xs
xsm
sm
md
lg

OECDชี้ ‘โลกาภัวัตน์’ทำให้‘โลก’ตกอยู่ในความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – กระบวนการโลกาภิวัตน์ที่กำลังเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นเช่นกันที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ เป็นต้นว่า การเกิดโรคระบาด หรือ การทรุดตัวย่ำแย่ของภาคการเงิน จะสามารถสร้างความเสียหายชะงักงันให้แก่เศรษฐกิจในวงกว้างทั่วโลก ทั้งนี้เป็นรายงานขององค์การโออีซีดีที่นำออกเผยแพร่ในวันจันทร์(27)

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ซึ่งเป็นคลังสมองของพวกประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าที่สุดของโลก กล่าวเตือนว่า การที่ประเทศต่างๆ มีการต่อเชื่อมโยงใยเข้ามากันอย่างมากมายมหาศาล และการเดินทางของผู้คน, สินค้า, และข้อมูล ก็เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่ง จะทำให้เหตุการณ์ใหญ่ๆ ดังกล่าว ยิ่งสามารถสร้างความยุ่งยากลำบากได้เพิ่มขึ้นมากในอนาคตข้างหน้า

รายงานของโออีซีดีฉบับนี้ ซึ่งใช้ชื่อว่า “ภาวะช็อกระดับโลกในอนาคต” (Future Global Shock) จำแนกเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่จะเป็นความเสี่ยงอันสำคัญในอนาคตเอาไว้เป็น 5 ประเภท ได้แก่ โรคระบาดในอาณาบริเวณกว้างขวางมาก, การโจมตีทางไซเบอร์, วิกฤตทางการเงิน, ความไม่สงบในบ้านเมือง, และพายุแม่เหล็กโลกที่จะรบกวนการสื่อสารผ่านดาวเทียม

โออีซีดียกตัวอย่างเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น ได้แก่ การระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ ซาร์ส (SARS) ในปี 2003 และภัยพิบัติไฟไหม้ป่าในรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว มาแสดงให้เห็นว่าภัยพิบัติเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดผลสะท้อนออกไปอย่างกว้างไกลเพียงใด

รายงานชี้ว่า โรคซาร์ส สามารถ “ระบาดได้อย่างรวดเร็วจากฮ่องกงไปตลอดทั่วทั้งโลก สืบเนื่องจากผู้คนซึ่งติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ จากนั้นก็เดินทางกลับบ้าน”

ด้วยเหตุนี้ โออีซีดีเสนอว่า “ยาปฏิชีวนะใหม่ๆ จำเป็นที่จะต้องก้าวไปให้ทันกับพัฒนาการแห่งการดื้อยาของพวกเชื้อแบคทีเรีย”

สำหรับไฟไหม้ป่าในรัสเซียนั้น รายงานของโออีซีดีบอกว่าเป็นเหตุทำให้ราคาในตลาดอาหารของโลกพุ่งทะยานลิ่ว ซึ่ง “ในที่สุดแล้วก็จุดชนวนให้เกิดความไม่สงบทางสังคมขึ้นในตะวันออกกลาง”

โออีซีดีเสนอแนะว่า ประเทศต่างๆ ควรต้องเพิ่มความร่วมมือกัน และจัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อต่อสู้กับโฉมหน้าใหม่ๆ ของภัยพิบัติและสิ่งที่มีผลกระทบก่อกวนในระดับโลกเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรต้องหาทางลดหรือหยุดยั้งภัยคุกคาม ตั้งแต่ก่อนที่มันจะแพร่กระจายไปทั่วโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น