xs
xsm
sm
md
lg

Vote No กับจินตนาการทางการเมือง (3)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งนักการเมือง พรรคการเมือง ต่างยกร่างสิ่งที่เรียกว่านโยบายออกมา เพื่อบอกกับประชาชนว่าหากตัวเอง พรรคของตัวได้รับเลือกเข้าไปเป็นตัวแทนในรัฐสภาและจัดตั้งรัฐบาล พวกเขาจะทำสิ่งต่างๆ อย่างโน้นอย่างนั้น ไอ้นั่นไอ้นี่ นโยบายต่างๆ ของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองก็เสมือน “จินตนาการ” อย่างหนึ่งของพวกเขา เช่น จะให้ผู้จบปริญญาตรีมีเงินเดือนขั้นต้น 15,000 บาท จะให้บุตรหลานของประชาชนได้เล่าเรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี บัตร 30 บาทรักษาทุกโรคทุกโรงพยาบาลเสมอกันทุกคน จะกระจายงบประมาณลงสู่ชุมชนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาททุกปีทุกชุมชน ชาวนาหรือเกษตรกรทุกครอบครัวมีบัตรเครดิตที่รัฐจะค้ำประกันให้ ฯลฯ ทุกนโยบายจะดำเนินการทันทีที่ได้เข้าไปเป็นรัฐบาลไม่เกิน 90 วัน

จินตนาการหรือนโยบายของนักการเมืองและพรรคการเมือง ที่พรั่งพรูกันออกมาในฤดูกาลเลือกตั้งช่างสวยหรู หอมหวานเสียนี่กระไร ประกอบกับยุคสมัยหนึ่งสังคมไทยได้ลิ้มรสลิ้มลองความสวยงามและหอมหวานของจินตนาการหรือนโยบายที่เกิดขึ้นจริงและสัมผัสได้มาแล้วระยะหนึ่ง จึงเป็นแรงเหวี่ยงที่ทำให้การเลือกตั้งที่จะมาถึงในระยะเวลาอันใกล้นี้ ทำให้โพลหรือนักสังเกตการณ์ทางการเมืองทุกสำนักต่างฟันธงลงไปว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงพรรคเพื่อไทยอันเคยนำเสนอจินตนาการทางการเมืองที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคม และทำให้ประชาชนได้สัมผัสกับนโยบายที่สัมผัสจับต้องได้ จะเป็นพรรคที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายอย่างแน่นอน

ไม่มีกระแสที่จะกล่าวถึงการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการขนาดใหญ่ๆ ของรัฐ ไม่มีการพูดถึงการแทรกแซงองค์กรกลไกอิสระ ไม่มีการพูดถึงการใช้อำนาจละเมิดสิทธิชุมชนและมนุษยชน และไม่มีการพูดถึงความร่ำรวยจากการเอารัดเอาเปรียบ การครอบครองปัจจัยการผลิตอย่างไร้ขีดจำกัดและไร้กลไกในการสร้างความเสมอภาคและชอบธรรมของสังคม ไม่มีการพูดถึงความร่ำรวยจากธุรกิจผิดกฎหมายของนักการเมืองและผู้สนับสนุนพรรคการเมือง ฯลฯ

วันนี้มีแต่กระแสเชิญชวนให้ผู้คนออกไปเลือกตั้ง เลือกตั้งเพื่อจะได้นักการเมือง พรรคการเมืองที่ขายฝัน ขายจินตนาการเป็นชิ้นๆ เป็นส่วนๆ เป็นเศษเสี้ยวชิ้นส่วนที่สังคมไทยมองว่าดีกว่าไม่ได้อะไรมาก่อนเลยจากนักการเมืองและพรรคการเมือง นำไปสู่การสร้างทัศนคติและอุดมคติใหม่ของผู้คนในสังคม ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัวและองค์กร นำไปสู่ความเชื่อใหม่ที่ว่าการทุจริตโกงกินเป็นเรื่องปกติธรรมดา ความเป็นธรรมความยุติธรรมไม่สามารถสร้างได้และไม่มีอยู่จริง ความร่ำรวยในโภคทรัพย์คือตัวชี้วัดเดียวของผู้คนในสังคม ที่อาจจะได้มาด้วยวิธีการที่สกปรกไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมก็ไม่เป็นไร

Vote No จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงนักการเมือง พรรคการเมืองและทุกระบบที่เป็นปัญหาของสังคมไทย แต่มันเป็นเพียงก้าวแรกและจังหวะก้าวที่จะย่างไปข้างหน้าก้าวแรกเท่านั้น ก้าวต่อๆ ไปคืออะไรนี่คือคำถาม และจินตนาการทางการเมืองและสังคมคือคำตอบ สังคมที่ถูกต้องชอบธรรม สังคมที่สงบสุขปราศจากการกดขี่ขูดรีด สังคมที่เท่าเทียมและเสมอภาค การเมืองที่เอาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง การเมืองที่โปร่งใสตรวจสอบได้ การเมืองที่มุ่งตอบสนองความร่มเย็นสงบสุขของประชาชน การเมืองที่ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชันในทุกระดับ การเมืองที่ไม่ใช่อาชีพของผู้คนที่จะเข้ามาประกอบเป็นอาชีพแล้วแสวงหาผลประโยชน์

