xs
xsm
sm
md
lg

จี้ยูเนสโกถอนพระวิหาร ออกจากมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ตัวแทนยูเนสโกรับปากเร่งนำหนังสือแสดงเจตนารมณ์คัดค้าน และหลักฐานเพื่อขอถอนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก ยื่นต่อสำนักงานใหญ่ที่ฝรั่งเศส เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 35 ณ กรุงปารีส 19-29 มิ.ย.ก่อนเสนอให้มีการพิจารณาลบชื่อ “ปราสาทพระวิหาร” ออกจากบัญชีรายชื่อของมรดกโลกทางวัฒนธรรม

วานนี้ (17 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ภาคประชาชนโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย และกองทัพธรรม ได้นัดหมายรวมตัวกันที่หน้าสำนักงานยูเนสโกประจำประเทศไทย ถ.สุขุมวิท เพื่อยื่นหนังสือแสดงเจตนารมณ์คัดค้านและให้ถอนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 19-29 มิ.ย.นี้ โดยมีมวลชนเข้าร่วมราว 1,000 คน จนแน่นทางเท้าหน้าสำนักงานมรดกโลก

ทั้งนี้ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการตะโกนเสียงโหวตโนๆ ตลอดเวลา ขณะที่ตัวแทนคณะกรรมการมรดกโลก นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์นายเทพมนตรี ลิมปพยอมนายวีระพันธุ์ มาไลยพันธุ์
และนายประพันธ์ คูณมี ได้เข้าเจรจาหารือและยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้แทนกรรมการมรดกโลกประจำประเทศไทย

ภายหลังจากที่ พล.ต.จำลอง ได้ยื่นหนังสือต่อ นายเอดการ์ ชารัก ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกประจำประเทศไทย และได้มีการหารือเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง นายปานเทพ เปิดเผยว่า ตนได้บันทึกบทสนทนาในเฟซบุ้คเพื่อเป็นหลักฐานว่าเราได้มาทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในการปกป้องดินแดนและอธิปไตย ซึ่งในปีที่แล้วเราได้ไปเคลื่อนไหวที่ยูเนสโก ผอ.ยูเนสโกก็ยังออกมายอมรับว่าการเคลื่อนไหวของพวกเรามีผลต่อการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

นายปานเทพกล่าวต่อว่า พล.ต.จำลอง ได้กล่าวในที่ประชุมว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทำให้ประเทศไทยสูญเสียดินแดนเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาได้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อในการปกป้องดินแดนและอธิปไตย แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินการ จึงได้มาร้องขอต่อยูเนสโกดังกล่าว ซึ่งในการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีการรณรงค์โหวตโน เพราะเห็นว่าไม่มีนักการเมืองคนใดให้ความสนใจที่จะปกป้องดินแดนและอธิปไตย หากนักการเมืองเหล่านี้กลับมาจะทำให้ไทยเสียดินแดนอีก ขณะเดียวกัน นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ได้มอบหนังสือและเอกสารหลักฐานมาด้วย

ทั้งนี้ ตนได้ชี้แจงว่าไทยไม่ยอมรับคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 รวมทั้งข้อสงวนสิทธิ์ แต่ฝ่ายยูเนสโกกล่าวว่าไม่มีใครบอกพวกเขาเลยแม้แต่น้อย ส่วน พล.ต.จำลองก็กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนไม่ได้เป็นการกดดัน แต่เป็นการขอความช่วยเหลือต่อทางยูเนสโก ไม่เช่นนั้นประชาชนที่ไม่พอใจอาจมีการปักหลักพักค้างก็ได้ ซึ่งทางฝ่ายยูเนสโกก็ชี้แจงกลับมาว่าไม่ได้เป็นแรงกดดัน แต่เป็นสิทธิในการแสดงออกที่น่ายินดียิ่ง ทั้งนี้ยังกล่าวชื่นชมการชุมนุมของพวกเราว่าเป็นอย่างสุภาพ สะอาด และเรียบร้อยมาก ตราบใดที่ประเด็นดังกล่าวยังเป็นที่ติดใจสงสัยก็สามารถติดต่อเขาได้ ไม่ว่าอีเมลหรือจดหมาย ทั้งนี้ข้อเรียกร้องรวมทั้งเอกสารหลักฐานจะส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของยูเนสโกที่ประเทศฝรั่งเศส ด้วยไปรษณีย์ด่วนพิเศษดีเอชแอลภายหลังจากวินาทีนี้

นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ยังกล่าวด้วยว่า ไทยไม่เคยเห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา นานวันไปก็ไม่พอใจมากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่ปราสาทพระวิหาร แต่ยังรุกล้ำดินแดนและอธิปไตยของไทยอีกจำนวนมาก จึงถือว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารแก่กัมพูชาเป็นการปล้นคนไทยอย่างแท้จริง ส่วน พลตรีจำลองกล่าวว่า คนไทยโกธรยูเนสโก ซึ่งเตือนว่าหากไม่แก้ไขจะกลายเป็นว่ายูเนสโกเป็นศัตรูกับคนไทย จึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกปราสาทพระวิหารเข้าไปอยู่ในบัญชีมรดกโลก ซึ่งการมาชุมนุมของพี่น้องในครั้งนี้ถือว่าไม่สูญเปล่า

ต่อมาเวลา 11.45 น.คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ได้นำมวลชนเดินรณรงค์โหวตโนจากหน้าสำนักงานยูเนสโก ไปตาม ถ.สุขุมวิท ถึงสี่แยกราชประสงค์ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค. นี้ โดยรณรงค์ให้ใช้สิทธิ์เลือกช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ซึ่งถือเป็นการรณรงค์ตามยุทธศาสต์ดาวกระจาย โดยมีประชาชนสนใจเข้าร่วมสมทบขบวนรณรงค์อย่างต่อเนื่อง คาดว่ามีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 3 พันคน

ซึ่งตลอดเส้นทางที่ขบวนรณรงค์โหวตโนเคลื่อนผ่าน ได้มีการแจกเอกสารและสติกเกอร์รณรงค์โหวตโน อย่าปล่อยสัตว์เข้าสภา ทั้งแบบที่ 1 และ 2 โดยได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก และแม้ว่าตลอดเส้นทางจะมีฝนโปรยปรายลงมา แต่มวลชนก็ยังเหนียวแน่น ขณะที่ผู้ที่สัญจรผ่านไปมาบางคนได้แสดงสัญลักษณ์แขนไขว้กันเป็นรูปกากบาท เพื่อสื่อถึงการโหวตโนด้วยเช่นกัน โดยขบวนรณรงค์ได้เดินทางถึงแยกราชประสงค์ ในเวลา 13.45 น. และได้จัดรูปขบวนเพื่อนำมวลชนกลับพื้นที่ชุมนุมสะพานมัฆวานรังสรรค์

**เปิดบทสนทนาประวัติศาสตร์

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับบทสนทนาที่ นายปานเทพ ระบุว่า ได้โพสลงเฟสบุ๊คส่วนตัวเป็นหลักฐานมีใจความว่า ที่ยูเนสโก กรุงเทพ: พล.ต.จำลองแจ้งว่าปีที่แล้วมาที่ยูเนสโก และทำให้มีผลให้เลื่อันแผนบริหารจัดการ การที่ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารจะทำให้เสียดินแดนเพิ่มเติมอีกมาก เรายื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อ 1. ยกเลิก MOU 2543 2.ถอนตัวจากมรดกโลก 3. ผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย เมื่อรัฐาลไม่ทำเราถึงต้องชุมนุมถึง 144 วันแล้ว

พล.ต.จำลอง: แจ้งต่อยูเนสโกว่า หลังการประชุมมรดดกโลกเราจำเป็นต้องยุติการชุมนุมเพื่อกระจายลงไปพื้นที่ให้ไปใช้สิทธิ์ Vote No เพราะนักการเมืองทุกฝ่ายไม่มีใครสนใจเรื่องดินแดน หากไม่มีการปฏิรูปการเมืองนักการเมืองเหล่านี้ก็จะกลับมาและทำให้ไทยต้องเสียดินแดนอีก

พล.ต.จำลอง: แจ้งยูเนสโกว่าถึงการจัดตั้งคณะกรรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ได้ประชุมกันมาและขอยื่นข้อเรียกร้องต่อยูเนสโกแล้วตามหนังสือที่แนบมา

