xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แบ่งปันอำนาจ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ปัญหาสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ คือไม่ค่อยมีใครที่ได้ฐานความร่วมมือจากทั้งสองทาง มันมักได้แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือบางทีได้ไปอย่างละครึ่งๆ ก็เลยไม่เกิดความมั่นคงทางอำนาจ เท่าที่ควร อันนี้เป็นเรื่องรัฐศาสตร์ธรรมดาๆ”

“ ฉะนั้น เราคงต้องสร้างความลงตัวให้มากกว่านี้ ถ้าอยากจะไปทางทิศไหนกัน ก็ต้องชวนคนส่วนใหญ่ให้มาเห็นชอบตรงกันให้มาก มันจะได้มีพลัง ในการที่จะตกลงกติกา หรือวางหลักการพื้นฐานจำนวนหนึ่งว่า ต่อไปนี้เราจะไม่ละเมิดหลักการเหล่านี้นะ ที่ผ่านมามันยังก้ำกึ่งกันไปหมด” ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน

“ คนรักประชาธิปไตยก็มาก คนชอบรัฐประหารก็มี ตรงนี้เราต้องระวัง เพราะสังคมที่ปั่นป่วนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ คือสังคมที่มันมีกำลังก้ำกึ่งมาขัดแย้งกัน มันเคยเกิดขึ้นในหลายแห่ง เช่น ในแอฟริกา กัมพูชา เกาหลี เวียดนาม และก็กำลังเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในตะวันออกกลาง เราควรจะดูสภาพเหล่านี้เป็นบทเรียน ปัญหายังแก้ได้ แต่ทุกฝ่ายจะต้องไม่เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง เราจะต้องมองภาพรวมให้ออก คือ ถ้าเอาแพ้เอาชนะกันไม่ได้ ก็ต้องยอมรับการประนีประนอม”

ในฐานะนักวิชาการเสกสรรค์ ยังบอกอีกว่า “นี่ผมพูดถึงทุกฝ่ายเลยนะ หลักการประนีประนอม คือต้องยอมรับว่าไม่มีใครได้ทุกอย่างไปหมด ต้องแบ่งให้ผู้อื่นบ้าง ผมหมายถึงเรื่องอำนาจที่ต้องแบ่งสรรปันส่วนกัน มันถึงจะลงตัว ถ้าคิดจะใช้วิธีแบบกินรวบฝ่ายเดียว ยังไงๆ ก็แก้ปัญหาไม่ตก”

แต่ “การแบ่งสรรปันส่วนอำนาจรัฐ” ในทางปฎิบัติ มักมีปัญหาเสมอเช่นกัน

ชุมชนในเมือง ยังไม่สามารถผลักดันความต้องการตัวเองผ่านกระบวนการทางอำนาจได้

ชุมชนในชนบท ก็เกิดปัญหาในการรวมตัวเพื่อผลักดันสิ่งที่ต้องการ

ทำให้อำนาจการแก้ปัญหาจึงกระจุกตัวอยู่ที่ “อำนาจรัฐบาล”

นั่นจึงส่งผลให้ผลการสำรวจคนอีสานเกือบครึ่ง ยังอาศัยชื่อพรรคการเมืองประกอบการตัดสินใจเลือก ส.ส.

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น( มข. ) เปิดเผยผลสำรวจในประเด็น “ปัจจัยที่ใช้ตัดสินใจเลือกตั้ง และนโยบายโดนใจชาวอีสาน” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,208 ราย โดยพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 48.5 % จะเลือกเพราะพรรคการเมือง และผู้สมัคร ส่วนนโยบายหาเสียงเป็นปัจจัยรอง คิดเป็น 40.5 %

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยฯได้สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,208 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย บึงกาฬ ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร และอำนาจเจริญ สำรวจระหว่างวันที่ 8-12 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน บอกว่า เมื่อสำรวจถึงความนิยมด้านโยบายหาเสียงของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ โดยในแบบสำรวจไม่ได้เปิดเผยว่า ตัวเลือกในแต่ละข้อเป็นนโยบายของพรรคการเมืองใด ซึ่งผลการสำรวจความนิยมที่กลุ่มตัวอย่างมีต่อนโยบายหาเสียงในแต่ละด้านพบว่า นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นนโยบายที่โดนใจคนอีสานเป็นอันดับที่ 1 ในทุกด้าน

หากกลุ่มตัวอย่างทั้ง 1,208 คน สามารถเป็นตัวแทนของประชากรทั้งภาคอีสานได้จริง แสดงให้ว่า คนอีสานชอบนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่เลือก ตรงกันข้ามจะเลือกพรรคการเมืองอื่น และผู้สมัครคนอื่น

