ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กล่าวได้ว่าในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนั้น แต่ละพรรคต่างสรรหากลยุทธ์ทุกอย่างในการดึงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเสนอนโยบายขายฝันที่ไม่มีวันเป็นไปได้ การสาดโคลนใส่ร้ายเพื่อตัดคะแนนคู่แข่ง การส่งคนไปป่วนการหาเสียงของพรรคตรงข้าม หรือแม้แต่การ 'จับประเทศไทยเป็นตัวประกัน' ด้วยสโลแกนสั้นๆว่า 'ไม่เลือกเรา เขามาแน่' ในขณะที่กลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันในนาม 'พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' ก็ยังคงเดินหน้ารณรงค์ 'โหวตโน' ด้วยต้องการสร้างเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้น
หลายคนอาจยังแคลงใจว่า 'โหวตโน' แล้วได้อะไร ทำไมจึงต้อง 'โหวตโน' ? ซึ่งในทีนี้ขอหยิบยกเหตุผล 5 ข้อ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาใหญ่ของการเมืองไทยในปัจจุบันมาให้พิจารณา
โหวตโน..หยุดคอร์รัปชั่น
ปัญหาการคอร์รัปชั่นนั้นจัดว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เป็นปัญหาที่ที่ฝังรากลึกยากที่จะเยียวยาแก้ไข กัดกร่อนทำลายทั้งเศรษฐกิจ สังคมและความเจริญของชาติ มีการโกงกินกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบรรดานักการเมืองที่อาสาเข้ามาบริหารบ้านเมืองนั้นล้วนแล้วแต่เข้ามาคอร์รัปชั่นกันอย่างไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประชาชนคนไทยจะช่วยกันขจัดขบวนการคอร์รัปชั่นออกไปจากสังคมไทย ด้วยการ..โหวตโน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่าพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคล้วนแต่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆ ก็ล้วนมีพฤติกรรมไม่แตกต่างกัน
ในส่วนของประชาธิปัตย์นั้นที่เห็นได้ชัดคือกรณีปัญหาเรื่องการทุจริตน้ำมันปาล์มซึ่งนับเป็นการสร้างปรากฏการณ์ 'คอร์รัปชั่นแบบกินกันถึงเลือดประชาชน' โดยวิธี 'กักตุนสินค้า ปั่นราคา ฟันกำไร' ซึ่งว่ากันว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้นั้นใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปบงการ ทำให้อยู่ๆ ราคาน้ำมันปาล์มก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างไม่ปี่มีขลุ่ย จากขวดละ 38 บาท ขึ้นไปเป็นขวดละ 70 บาท ขณะที่มีผู้ผลิตบางรายเล่นแร่แปรธาตุส่งออกน้ำมันปาล์มไปเก็บไว้ที่สิงคโปร์ และเพิ่งนำกลับเข้ามาในช่วงที่ราคาน้ำมันแพง
นอกจากนั้นทางด้านฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยยังออกมาปูดสารพัดชื่อย่อที่มีเอี่ยวกับขบวนการปั่นราคาน้ำมันปาล์ม โดยระบุว่าอักษรย่อ “พ” “ส” “อ” และ “อ” ซึ่งล้วนแต่เป็นนักการเมืองในรัฐบาลชุดนี้ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า 3 จังหวัดภาคใต้ ที่เป็นแหล่งผลิตปาล์มสำคัญ คือ กระบี่ ชุมพร และสุราษฎร์ธานีซึ่งเป็นพื้นที่ของใครคงไม่ต้องบอก รู้แต่ว่างานนี้ทั้งนักการเมือง นายหัวเจ้าของสวนปาล์ม และผู้ผลิตน้ำมันปาล์มต่างร่ำรวยกันถ้วนหน้า
ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็มีโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวีที่สุดแสนจะอื้อฉาว เพราะเป็นโครงการเก่าที่พรรคประชาธิปัตย์เคยวิจารณ์สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งขณะนั้นประชาธิปัตย์ยังเป็นฝ่ายค้าน ว่าเป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่าและส่อเค้าทุจริต แต่เมื่อประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลและพรรคภูมิใจไทยซึ่งดูแลกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะเช่ารถเมล์เอ็นจีวีแบบเดียวกับสมัยรัฐบาลสมัคร