อ.เทพมนตรี: แนะนำคณะคนไทยที่เข้ามายื่นหนังสือต่อยูเนสโกที่ละคน, พล.ต.จำลอง,อ.เทพมนตรี,อ.วีรพันธุ์,คุณธนา(ผู้ช่วยอ.เทพมนตรี),ประพันธ์,ปานเทพ ขอให้ยูเนสโกถอนปราสาทพระวิหารออกจากบัญชีมรดกโลก ด้วยเหตุผลหลายประการ1.ไทยได้คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทมาโดยตลอด2.มติมรดกโลกครั้งที่ 31ระบุว่าไทยต้องให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันในการขึ้นทะเบียน 3.มรดกโลกเดินหน้าขึ้นทะเบียนโดยขัดต่อการประชุมมรดกโลกครั้งที่ 31

4. ศาลปกครองไทยห้ามนำแถลงการณ์ร่วมไปใช้และขัดต่อรัฐธรรมนูญของไทย แต่มรดกโลกก็ยังเดินหน้าต่อ 5.มติคณะกรรรมการมรดกโลกฝ่าครั้งที่ ฝ่าฝืนขึ้นทะเบียน6.มติคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 ขัดกับครั้งที่ 31 เพราะไม่ได้การสนับสนุนอย่างแข็งขันจากไทย7.มติคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 ไม่ถูกต้องเพราะมติ ครม. 2505 ให้สิทธิ์เฉพาะตัวปราสาทและได้ตั้งข้อสงวนเอาไว้แล้ว และ8.. นับตั้งแต่ขึ้นทะเบียนมีการรบและทำลายสันติภาพ และมีอีกหลายข้อรวม 14 ข้อ

พล.ต.จำลอง ชี้แจงต่อยูเนสโก: ไม่เคยที่คนไทยต้องอพยพถึงกว่า 5 หมื่นคนราชอาณาจักรไทยมีเอกราช คนไทยรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การเสียดินแดนย่อมกระทบต่อราชอาณาจักรไทยในรัชกาลนี้ จึงขอให้มรดกโลกถอนออกจกาบัญชีมรดกโลกเพื่อสันติภาพและราชอาณาจักรไทยด้วย

อ.วีรพันธุ์ มาลัยพันธุ์ ชี้แจงยูเนสโกว่า: หลักฐานที่กัมพูชาไปใช้ในมรดกโลกนั่นเป็นเท็จ(แผนที่ฝรั่งเศส) เป็นแผนที่ซึ่งมีเจตนาฉ้อฉล เป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงมาก และกัมพูชาเอาไปใช้ และแผนที่นี้อ้างลำน้ำโอตาเซ็มที่วกกินเข้ามาในดินแดนไทยเป็นเท็จ ไม่มรใครยอมรับในทางธรณีวิทยาได้ กัมพูชาขึินทะเบียนโดยไม่สุจริต

อ.เทพมนตรี: ยูเนสโกเดินหน้าต่อไปจะกระทบต่อไทย คนไทยส่วนใหญ่ไม่พอใจในเรื่องนี้ อาจกระทบต่อยูเนสโกด้วย

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์: ผมชี้แจงยูเนสโกไปในประเด็นที่เขาเข้าใจผิด เขาเพิ่งทราบว่าเรามีข้อสงวนการตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ไม่เคยมีใครแจ้งเขาเลย

พล.ต.จำลอง: เราไม่ได้มากดดันเราแค่ขอให้ยูเนสโกส่งข้อเสนอเพื่อขความช่วยเหลือ ถ้าไม่ช่วยเหลือเราอาจต้องมาปักหลักพักค้างที่นี่ก็ได้

ยูเนสโก: เราไม่ได้มองประชาชนที่มาครั้งนี้เป็นแรงกดดัน เราถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนที่จะแสดงออกและเรายินดี เพราะมีการชุมนุมความสุภาพสะอาดเรียบร้องมาก ตราบใดที่ประเด็นของประชาชนเป็นห่วงขอให้ส่งมาด้วย จดหมายและหลักฐานที่ส่งมานี้เราจะส่งไปให้ด้วยดีเอชแอล(เมล์ด่วน)ในวันนี้

ประพันธ์: แม้ว่าศาลโลกจะตัดสินตัวปราสาทไปแล้ว แต่คนไทยไม่เคยยอมรับการตัดสินที่ปล้นแผ่นดิน ด้วยข้อเท็จจริงทั้งทางวิทยาศาสตร์ เราจำยอมต้องขมขื่นใจทำตามคำพิพากษาของศาลโลก ยิ่งนานวันยิ่งมีหลักฐานมากขึ้นยิ่งไม่พอใจมากขึ้น คนไทยจึงถือเป็นเรื่องซีเรียส ไม่ใช่ปราสาทแต่ยังมีพื้นที่โดยรอบอีกด้วย

