xs
xsm
sm
md
lg

ชี้สถานะครม.หลังยุบสภา ยังประกาศภาวะฉุกเฉินได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือสรุปผล และแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาฯ เลขที่ นร. 0503/ ว.66 ลงวันที่ 9 พ.ค. ส่งไปยังรัฐมนตรีของแต่ละกระทรวง โดยมีการระบุถึงสถานะของคณะรัฐมนตรี ( ครม.) และรัฐมนตรี อาทิ ครม.สิ้นสุดลง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยไม่เรียกว่า"รักษาการ" ให้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อไป
ในกรณีมีสถานการณ์คุกคามความมั่นคงของชาติ ย่อมมีอำนาจประกาศมาตรการเพื่อรักษาความมั่นคงได้ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือประกาศกฎอัยการศึก นอกจากนี้ในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีนั้น ครม.ยังประชุมต่อไปได้ตามปกติ จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่
นอกจากนี้ หนังสือดังกล่าวยังระบุอีกว่า ในส่วนของการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง ครม.ต้องไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่แต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการที่มีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ พนักงานของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) ก่อน และการใช้อำนาจโยกย้าย ต้องทำเท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งรัฐ รักษาความปลอดภัยประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ โดยหากต้องขอความเห็นชอบจาก กกต. ต้องทำสรุปสาระสำคัญในการพิจารณา ทั้งกระบวนการ เหตุผล นอกจากนี้ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้การแต่งตั้งโยกย้าย เป็นของรัฐมนตรี ให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม ในการอนุมัติใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นนั้น ต้องเป็นไปเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ รักษาความปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ปกป้องภัยพิบัติสาธารณะ หรือเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ หรือบรรเทาภัยพิบัติแก่ประชาชนเท่านั้น และต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต.เช่นกัน
สำหรับการปฏิบัติเรื่องอื่นๆ ตามมติครม. อาทิ ไม่ควรจัดให้มีการฝึกอบรมหรือสัมมนาในช่วง 10 วันก่อนเลือกตั้ง เพราะอาจกระทบอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติการเลือกตั้ง การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของรัฐมนตรี ต้องระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการออกรายการโทรทัศน์ในฐานะรัฐมนตรี จะให้สัมภาษณ์ได้เฉพาะหน้าที่รัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งบางครั้งสื่อมวลชนอาจถามในฐานะสมาชิกพรรคการเมือง ทำให้คำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีเป็นการให้คุณต่อพรรคการเมืองได้ อาจเป็นการใช้อำนาจหน้าที่กับสื่อของรัฐโดยมิชอบได้ แต่หากเป็นการเชิญผู้แทนพรรคการเมืองหลายพรรคไปสัมภาษณ์ในลักษณะเท่าเทียมกัน ก็เป็นความรับผิดชอบของสื่อนั้นๆไป
กำลังโหลดความคิดเห็น