เพียงแต่เปลี่ยนจากการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 3,000 คัน มาเป็น 4,000 คัน จากเดิมใช้งบประมาณ 100,000 ล้านบาท ก็ลดลงเหลือ 63,000 ล้านบาท ซึ่งประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด แต่โครงการนี้ต้องชะลอออกไปเนื่องจากถูกวิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า... ค่าเช่าแพงเกินไปหรือ ไม่ คุ้มค่าหรือไม่? และผ่านมาเกือบ 2 ปี จนถึงขณะนี้โครงการก็ยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตงานของโครงการเพื่อดำเนินการในการประกวดราคาต่อไป
ขณะที่ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของพรรคเพื่อไทยก็ไม่น้อยหน้า เรียกว่ากินกันมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นพรรคไทยรักไทย จนกลายร่างเป็นพรรคพลังประชาชนหลังไทยรักไทยถูกยุบพรรคเพราะจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งเมื่อ 2 เม.ย.2549 และล่าสุดเปลี่ยนเป็นพรรคเพื่อไทยเพราะพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคอีกคำรบ เนื่องจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคในขณะนั้น
คดีคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นชนักติดหลังของพรรคนี้นั้นมีมากมาย เฉพาะแค่คดีที่เกี่ยวข้องกับหัวหน้าพรรคตัวจริงอย่าง 'นช.ทักษิณ ชินวัตร' และคนในครอบครัว ก็นับกันไม่หวาดไม่ไหว โดยเรื่องใหญ่ที่สุดเห็นจะเป็นคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเจ้าตัวและเครือข่ายเสื้อแดงพยายามแถว่าถูกกลั่นแกล้งและเป็นคดีการเมืองทั้งที่เป็นเรื่องการคอร์รัปชั่น ซึ่งเชื่อมโยงถึงความผิดในกรณีต่างๆถึง 6 กรณีด้วยกัน คือ 1. การปกปิดอำพรางการถือครองหุ้นชินคอร์ป 2. กรณีแปลงสัมปทานเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป 3.กรณีแก้ไขสัญญาโทรศัพท์มือถือ ทั้งกรณีที่เกี่ยวข้องบัตรเติมเงินและกรณีโรมมิ่ง 4.กรณีการใช้โครงข่ายร่วม (โรมมิ่ง) 5.แก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมโดยมิชอบ และ 6. กรณีการอนุมัติเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า(เอ็กซิมแบงค์)ให้พม่า
นอกจากนั้น ยังมีคดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษกซึ่งทักษิณถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด และให้ลงโทษจำคุก 2 ปี และเป็นคดีที่ทำให้ นช.ทักษิณไม่กล้าเดินกลับมาประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่รัฐมนตรีของพรรคก็มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่น้อยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น คดีซีทีเอ็กซ์ ซึ่งเป็นเรื่องของความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 (CTX 9000) ในโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมีชื่อของทักษิณและนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ในขณะนั้นเข้าไปเกี่ยวข้อง , คดีชักหัวคิวโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่นายวัฒนา เมืองสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับพวก ตกเป็นผู้ต้องหาฐานทุจริตต่อหน้าที่ เพราะเรียกรับเงินจากเอกชนที่เข้าโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ และอีกสารพัดโครงการที่มิมิอาจสาธยายได้หมด
เมื่อมีการทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างมโหฬารขนาดนี้ มีวิธีเดียวที่จะสกัดกั้นไม่ให้นักการเมืองเหล่านี้กลับมาโกงกินได้อีกก็คือการ 'โหวตโน' เพื่อเป็นการแสดงประชามติของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศว่าเราไม่ต้องการผู้แทนที่มีสันดานโกงบ้านกินเมือง เพราะจะเชื่อได้อย่างไรว่า การกลับเข้าสู่อำนาจใหม่อีกครั้ง พวกเขาจะไม่ทำพฤติกรรมเหมือนเช่นที่ผ่านมาอีก