นั่นหมายความว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นการเลือกพรรคพวก มากกว่านโยบาย

ดังนั้น การแบ่งปันอำนาจจึงไม่ได้มีพื้นฐานของการจัดการปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็กำลังกังวลการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังวันที่ 3 กรกฎาคมนี้

พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค.2554 ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 108.3 เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. ที่มีค่าดัชนี 106.6

“ในเดือน พ.ค. ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อปัจจัยการเมืองลดลง โดยอยู่ที่ 46.2 % จากเดือนเมษายนที่อยู่ที่ 49.3 % แต่เมื่อถามถึงการคาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการต่างห่วงใยว่า จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงถึง 50.3 % โดยผู้ประกอบการหวังว่าหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลจะมีเสถียรภาพ และไม่มีเหตุวุ่นวายอีก”

อีก 3 เดือนข้างหน้า การเมืองไทยจะได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งมีปัจจัยบางอย่างที่ภาคเอกชนรู้สึกกังวล

แม้กระทั่งหอการค้าไทย โดยนายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย ระบุว่า ได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายให้พรรคการเมืองทุกพรรค คือ การต่อต้านคอร์รัปชั่น และการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

“หอการค้าไทยยังเห็นว่า นโยบายประกันราคาข้าวเป็นประโยชน์มากกว่าการรับจำนำ เนื่องจากทำให้ราคาส่งออกข้าวสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น” ประธานกรรมการหอการค้าไทยอธิบายข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาราคาข้าว

นั่นหมายความว่า นโยบายประกันราคาข้าวของประชาธิปัตย์ สอดคล้องกับหลักการจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดของสังคม ได้เหมาะสมกว่านโยบายรับจำนำข้าว

แม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ต้องอธิบายบทบาททางการเมืองของกองทัพ ในช่วงสถานการณ์เลือกตั้งว่า กองทัพสนับสนุนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ อยากให้ประเทศชาติผ่านพ้นความไม่สงบได้เป็นอย่างดี ตนเองเป็นห่วงเรื่องสื่อสารมวลชน เพราะเป็นฐานันดรหนึ่งที่สำคัญต่อการรับรู้ของประชาชน แต่ปรากฎว่า มีกลุ่มบางพวกชักจูงมีความไม่ปรารถนาดี ใช้สื่อไปในทางที่ผิด อย่างเช่น ทำให้กองทัพมีปัญหากับประชาชน ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

พล.อ.ประยุทธ เอ่ยชื่อ อธิบายพฤติกรรมของ จักรภพ เพ็ญแข และใจ อึ๊งภากรณ์ว่า

“ นายใจ นายจักรภพ พยายามทำให้สถาบัน ( พระมหากษัตริย์) เสียหาย เกี่ยวพันยึดโยงหลายกลุ่ม เรายอมไม่ได้ ประชาชนทุกคนต้องออกมาช่วยกันดูแลพระองค์ท่านเพราะพระองค์ท่านได้เคยดูแลเรา ท่านไม่เคยมาตอบคำถามใคร เพราะสิ่งทีกล่าวอ้างทั้งหมดไม่เป็นธรรมไม่สุภาพ สังคมต้องไปดูว่าทำไมมันถึงเกิดสิ่งเหล่านี้ได้”

นั่นหมายความ ว่า อำนาจของกองทัพในทางการเมือง คงไม่ยอมให้มีการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างเด็ดขาด

แม้จะไม่บอกตรงๆว่า จะรวมไปถึงคนในพรรคเพื่อไทยด้วยหรือเปล่า แต่ท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ บ่งบอกถึงอุณหภูมิหลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม นี้อย่างชัดเจน

การเคลื่อนไหวของ “แก้วสรร อติโพธิ” แกนนำเครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอรัปชั่นทักษิณ ( คนท. ) และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเครือข่ายกลุ่มเสื้อหลากสี เกี่ยวกับการให้การเท็จของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดียึดทรัพย์ทักษิณ ชินวัตร

ยิ่งทำให้เห็นถึงความก้ำกึ่งทางอำนาจ
 

แก้วสรร เป็นคนเปิดประเด็นการให้การเท็จต่อศาลของ ยิ่งลักษณ์ และมีการเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์อีก ในหัวข้อ “ข้อพิรุธเพื่อให้โอกาสชี้แจงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ให้การเท็จหรือไม่” โดยเป็นเอกสารจำนวน 13 หน้า

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตจากการสรุปคำพิพากษาในคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะในเรื่องการชำระเงินและโอนเงินไปมาระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์, น.ส.พินทองทา ชินวัตร และ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งอ้างว่าเป็นเงินปันผลบ้าง ค่านาฬิกาบ้าง ค่าตบแต่งบ้านบ้าง ซึ่งแท้จริงเพื่อปิดบังการครองหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งการตั้งข้อสังเกตดังกล่าวได้ถ่ายสำเนาเอกสารเช็ค และ บัญชีเงินฝากของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เป็นที่มาของคำพิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย

แต่การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกแถลงชี้แจงพฤติกรรมของยิ่งลักษณ์ 2 ประเด็น

1. ประเด็นที่สืบเนื่องจากการที่ศาลฎีกาฯ ได้วินิจฉัยว่า การถือหุ้นในบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของบุคคล 4 ราย (ซึ่งรวมถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และของบริษัทแอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด เป็นการถือหุ้นแทน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร (ชินวัตร) ดังนั้น บุคคลที่ถือหุ้นแทนดังกล่าว จะถือว่ามีการรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นเท็จหรือไม่

ก.ล.ต. อธิบายว่า เนื่องจากนางสาวยิ่งลักษณ์ มีจำนวนหุ้นที่เกี่ยวข้องต่ำกว่าร้อยละ 5 จึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายงานใดๆ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

2. ประเด็นที่สืบเนื่องจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ชี้แจงต่อ ก.ล.ต. เมื่อเดือนมีนาคม 2549 ว่าครอบครัวชินวัตร ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกองทุน 2 แห่ง หรือ เกี่ยวข้องกับบริษัทวินมาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน) และบริษัทชิน คอร์ปฯ ด้วย แต่ปรากฏจากผลการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบหลักฐานที่แสดงว่าเจ้าของที่แท้จริงคือ พ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ดังนั้น คำชี้แจงดังกล่าว จะถือว่าเข้าข่ายมีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือไม่

ก.ล.ต. ตอบว่า กรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชี้แจงว่า ครอบครัวชินวัตรไม่เกี่ยวข้องกับการถือหุ้นในกองทุน 2 แห่ง และบริษัท วินมาร์ค โดยขัดต่อพยานหลักฐานที่ ก.ล.ต. ได้จากการตรวจสอบนั้น ก.ล.ต. ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจาก ( ก ) ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 238 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ที่ครอบคลุมเฉพาะการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ โดยเจตนาให้ผู้อื่นสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน หรือเกี่ยวกับราคาซื้อขายหลักทรัพย์

และ ( ข ) การชี้แจงดังกล่าวเกิดขึ้นในขั้นตอนทั่วไปที่ ก.ล.ต. สอบถามมิใช่การชี้แจงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ใช่ความผิดที่ก.ล.ต. จะใช้อำนาจกฎหมายดำเนินการได้ตาม มาตรา 302 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ

แก้วสรร เขียนข้อความบนป้ายผ้า ในระหว่างเดินทางไปขอคำชี้แจงจาก ก.ล.ต. มีเนื้อหาระบุว่า
"ทักษิณ และพี่น้องต้องคดีซุกหุ้น 2 คดี คือคดีซุกหุ้น SC ศาลตัดสินเฉพาะคดีหุ้น SHIN อย่าเอาคดีซุกหุ้น SC เข้ามายุ่งเกี่ยว , ความผิดตามกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ ของคดีซุกหุ้น SHIN คือ สมคบกันหลอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยการซื้อขายหุ้นอันเป็นเท็จ มิใช่การซื้อขายโดยไม่ได้รายงาน ( มาตรา 248 ) และ ความผิดแท้จริงที่ คนท. ต้องการจะกล่าวโทษ คือ สมคบกันให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ ต่อเจ้าหน้าที่ ( มาตรา 302 ) และสมคบกันออกหนังสือชี้ชวนแจ้งโครงสร้างผู้ถือหุ้น อันเป็นเท็จ ( มาตรา 278 ) "

" ความผิดของนางสาวยิ่งลักษณ์ นอกจากจะไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว การให้การเท็จ ยังมีความผิดอาญาด้วย โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-7 ปี" นพ.ตุลย์ กล่าวย้ำ

นี่คือ ปรากฎการณ์แห่งความก้ำกึ่งทางอำนาจ ซึ่งยังจะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย !!


กำลังโหลดความคิดเห็น