xs
xsm
sm
md
lg

เมืองไทยในสิบปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เมื่อ พ.ศ. 2536 ศ.ดร.สมศักดิ์ ชูโต ได้ขอให้ผมแสดงปาฐกถาเรื่อง “เมืองไทยในสิบปีหน้า” เป็นการฉลองการครบ 60 ปีของระบอบรัฐธรรมนูญ

ผมให้ความเห็นว่ามีปัจจัย 3 ประการที่เป็นแรงผลักสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือ

หนึ่ง การเคลื่อนไหว การอพยพของประชากรทั้งที่เกิดจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การทหาร เชื้อชาติ ภาษา และที่เกิดจากความต้องการหางานทำในส่วนที่ร่ำรวยกว่า

สอง การแสวงหาข่ายการติดต่อทางการผลิต และการค้าขายข้ามประเทศ ทั้งที่เป็นการรวมกลุ่มอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

สาม การขยายการติดต่อสื่อสารคมนาคมระหว่างพื้นที่ต่างรัฐที่มีที่ตั้งใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเพื่อเพิ่มสมรรถนะทางการแข่งขันด้วยการลดค่าโสหุ้ยทางการขนส่ง

ผมสรุปว่า จะเกิดการกลับคืนมาของความสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งแต่เดิมการมีรัฐชาติ ทำให้เกิดการเน้นอธิปไตยทางดินแดนและอาณาเขต ทำให้เกิดการกีดกันทางการค้า และทำให้การติดต่อของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงกันเป็นไปได้ยาก

ในสมัยนี้ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้การติดต่อสื่อสารของคนเป็นไปอย่างเสรี และหากมีการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนในปี ค.ศ. 2015 ก็จะมีการเคลื่อนไหวทางประชากรมากขึ้น แม้ยังไม่ถึงเวลานั้น แรงงานจากลาว พม่า เขมร ก็เข้ามาทำงานในเมืองไทยหลายล้านคนแล้ว

ผมเห็นว่ารัฐไทยจะครอบซ้อนอยู่บนพหุชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนมีลักษณะแตกต่างหลากหลาย ทั้งด้านการผลิตและวิถีชีวิต ภูมิภาคนิยมจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และการเมืองจะเป็นการแก่งแย่งทรัพยากร และงบประมาณที่มุ่งเน้นการตอบสนองผลประโยชน์ที่คับแคบ

สังคมไทยในอีกสิบปีข้างหน้า แม้จะมีประชากรเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่โครงสร้างด้านอายุ และแรงงานจะเปลี่ยนแปลงไปคือ จะมีผู้สูงอายุมากขึ้นถึงหนึ่งในห้า และจะมีผู้อยู่ในวัยทำงานน้อยลง ทำให้มีแรงกดดันที่จะจัดระบบสวัสดิการมากขึ้น

ที่สำคัญก็คือ คนรุ่นใหม่ในอีกสิบปีข้างหน้า จะมีลักษณะแตกต่างไป คือ เป็นผู้ซึ่งมีบุตรน้อย ใช้ชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงอนาคต ใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภค และสันทนาการมาก อาศัยเทคโนโลยีทางข้อมูลข่าวสารในวิถีชีวิตประจำวัน มีความผูกพันกับขนบธรรมเนียมประเพณี และสถาบันเก่าแก่น้อยลง

วิถีชีวิตสมัยใหม่ ทำให้คนมีความผูกพันต่อกันน้อยลง และเนื่องจากไม่มีอุดมการณ์ร่วมกัน ชีวิตของคนไทยในอีกสิบปีข้างหน้า จึงขาดสิ่งยึดเหนี่ยว และเมื่อมีความขัดแย้งกัน โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงก็เป็นไปได้ง่าย

ความขัดแย้งทางการเมือง จะมาจากความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมซึ่งมีมากขึ้น แต่ความพยายามในการแก้ไขเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันการ ปัญหาที่สำคัญก็คือ ปัญหาการมีที่ดินทำกิน และปัญหาราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำ

ทางด้านการเมือง การเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ยังมีผลทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองมีความยืดเยื้อ เพราะปมปัญหาสำคัญคือ กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่หมดไป ความขัดแย้งทางการเมืองนี้ นำไปสู่ความรุนแรง และทำให้สังคมแตกแยกอย่างไม่มีทางลงรอยกันได้ หากสถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ โอกาสที่คณะทหารจะเข้าแทรกแซงทางการเมืองก็มีอีก และจะปกครองประเทศด้วยระบอบกึ่งประชาธิปไตยไปในระยะยาว แม้กระนั้นการก่อการร้ายในเมืองก็จะยังคงมีอยู่ และกลายเป็นแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มที่ต่อต้านการมีรัฐประหาร

การที่สถาบันเก่าแก่ถูกท้าทาย และเพราะสังคมขาดอุดมการณ์ที่จะยึดเหนี่ยวคน สถาบันกองทัพจะมีบทบาทมากขึ้นในการเข้ามาสร้างเสถียรภาพทางสังคม เนื่องจากพรรคการเมืองและระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถสร้างความมั่นคงได้ ประชาชนก็จะหวังพึ่งผู้นำทางกองทัพมากขึ้น เป็นเหตุให้เกิดการลดบทบาทของพรรคการเมือง และนักการเมืองลง ยิ่งสถานการณ์ชายแดน และในสามจังหวัดภาคใต้ยังคงยืดเยื้ออยู่ โอกาสที่ประเทศไทยจะกลับไปมีระบอบกึ่งประชาธิปไตยในอีกสิบปีข้างหน้า จึงมีสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น