โหวตโน..หยุดขบวนการล้มเจ้า
นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่กำลังเหยียบย่ำหัวใจของคนไทยทั้งประเทศอยู่ในขณะนี้ก็คือ ความพยายามในการลิดรอนอำนาจและบั่นทอนความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเครือข่ายระบอบทักษิณที่กำลังล้างสมองมวลชนคนเสื้อแดงให้หลงเชื่อ และร่วมเดินตามยุทธศาสตร์ 'ขบวนการล้มเจ้า' โดยไม่รู้ตัว มีการยุยงปลุกปั่นโดยใช้คำว่า 'อำมาตย์' คำว่า 'สองมาตรฐาน' เพื่อสร้างภาพว่าประชาชนถูกกดขี่รังแกและไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม ขณะที่ชนชั้นสูงเป็นผู้ฉกฉวยผลประโยชน์ รวบอำนาจไว้ในมือแต่ผู้เดียว และมีแต่พรรคเผาเมืองเท่านั้นที่จะปลดแอกประชาชนออกมาจากเงื่อนปมเหล่านี้ได้
อีกทั้งยังมีการปั้นเรื่องใส่ร้ายสถาบันเพื่อบั่นทอนความรักและเทิดทูนศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันอันเป็นที่รักของคนไทยทั้งประเทศ โดยมีการกระจายข้อมูลผ่านหลายช่องทาง อาทิ ส่งสารผ่านแกนนำแกนนำเสื้อแดงตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงแกนนำบนเวที มีการใช้สื่อต่างๆทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน และสื่อต่างๆในสังคมออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ เครือข่ายเฟซบุ๊ก ซึ่งการตอกย้ำข้อมูลซ้ำๆ นั้นทำให้คนเสื้อแดงหลงเชื่อและรู้สึกต่อต้านสถาบันซึ่งถือเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างยิ่ง
ขบวนการล้มเจ้านั้นมีวางหมากเดินเกมกันมาเนิ่นนานตั้งแต่ครั้งที่ 'นายใหญ่' ยังมีตำแหน่งหน้าที่และบารมีคับประเทศ มีความพยายาม 'ตีตนเสมอท่าน' ด้วยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำพิธีในวัดพระแก้วเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การแจกธงชาติไทยที่มีข้อความว่า 'ทรงพระเจริญ' ให้ประชาชนโบกต้อนรับ ในขณะที่เดินทางไปตรวจเยี่ยมประชาชนในต่างจังหวัด หลายครั้งหลายคราต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งเป็นเครื่องชี้ชัดถึงเจตนาว่านี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ การให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างประเทศของเจ้ามูลเมืองที่จงใจวิพากษ์วิจารณ์และให้ร้ายสถาบันซึ่งนอกจากจะไม่เป็นความจริงแล้วยังถือเป็นกระทำที่มิบังควร 'ไม่รู้ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ' และขณะนี้ถึงขั้นยุให้ชาวบ้านปลด 'รูปที่มีทุกบ้าน' ลง และนำรูปของเจ้ามูลเมืองขึ้นไปติดข้างฝาแทน
ทั้งนี้ ผลโพลหลายสำนักชี้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้นั้นมีแนวโน้มที่ 'ขบวนการล้มเจ้า' จะได้เข้าไปจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นหนทางหนึ่งที่เราจะต่อต้านนักการเมืองเหล่านี้ได้ก็คือการที่ประชาชนคนไทยกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้มากที่สุด เพื่อให้คะแนนโหวตโนทั้งในการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขตฯ และระบบบัญชีรายชื่อ มีมากกว่าคะแนนของพรรคการเมืองนี้ เพื่อเป็นการแสดงประชามติว่าคนไทยส่าวนใหญ่ไม่เอาพรรคล้มเจ้า
โหวตโน..หยุดการเผาบ้านเผาเมือง