เมื่อ Vote No เป็นเพียงก้าวแรกของการเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นั่นก็หมายความว่าก้าวต่อไปจะตามมา คำถามจึงมักมีว่าแล้วก้าวต่อไปและต่อไปคืออะไร สำหรับชาว Vote No ที่ตกผลึกทางความคิด ที่ได้ข้อสรุปสำหรับตัวเองแล้วว่าสังคมเราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่คำตอบ ไม่ใช่คำตอบทั้งสำหรับตัวเอง สำหรับครอบครัวและอนาคตของประเทศชาติแล้วไซร้ การ Vote No ก็คือรูปการจัดตั้งรูปแบบใหม่ของผู้คนที่จะเดินไปข้างหน้าในเป้าหมายอันเดียวกัน ผู้คนอันเป็นพลังเงียบที่เห็นปัญหาและกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง แม้จะมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ จะได้มาผนึกกำลังกันมาออกแบบการต่อสู้การเคลื่อนไหวร่วมกัน โดยในเบื้องต้นข้อตกลงแรกของการเคลื่อนไหวต่อสู้ร่วมกันในครั้งนี้ก็คือการ Vote No ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้นั่นเอง

Vote No จะต้องใช้จำนวนเท่าไหร่ถึงจะพอ ที่จะพอสำหรับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นตามจินตนาการของพวกเรา หลายๆ คนเสนอว่าต้องอย่างต่ำๆ 5-10 ล้านเสียงของผู้มาลงคะแนนในครั้งนี้ บ้างก็คาดหวังว่าหากมีการ Vote No สัก 3-5 ล้านคะแนนก็ถือว่าประสบความสำเร็จและจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งผลที่จะทำให้นักการเมือง พรรคการเมือง ยอมที่จะก่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่เกิดขึ้นอย่างไม่มีเงื่อนไข เหมือนการยอมรับการเปลี่ยนแปลงให้ผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญในปี 2540 ที่ธงเขียวโบกสะพัดทั่วทุกหัวระแหงเสมือนปลายหอกและคมดาบที่พร้อมจะกระหน่ำนักการเมืองให้คามือหากพวกเขาบิดพลิ้วและไม่ยอมรับ

แน่นอนว่าจำนวนมีนัยและมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างทางสังคมและการเมือง ย่อมต้องการปริมาณและจำนวนในระดับหนึ่ง สังคมไทยมีประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องใช้ปริมาณและจำนวนของผู้คนในสังคมมาหลายครั้ง กรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคมในปี 2516 กรณีของการเปลี่ยนแปลงในเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2535 และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าเราต้องการจำนวนผู้คนที่มากในระดับหนึ่ง ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า หากพลัง Vote No มีจำนวนเพียง 3 แสนเสียงเป็นอย่างมาก เราชาว Vote No ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

แต่จะต้องเป็น 3 แสนของชาว Vote No ที่กระทำการ Vote No ด้วยความรู้สึกที่ออกมาจากส่วนลึกของจิตใจ ออกมาจากความรู้สึกที่ว่าเราไม่สามารถจะยอมรับสภาพการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนี้ได้อีกต่อไปแล้ว เราไม่สามารถยอมรับนักการเมือง พรรคการเมืองและระบบการเมืองที่เป็นอยู่และเราจะไม่ทนอีกต่อไปแล้ว

ผู้เขียนไม่เชื่อว่าการมีคะแนน Vote No 10 ล้านเสียง จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ หากเสียง Vote No 10 ล้านเสียงกระทำการเสร็จแล้วกลับไปอยู่ในที่ตั้งของตัวเองแบบตัวใครตัวมัน นักการเมือง พรรคการเมือง ก็ยังคงเดินหน้าในส่วนที่พวกเขาคิดและจินตนาการนั่นก็คือมอบผลประโยชน์เป็นส่วนเสี้ยวให้กับประชาชนแล้วพวกเขาก็หาผลประโยชน์ทำร้ายทำลายสังคมโดยรวมในทุกๆ มิติอยู่ต่อไป

แต่ถ้าพลังชาว Vote No เพียง 3 แสนเสียง ซึ่งก็หมายถึง 3 แสนคน ที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีเป้าหมายร่วมกันว่าเราต้องการการปฏิรูปการเมืองกันอีกครั้ง ปฏิรูปการเมืองที่ต้องการจะสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมใหม่ที่ตอบสนองผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ สร้างการเมืองที่ใช้ระบบธรรมาภิบาลในการบริหารการปกครองบ้านเมือง ต้องการการเมืองที่กระจายอำนาจมากกว่าการผูกขาด ต้องการนักการเมือง พรรคการเมืองที่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมไม่ใช่เพื่อตัวเองและพวกพ้องเหมือนที่เป็นอยู่ฯลฯ ผู้คน 3 แสนคนของชาว Vote No แค่มาตกลงนัดหมายร่วมกันว่าเราจะมาชุมนุมเรียกร้องอย่างสงบสันติและต่อเนื่อง พลังของชาว Vote No แค่ 3 แสนคนก็จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน.
กำลังโหลดความคิดเห็น