xs
xsm
sm
md
lg

แนะ“พ่อยก-แม่ยก”แมลงสาบ อย่าหมกมุ่น “การเมือง” จนจิตตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (5 ก.ค.) นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวแนะนำว่า หากเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง ควรติดตามฟังสรุปข่าวเป็นระยะๆ ไม่ควรตามติดตลอดเวลา เพราะจะทำให้รู้สึกลุ้นกับข่าวจนเกิดเป็นความเครียด บางคนอดนอนติดตามข่าว ทำให้เสียสุขภาพกาย หากเป็นผู้มีภาวะทางจิต หรือคนที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงผู้ป่วยทางจิต แม้จะรักษาหายแล้วก็ตาม เพราะการเกาะติดข่าวสารการเมือง จะทำให้จิตใจว้าวุ่น หลับยาก ส่งผลให้โรคต่างๆ กำเริบได้ ทั่วไปเข้าใจว่า การที่โรคกำเริบเป็นเพราะหมกมุ่นดูข่าวการเมืองหรือไม่ แท้จริงแล้วไม่ใช่เหตุผลนี้เพียงอย่างเดียว แต่มาจากการที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
“ความเครียด ความผิดหวังที่เกิดจากผลการเลือกตั้ง จะอยู่กับเรานานกว่าความผิดหวังจากการเชียร์กีฬา หรือการประกวดต่างๆ แต่ทั้งนี้ไม่น่าจะเกิน 2 สัปดาห์น่าจะปรับตัวได้ โดยอธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะนำให้มองว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องของประเทศ ความสมหวังหรือผิดหวังที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องนำมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะจะเป็นประเด็นทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่ควรยอมรับว่า การอยู่ร่วมกันหมู่มากต้องยึดหลักกติกา คือ ยอมรับฟังเสียงส่วนใหญ่ และคิดว่า ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะได้ดั่งใจหมดทุกอย่าง”
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า การที่ผู้ปกครองแสดงอารมณ์หรือพูดหยาบคายต่อหน้าบุตรหลานในทางการเมืองโดยไม่ได้ตั้งใจ ขณะดูข่าวการเมือง จะทำให้เด็กรับรู้ถึงความรุนแรง และปลูกฝังความเกลียดชังให้กับเด็ก โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กเล็ก ซึ่งยังแยกแยะไม่ออก จะทำให้เกิดความกลัวขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3-6 ขวบ
ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กแนะนำว่า ทางที่ดีที่สุดพ่อแม่ไม่ควรให้เด็กดูข่าวการเมือง แต่หากเลี่ยงไม่ได้ก็ไม่ควรใช้คำพูดที่หยาบคาย รุนแรง หรือแสดงความไม่เป็นกลาง นอกจากนี้ ควรชี้แนะบุตรหลานด้วยว่าพฤติกรรมไหนควรทำหรือไม่ควรทำ โดยเฉพาะข่าวที่เน้นให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรง พ่อแม่จะต้องคอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำ ควรนำหลัก "5 ต." มาใช้กับตัวเอง เพื่อให้เด็กเอาเยี่ยงอย่าง ดังนี้ "แตกต่าง" แต่ไม่แตกแยก "ติดตาม" ข่าวสารแต่อย่าให้ลูกติดใจ คืออย่าผูกติดกับคนที่ชอบ รู้จักปล่อยวาง และไม่ติดใจกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจนเกินไป "ไตร่ตรอง" ข้อมูล แต่อย่างตรอมตรม เพื่อวางใจเป็นกลาง และการคิดจะเป็นกลาง "ตระหนัก" แต่ไม่ตระหนก คือการตระหนักรู้ถึงปัญหา และค่อยๆ แก้ไขอย่างมีสติ และ "ตื่นตัว" แต่ไม่ตื่นตูม เพราะการตื่นตูมจนเกินไปจะนำปัญหาต่างๆ มาให้
กำลังโหลดความคิดเห็น