น่าจะมีประมาณ 5%)

คนชั้นกลางนั้นส่วนใหญ่จะเลือกพรรคการเมืองหนึ่ง ส่วนคนชั้นล่างนั้นส่วนใหญ่จะเลือกอีกพรรคการเมืองหนึ่ง และพรรคที่คนชั้นล่างส่วนใหญ่เลือกนั้นก็มักได้จัดตั้งรัฐบาล

กลายเป็นว่าพรรคที่ถูกเลือกโดยคนที่เสียภาษีส่วนใหญ่ 95% (ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย) ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลเพื่อไปบริหารงบประมาณนี้ กลับกลายเป็นพรรคที่เลือกโดยคนจนส่วนมากที่ได้เข้าไปบริหารประเทศและบริหารเงินงบประมาณ จากนั้นพวกเขาก็กินกันตามน้ำทวนน้ำแล้วเอาเงินที่ได้มานี้ ไปซื้อเสียงคนจน (ที่ไม่ได้เสียภาษี) แล้วกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลเพื่อบริหารงบประมาณอีกรอบ..วงจรอุบาทว์

เท่ากับว่าคนชั้นกลางและชั้นบนนี่แหละคือผู้ทำงานหนักเพื่อหาเงินมาให้พวกนักเลือกตั้งชั้นเลวพวกนี้ซื้อเสียง เข้าไปโกงกินบ้านเมือง
เราจะช่วยกันกู้ชาติได้อย่างไรดี หรือว่าปล่อยให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่เสียภาษีเงินได้ได้เรียนรู้จากความเจ็บปวดเสียบ้างสักระยะเวลาหนึ่ง พอมันเจ็บมากๆ มันก็คงได้คิดเองสักวัน

ฟังดูดี แต่ผู้เขียนเกรงว่า มันจะล้มแบบไม่ลุกเสียก่อน แบบว่าล้มหายตายจากจนสิ้นชาติไปเลย เพราะไอ้พวกนักเลือกตั้งพวกนี้พอมันยิ่งรวยจากธุรกิจการเมืองเท่าไร ก็ยิ่งทำให้มันกุมอำนาจได้มากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งยากที่จะหลุดออกมาจากวงจรอุบาทว์

ระบบการเมืองไทยวันนี้มันเป็นระบบที่ “กินตัวเอง” ถ้าปล่อยไปแบบนี้ชาติไทยจะเลือนหายไปในที่สุด สำนวนภาษาฝรั่งเขาเรียกกันว่า spiral down the drain (ควงสว่านม้วนไหลลงก้นท่อ)

ถ้ามีการสอบดังที่เสนอ เชื่อว่าคนที่ขายเสียง (เสียงชั้นเลว) อาจได้เสียงเพิ่มขึ้นจากการเดาข้อสอบ ทำให้ได้เพิ่มจาก 1 เป็น 3 โดยเฉลี่ย แต่คนชั้นกลางจะได้ประมาณ 8 คะแนน คะแนนของคนพวกนี้เป็นคะแนนที่มีคุณภาพ ที่ไม่อาจซื้อขายได้ ดังนั้นคะแนนที่เพิ่มมากขึ้นนี้ก็จะสามารถถ่วงดุลกับคะแนนที่ถูกซื้อมาของคนชั้นล่างได้ทีเดียว

ถ้าทำแบบนี้พรรคที่ซื้อเสียง จะได้ ส.ส.น้อยลง จนไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล การลงทุนสูญเปล่า ก็จะเข็ดจนไม่ซื้อเสียง แต่หันมาพัฒนาคุณภาพทางการเมืองเพื่อจะได้คะแนนสูงขึ้นจากคนที่มีคะแนนหนัก เป็นแรงผลักดันให้การเมืองของไทยค่อยๆ พัฒนาดีขึ้นเป็นลำดับ

แล้วความดีขึ้นนี้มันก็จะล้นไหลไปสู่คนชั้นล่างโดยปริยาย ..จะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ทำให้ประเทศไทยล้ม
กำลังโหลดความคิดเห็น