นอกจากนั้นสิ่งหนึ่งที่คนไทยหวาดวิตกกันอยู่ในขณะนี้ก็คือ 'ความรุนแรง' ที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง เพราะไม่ว่าพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดสถานการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรง หากพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ขั้นตอนต่อไปที่พรรคเพื่อไทยตั้งใจจะดำเนินการก็คือ 'การนิรโทษกรรม' ล้างความผิดให้กับ 'นช.ทักษิณ ชินวัตร' ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรง ทั้งในรูปแบบของการชุมนุมเคลื่อนไหวและการแสดงสัญลักษณ์ ขณะที่ทางฝ่ายมวลชนคนเสื้อแดงก็จะไม่ยอมนิ่งเฉย ต้องมีการระดมพลออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุน ซึ่งจะนำไปสู่การปะทะและเหตุรุนแรงถึงขั้นเลือดนองแผ่นดิน
แม้ว่าล่าสุดปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 ของพรรค อย่าง 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' จะออกมาปฏิเสธเรื่องการนิรโทษกรรมหลังถูกโจมตีอย่างหนักจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่การปฏิเสธนั้นก็เป็นไปแบบไม่เต็มปากเต็มคำ โดยเธอบอกว่า “ จะไม่มีการนิรโทษกรรมเพื่อทักษิณ แต่จะทำเพื่อคนส่วนใหญ่อันจะนำไปสู่ความปรองดอง ” ซึ่งถึงตรงนี้ 'ฟันธง' ได้เลยว่าอย่างไรเสียการ 'นิรโทษกรรม' ล้างความผิดให้ นช.ทักษิณก็ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะนี่คือเป้าหมายที่เครือข่ายระบอบทักษิณพยายามกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง
ในทางกลับกัน หากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งผลโพลระบุชัดว่าน่ามีคะแนนมาเป็นอันดับ 2 สามารถจับมือกับพรรคขนาดกลางจัดตั้งรัฐบาลได้ ทางพรรคเพื่อไทยก็ไม่มีทางยอมให้ประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลโดยจะมีการอ้างว่าประชาธิปัตย์ใช้อำนาจของกองทัพ หรือ'อำนาจเหนือการเมือง' เข้ามาบีบบังคับให้พรรคขนาดกลางจำต้องจับมือกับประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล จากนั้นก็จะมีการระดมมวลชนคนเสื้อแดงที่ขณะนี้มีเครือข่ายอยู่เกือบทั่วประเทศ และเข้มแข็งถึงขั้นจัดตั้งเป็น 'หมู่บ้านเสื้อแดง' ออกมาเคลื่อนไหวก่อความวุ่นวาย เผาบ้านเผาเมือง เพื่อโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปัตย์ ตามยุทธศาสตร์ 'จับประเทศไทยเป็นตัวประกัน'
วิธีเดียวที่จะหยุดความรุนแรงเหล่านี้ได้ และทำให้ประเทศไทยกลับมาสงบสุขอีกครั้ง ก็คือการ 'โหวตโน' เพื่อสกัดไม่ไห้ทั้ง 2 พรรคเข้ามามีเสียงข้างมากและมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล โดยถ้าคะแนนโหวตโนสามารถชนะได้ 26 เขต ก็จะทำให้สภามี ส.ส.ไม่ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เปิดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกฯไม่ได้ และถ้าหากคนไทยทั้งประเทศผนึกกำลังกัน 'กาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน' จนโหวตโนมีมากกว่าคะแนนของพรรคอันดับหนึ่ง ก็เท่ากับเป็นการแสงดประชามติของเสียงข้างมากในประเทศว่าไม่เอาพรรคเผาบ้านเผาเมือง
โหวตโน..หยุดนักการเมืองตีกิน
มิใช่แค่พรรคขนาดใหญ่ที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้นที่สมควรจะถูกประชาชนบอยคอตด้วยมาตรการโหวตโน พรรคการเมืองขนาดกลางและพรรคต่างๆ ที่เวียนเข้าเวียนออก เดี๋ยวแยก เดี๋ยวรวม เดี๋ยวยุบอยู่ในขณะนี้ก็มีพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างกัน เนื่องเพราะนักการเมืองที่อยู่ในพรรคเหล่านี้หาได้มีเป้าหมายที่จะเข้ามาทำงานเพื่อประชาชน แต่ล้วนมุ่งแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้องเป็นหลัก และหากสังเกตให้ดีก็จะพบว่าปรากฏการณ์ในการย้ายเข้าพรรคโน้นออกพรรคนี้ของ ส.ส.แต่ละคนที่ล้วนอ้างเหตุผลว่าชื่นชอบในนโยบายของพรรคที่ตนจะย้ายไปสังกัดนั้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นแค่คำโกหกพกลม
