xs
xsm
sm
md
lg

Vote No เพื่อสั่งสอนนักการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: รองศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล สุริยะมงคล

อำนาจในการปกครองบ้านเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ตกอยู่ในมือของข้าราชการและระบบราชการ โดยเฉพาะข้าราชการทหารระดับสูงที่คุมกำลังในกองทัพ สถานการณ์เช่นนี้เป็นมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายทศวรรษ แม้ในบางช่วงบางขณะได้มีการประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อเปิดทางให้พลังที่อยู่นอกระบบราชการ เช่น พรรคการเมือง นักการเมือง พ่อค้า นายทุน/นักธุรกิจ รวมตลอดทั้งนักวิชาการและกลุ่มสังคมอื่น เข้าร่วมในกระบวนการเลือกตั้งอยู่บ้าง แต่เนื้อหาของการเมืองการปกครองส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ภายใต้การครอบงำของระบบราชการและข้าราชการทหารชั้นผู้ใหญ่อยู่ดี

การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และเทคโนโลยี อย่างต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบันได้ค่อยๆ ส่งผลให้เกิดกลุ่มพ่อค้า นักธุรกิจ กลุ่มอาชีพ กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งกลุ่มพลังทางสังคมและพลังภาคประชาชนเกิดขึ้นอย่างมากมาย พลังต่างๆ เหล่านี้อยู่นอกระบบราชการ มีลักษณะเป็นพลวัตที่ขับเคลื่อนต่อสู้ถ่วงดุลกับพลังอำนาจของระบบราชการที่ครอบงำการเมืองไทยอยู่ และในขณะเดียวกันพลังต่างๆ เหล่านี้ก็ต่อสู้ถ่วงดุลซึ่งกันและกันเองด้วย เช่น นายทุนกับกรรมกร พ่อค้าคนกลางกับเกษตรกร ผู้ผลิตกับผู้บริโภค เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่รัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นต้นมา พลังของนายทุนและนักธุรกิจระดับชาติ ได้เข้าไปใช้อำนาจในการปกครองประเทศหรืออย่างน้อยก็ร่วมใช้อำนาจอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับข้าราชการระดับสูงโดยเฉพาะทหารโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

แต่ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือนายทุน พ่อค้า นักธุรกิจ ที่ต่างเข้ามามีอำนาจปกครองบ้านเมือง เขาเหล่านั้นล้วนปกครองบ้านเมืองเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเป็นหลัก ปัญหาที่สำคัญๆ ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลแก้ไขอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดที่ดินทำกิน ปัญหาการกระจายรายได้ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต เป็นต้น ที่ซ้ำร้ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มีข้าราชการเป็นใหญ่หรือนายทุน นักธุรกิจเป็นใหญ่ ต่างล้วนมีปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงถึงขนาดกล่าวกันว่าในรัฐบาลปัจจุบันมีคอร์รัปชันสูงถึง 50% ของมูลค่าโครงการ และดูเหมือนคนไทยบางคนก็ทำท่าจะยอมรับพฤติกรรมที่ชั่วร้ายนี้เพียงแต่ขอให้รัฐบาลมีผลงานบ้างก็พอใจแล้ว

ดังนั้น หากพิจารณาประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าสังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาหนีเสือปะจระเข้ทางการเมืองการปกครอง (political dilemma) ตลอดระยะเวลา 79 ปีที่ผ่านมาอย่างหนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์นี้ กล่าวคือ ในด้านหนึ่งหากได้รัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ก็เป็นรัฐบาลเผด็จการ ที่เล่นพวกเล่นพ้อง เกิดทุจริตคอร์รัปชัน ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเข้มแข็ง ประชาชนขาดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง จึงไม่เป็นที่พอใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่หากเมื่อใดมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งนั้นก็มักเป็นเพียงพิธีกรรมที่เต็มไปด้วยการทุจริต ซื้อสิทธิขายเสียงอย่างกว้างขวาง หาได้สะท้อนเจตนารมณ์และหลักการที่แท้จริงของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด

นายทุน นักธุรกิจ ที่พากันพาเหรดเข้าสู่การครองอำนาจรัฐ ด้วยวิธีการเลือกตั้งแบบนี้ จึงเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชันอย่างรุนแรง เล่นพวกเล่นพ้อง นโยบายสาธารณะส่วนใหญ่จึงมุ่งไปที่โครงการใหญ่ๆ เพื่อให้โอกาสในการถอนทุนคืนหาได้มุ่งแก้ปัญหาที่แท้จริงของประชาชนอย่างถอนรากถอนโคน ขณะเดียวกันพรรคการเมืองที่เข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง ต่างก็นำนโยบายเชิงประชานิยมมาลดแลกแจกแถม เพื่อมอมเมาประชาชนให้หวังพึ่งนโยบายเชิงประชานิยมเหล่านั้นเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำยากจนของตนแทนการคิดพึ่งพาตนเอง ส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มพูนอย่างรวดเร็ว

บัดนี้ การเมืองไทยได้เดินทางถึงช่วงรอยต่อที่สำคัญอีกครั้ง เพราะได้ปรากฏข้อเท็จจริงที่พลังภาคประชาชนกำลังลุกขึ้นเคลื่อนไหว ต่อต้านคัดค้านพฤติกรรมที่ชั่วร้าย ผลาญบ้านกินเมืองของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งมอมเมาประชาชนอยู่ในขณะนี้ ด้วยการตะโกนเสียง Vote No อย่างก้องกังวานไปทั่วประเทศ เพื่อปฏิเสธที่จะลงคะแนนให้กับผู้ใดและพรรคใด ซึ่งการไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยการ Vote No นี้ ไม่ใช่เพื่อต่อต้านคัดค้านการกระทำของนักการเมืองและพรรคการเมืองไทยที่อาศัยการเลือกตั้งเพื่อเข้ามาโกงบ้านกินเมืองเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสั่งสอนนักการเมืองไทยให้รู้สำนึกเสียทีว่าอำนาจในการปกครองประเทศแท้จริงแล้วเป็นของปวงชนชาวไทย

ดังนั้น 79 ปีที่อำนาจปกครองบ้านเมือง ต้องตกอยู่ในมือของข้าราชการ นายทุน พ่อค้า นักธุรกิจ ก็ถึงเวลาแล้วที่อำนาจนั้นควรกลับคืนสู่มือประชาชน จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกหมู่เหล่าโปรดมาช่วยกันไปใช้สิทธิเลือกตั้ง Vote No เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของอำนาจด้วยการกากบาทลงในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ผู้ใดและพรรคใดในวันเลือกตั้งที่ 3 กรกฎาคมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น