พล.ต.จำลอง: ก่อนมานี้คนไทยจำนวนไม่น้อยโกรธยูเนสโกเพราะจะทำให้ไทยต้องเสียดินแดนถือว่าเป็นศัตรูกับคยไทย ถ้าแค่เลื่อนแผนบนิหารจัดการคนไทยจะต้องตายอีกมาก

**แถลงการณ์คณะกรรมการป้องกัน

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับแถลงการณ์คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ต่อสำนักงานองค์การยูเนสโก สหประชาชาติ

มีใจความว่า คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ประเทศไทย และประชาชนทุกหมู่เหล่า มีความตระหนักและห่วงใยถึงปัญหาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและการกระทำของมรดกโลก 21 ประเทศ ซึ่งมีพฤติการณ์สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นระหว่างไทยกับกัมพูชา อันเป็นการผิดวัตถุประสงค์การขึ้นทะเบียนมรดกโลก ของศูนย์กลางมรดกโลก (WHC) รวมไปถึงองค์การยูเนสโก (UNESCO) ที่อยู่ในการดูแลของท่านและตัวท่านเองยังให้การสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างต่อเนื่องการกระทำดังกล่าวข้างต้นนั้น คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยได้พิจารณาแล้วว่าเป็นการรุกรานอธิปไตยและดินแดนของประเทศไทยอย่างชัดเจน ซึ่งเราในฐานะเป็นประเทศภาคีสมาชิกตามอนุสัญญามรดกโลกยอมรับพฤติการณ์เช่นนี้ไม่ได้ จึงร้องขอให้ท่านได้พิจารณาข้อมูลหลักฐานของภาคประชาชนของประเทศไทยเพื่อนำเรื่องและข้อมูลที่จะได้รับต่อไปนี้ ไปเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 35 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 19 - 29 มิถุนายน พ.ศ.2554 เพื่อขอให้มีการพิจารณาลบชื่อ "ปราสาทพระวิหาร" ออกจากบัญชีรายชื่อของมรดกโลกทางวัฒนธรรม

ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ,องค์การยูเนสโก (UNESCO) และเป็นรัฐภาคีสมาชิกมรดกโลกฯ มีอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของตัวเองอย่างสมบูรณ์การกระทำของประเทศกัมพูชาต่อกรณีปราสาทพระวิหารที่ผ่านมาเป็นการรุกล้ำอธิปไตยและดินแดน จนฝ่ายไทยได้มีหนังสือประท้วงหลายต่อหลายครั้ง องค์การยูเนสโกเป็นองค์กรที่มีปณิธานในการส่งเสริมสนับสนุนประเทศภาสมาชิกในความร่วมมือให้มีสันติภาพ มีความสงบสุข แต่พฤติการณ์และพฤติกรรมที่ปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารให้เป็นมรดกโลกนั้น มีลักษณะขัดแย้งต่อปณิธานขององค์กรที่ตั้งไว้ เพราะเมื่อมีการสนับสนุนให้ศูนย์กลางมรดกโลก คณะกรรมการมรดกโลกทำการอนุมัติการขึ้นทะเบียน ความขัดแย้งได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาและล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์กองทัพกัมพูชาได้ระดมยิงจรวดและปืนใหญ่ถล่มบ้านเรือนของประชาชนคนไทยตรงบริเวณใกล้ปราสาทพระวิหาร และบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร ประชาชนชาวไทยต้องอพยพหลบภัยจากอาวุธของกองทัพกัมพูชาถึง 2 ครั้ง กว่า 1 แสนคน อนึ่งฝ่ายกัมพูชาได้ใช้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นที่กำบัง เป็นที่สะสมอาวุธและกองกำลัง (ดังปรากฏตามภาพถ่ายที่ได้แนบมา) ซึ่งได้ละเมิดอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ข้อ 180 ที่ว่าด้วยเรื่อง POTENRIAL DANGER แต่องค์การยูเนสโกศูนย์กลางมรดกโลก และคณะกรรมการมรดกโลกกลับนิ่งเฉย และยังคงเข้าข้างฝ่ายกัมพูชาในการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการที่รุกล้ำดินแดนประเทศไทย อีกทั้งยังมีความพยายามบีบังคับให้ประเทศไทยต้องรับมติคณะกรรมการมรดกโลก การกระทำที่ฉ้อฉลเช่นนี้ ภาคประชาชนของประเทศไทยยอมรับไม่ได้จึงขอชี้แจงการกระทำขององค์การยูเนสโก ศูนย์กลางมรดกโลกและคณะกรรมการมรดกโลก

ในสภาพการปัจจุบันได้มีประชาชนชาวไทย ในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและคณะกรรมการป้อกงันราชอาณาจักร ได้ทำการชุมนุมแบบปักหลักพักค้าง ตลอด 24 ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2554 จนถึงปัจจุบัน 144 วัน แสดงความไม่เห็นด้วยกับองค์การยูเนสโก ศูนย์กลางมรดกโลก และคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยในฐานะภาคีสมาชิกถอนตัวออกจากคณะกรรมการมรดกโลกและสมาชิกมรดกโลก

ดังนั้นคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจัรกและประชาชนคนไทย จึงขอความอนุเคราะห์จากท่าน นำเหตุผลข้างต้นไปประกอบการพิจารณา ลบชื่อ "ประสาทพระวิหาร" ออกจากบัญชีรายชื่อของมรดกโลกทางวัฒนธรรม และตั้งคณะกรรมการสอบสวนรัฐภาคีกัมพูชา,ศูนย์กลางมรดกโลก และคณะกรรมการมรดกโลกที่ออกมติครั้งที่ 31, 32, 33, 34 อันเป็นฉ้อฉลขาดหลักการและเข้ามายุ่งเกี่ยวกับดินแดนประเทศไทยอันเป็นการรุกรานอธิปไตยและดินแดนของรัฐภาคีสมาชิก โดยร้องขอให้ท่านได้บรรจุเป็นวาระการประชุมเร่งด่วน ก่อนการพิจารณาวาระปราสาทพระวิหารในสมัยประชุมครั้งที่ 35 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ต่อไป

**"สุวิทย์" พร้อมแจง คกก.มรดกโลก

อีกด้าน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รักษาการรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิงแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการมรดกโลกไทย ที่จะเดินทางไปร่วมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 35 ในระหว่างวันที่ 19-29 มิถุนายนนี้ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยว่า การเดินทางไปครั้งนี้ จะพยายามแสดงจุดยืนของไทยต่อคณะกรรมการมรดกโลก ทั้ง 21 ประเทศ ในการคัดค้านการพิจารณาแผนการบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา ที่มีการเสนอแผนทับซ้อนกับพื้นที่บนอธิปไตยของประเทศไทย เพื่อที่จะให้ชะลอการพิจารณาแผนดังกล่าวออกไปก่อน จนกว่าทั้ง 2 ประเทศ จัดการหารือแบบทวิภาคีในการแก้ปัญหาพิพาทชายแดนให้เรียบร้อย โดยจะไม่ยอมเสียอธิปไตยอย่างเด็ดขาด

นายสุวิทย์ ยังระบุว่า เวลานี้มีการเตรียมข้อมูล หลักฐาน สำหรับการชี้แจงกับ คณะกรรมการมรดกโลกพร้อมแล้ว และทันทีที่เดินทางไปถึงจะพยายามหารือกับคณะกรรมการมรดกโลกของทั้ง 21 ชาติก่อน เกี่ยวกับจุดยืนของไทย รวมถึงยูเนสโก ที่เห็นพ้องกับไทยในการประชุมครั้งก่อน โดยยังไม่มีการนัดหมายที่จะพบกับทีมคณะกรรมการมรดกโลกของกัมพูชา ก่อนการประชุมอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

**สายลับเขมรปฏิเสธจารกรรม

เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบหนังสือเดินทางของนักท่องเที่ยวที่จะผ่านเข้าออกประเทศกัมพูชา เพื่อป้องกันผู้ต้องสงสัยในคดีจารกรรมข้อมูลทางทหารหลบหนีออกนอกประเทศ

พ.ต.อ.สุพจน์ ขอมปรางค์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร อ.กันทรลักษ์ ระบุว่า ขณะนี้ได้นำหมายจับ พ.อ.จา เปา ผู้ต้องสงสัยคดีจารกรรมข้อมูล ที่กำลังหลบหนี ไปแจกจ่ายให้กับด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกแห่งทั่วประเทศ และส่งเรื่องไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ให้ประสานไปยังทางการกัมพูชา เพื่อขอความร่วมมือในการติดตามตัว