ขณะที่เหตุผลที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่ทางพรรคจัดสรรให้ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ตำแหน่ง หรือความได้เปรียบในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่การแยกย้ายสลายขั้วของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ หรือไปจัดตั้งพรรคของตัวเองนั้นก็ล้วนมีเหตุผลที่ไม่แตกต่างกัน
แม้แต่การจับขั้วร่วมรัฐบาลที่แต่ละพรรคโอ้อวดนักหนาว่าพิจารณาพรรคที่มีนโยบายสอดคล้องกันนั้นก็เป็นเพียงข้ออ้างที่สวยหรู เพราะจริงๆ แล้วพรรคการเมืองเหล่านี้ก็เป็นเพียง 'พรรคตีกิน' ที่พร้อมจะจับมือกับใครก็ได้เพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล และเข้าไปสวาปามในฐานะคณะรัฐมนตรี จะเห็นได้ว่าล่าสุดนั้นทันทีที่มีการยุบสภา พรรคชาติไทยพัฒนา ของ 'ตระกูลศิลปอาชา' ก็ประกาศว่าจะจับมือเหนียวแน่นกับพรรคภูมิใจไทย ภายใต้สังกัด'ตระกูลชิดชอบ' โดยมีเงื่อนไขชัดเจนว่า 'จะร่วมรัฐบาลกับใครก็ต้องไปด้วยกันทั้งสองพรรค' ด้วยต่างเห็นตรงกันว่าการขายแบบ 'แพคคู่' ของพรรคขนาดขนาดกลางที่เป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างชาติไทยพัฒนาและภูมิใจไทยนั้นย่อมมีอำนาจต่อรองมากกว่าการเจรจาของพรรคใดพรรคหนึ่งเพียงพรรคเดียว เมื่ออำนาจต่อรองมีสูงเก้าอี้รัฐมนตรีที่แต่ละพรรคจะได้ก็ย่อมเป็นกระทรวงดีมีเกรดตามด้วย
แต่หลังจากที่ผลโพลหลายสำนักออกมาตรงกันว่าพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำประชาธิปัตย์ติดต่อกันหลายสัปดาห์ 'พรรคปลาไหล' ก็ไม่ทิ้งลาย ชาติไทยพัฒนารีบสลัดมือจากภูมิใจไทยของ 'นายเนวิน ชิดชอบ' ซึ่งมีคดี 'แค้นฝั่งหุ่น' กับ 'ทักษิณ ชินวัตร' เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง และประกาศแบะท่าว่าจะจับมือกับพรรคเพื่อไทยเพื่อทำงานให้บ้านเมือง ตามด้วยการทิ้งระเบิดใส่พรรคประชาธิปัตย์ที่เคยหวานแหววกอดคอร่วมรัฐบาลกันมาก่อนและแอบหยอดว่าจะร่วมรัฐบาลกันหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา 'เล่นแรง' ถึงขั้นเปิดประเด็นว่าที่ผ่านมาถูกบีบให้ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร จนเกิดวิวาทะกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสตร์ ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ตามมาอีกดอกหนึ่งว่า " หากพรรคใดพรรคหนึ่งได้คะแนนเสียงข้างมาก มีแนวทางสมานฉันท์ปรองดอง พรรคชาติไทยพัฒนาก็ยินดีเข้าไปร่วมด้วย แต่หากจะมีใครเรียกร้องพรรคการเมืองไปจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารคงไม่ไปอย่างแน่นอน เพราะเขตทหารห้ามเข้า"
ส่วนทางด้านภูมิใจไทยเห็นท่าไม่ดี อยากโดดเกาะขบวนร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยด้วยโดยการออกมาส่งสัญญาณว่าสามารถร่วมรัฐบาลกับทุกพรรคการเมือง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็มีสัญญาใจว่าจะร่วมหัวจมท้ายกับประชาธิปัตย์ โดยนายโสภณ ซารัมย์ แกนนำพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า "พรรคภูมิใจไทยไม่ได้แข่งกับใครที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เราจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเราไม่เชื่อว่าพรรคอันดับ 1จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว เพราะเสียงไม่พอ ดังนั้น พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 แม้จะเกลียดเราขนาดไหน ก็ต้องมาเชิญพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมรัฐบาล โดยพรรคภูมิใจไทยจะเป็นพรรคลำดับที่ 3” แต่กลับถูกเพื่อไทยไล่ส่งแบบไม่ไว้ไมตรี โดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาแสดงจุดยืนหนักแน่นว่า พรรคเพื่อไทยยังขอยึดจุดยืนเดิมของพรรค ที่มีแถลงการณ์ตามที่หัวหน้าพรรคได้ลงนามไปแล้ว ว่าอุดมการณ์และแนวทางของพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยนั้นไม่ตรงกัน แต่เหตุผลแท้จริงนั้นใครๆก็รู้ว่าในใจทักษิณนั้นแค้น 'คนทรยศ' อย่างเนวินชนิดไม่เผาผีกันทีเดียว งานนี้ทำเอาภูมิใจไทยหัวใจสลายหน้าหงายไปตามระเบียบ
