xs
xsm
sm
md
lg

ตาดีหลอกตาบอด : การเมืองไทยวันนี้

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“คนตาบอดแต่กำเนิดไม่เคยเห็นสีต่างๆ ไม่เคยเห็นสิ่งราบเรียบ และไม่สม่ำเสมอ ไม่เคยเห็นดวงดาว พระจันทร์ พระอาทิตย์ ได้ยินคนตาดีเขาพูดว่าผ้าสีขาวดี ก็แสวงหาผ้าขาว แต่ถูกคนบางคนหลอกเอาผ้าสกปรกเปื้อนน้ำมันมาให้ (โดยบอก) ว่านี่แหละผ้าขาว ก็หลงห่มและชื่นชมว่าเป็นผ้าสะอาด มิใช่เพราะรู้เห็น แต่เพราะเชื่อคนตาดีเขาว่า” นี่คือส่วนหนึ่งแห่งพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่มาคัณฑิยปริพาชก ซึ่งปรากฏที่มาในพระไตรปิฎกเล่มที่ 13 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

โดยนัยแห่งคำสอนดังกล่าวข้างต้น เป็นคำสอนในทำนองเปรียบเทียบคนที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยตนเอง แต่เชื่อในสิ่งนั้นตามที่คนอื่นเขาบอก โดยไม่ได้ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองว่าควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อว่า เป็นเสมือนคนตาบอดแต่กำเนิด ไม่เคยเห็นสีต่างๆ เพียงได้ยินคนอื่นเขาบอกว่าสีนั้นสีนี้ดีก็เชื่อตามนั้น

ความเชื่อในลักษณะนี้ ในทางพุทธศาสนาเรียกศรัทธามืดบอด คือเชื่อโดยไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรอง และความเชื่อในลักษณะนี้ถ้าเกิดขึ้น และดำรงอยู่ในบุคคลใด และกลุ่มบุคคลใดจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อบุคคลนั้น และสังคมนั้น เพราะจะตกเป็นเหยื่อของคนบางคนหรือกลุ่มบุคคลที่อาศัยความเชื่อในทำนองนี้หลอกลวงให้ทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ง่ายๆ และการหลอกให้เชื่อในลักษณะนี้เกิดขึ้น และดำรงอยู่ในสังคมไทยมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมของนักการเมืองในฤดูกาลปราศรัยหาเสียงเพื่อการเลือกตั้ง และตัวอย่างที่เปรียบได้กับคนตาดีหลอกคนตาบอดในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของนักการเมือง จะเห็นได้จากเรื่องดังต่อไปนี้

1. นโยบายที่พรรคต่างๆ นำเสนอต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ และสังคมซึ่งเน้นหนักในเรื่องของประชานิยมที่ล้วนแต่สรรหาถ้อยคำจูงใจให้คนเลือก เช่น จะมีการขึ้นค่าแรงเท่านั้นเท่านี้ แต่ไม่มีการพูดถึงว่าจะมีรายได้มาจากไหน และจากการได้มาซึ่งรายได้ส่วนนี้ประชาชนจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่ มากน้อยเท่าใด และถ้าไม่ขึ้นภาษีประเทศจะต้องกู้เพิ่มเป็นจำนวนเงินเท่าใด และมีศักยภาพในทางเศรษฐกิจพอที่จะก่อหนี้เพิ่มได้หรือไม่ จึงพูดได้ว่าเป็นการให้ข้อมูลด้านเดียว คือด้านที่ทำให้ประชาชนฟังแล้วเกิดความคาดหวัง ซึ่งก็คือการหลอกให้เชื่อรูปแบบหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม คำพูดในลักษณะนี้อาจจูงใจคนให้เห็นด้วยได้ไม่หมด เพราะยังมีคนบางคนบางกลุ่มที่มองทุกอย่างด้วยเหตุด้วยผล โดยใช้สติปัญญากลั่นกรอง และคนกลุ่มนี้เรียกได้ว่าเป็นคนตาดีเพราะมีปัญญามากพอที่จะแยกแยะดีชั่ว และผิดถูกออกจากกันได้ จึงตกเป็นเหยื่อแห่งการถูกหลอกได้ยาก

แต่คนส่วนใหญ่ที่เห็นด้วย และคล้อยตามการชี้นำของนักการเมือง ด้วยเหตุที่มองเห็นเพียงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ และไม่มองหรือมองไม่เห็นผลกระทบในทางลบที่จะเกิดตามมา คนกลุ่มนี้ที่นักการเมืองหลอกให้หลงเชื่อ และคาดหวังลมๆ แล้งๆ ว่าถ้าเลือกนักการเมืองคนนี้ และเลือกพรรคนี้แล้วจะได้สิ่งที่ตนเองคาดหวัง แต่ไม่เคยมองว่านักการเมือง และพรรคการเมืองที่ตนเองเลือกจะได้เป็นรัฐบาล และนำสิ่งที่สัญญาต่อประชาชนไว้มาเป็นนโยบายบริหารประเทศได้หรือไม่ หรือได้เป็นรัฐบาลแต่เป็นเพียงพรรคร่วม มิได้เป็นแกนนำจะมีโอกาสนำสิ่งที่สัญญาไว้มาเป็นนโยบายได้หรือไม่

ถ้านักการเมืองและพรรคการเมืองที่เลือกไว้ไม่ได้เป็นรัฐบาล หรือได้เป็นแต่มิได้นำสิ่งที่สัญญาไว้มาเป็นนโยบายบริหารประเทศ หรือได้นำมาเป็นนโยบาย แต่ศักยภาพของประเทศไม่เอื้อให้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้คนที่เลือกก็ผิดหวัง และความผิดหวังในทำนองนี้เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง และดูเหมือนว่าจะมากกว่าความสมหวังด้วยซ้ำ และคนที่ผิดหวังในลักษณะนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากคนตาบอดที่ถูกคนตาดีหลอก

2. การทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่ในวงราชการ วันนี้เป็นที่สนใจของประชาชนและคนส่วนใหญ่ หรือพูดได้ว่าทุกคนยกเว้นคนที่ได้ประโยชน์จากพฤติกรรมคอร์รัปชัน ซึ่งพออนุมานได้ว่ามีอยู่ 3 กลุ่มอันเป็นองค์ประกอบหลัก คือ

2.1 พ่อค้าที่ทำธุรกิจต้องติดต่อประสานงานกับส่วนราชการ คือเป็นผู้รับจ้างให้รัฐ เช่น บริษัทที่รับเหมาก่อสร้างหรือรับจ้างทำของ และให้ประโยชน์แก่ข้าราชการ และนักการเมือง

2.2 ข้าราชการประจำที่เป็นผู้ดูแลงานของรัฐในระดับกระทรวง ทบวง กรม เป็นคนตั้งแท่นเสนอโครงการให้นักการเมืองที่มีตำแหน่งหน้าที่ระดับรัฐมนตรีเจ้าสังกัดกระทรวงอนุมัติ

2.3 นักการเมืองในฐานะข้าราชการการเมืองที่เข้ามาดูแลกิจการของรัฐ เป็นผู้รับนโยบายจากรัฐโดยผ่านทางมติ ครม.และส่งต่อให้ข้าราชการในระดับกระทรวงไปวางแผนและปฏิบัติการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงที่ได้รับงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างมากๆ จะเป็นแหล่งผลประโยชน์ที่พ่อค้าวิ่งเข้าหา และเป็นคนที่ข้าราชการประจำเสนอตัวรับใช้มากที่สุด จะเป็นแหล่งทุจริต คอร์รัปชันมากที่สุด

ด้วยเหตุที่ปัญหาทุจริตเป็นที่สนใจของประชาชน และคนส่วนใหญ่อยากให้มีการแก้ไข ดังนั้นทุกพรรคการเมืองจะเขียนเป็นนโยบายของพรรคว่าจะมีการปราบปราม และป้องกันมิให้เกิดขึ้น

แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว น้อยพรรคที่จะแก้ไขเรื่องนี้ตามที่ตนเองและพรรคประกาศไว้

เมื่อเป็นเช่นนี้ การหาเสียงเรื่องปราบปรามการทุจริตก็พูดได้ว่าเป็นการหลอกประชาชน นี่ก็คือประการหนึ่งที่นักการเมืองใช้สายตาส่ายหาประโยชน์หลอกประชาชนคนตาบอดด้วยมองไม่เห็นธาตุแท้ของนักการเมืองที่ซ่อนเร้นไว้ภายใน แต่ปราศรัยตรงกันข้าม

3. การปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นักการเมือง และพรรคการเมืองนำมาปราศรัยหาเสียงว่าจะมีการส่งเสริม และพัฒนาการปกครองในระบอบนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน

แต่เอาเข้าจริงก็วนอยู่กับที่ คือ การแสวงหาอำนาจและนำอำนาจที่ได้รับจากประชาชนมาต่อรองผลประโยชน์ในทางการเมืองเพื่อตนเอง และพรรค โดยที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจและอธิปไตยมิได้มีส่วนในการได้ประโยชน์จากการแสวงหาในลักษณะนี้ นี่ก็คือการหลอกประชาชนคนตาบอดของนักการเมืองสายตาดีอีกประการหนึ่ง

3 ประการดังที่ว่ามาไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิมตั้งแต่เริ่มการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 จนกระทั่งถึงวันนี้ จะแตกต่างก็ตรงที่มากกับน้อยเท่านั้น และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ

1. ในยุคใดคนดีได้รับเลือกเข้าไปมาก ยุคนั้นก็มีการหลอกประชาชนน้อยลง

2. ในยุคใดประชาชนให้ความสนใจการเมืองมาก และมีความรู้มีความเข้าใจในการเลือกตั้งโดยทำการศึกษานโยบาย และประวัติส่วนบุคคลของผู้สมัครรับเลือกตั้ง แล้วเลือกได้คนดีมากกว่าคนไม่ดี ประชาชนก็ถูกหลอกน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ท่านผู้อ่านอ่านคอลัมน์นี้ ผลการเลือกตั้งคงออกมาให้ทราบแล้วว่าพรรคไหนได้เสียงข้างมาก จึงน่าจะอนุมานได้ว่าประชาชนจะถูกหลอกมากหรือถูกหลอกน้อยได้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น