ขณะที่การร่วมสอบปากคำ นายเหวียง เติ้งยัง ผู้ต้องสงสัยชาวเวียดนาม ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ อ.กันทรลักษ์ นั้น เบื้องต้นนายเหวียงให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่าเดินทางมาท่องเที่ยว และไม่ทราบวัตถุประสงค์ของชาวกัมพูชา ที่เข้ามาหาข้อมูลทางทหารของไทย ส่วน นายอึ้ง กิมไทย ชาวกัมพูชา และนายสุชาติ มูฮำหมัด ชาวไทย ยังถูกฝากขังที่ อ.กันทรลักษ์ ซึ่งผู้ต้องหาชาวไทยให้การรับสารภาพ แต่ผู้ต้องหาชาวกัมพูชายังไม่ให้การกับเจ้าหน้าที่

**ประสานตม.-ตชด.ล่าหัวหน้าสายลับ

พล.ต.ท.เดชาวัต รามสมภพ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เปิดเผยว่า การจับกุมครั้งนี้สามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ 3 คน ที่กระทำความผิดในเรื่องโจรกรรมข้อมูลทางทหาร ซึ่งขณะนี้ทางพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดี และได้ทำการสืบสวนความเชื่อมโยงเพื่อติดตามตัวผู้กระทำผิดอีกกลุ่มหนึ่งที่หลบหนีไปได้ ส่วนผู้ต้องหาที่จับกุมได้กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินคดี ซึ่งมั่นใจว่าในเรื่องของการดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ต้องหาไม่น่าจะมีปัญหา เพราะทางตำรวจมีพยานหลักฐานชัดเจน และยืนยันว่าทางตำรวจไม่ได้สร้างหลักฐานเพื่อยัดข้อกล่าวหา เนื่องจากสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้พร้อมหลักฐาน ที่เป็นเอกสารแผนที่ประเทศไทยระบุพิกัดด้วยเลข 10 หลัก ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นจุดพิกัดที่ตั้งทางทหารของไทย

***มทภ.2 สั่งปรับที่ตั้งทหารชายแดน

พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวถึงกรณีที่มีการจับสายลับชาวกัมพูชาได้ 3 คน เมื่อหลายวันก่อน พร้อมกับสารภาพว่ามีการวาดแผนที่พิกัดทางทหารบางส่วนเสร็จแล้ว ว่า ได้มีการกำชับเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ให้เพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน บริเวณจุดที่มีความสุ่มเสี่ยง เพราะระหว่างวันที่ 19 - 29 มิถุนายนนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอาจมีผลต่อสถานการณ์ตามแนวชายแดนได้

ทั้งนี้ แม่ทัพภาคที่ 2 ระบุว่า มีการสั่งปรับเปลี่ยนที่ตั้งของหน่วยทหารในพื้นที่เพื่อความปลอดภัยด้วย แต่ไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียดแต่อย่างใด

***กงสุลใหญ่กัมพูชายันช่วยสู้คดีถึงที่สุด

สำนักข่าวซีอีเอ็นของกัมพูชา รายงานโดยอ้าง กงสุลใหญ่กัมพูชา ประจำ จ.ศรีสะเกษ ที่เปิดเผยว่า ชาวกัมพูชา 1 ราย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุม เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ในข้อหาจารกรรมนั้น ขณะนี้มีทนายสู้คดีให้แล้ว โดยทนายความของ นายอึ้ง กิมไทย ชาวกัมพูชา ได้เข้าพบลูกความที่เรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้ลงนามเอกสารแต่งตั้งทนาย และคณะทนายได้ใช้โอกาสนั้น ในการสอบถามเป็นการส่วนตัวกับนายอึ้ง เพื่อนำรายละเอียดไปสู้คดีในชั้นศาล

ทั้งนี้ กงสุลใหญ่กัมพูชา กล่าวอีกว่า ศาลไทยไม่อนุญาตให้ทนายประกันตัว นายอึ้ง ผู้ต้องหาชาวกัมพูชา แต่กงสุลกัมพูชาจะให้ความช่วยเหลือในช่องทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด เนื่องจากนายอึ้ง เป็นเพียงพลเมืองกัมพูชา ที่ทำมาหากินธรรมดาเท่านั้น ดังนั้น กงสุลกัมพูชาจึงปฏิเสธอย่างเด็ดขาดว่า ชายชาวกัมพูชารายนี้ ไม่ได้ทำการจารกรรมอย่างที่ไทยตั้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด.
กำลังโหลดความคิดเห็น