เห็นธาตุแท้กันขนาดนี้จึงจำเป็นที่ประชาชนต้องร่วมกัน 'โหวตโน' เพื่อสกัด 'พรรคตีกิน' เหล่านี้ไม่ให้มีโอกาสเข้าไปนั่งในสภาผลาญภาษีประชาชน
โหวตโน..แก้การเมืองน้ำเน่า
กล่าวได้ว่าการโหวตโนนั้นมีอำนาจมหาศาลในการแสดงพลังของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ นักวิชาการน้ำดีอย่าง 'ศ. ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์' ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ให้มุมมองเกี่ยวการลงคะแนนโหวตโนไว้อย่างน่าสนใจ ว่า กฎหมายเลือกตั้งที่สะท้อนหลักปรัชญาของการเลือกตั้ง คือ เมื่อมีการกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีหน้าที่ต้องไปเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิที่จะปฏิเสธผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนหรือพรรคการเมืองทุกพรรคที่เขาไม่ชอบได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นในบัตรเลือกตั้งที่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถกาเครื่องหมายในช่องที่ไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และในช่องที่ไม่ลงคะแนนให้แก่พรรคการเมืองใดเลยในระบบบัญชีรายชื่อหรือเรียกกันสั้นๆว่าเป็นการ “Vote No” จึงเป็นการสะท้อนหลักปรัชญาของการเลือกตั้งที่แสดงถึงสิทธิในการคัดค้านการกระทำของนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆได้เป็นอย่างดี
การ “Vote No” ที่แสดงถึงการไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรายใดเลยหรือพรรคการเมืองใดเลยนั้น ผลลัพธ์ในทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นและสมควรจะต้องนำไปพิจารณาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ
ประการแรก เป็นการสะท้อนสิทธิของการคัดค้านของประชาชน ซึ่งหมายถึงการสะท้อนถึงหลักปรัชญาของการเลือกตั้งอันจะมีผลต่อความชอบธรรมของระบบการเมือง พรรคการเมืองหรือนักการเมืองได้เป็นอย่างดี
ประการที่สอง ในกรณีที่เสียง ”Vote No” มีจำนวนมากที่สุดหรือเป็นเสียงข้างมาก ย่อมสะท้อนถึงหลักการปกครองโดยเสียงข้างมากที่เป็นหลักการสำคัญของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้รัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งจะไม่ได้รองรับในประเด็นดังกล่าวไว้ก็ตาม แต่ในหลักปรัชญาของระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะเกิดขึ้นจากเสียงข้างน้อยย่อมขาดความชอบธรรมในการปกครองโดยทันที
ประการที่สาม ในกรณีที่เสียง “Vote No” มีจำนวนน้อยจะจำนวนเท่าใดก็ตาม หลักการของระบอบประชาธิปไตย สิทธิของเสียงข้างน้อยย่อมจะต้องได้รับการพิทักษ์คุ้มครองหรือให้ความเคารพ เสียงส่วนใหญ่ย่อมต้องรับฟังเสียงข้างน้อยด้วยเช่นกัน
กล่าวโดยสรุป เสียง “Vote No” เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการเมือง “น้ำเน่า” ที่ยังหมักหมมอยู่ในระบบสังคมการเมืองไทย และหากไม่รีบดำเนินการตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องดังกล่าวนี้ การเมืองไทยจะนำบ้านเมืองเข้าสู่กลียุคและการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
ดังนั้น การเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.นี้ จึงเป็นโอกาสที่ประชาชนคนไทยจะได้ไปแสดงพลัง 'โหวตโน' เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ขับไล่นักการเมืองชั่วออกจากสภา ล้างระบบการเมือง 'น้ำเน่า' เพื่อให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง